ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ร้อนจัดแต่เหงื่อไม่ออก? เช็ก 9 อาการ “ฮีทสโตรก” รับมือในวันที่ความร้อนพุ่ง


บทความพิเศษ

31 มี.ค. 66

ชาลี นวธราดล

Logo Thai PBS
แชร์

ร้อนจัดแต่เหงื่อไม่ออก? เช็ก 9 อาการ “ฮีทสโตรก” รับมือในวันที่ความร้อนพุ่ง

https://www.thaipbs.or.th/now/content/102

ร้อนจัดแต่เหงื่อไม่ออก? เช็ก 9 อาการ “ฮีทสโตรก” รับมือในวันที่ความร้อนพุ่ง
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

กรณี “เอ๋-ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม” เสียชีวิตด้วยภาวะ “ฮีทสโตรก หรือโรคลมแดด” ขณะซ้อมแข่งรถยนต์ กรณีนักเรียนชายชั้น ม.6 ใน จ.บุรีรัมย์ เสียชีวิตขณะนั่งรถบัสไปทัศนศึกษากับครูและเพื่อนๆ ที่ จ.ชลบุรี ด้วยภาวะเดียวกัน

สะท้อนว่าภาวะ “ฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด” เป็นเรื่องใกล้ตัวคนไทย ในช่วงเดือน เม.ย. กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศว่าประเทศมีอากาศร้อนพุ่งเกิน 40 องศาเซลเซียส ตลอดทั้งเดือน

แม้หลายคนจะเลี่ยงการออกไปใช้ชีวิตกลางแจ้งไม่ได้ แต่สามารถรู้วิธีป้องกัน รู้สังเกตอาการตัวเอง และวิธีปฐมพยาบาลได้เมื่อเราหรือเพื่อนประสบภาวะฮีทสโตรก 

อาการก่อนเป็นฮีทสโตรก มีอะไรบ้าง?

  1. วิงเวียนศีรษะ มึนงง
  2. หัวใจเต้นเร็วแต่เบา หายใจเร็วกว่าปกติ
  3. คลื่นไส้ อาเจียน (บางคน)
  4. กระหายน้ำมาก
  5. หน้าแดง ตัวร้อนจัด และเหงื่อออกมาก

เมื่อรู้อาการร่างกายว่าเรากำลังเป็นฮีทสโตรก สิ่งแรกที่ต้องทำคือ หยุดทำกิจกรรมทุกอย่างแล้วเข้าที่ร่มทันที จากนั้นทำร่างกายให้เย็นด้วยการเปิดพัดลม แต่กรณีเข้าห้องที่มีแอร์ ให้เปิดพัดลมร่วมด้วย ขณะเดียวกันให้จิบน้ำเย็นหรือน้ำธรรมดาบ่อย ๆ แต่ไม่ควรดื่มรวดเดียว และใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเข็ดตามด้วยการเช็ดย้อนรูขุมขน

อาการฮีทสโตรก

9 อาการระหว่างเป็นฮีทสโตรก มีอะไรบ้าง? 

  1. อุณหภูมิในร่างกายจะค่อย ๆ สูงขึ้นจนถึงระดับ 40 องศาเซลเซียส
  2. ผิวหนังจะเริ่มแห้ง แดงและร้อนจัด
  3. รูขุมขนจะปิดทันที จนไม่สามารถระบายเหงื่อและความร้อนได้
  4. เกิดอาการตะคริว กล้ามเนื้อเริ่มอ่อนแรงหรือเกร็ง
  5. เริ่มไม่มีแรง หน้ามืด อ่อนเพลีย
  6. ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
  7. ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว
  8. เป็นลม หมดสติ
  9. ฮีทสโตรกเป็นอันตรายอย่างมากกับผู้ที่มีภาวะโรคไต หรือไตวาย

คนรอบข้างหรือใกล้ชิด สามารถสังเกตอาการของคนที่เริ่มจะมีอาการฮีทสโตรก โดยจะเริ่มมีอาการหงุดหงิดจากความร้อน พูดจาสับสนไม่รู้เรื่อง และมีอาการมึนงง
 

ปฐมพยาบาลฮีทสโตรก ทำยังไง?

  1. รีบนำเข้าที่ร่มและมีอากาศถ่ายเทสะดวก อาจเปิดพัดลมหรือใช้พัดช่วย เพื่อพัดให้เกิดความเย็น
  2. ให้นอนราบ ยกเท้าสูงสองข้าง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด
  3. หากผู้ป่วยอาเจียน ให้นอนตะแคงจนหายจากอาเจียนแล้วค่อยนอนหงาย
  4. คลายเสื้อให้หลวม เช็ดตัวด้วยน้ำเย็นหรือน้ำธรรมดา ด้วยการเช็ดย้อนรูขุมขน
  5. ให้ดื่มน้ำหรือเกลือแร่
  6. ในระหว่างปฐมพยาบาลข้อที่ 1-5 ให้คนอื่นติดต่อรถพยาบาลหรือโทร 1669 เพื่อนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล

ป้องกันฮีทสโตรก มีวิธีอะไรบ้าง?

  1. หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งที่มีอากาศร้อนจัด
  2. จิบน้ำบ่อย ๆ หรือดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้านในวันที่อากาศร้อน
  3. สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน โปร่ง ไม่หนา น้ำหนักเบา ระบายความร้อนได้ดี และป้องกันแสงแดดได้
  4. หากออกกำลังกาย ต้องดื่มน้ำให้เยอะ
  5. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่เสี่ยงต่อการขาดน้ำ เช่น กาแฟ และ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  6. อย่าให้เด็กและผู้สูงอายุอยู่ในรถยนต์ที่ปิดสนิทตามลำพัง

ปฐมพยาบาลฮีทสโตรก

6 กลุ่มเสี่ยงเป็นฮีตสโตรกมากกว่าคนทั่วไป

นพ.คมสันติ วงศ์กุลพิศาล ฝ่ายเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ยืนยันว่ามีคน 6 กลุ่ม ที่มีโอกาสเกิดโรคฮีทสโตรกมากกว่าคนปกติ ดังนี้

  1. ผู้ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด 
  2. เด็กเล็กหรือผู้สูงอายุ 
  3. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง 
  4. ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก 
  5. ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ 
  6. ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานว่า ระหว่างเดือน มี.ค.-พ.ค. ตั้งแต่ปี 2558-2564 มีรายงานผู้เสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อน ทั้งสิ้น 234 คนเฉลี่ย 33 คนต่อปี และมีรายงานผู้ป่วยประมาณ 2,500-3,000 คนต่อปี

ที่มา บทความอันตรายถึงชีวิต กับอาการฮีทสโตรก ที่มากับความร้อน, ชัวร์หรือมั่ว : คน 6 กลุ่มที่มีความเสี่ยงเป็นฮีตสโตรกมากกว่าคนทั่วไป 
 

อ่านและชมเพิ่มเติม
คน 6 กลุ่มที่มีความเสี่ยงเป็นฮีทสโตรกมากกว่าคนทั่วไป 
อันตรายถึงชีวิตกับอาการฮีทสโตรกที่มากับความร้อน 
ร่างกายร้อนเกินไปอาจตายได้ด้วย “โรคฮีทสโตรก”
แยกให้ชัด ! ร้อนจัดแบบไหนคือภาวะ #ฮีทสโตรก หรือโรค #ลมแดด  
รู้จัก "ฮีทสโตรก" ภัยความร้อนเกิน 40 องศาฯ ตายเฉลี่ย 33 คนต่อปี 
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ฮีทสโตรกเอ๋ชนม์สวัสดิ์อากาศร้อน
ชาลี นวธราดล
ผู้เขียน: ชาลี นวธราดล

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด