หลายคนอาจจะเคยมีประสบการณ์ที่เครื่องบินเราบินวนเหนือท่าอากาศยานก่อนลงจอด ซึ่งอาจทำให้แต่ละคนสงสัยว่า เครื่องบินจะบินวนไปทำไม นอกจากจะเปลืองเชื้อเพลิงแล้ว ยังทำให้เราถึงที่หมายช้ากว่าเดิมได้ อย่างไรก็ตาม การบินวนหรือที่เรียกในศัพท์การบินว่า “Holding” นั้นแทบจะเป็นเรื่องปกติและจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท่าอากาศยานที่มีปัจจัยภายนอกรบกวนสูง เช่น ท่าอากาศยานที่มีความหนาแน่นทางการจราจรทางอากาศสูงหรือมีสภาพอากาศแปรปรวน
ส่วนใหญ่แล้ว เครื่องบินจะบินวนเหนือท่าอากาศยานเมื่อ
- มีเครื่องบินจำนวนมากที่กำลังต่อคิวกันเพื่อขึ้นบินหรือลงจอดอยู่ ทำให้เจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศต้องระบายเที่ยวบินที่ยังอยู่บนพื้นดินก่อน จากนั้นจึงให้เครื่องบินที่บินวนค่อย ๆ ลงจอดทีละลำ
- สภาพอากาศย่ำแย่ เครื่องบินจำเป็นต้องรอให้สภาพอากาศดีขึ้นเสียก่อน จึงค่อยลงจอด
- ทางวิ่งเครื่องบินไม่พร้อม เช่น มีสิ่งกีดขวางหรือหิมะตก
- เหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น เครื่องบินลำอื่นอาจประกาศเหตุฉุกเฉิน ทำให้ผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศจำเป็นต้องให้ความสำคัญสูงสุดแก่เครื่องบินที่เกิดเหตุฉุกเฉินก่อน
การบินวนนั้น เครื่องบินมักจะบินไปที่จุดจุดหนึ่งก่อน (Holding Fix) ซึ่งจุดดังกล่าวมักจะเป็นเสาสัญญาณบอกตำแหน่ง เช่น Non-directional Beacon (NDB) หรือ VHF Omnidirectional Range (VOR) ก่อนที่จะเริ่มบินวน (Holding Pattern) เครื่องบินหลายลำสามารถบินวนที่จุดเดียวกันได้ แต่แยกจากกันโดยความสูง เช่น ความสูงห่างกัน 1,000 ฟุต การบินวนที่จุดเดียวกันเรียกว่า “Stack” โดยที่แต่ละ Stack มักจะมีเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศคนหนึ่งดูแล
ภายใน Stack นี้เอง เครื่องบินแต่ละลำจะค่อย ๆ ถูกนำออกจาก Holding Pattern เพื่อลงจอดโดยเจ้าหน้าที่ควบคุมตามลำดับ เริ่มจากเครื่องบินที่อยู่ต่ำที่สุดภายใน Stack ก่อน Stack จึงเป็นเสมือนการต่อคิวลงจอดของเครื่องบิน
หลายคนอาจจะสงสัยว่าบินวนเช่นนั้น เปลืองเชื้อเพลิงหรือไม่ และเชื้อเพลิงไม่หมดกลางอากาศหรือ
คำตอบก็คือ การบินวนนั้นเปลืองเชื้อเพลิงและคนจ่ายค่าเชื้อเพลิงก็คือสายการบิน แต่การบินวนนั้นจำเป็นเพื่อให้ผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศสามารถจัดคิวการลงจอดได้ เครื่องบินทุกลำจำเป็นจะต้องมีเชื้อเพลิงสำรองในการบินวนอยู่ตลอดเวลา หมายความว่าเครื่องบินทุกลำนั้นมีเชื้อเพลิงเกินกว่าที่จำเป็นต้องใช้ในการบินเที่ยวบินหนึ่ง ๆ อยู่ตลอดเวลานั่นเอง
ในบางกรณีที่เครื่องบินจำเป็นต้องบินกลับท่าอากาศยานเนื่องจากเหตุฉุกเฉินนั้น เครื่องบินอาจจะต้องบินวนเพื่อเผาผลาญเชื้อเพลิงหรือทิ้งเชื้อเพลิง (Fuel Dump) เพื่อลดน้ำหนักของเครื่องบินลง เนื่องจากน้ำหนักของเครื่องบินที่เพิ่งขึ้นบินนั้นมักจะมีเชื้อเพลิงแทบเต็มถัง ทำให้น้ำหนักของเครื่องบินมักจะเกินน้ำหนักสูงสุดสำหรับการลงจอด (Maximum Landing Weight: MLW) แต่ไม่เกินน้ำหนักสูงสุดในการบินขึ้น (Maximum Take-off Weight: MTOW)
การลงจอดในขณะที่น้ำหนักเกินอาจทำให้เครื่องบินเบรกไม่ทันและไถลออกนอกทางวิ่งหรือเกิดความเสียหายกับเครื่องบินได้ อย่างไรก็ตาม ในกรณีฉุกเฉินร้ายแรง เครื่องบินอาจได้รับอนุญาตให้ลงจอดโดยที่น้ำหนักเกินได้โดยที่ไม่ต้องบินวนเพื่อลดน้ำหนัก
เรียบเรียงโดย : โชติทิวัตถ์ จิตต์ประสงค์
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech