งานวิจัยในสหรัฐฯ ระบุการใช้ยารักษาความดันโลหิตทั่วไปในกลุ่มผู้สูงอายุ อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ เพิ่มความเสี่ยงที่จะมีปัญหาเรื่องการทรงตัว เมื่อลุกขึ้นนั่งหรือยืนกะทันหัน อาจทำให้หกล้มกระดูกหัก มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้ยา 2 เท่าเหตุจากภาวะความดันโลหิตต่ำชั่วคราว
ในภาวะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับสังคมสูงวัย หนึ่งในสิ่งที่ต้องเตรียมพร้อม คือ การดูแลรักษาผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงที่จะพลัดตกหกล้ม เพราะนั่นอาจเป็นปัจจัยที่นำไปสู่อันตรายถึงชีวิต
หนึ่งในการศึกษาที่น่าสนใจของ The Rutgers Health หัวข้อ Blood Pressure Drugs More Than Double Bone-Fracture Risk in Nursing Home Patients หรือ (ยาความดันโลหิตเสี่ยงทำให้กระดูกหักเพิ่มขึ้น 2 เท่า ในกลุ่มผู้ป่วยสถานดูแลผู้สูงอายุ) มีการตั้งคำถามและหาคำตอบเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง "ภาวะกระดูกหัก" และ "การรักษาด้วยยา" ว่ามีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่? หลังในช่วงที่ผ่านมา ชาวอเมริกันที่อาศัยในสถานดูแลผู้สูงอายุราว 2.5 ล้านคน ประสบอุบัติเหตุพลัดตกหกล้มมากกว่า 50% และในจำนวนนั้น มากกว่า 25% ได้รับบาดเจ็บสาหัส
จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างในสถานดูแลผู้สูงอายุเกือบ 30,000 คน มีข้อบ่งชี้ว่า กลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยยาความดันโลหิตมีความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกหักที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตมากกว่า 2 เท่า เนื่องจากยาดังกล่าวอาจส่งผลต่อสมดุลการทรงตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงลุกขึ้นยืน ซึ่งอาจเพิ่มปัญหาในอนาคตได้
Chintan Dave ผู้อำนวยการการศึกษาของ Rutgers Center for Health Outcomes, Policy and Economics และผู้เขียนงานวิจัย ระบุว่า ราว 40% ของผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกสะโพกหัก เสียชีวิตภายในปีต่อมา ดังนั้น นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนที่อาจบ่งชี้ได้ว่า ผู้ป่วยในสถานดูแลผู้สูงอายุที่ได้รับการรักษาด้วยยาดังกล่าวกว่า 70% มีความเสี่ยงกระดูกหักมากกว่า 2 เท่า
แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังมีผู้ป่วยอีกมากที่ได้รับผลประโยชน์จากการรักษาด้วยยาความดันโลหิตมากกว่าอันตราย
Dave ระบุอีกว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูล Veterans Health Administration ของกลุ่มตัวอย่างผู้สูงอายุ 29,684 คน นับตั้งแต่ปี 2549-2562 ช่วงความเสี่ยง 30 วันของภาวะกระดูกหักบริเวณสะโพกและกระดูกเชิงกรานเป็นต้น เทียบระหว่างผู้สูงอายุที่เริ่มใช้ยาลดความดันโลหิตกับผู้สูงอายุที่ไม่ใช้ยา พบว่า อัตราความเสี่ยงของกลุ่มที่เริ่มใช้ยาความดันโลหิตอยู่ที่ 5.4:100 คนต่อปี ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้ใช้ยาความดันโลหิตอยู่ที่ 2.2:100 คนต่อปี
ทั้งนี้ ผลการศึกษาของ The Rutgers Health บ่งชี้ได้ว่า การรักษาด้วยยาความดันโลหิตส่งผลต่อการพลัดตกหกล้ม ดังนั้น คนที่ดูแลผู้สูงอายุกลุ่มนี้ควรทำควบคู่กันไประหว่างการลดปริมาณการใช้ยาและเพิ่มการดูแลเอาใจใส่ให้มากขึ้น ซึ่งนี่เป็นนัยสำคัญในการลดปัญหาได้ และการศึกษานี้อาจเป็นข้อมูลเพิ่มเติมแก่พวกเขาในการดูแลผู้สูงอายุให้ดีขึ้น
Chintan Dave หัวหน้าคณะผู้จัดทำผลการศึกษาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ข้อมูลดังกล่าวสัมพันธ์กับสาเหตุที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตในบ้านพักคนชราแห่งนี้สูงขึ้นเช่นกัน โดยพบว่า ผู้ป่วยในบ้านพักคนชราราว 40% ของผู้ที่กระดูกสะโพกหัก จะเสียชีวิตภายใน 12 เดือนข้างหน้า ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่าตกใจอย่างยิ่งที่พบว่ายาประเภทหนึ่งที่ 70% ของผู้อยู่อาศัยในบ้านพักคนชราใช้นั้น เพิ่มความเสี่ยงต่อกระดูกหักมากกว่า 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม การให้ยาความดันโลหิตสูงในคนไข้ที่อายุมากยังคงมีสำคัญในการรักษาความดันโลหิตที่อาจช่วยชีวิตได้ เพียงแต่นักวิจัยชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องให้ความสนใจกับผู้ที่เพิ่งเริ่มการรักษาความดันเป็นครั้งแรก หรือหลังจากเลิกใช้ยาไประยะหนึ่งแล้วกลับมาใช้ใหม่ให้มากขึ้น เนื่องจากกรณีกลุ่มผู้สูงอายุ ถ้าให้ยาเร็วเกินไป หรือปรับขนาดยาที่เร็วเกินไป จะทำให้มีโอกาสวูบ พลัดตกหกล้มได้ง่ายมากขึ้นกว่าคนที่ไม่ได้กินยาถึง 2 เท่า
ด้าน นพ.เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับงานวิจัยดังกล่าวเพิ่มเติม โดยระบุว่า จากการศึกษาดังกล่าว ไม่ได้ระบุว่าห้ามให้ยาลดความดันโลหิต เพียงแต่แนะนำว่าควรระมัดระวังในการใช้ยามากกว่า มีการตรวจวัดความดันให้ถี่ขึ้น และพยายามเริ่มให้ยาขนาดที่เหมาะสมช้า ๆ อย่าเพิ่มยาอย่างรวดเร็ว ไม่ควรให้ยาที่ออกฤทธิ์แรงหรือขนาดสูงเกินไปในช่วงแรก
และเมื่อติดตามไปสักระยะหนึ่งแล้วค่อย ๆ ปรับยา เนื่องจากผู้ป่วยสูงอายุส่วนใหญ่จะมีภาวะหลอดเลือดที่แข็งทำให้การค่าของความดันโลหิตสูงขึ้นได้ ซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นความดันโลหิตสูงอย่างแท้จริง นอกจากนี้คนในผู้สูงอายุ จะมีระบบประสาทอัตโนมัติที่จะตอบสนองในการปรับตัว เมื่อเปลี่ยนท่าเร็วๆ ได้ช้าลง เช่นจากนอน ลุกขึ้นมานั่ง หรือยืน อาจจะทำให้เกิดอาการวิงเวียนขณะเปลี่ยนท่าได้มากกว่าคนทั่วไป ส่งผลให้เกิดอาการวิงเวียนและหกล้มขึ้นได้
สำหรับในคนไทยนั้น ยังไม่มีข้อมูลในผู้ป่วยเหล่านี้เนื่องจากในการศึกษาแต่ละครั้ง จะต้องใช้จำนวนประชากรและงบประมาณในการศึกษาค่อนข้างมาก แต่สามารถนำผลการศึกษามาปรับใช้ได้ เพราะผู้สูงอายุคนไทยก็จะมีรูปแบบ ลักษณะคล้าย ๆ กัน โดยสิ่งที่ต้องระวังก็คือผู้สูงอายุ ที่อาจจะมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัวมากขึ้น เมื่อวัดความดันโดยใช้การวัดที่ต้องบีบรัดไปที่แขน ซึ่งในกรณีที่มีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัว จะทำให้การบีบรัดหลอดเลือดที่แขนอาจทำได้ยากขึ้น ก็ส่งผลให้มีค่าความดันที่สูงขึ้นได้ แต่ว่าอาจจะไม่ได้มีภาวะความดันโลหิตสูงที่แท้จริงได้
“ตัวยาลดความดันโลหิตสูง ส่งผลทำให้ "ความดันลดลง" ซึ่งคนไข้ที่มีความดันโลหิตสูงมานานๆ ร่างกายจะมีการปรับตัวจนเกิดความเคยชินกับความดันโลหิตที่สูง เมื่อให้ยาเพื่อลดความดันอย่างรวดเร็ว ๆ แม้ระดับของความดันโลหิตไม่ได้ต่ำและร่างกายผู้ป่วยอาจเกิดการปรับตัวไม่ทันทำให้มีอาการเหมือนมีภาวะความดันต่ำ มีอาการหน้ามืด วูบได้” ผอ.สถาบันโรคทรวงอก อธิบาย
ข้อแนะนำสำหรับผู้ที่ใช้ยาลดความดันโลหิต
1. ต้องแน่ใจว่า มีภาวะความดันโลหิตสูงอย่างแท้จริง ปกติการวัดความดันในคนทั่วไปแล้ว ต้องไม่ทำกิจกรรม และวัดความดันในขณะพัก อย่างน้อย 5 นาที ถ้าไปออกกำลังกาย เดิน หรือวิ่งมา แล้ววัดความดันทันทีจะพบว่ามีความดันโลหิตสูงขึ้นได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของร่างกาย ดังนั้นจึงควรจะต้องวัดความดันในขณะพักและควรตรวจวัดในท่านั่งรวมทั้งการใช้อุปกรณ์ในการวัดที่เหมาะสมได้มาตรฐาน
2. จากที่เคยเจอคนไข้มาวัดความดันที่โรงพยาบาลบ่อยครั้ง พบว่า บางครั้งคนไข้บางรายจะมีความดันโลหิตสูงอย่างมาก ๆ ทั้งที่เมื่ออยู่ที่บ้านวัดความดันได้ปกติ ซึ่งอาจจะมีสิ่งเร้าภายนอกหรือความตื่นเต้นในขณะมาตรวจวัดที่โรงพยาบาล
โดยจากการศึกษาพบว่าประมาณ 30% ที่จะเกิดขึ้นได้เราเรียกปรากฏการณ์ นี้ว่า White-coat hypertension (ความดันโลหิตสูงชั่วคราวเฉพาะที่โรงพยาบาล) เมื่อคนไข้เจอหน้าแพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ คนไข้จะมีอาการตื่นเต้นและส่งผลทำให้มีความดันโลหิตสูง แต่เมื่อมีการตรวจยืนยันว่าความดันในขณะที่คนไข้ผ่อนคลาย พักผ่อนอยู่ที่บ้านวัดแล้วอยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งกรณีนี้ไม่ต้องรักษา
“ในการศึกษาดังกล่าว ยาลดความดันโลหิตมีความสัมพันธ์กับการที่มีกระดูกหักเกิดจากการวิงเวียนแล้วเกิดการหกล้มมากขึ้น แต่ไม่ใช่เป็นเพราะว่าตัวยาเองทำให้เกิดกระดูกหัก รวมทั้งสัมพันธ์กับกรณีที่ปรับยาเร็วเกินไป แพทย์ต้องมีความระมัดระวังในการใช้ยาในคนไข้สูงอายุ เริ่มยาจากขนาดต่ำ และปรับยาให้ช้าเพื่อให้คนไข้มีเวลาปรับตัวต่อระดับความดันโลหิตที่ลดลง เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้” ผอ.สถาบันโรคทรวงอก อธิบาย
รู้เลข รู้เสี่ยง เลี่ยงความดันโลหิตสูง
อ่านเพิ่มเติม น่ากลัวกว่าที่คิด ชวนห่างไกล “ความดันโลหิตสูง”
ที่มาข้อมูล: rutgers, eurekalert, newatlas, jamanetwork
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech