ทำไมชาวพุทธถึง "กรวดน้ำ" หลังทำบุญ ? พร้อมบทสวดแบบย่อ

ทำไมชาวพุทธถึง "กรวดน้ำ" หลังทำบุญ ? พร้อมบทสวดแบบย่อ

27 ก.ค. 66

การกรวดน้ำ เป็นพิธีกรรมหนึ่งในการอุทิศบุญกุศลแก่ผู้ล่วงลับไปแล้วด้วยการหลั่งน้ำ โดยคำว่า “กรวด” มีรากศัพท์มาจากภาษาเขมร แปลว่า เทน้ำ หรือหลั่งน้ำ ชาวพุทธนิยมปฏิบัติหลังจากทำบุญ ทั้งในพิธีมงคล หรืออวมงคล เช่น งานวันเกิด งานขึ้นบ้านใหม่ งานบวช งานแต่งงาน หรืองานศพ

  • ยถา ให้ผี - สัพพี ให้คน 

ลักษณะการกรวดน้ำ โดยทั่วไป คือ การนำน้ำสะอาดใส่ในภาชนะอย่างแก้ว ขวด หรือคนโทเล็ก ๆ เทลงในภาชนะที่รองรับอีกที โดยเริ่มรินน้ำตั้งแต่พระขึ้นคำว่า “ยถา วาริวะหา..…” จนถึงคำว่า “มณิ โชติรโส ยถา” ก็เทน้ำให้หมดพอดี ซึ่งบทสวดในช่วงนี้จะเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ล่วงลับไปแล้ว ระหว่างเทน้ำลงภาชนะที่รองรับ ไม่จำเป็นต้องใช้นิ้วรองน้ำ แต่ให้เทลงไปตรง ๆ เพื่อมิให้น้ำขาดสาย เหมือนให้บุญหลั่งไหลลงไปโดยไม่ขาดตอน และเมื่อพระขึ้นคำว่า “สัพพีติโย..…” ก็ให้นั่งประนมมือฟังต่อจนสวดจบ เป็นอันเสร็จพิธีกรวดน้ำ บทสวดในช่วงนี้จะเป็นการให้พรแก่ผู้ทำบุญที่ยังมีชีวิตอยู่  บทสวดทั้งสองบทนี้จึงมักเรียกรวมโดยใช้คำขึ้นต้นว่า “ยถา-สัพพี” หมายถึง การอุทิศบุญให้คนตายและให้พรคนเป็น หรือที่พูดภาษาปากกันว่า “ยถา ให้ผี - สัพพี ให้คน”

 

จากนั้น จึงนำน้ำที่กรวดแล้วไปเทลงดินหรือตามต้นไม้ เสมือนให้พระแม่ธรณีเป็นพยานในการทำบุญเช่นเดียวกับพระพุทธองค์ จากตำนานความเป็นมาที่เล่ากันว่า พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญเพียรเพื่อตรัสรู้ ได้ทรงผจญกับเหล่าพวกพญามารทั้งหลาย พระแม่ธรณีทรงแสดงปาฏิหาริย์ปราบเหล่าพญามาร โดยทรงบีบมวยผมให้น้ำไหลออกมาท่วมพวกพญามารทั้งหลายให้พ่ายแพ้ไป ต่อมาชาวพุทธนิยมไปเทตรงต้นไม้ คงเพราะต้นไม้ขึ้นในดิน จึงถือว่ารดน้ำบำรุงต้นไม้ไปด้วย

 

นอกจากบทกรวดน้ำ ยถา-สัพพี ที่พระสงฆ์เป็นผู้สวดหลังทำบุญต่าง ๆ แล้ว ยังมีบทกรวดน้ำที่ผู้ทำบุญเป็นผู้สวดเองอีกด้วย บทสวดแบบย่อ กล่าวว่า “อิทังเม ญาตินัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย” แปลว่า ขอบุญนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าเถิด ขอญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าจงมีความสุขเถิดฯ

ทำไมชาวพุทธถึง "กรวดน้ำ" หลังทำบุญ ? พร้อมบทสวดแบบย่อ

27 ก.ค. 66

การกรวดน้ำ เป็นพิธีกรรมหนึ่งในการอุทิศบุญกุศลแก่ผู้ล่วงลับไปแล้วด้วยการหลั่งน้ำ โดยคำว่า “กรวด” มีรากศัพท์มาจากภาษาเขมร แปลว่า เทน้ำ หรือหลั่งน้ำ ชาวพุทธนิยมปฏิบัติหลังจากทำบุญ ทั้งในพิธีมงคล หรืออวมงคล เช่น งานวันเกิด งานขึ้นบ้านใหม่ งานบวช งานแต่งงาน หรืองานศพ

  • ยถา ให้ผี - สัพพี ให้คน 

ลักษณะการกรวดน้ำ โดยทั่วไป คือ การนำน้ำสะอาดใส่ในภาชนะอย่างแก้ว ขวด หรือคนโทเล็ก ๆ เทลงในภาชนะที่รองรับอีกที โดยเริ่มรินน้ำตั้งแต่พระขึ้นคำว่า “ยถา วาริวะหา..…” จนถึงคำว่า “มณิ โชติรโส ยถา” ก็เทน้ำให้หมดพอดี ซึ่งบทสวดในช่วงนี้จะเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ล่วงลับไปแล้ว ระหว่างเทน้ำลงภาชนะที่รองรับ ไม่จำเป็นต้องใช้นิ้วรองน้ำ แต่ให้เทลงไปตรง ๆ เพื่อมิให้น้ำขาดสาย เหมือนให้บุญหลั่งไหลลงไปโดยไม่ขาดตอน และเมื่อพระขึ้นคำว่า “สัพพีติโย..…” ก็ให้นั่งประนมมือฟังต่อจนสวดจบ เป็นอันเสร็จพิธีกรวดน้ำ บทสวดในช่วงนี้จะเป็นการให้พรแก่ผู้ทำบุญที่ยังมีชีวิตอยู่  บทสวดทั้งสองบทนี้จึงมักเรียกรวมโดยใช้คำขึ้นต้นว่า “ยถา-สัพพี” หมายถึง การอุทิศบุญให้คนตายและให้พรคนเป็น หรือที่พูดภาษาปากกันว่า “ยถา ให้ผี - สัพพี ให้คน”

 

จากนั้น จึงนำน้ำที่กรวดแล้วไปเทลงดินหรือตามต้นไม้ เสมือนให้พระแม่ธรณีเป็นพยานในการทำบุญเช่นเดียวกับพระพุทธองค์ จากตำนานความเป็นมาที่เล่ากันว่า พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญเพียรเพื่อตรัสรู้ ได้ทรงผจญกับเหล่าพวกพญามารทั้งหลาย พระแม่ธรณีทรงแสดงปาฏิหาริย์ปราบเหล่าพญามาร โดยทรงบีบมวยผมให้น้ำไหลออกมาท่วมพวกพญามารทั้งหลายให้พ่ายแพ้ไป ต่อมาชาวพุทธนิยมไปเทตรงต้นไม้ คงเพราะต้นไม้ขึ้นในดิน จึงถือว่ารดน้ำบำรุงต้นไม้ไปด้วย

 

นอกจากบทกรวดน้ำ ยถา-สัพพี ที่พระสงฆ์เป็นผู้สวดหลังทำบุญต่าง ๆ แล้ว ยังมีบทกรวดน้ำที่ผู้ทำบุญเป็นผู้สวดเองอีกด้วย บทสวดแบบย่อ กล่าวว่า “อิทังเม ญาตินัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย” แปลว่า ขอบุญนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าเถิด ขอญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าจงมีความสุขเถิดฯ