"สาธารณภัย" ต้องรุนแรงขั้นไหนถึงต้องประกาศ "ภาวะฉุกเฉิน"

ภัยพิบัติ
9 พ.ค. 67
16:31
1,604
Logo Thai PBS
"สาธารณภัย" ต้องรุนแรงขั้นไหนถึงต้องประกาศ "ภาวะฉุกเฉิน"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
4 ชม.หลังเกิดเหตุไฟไหม้ถังเก็บสารเคมีของ บ.มาบตาพุด แทงค์ฯ ทาง จ.ระยองได้ประกาศ "ภาวะฉุกเฉินระดับ 2" สั่งอพยพคนในพื้นที่เกิดเหตุและใกล้เคียงอย่างเร่งด่วน คำถามคือ "ระดับ 2" คืออะไร ขอบเขตอยู่ที่ไหน เช็กรายละเอียดเพื่อการเตรียมตัวหากเกิดภัยใกล้ตัว

ระดับสถานการณ์สาธารณภัย สำหรับใช้เป็นกรอบแนวคิดในการแจ้งเตือนภัย และเพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปรับใช้ตามภารกิจ-หน้าที่ของหน่วยงานในการจัดการสาธารณภัย โดยกำหนดความหมายของสีตามสถานการณ์ของสาธารณภัยไว้ 5 ระดับ ดังนี้

ภาวะปกติ สถานการณ์อยู่ในภาวะปกติ ให้ติดตามข้อมูลข่าวสารเป็นประจำ

ภาวะฉุกเฉินระดับ 1 : สาธารณภัยขนาดเล็ก สถานการณ์อยู่ในภาวะเฝ้าระวัง ให้ติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด

  • เฝ้าระวังใกล้ชิดขึ้น
  • ทําการวิเคราะห์ Mission
  • ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
  • พัฒนาแผนเผชิญเหตุ
  • เตรียมพร้อมกําลังคน
  • กําลังคนเหมือนกับภาวะปกติ แต่เพิ่ม
  • มีการแจ้งและเพิ่มจํานวนผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาร่วมติดตามและประเมินสถานการณ์

ผู้มีอํานาจตามกฎหมาย : ผู้อํานวยการอําเภอ ผู้อํานวยการท้องถิ่น และ/หรือ ผู้ช่วยผู้อํานวยการกรุงเทพมหานคร หรือจังหวัด ควบคุมและสั่งการ

อ่านข่าว : วายร้าย VOCs อันตรายต่อร่างกาย ทำลายอวัยวะภายใน

 

ภาวะฉุกเฉินระดับ 2 : สาธารณภัยขนาดกลาง สถานการณ์อยู่ในภาวะเสี่ยงอันตราย มีแนวโน้มที่สถานการณ์จะรุนแรงมากขึ้น ให้จัดเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ และปฏิบัติตามคำแนะนำ

  • มีการแต่งตั้งผู้บัญชาการเหตุการณ์ และปฏิบัติงานตามโครงสร้างของระบบบัญชาการเหตุการณ์
  • ปฏิบัติการฉุกเฉินตามแผนเผชิญเหตุ
  • กําลังคนเหมือนระดับที่ 1 บวก
  • มีการเพิ่มกําลังคนเข้ามาในระบบบัญชาการเหตุการณ์ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของกําลังคนของแต่ละหน่วยงาน

ผู้มีอํานาจตามกฎหมาย : ผู้อํานวยการจังหวัด หรือ ผู้อํานวยการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด ควบคุม สั่งการ และบัญชาการ

ภาวะฉุกเฉินระดับ 3 : สาธารณภัยขนาดใหญ่ สถานการณ์อยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายสูง เจ้าหน้าที่กำลังควบคุมสถานการณ์ ให้อพยพไปยังสถานที่ปลอดภัย และปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนด

  • มีการแต่งตั้งผู้บัญชาการเหตุการณ์ และปฏิบัติงานตามโครงสร้างของระบบบัญชาการเหตุการณ์
  • ปฏิบัติการฉุกเฉินตามแผนเผชิญเหตุ
  • กําลังคนเหมือนระดับที่ 1 บวก
  • มีการเพิ่มกําลังคนเข้ามาในระบบบัญชาการเหตุการณ์ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของกําลังคนของแต่ละหน่วยงาน

ผู้มีอํานาจตามกฎหมาย : ผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติควบคุม สั่งการ และบัญชาการ

อ่านข่าว : ด่วน! ไฟไหม้มาบตาพุดแทงค์เทอร์มินัล 2 ปีก่อนเคยระเบิด

ภาวะฉุกเฉินระดับ 4 : สาธารณภัยร้ายแรงอย่างยิ่ง สถานการณ์อยู่ในภาวะอันตรายสูงสุด ให้อาศัยอยู่แต่ในสถานที่ปลอดภัยหรือต้องอพยพไปยังสถานที่ปลอดภัย และปฏิบัติตามข้อสั่งการ

  • มีการแต่งตั้งผู้บัญชาการเหตุการณ์ และปฏิบัติงานตามโครงสร้างของระบบบัญชาการเหตุการณ์
  • ปฏิบัติการฉุกเฉินตามแผนเผชิญเหตุ
  • ให้ทุกหน่วยงานหยุดการปฏิบัติงานที่ไม่ใช่งานที่สําคัญและจําเป็นต้องดําเนินการ เพื่อให้บุคลากรทั้งหมดเข้าร่วมปฏิบัติการฉุกเฉิน

ผู้มีอํานาจตามกฎหมาย : นายกรัฐมนตรี หรือ รองนายกรัฐมนตรี ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายควบคุม สั่งการ และบัญชาการ

สําหรับการยกระดับการจัดการสาธารณภัยเป็นระดับ 3 และระดับ 4 ผู้มีอํานาจตามกฎหมายจะใช้ดุลยพินิจพิจารณาจากปัจจัยดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างประกอบกันเป็นเกณฑ์เสนอผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติพิจารณาตัดสินใจ

ที่มา : หลักสูตรการจัดการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข ระบบบัญชาการเหตุการณ์และศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน สำหรับผู้บริหาร กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, พ.ร.บ. ปภ. 2550 และ แผน ปภ.ช. 2564 - 2570

อ่านข่าวเพิ่ม : บ.มาบตาพุดแทงค์ฯ ชี้แจงไฟไหม้ถังเก็บสารไพรโรไลสิส แก๊สโซลีน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง