ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เผยโฉม! “อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ” ในพื้นที่สนามม้านางเลิ้ง

พระราชสำนัก
18 พ.ย. 64
13:04
10,212
Logo Thai PBS
เผยโฉม! “อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ” ในพื้นที่สนามม้านางเลิ้ง
เว็บไซต์ สำนักพระราชวัง เผยแพร่วีดิทัศน์อุทยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ปอดกลางกรุงในพื้นที่สนามม้านางเลิ้ง 279 ไร่ คาดแล้วเสร็จปี 2567

เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2564 เว็บไซต์ สำนักพระราชวัง เผยแพร่วีดิทัศน์อุทยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมีรายละเอียด ดังนี้ อุทยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกิดขึ้นจากพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีทรงตั้งพระราชหฤทัย เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานอุทยานเฉลิมพระเกียรติแห่งนี้ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้แนวพระราชดำริของทั้งสองพระองค์ ผ่านองค์ความรู้เรื่องป่า และน้ำ ซึ่งนำมาเป็นแนวคิดหลักในการออกแบบสวน


ที่สำคัญอุทยานเฉลิมพระเกียรติแห่งนี้เป็นที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้ สะท้อนให้เห็นความสำคัญของมนุษย์กับธรรมชาติ และเป็นปอดแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพมหานคร เสริมสร้างคุณภาพชีวิตทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เป็นสถานที่ศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมเพื่อเด็กและเยาวชน และประชาชนทั่วไป


พื้นที่อุทยานเฉลิมพระเกียรติ เป็นที่ดินในพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้เป็นสวนสาธารณะเพื่อประโยชน์สุขแก่ปวงชน ครอบคลุมพื้นที่ 279 ไร่ โดยเริ่มพัฒนาแบบตั้งแต่ พ.ศ.2561 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน พ.ศ.2567

อุทยานเฉลิมพระเกียรติแห่งนี้เป็นที่ตั้งของพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นหัวใจและศูนย์กลางของอุทยาน


อุทยานเฉลิมพระเกียรติมีแนวคิดการออกแบบที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทั้งพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 9 บ่อน้ำเลข 9 สะพานเลข 9 สะพานหยดน้ำพระทัย สะพานไม้เจาะบากง

น้ำพระราชหฤทัยดั่งสายน้ำที่หล่อเลี้ยงคนไทยมาตลอด 70 ปี สวนแห่งนี้สะท้อนการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำ ได้แก่ ฝายชะลอน้ำ ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง กลางน้ำ ได้แก่ แก้มลิง พืชชุ่มน้ำ กังหันน้ำชัยพัฒนา เกษตรทฤษฎีใหม่ บ่อปลานิล และปลายน้ำ ได้แก่ พืชกรองน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ ทั้งยังออกแบบให้เป็นพื้นที่รองรับน้ำหรือแก้มลิงแห่งใหม่ในยามวิกฤตจากอุทกภัยอีกแห่งของกรุงเทพมหานคร


อุทยานเฉลิมพระเกียรติร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ราว 4,500 ต้น คล้ายคลึงป่าธรรมชาติ ปลูกไม้ที่มีความหมายและมีประโยชน์ เช่น การปลูกพืชกรองฝุ่น การปลูกไม้โตเร็วเพื่อสร้างร่มเงา ต้นไม้ประจำจังหวัด ไม้หายาก และ พืชบำบัดน้ำ สร้างระบบนิเวศที่พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน นอกจากจะให้ความรู้หลากมิติ ที่เข้าถึงได้ง่าย ผู้คนยังได้รับความสุขจากธรรมชาติ


ภายในสวนยังมีเส้นทางเดินและวิ่ง ทางปั่นจักรยาน รายล้อมด้วยทัศนียภาพที่งดงาม มีสนามออกกำลังกายกลางแจ้ง ลานกิจกรรมและนันทนาการ ลานริมน้ำ ร้านค้าจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ลานจอดรถ และส่วนอำนวยความสะดวก มีการใช้พลังงานทดแทนจาก Floating Solar Cell รวมถึงใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาบริหารจัดการ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนด้วย

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง