ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“ทักษิณ” กลับไทยเรื่อง “ได้” มากกว่า “เสีย”

การเมือง
21 ส.ค. 66
13:31
7,596
Logo Thai PBS
“ทักษิณ” กลับไทยเรื่อง “ได้” มากกว่า “เสีย”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สำหรับกูรูการเมืองบางคน ถึงขณะนี้ก็ยังไม่เชื่อว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะกลับประเทศไทยจริง วันที่ 22 ส.ค.2566 บางคนบอกว่า จนกว่าจะเห็นลงจากเครื่องที่ดอนเมือง จึงจะเชื่อ เหตุผลสำคัญ คือเคยประกาศจะกลับไทยหลายครั้ง แต่สุดท้ายเลื่อนตลอด

แต่สำหรับมวลชนคนเสื้อแดง ที่เคยศรัทธาเชิดชูนายทักษิณ เชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า ครั้งนี้มาแน่ เห็นได้จากท่าทีเตรียมการเคลื่อนพลเข้ากรุงเทพฯ ปักหมุดสนามบินดอนเมือง หากไกลหน่อยแถวอีสานและเหนือ จะล้อหมุนกันช่วงเย็นๆ ค่ำๆ วันที่ 21 ส.ค. ถึงดอนเมือง ในเช้าวันถัดมา

เป็นวันเดียวกับนัดประชุมรัฐสภา โหวตเลือกนายกฯ จากบัญชีพรรคเพื่อไทย ซึ่งแกนนำพรรคหลายคนยังขานชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ

แต่ยังเว้นช่องว่างเผื่อไว้ กรณีมีข้อมูลใหม่ หรืออาจโดนละเลงจาก “เฮียชู” นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ รอบที่ 3 จนทุลักทุเลเกินกว่าจะเข็นให้เดินหน้าต่อ ขณะที่เจ้าตัวปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และตอบโต้คืนนายชูวิทย์ไปหลายดอก

บางคนอาจแย้งว่า ถ้าจะกลับจริง คงกลับมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ต้องไม่ลืมข้อเท็จจริงประการหนึ่ง และเป็นความสำคัญทางการเมือง คือเมื่อนับย้อนไปถึงสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ และถูกมวลชนลุกฮือขับไล่ กรณีดันกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ปี 2556 จนถึงปัจจุบันพรรคเพื่อไทยไม่เคยมีอำนาจอยู่ในมืออีกเลย เป็นฝ่ายค้านมาโดยตลอดถึง 10 ปี การกลับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นช่วงไหน จะต้องถูกควบคุมตัวเข้าคุกทันที ไม่มีใครเป็นตัวช่วย

ต่างจากครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยมีโอกาสจะกลับคืนสู่อำนาจ ในฐานะพรรคแกนนำตั้งรัฐบาล และมีคนจากพรรคเป็นนายกฯ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานการณ์และจังหวะเวลาดีกว่ากันเยอะ แม้เจ้าตัวจะย้ำว่า พร้อมเข้าคุกรับโทษตามคำพิพากษาของศาล 3 คดีรวม 10 ปี

อย่างไรก็ดี มีข่าวในเชิงบวก ต่อการอำนวยความสะดวก และรองรับการเป็นผู้ต้องขังวีไอพีของนายทักษิณมาตลอด ตั้งแต่ข่าวเตรียมพื้นที่พิเศษในเรือนจำกรุงเทพฯ ไว้ให้ หรือบางช่วงมีข่าวระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ถูกกักกัน ปี 2566 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2566 รองรับไม่ต้องติดคุก แต่สามารถนำไปไปคุมขังในที่อื่นหรือแม้แต่ในบ้านพักได้ ก่อนจะมีข้ออ้างปฏิเสธตามมา

รวมกระทั่งช่องทางการอภัยโทษในฐานะเข้าเกณฑ์ผู้ต้องขังสูงวัย อายุเกินกว่า 60 ปีขึ้นไป และช่องทางการขอพระราชทานอภัยโทษ ที่นายวิษณุ เครืองาม มือกฎหมายคนสำคัญ ของรัฐบาล และเคยอยู่ร่วม ครม.กับรัฐบาลนายทักษิณ เช่นกัน ที่ออกมาอธิบายเรื่องนี้ไว้

มีบางคนตั้งข้อสงสัย เหตุใดจึงเลือกกลับถึงไทย 09.00 น. เป็นการประชุมรัฐสภาจะเริ่มขึ้น และจากกำหนดการโหวตเลือกนายกฯ จะเริ่มในช่วงเวลาประมาณ 15.00 น. สิ้นสุดได้ผลโหวต 17.00 น. คล้อยหลังไปตั้งเยอะ

แต่ในทางปฏิบัติ กว่าเครื่องจะลงจอด ต้องผ่านขั้นตอน ตม.(ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง) เรื่องเอกสาร จากนั้นส่งตัวไปรับหมายขังที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามด้วยเจ้าหน้าที่จะคุมตัวไปที่กรมราชทัณฑ์ เพื่อส่งเข้าเรือนจำกว่าจะเสร็จสิ้น เวลาก็น่าจะใกล้เคียงกัน ยังไม่นับ นายทักษิณต้องอยู่ในห้องกักโรคตามเวลาที่กรมราชทัณฑ์กำหนด

กลับก่อนเวลาโหวต ถือเป็นการยืนยันว่า ตั้งใจกลับมารับโทษ ไม่ต้องใช้การนิรโทษกรรมหรือการช่วยเหลือใด ๆ อย่างที่นายทักษิณเคยกล่าวย้ำไว้ แต่หากกลับมาหลัง จะเลี่ยงข้อครหานี้ลำบาก

แต่ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่ง คือเป็นแสดงความมั่นใจว่า การโหวตเลือกนายกฯ จากพรรคเพื่อไทยวันเดียวจบ ไม่ยืดเยื้อ สะท้อนการเตรียมการว่า ผ่านการประสานเจรจาทางการเมืองจบสิ้น ปิดดีลเรียบร้อยแล้ว นอกจากได้เห็น 2 พรรค 2 ลุง ประกาศร่วมโหวตร่วมหนุนจัดตั้งรัฐบาล

ก่อให้เกิดเสถียรภาพด้วยเสียง 314 เสียง เกินกว่าครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ ขณะที่เสียงของ ส.ว. เมื่อ 2 พรรค 2 ลุงมาร่วมตั้งรัฐบาล ส.ว.ในสาย 2 ลุงต้องพ่วงตามมาด้วยแน่ ๆ

แม้จะยังมีภาพความเคลื่อนไหวของ ส.ว.บางส่วน ที่อ้างทั้งเรื่องข้อกล่าวหาของนายชูวิทย์ ว่าด้วยพฤติการณ์เลี่ยงภาษีจากการซื้อขายที่ดิน เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องเปลี่ยนตัวแคนดิเดตนายกฯ หรือแม้แต่เรื่องอาจดึงพรรคก้าวไกลกลับมาร่วมรัฐบาลอีก หลังจากโหวตเลือกนายกฯผ่าน แต่ในมุมของกูรูการเมืองวงใน กลับมองว่า ส่วนหนึ่ง เป็นการเล่นตามบทที่กำหนดไว้เสียมากกว่า

"ทักษิณ" คืนกลับแผ่นดินเกิดในรอบ 17 ปี

ประกอบกับคนเสื้อแดงมีปฏิกิริยาขานรับ พร้อมไปแสดงพลังต้อนรับการกลับมาของนายทักษิณ จะช่วยเติมเต็มภาพพจน์ในเชิงบวกให้นายทักษิณอย่างปฏิเสธไม่ได้

แม้วันนี้ หลายคนอาจจะลืมเรื่องที่เขาและครม.เคยทำไว้ในอีกด้านหนึ่ง กระทั่งเป็นที่มาของการเกิด คตส. หรือคณะกรรมการติดตรวจการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หลังรัฐประหาร 2549

ถึงวันนี้ หลายเรื่องหลายคดีจากการฝีมือ คตส. ยังคาราคาซัง ไม่จบสิ้นคดีความก็มี

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง