ข่าวคราวเรื่องการนำ “ข้าวสารเก่า” ที่เก็บไว้กว่า 10 ปี มาทดลองชิม จนกลายเป็นความสงสัยในเรื่องของคุณภาพของข้าว Thai PBS ชวนทำความรู้จักคุณลักษณะของข้าวสาร และทางเลือกที่ว่า หากเป็น “ข้าวสารเก่า” เราเอาไปทำอะไรได้อีกบ้าง ?
รู้จักคุณสมบัติข้าวสาร
- ข้าวสารมีลักษณะเป็นแป้ง แม้จะเก็บไว้ได้นาน แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขในการเก็บรักษา เช่น ต้องเก็บในที่แห้ง และมีอุณหภูมิต่ำ ภาชนะที่เก็บต้องปิดสนิท เพื่อป้องกันฝุ่น ความชื้น และสารปนเปื้อน
- การเก็บรักษาข้าว ควรเก็บในรูป "ข้าวเปลือก" เมื่อจะนำออกขายถึงค่อยสีข้าวให้เป็น "ข้าวสาร" แต่สำหรับข้าวสารที่ถูกสีแล้ว และยังไม่ได้ระบายสู่ตลาด เมื่อเก็บไว้นาน ย่อมเกิดการเสื่อมสภาพ
- หากเก็บรักษาข้าวสารภายใต้สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ทำให้เชื้อราสามารถเข้าทำลายได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เมล็ดข้าวมีคุณภาพต่ำ
- การเก็บรักษาข้าวสารที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด ควรเก็บในสภาพที่มีการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ เป็นวิธีป้องกันและลดความเสียหายของข้าวได้ดี
- การเก็บรักษา "ข้าวสาร" นอกจากแสง อากาศ ที่ควรหลีกเลี่ยงแล้วนั้น ปัจจัยเรื่องของ "กลิ่น" ก็ไม่ควรมองข้าม เพราะข้าวมีคุณสมบัติสามารถดูดซับกลิ่นไว้ได้ ควรหลีกเลี่ยงการเก็บข้าวสารไว้ใกล้กับผลผลิตที่มีกลิ่นแรง เช่น กระเทียม หัวหอม
- ข้าวที่บรรจุในถุงวางขาย มักจะกำหนดวันหมดอายุ 1 ปี หลังวันผลิตเสมอ แต่ถ้าหุงกินไม่ทัน ไม่จำเป็นต้องทิ้ง ยังสามารถกินได้ เพียงแต่ข้าวจะเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมและระยะเวลา
“ข้าวสารเก่า” เอาไปทำอะไรได้บ้าง ?
กรณีนำมารับประทาน
- ข้าวสารเก่า ค้างปี หรือมีอายุ 4-6 เดือน มีคุณลักษณะสำคัญคือ หุงขึ้นหม้อดี เมล็ดข้าวไม่เกาะติดกัน แต่จะแข็งกว่าข้าวใหม่ นิยมกินกับอาหารประเภทแกง เนื่องจากข้าวไม่เละ เคี้ยวมัน นอกจากนี้ ข้าวเก่ายังเหมาะมาทำข้าวผัด หรือข้าวแช่ เพราะเมล็ดข้าวร่วน
กรณีนำมาเป็นตัวช่วยด้านอาหาร
- ข้าวสาร ช่วยบ่มผลไม้ให้สุกได้ โดยเมล็ดข้าวสารจะช่วยรักษาก๊าซเอทิลีน ที่มีผลต่อการสุกของผลไม้ ทำให้ผลไม้สุกเร็วขึ้นกว่าการวางไว้ในพื้นที่ปกติ
- ข้าวสารช่วยดูดความชื้น ทำให้เกลือในขวดไม่จับกันเป็นก้อน โดยนำข้าวสารหย่อนลงไปในขวดเกลือ 2-3 เมล็ด ข้าวสารจะช่วยดูดความชื้นออกจากเกลือ ทำให้เกลือไม่จับตัวกันเป็นก้อน
- ข้าวสารยังมีประโยชน์ในการใช้ทดสอบความร้อนของน้ำมัน หากอยากรู้ว่า น้ำมันที่เทลงไปในกระทะร้อนได้ที่หรือยัง ให้ใช้เมล็ดข้าวสารใส่ลงไป หากเมล็ดข้าวสารลอยพ้นน้ำและเริ่มพองตัว แสดงว่าน้ำมันร้อนได้ที่แล้ว
กรณีนำมาใช้เป็นตัวช่วยภายในบ้าน
- ข้าวสารมีคุณสมบัติช่วยดูดความชื้น จึงนิยมนำมาใช้ช่วยดูดความชื้นในเครื่องใช้ภายในบ้านหลายรูปแบบ อาทิ นำข้าวสารใส่ชามไปตั้งในตู้เสื้อผ้า ช่วยป้องกันไม่ให้เสื้อผ้าเหม็นอับหรือมีเชื้อรา รวมไปถึงใส่ข้าวสารไว้ในกล่องอุปกรณ์ที่เป็นเหล็ก เช่น เครื่องมือช่าง ช่วยทำให้อุปกรณ์ดังกล่าวยังคงมีความแห้ง ป้องกันการเกิดสนิมได้ นอกจากนี้ คุณสมบัติการดูดซับความชื้นของข้าวสาร ยังช่วยป้องกันคราบสกปรกที่เกาะติดในช้อนและส้อม โดยเทข้าวสารจำนวนหนึ่งใส่ถ้วย นำไปวางไว้ในลิ้นชักเก็บช้อนและส้อม ช่วยกำจัดความชื้นที่ทำให้เกิดคราบได้
กรณีนำมาเป็นเครื่องใช้ในบ้าน
- ข้าวสาร ยังประยุกต์ใช้เป็นกาวได้ โดยนำข้าวสาร 1 ถ้วย นำไปต้มกับน้ำเปล่า และเคี่ยวด้วยไฟปานกลาง เมื่อข้าวเริ่มข้นและเหนียว ให้ยกลงเพื่อพักให้เย็นตัว เทเก็บใส่ในภาชนะ เพื่อใช้เป็นกาวที่สามารถทำเองได้
ข้าว เป็นสินค้าสำคัญอย่างหนึ่งของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น ข้าวเก่า หรือ ข้าวใหม่ สุดท้าย การรักษา “คุณภาพ” เป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ต้องใส่ใจ และให้ความสำคัญร่วมกัน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ไขคำตอบ! "ข้าวสาร" เก็บได้นานแค่ไหน ?
-นักวิชาการ มช. แนะใช้ข้าวเก่า 10 ปี ผลิตแอลกอฮอล์ – น้ำส้มสายชู
-เผยวิธีเก็บข้าว 10 ปี ผู้เชี่ยวชาญกังวลคุณค่าทางอาหารถูกย่อยสลาย
-สมชัย" แนะตรวจสอบคุณภาพข้าว 10 ปี สร้างความมั่นใจก่อนขาย