นักวิจัยจากเนเธอร์แลนด์สร้างสเปรย์ที่ทำจากน้ำมันพืช สามารถฆ่าแมลงที่เป็นพิษ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากพืชที่กินแมลงเป็นอาหาร
ยาฆ่าแมลงทั่วไปในท้องตลาดเป็นอันตรายต่อทั้งมนุษย์และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีราคาค่อนข้างสูง จึงอาจจะเป็นผลดีหากเกษตรกรสามารถหลีกเลี่ยงการใช้ยาฆ่าแมลงเหล่านั้นได้ นักวิจัยจาก Wageningen University & Research (WUR) และ Leiden University ของเนเธอร์แลนด์ จึงมองหาทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จนได้รับแรงบันดาลใจจาก "ต้นหยาดน้ำค้าง" ที่กินแมลงเป็นอาหาร
ใบของต้นหยาดน้ำค้างปกคลุมไปด้วยขนเล็ก ๆ ที่เรียกว่าไทรโครม (Trichomes) ซึ่งจะหลั่งสารที่มีความเหนียวออกมา เมื่อมีแมลงเกาะบนใบ แมลงเหล่านั้นจะติดอยู่ในสารนั้น และจะถูกย่อยโดยเอนไซม์ที่พืชสร้างขึ้น
สำหรับสารที่มีความเหนียวของต้นหยาดน้ำค้างนั้น นักวิจัยเริ่มต้นทำเลียนแบบด้วยการผสมผสานน้ำมันไตรกลีเซอไรด์จากผัก นำมาตากแห้งแล้วบดเป็นเม็ดบีดส์ขนาดกว้าง 1 มิลลิเมตร ซึ่งเม็ดบีดส์เหล่านี้จะเหนียวเหมือนเทปพันสายไฟ เนื่องจากมีรอยเว้าระดับนาโนบนพื้นผิว
เมื่อฉีดสารละลายเม็ดบีดส์ลงบนใบของพืช จะยังคงติดอยู่กับใบเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน ในช่วงเวลานั้น แมลงศัตรูพืช ตัวเล็ก ๆ ที่เกาะบนใบไม้จะถูกตรึงไว้ซึ่งนำไปสู่ความตายอย่างรวดเร็ว ซึ่งเพลี้ยไฟเป็นเป้าหมายหลักของเทคโนโลยีนี้ เนื่องจากเพลี้ยไฟอาจทำให้พืชติดไวรัสร้ายแรงได้หากไม่ได้ตรึงไว้
ตามหลักการแล้ว ควรใช้สเปรย์กับพืชก่อนที่พืชจะออกผล ด้วยวิธีนี้ผลไม้หรือธัญพืชจะไม่ถูกฉีดพ่นสเปรย์ฆ่าแมลงไปด้วย ทั้งนี้ยังมีรายงานว่าสเปรย์นี้สามารถล้างออกได้ง่ายโดยใช้น้ำยาล้างจานและน้ำเปล่า ซึ่งแม้ว่าจะมีการรับประทานเข้าไปสเปรย์ก็จะไม่เป็นอันตรายมากไปกว่าการรับประทานน้ำมันพืช
ที่มาข้อมูล: newatlas, wur
ที่มาภาพ: wur
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech