เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว อยู่ ๆ ฝนเกิดตกซะอย่างนั้น เสี่ยงรถติด ความเครียดก่อตัวในร่างกาย แถมมีมลภาวะ PM 2.5 อีกต่างหาก สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เรา “ป่วย” เนื่องจากภูมิคุ้มกันตก เชื้อโรค - สิ่งแปลกปลอมนานาประเภทจู่โจมเราได้ง่ายขึ้น หากไม่หาทางป้องกันอาจเกิดโรคภัยซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ด้วยความห่วงใย #ThaiPBS จึงขอพาไปรู้จัก “ภูมิคุ้มกันต่ำ” ให้มากขึ้น สู่แนวทางทำให้คุณแข็งแรง ภูมิคุ้มกันกลับมาเป็นปกติ ไม่ป่วยง่าย
รู้จักระบบภูมิคุ้มกัน (Immune System)
คือกลไกการทำงานของร่างกายระบบหนึ่ง ตามธรรมชาติของร่างกายทำหน้าที่ป้องกันหรือต่อต้านไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายหรือเกิดการติดเชื้อจากเชื้อโรค โดยระบบภูมิคุ้มกันมีกลไกจากสารเคมีที่สร้างขึ้นจากร่างกายของเราเอง เพื่อทำหน้าที่ป้องกันและทำลายเชื้อโรค โดยมี “เซลล์เม็ดเลือดขาว” ทำหน้าที่ผู้พิทักษ์ ไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือด ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคภายในร่างกาย รวมถึงช่วยกำจัดสารพิษ ของเสีย เศษเซลล์ต่าง ๆ
ระบบภูมิคุ้มกันแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
ภูมิคุ้มกันตั้งแต่กำเนิด (Innate Immunity) เป็นภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นเองได้ เพื่อป้องกันเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ ที่มาจากสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น ทำให้มนุษย์ปลอดภัยจากการติดเชื้อที่มาจากสัตว์อื่น ๆ ได้ หากร่างกายได้รับเชื้อในเบื้องต้น ภูมิคุ้มกันนี้จะทำงานเพื่อป้องกันและช่วยปิดผนึกช่องทางที่เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ร่างกายปลอดภัยจากการติดเชื้อ
ภูมิคุ้มกันแบบเจาะจง (Adaptive Immunity) เป็นภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเองหลังจากเกิดอาการเจ็บป่วย เพื่อลดความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะกลับมาติดเชื้อโรคเดิม
ภูมิคุ้มกันแบบรับมาจากภายนอก (Passive Immunity) คือภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากภายนอกร่างกายเพื่อช่วยต่อสู้กับการติดเชื้อในระยะเวลาสั้น ๆ เช่น เด็กที่ดื่มนมแม่จะได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่ ช่วยป้องกันการติดเชื้อที่อันตรายในช่วงวัยกำลังเจริญเติบโต เป็นต้น และเมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งระบบภูมิคุ้มกันนี้จะเสื่อมสภาพลง
สำหรับระบบภูมิคุ้มกันของแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันไป เมื่ออายุมากขึ้น หรือผ่านการติดเชื้อใด ๆ จะทำให้ร่างกายของเรามีภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อนั้น ๆ มากขึ้น เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์จะจดจำการติดเชื้อได้จึงช่วยให้ป้องกันเชื้อโรคเหล่านั้นได้ดีขึ้น
จะเกิดอะไรขึ้น ? เมื่อเรา “ภูมิต้านทานต่ำ” หรือ “ภูมิคุ้มกันบกพร่อง”
เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ เมื่อ “ภูมิต้านทานต่ำ” หรือ “ภูมิคุ้มกันบกพร่อง” จะทำให้เชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น อันเป็นที่มาของสาเหตุที่ทำให้ป่วยบ่อย ๆ เช่น ไข้หวัด ท้องเสีย โรคติดเชื้อราบนผิวหนัง เป็นต้น
เหตุผลที่ “ภูมิคุ้มกัน” อ่อนแอ
กรรมพันธุ์
ระบบภูมิคุ้มกันเป็นสิ่งที่ได้รับการถ่ายทอดจากพ่อแม่ หากพ่อแม่มีร่างกายแข็งแรง ลูกก็จะมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีตาม แต่ถึงแม้ธรรมชาติร่างกายจะป่วยง่าย ก็สามารถเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ดีขึ้นได้ด้วยการดูแลสุขภาพ เช่น การทานอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ
พฤติกรรมการดูแลสุขภาพ
ร่างกายของเราอาจอ่อนแอได้หากไม่ใส่ใจสุขภาพ เช่น รับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ ไม่กินผัก - ผลไม้ พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือร่างกายสะสมความเครียด โดยเฉพาะความเครียดเป็นตัวการฉกาจทำให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายรวน อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของเกิดโรคร้ายที่คาดไม่ถึงได้ด้วย
ได้รับยาบางชนิด
เช่น ในกลุ่มของผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ให้การรักษาโดยเคมีบำบัด จะทำให้ร่างกายอ่อนเพลียได้ง่าย และภูมิคุ้มกันลดต่ำลง ติดเชื้อได้ง่าย และทำให้การทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวในร่างกายลดลงอีก
ช่วงอายุ
จากการศึกษาทางการแพทย์พบว่า วัยเด็กและผู้สูงอายุ จะมีภูมิคุ้มกันน้อยกว่าในวัยหนุ่มสาว และยังพบอีกว่าเมื่ออายุมากขึ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายก็ยิ่งลดต่ำลง
ติดเชื้อไวรัส
เช่น ไวรัส HIV ที่เป็นสาเหตุของโรคเอดส์ (AIDs) โดยไวรัสจะเข้าไปอาศัยในเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง ทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวไม่สามารถทำหน้าที่ต่อต้านเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมได้
รู้ได้ไง ? “ภูมิคุ้มกัน” มีแค่ไหน
โดยทั่วไปจะสามารถรู้ระดับภูมิคุ้มกันโรคได้จากการตรวจ 3 อย่างคือ
1. การตรวจการทำงานของเม็ดเลือดขาวแบบละเอียด (CD Profile) ซึ่งเป็นการวิเคราะห์การทำงานของเม็ดเลือดขาวแบบละเอียด เพื่อวางแผนเสริมภูมิต้านทานเพื่อป้องกันโรค
2. การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) เพื่อหาความผิดปกติของส่วนประกอบของเลือด ได้แก่ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด และประเมินความเข้มข้นของเลือด ซึ่งอาจบอกถึงภาวะที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันของร่างกาย
3. การตรวจวัดระดับวิตามินดี เพราะวิตามินดีช่วยในการเสริมสร้าง - พัฒนาเซลล์ รวมถึงความแข็งแกร่งและการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ยังช่วยต่อสู้กับการติดเชื้อทุกชนิด เช่น โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่
ความเสี่ยงที่จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อ “ระบบภูมิคุ้มกัน” ผิดปกติ
เมื่อระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ อันเนื่องมาจากปัญหาสุขภาพ หรือปัจจัยอื่น ๆ จะมีความเสี่ยงต่อโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน เช่น
- อาการแพ้หรือโรคหอบหืด
- ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Autoimmune Disease)
- โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
- โรคไข้หวัดใหญ่
- โรคตับอักเสบ
- โรคหัวใจ
- โรคมะเร็ง
How to “เสริมภูมิคุ้มกัน” ไว้..ไม่ให้ภูมิตก
ลดความเครียด
เนื่องจากความเครียดเป็นสาเหตุที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำลง หมั่นทำจิตใจให้แจ่มใส หรือออกไปทำกิจกรรม เพื่อผ่อนคลายจากความเครียด
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์กับร่างกาย
รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง อาหารที่มีน้ำตาลสูง ตลอดจนอาหารหมักดอง หันมารับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น
พักผ่อนให้เพียงพอ
ควรนอนวันละ 6-8 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย เนื่องจากการนอนน้อยหรืออดนอน จะทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ กับร่างกายได้
ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายช่วยเพิ่มการหมุนเวียนของเลือดโดยรวม ทำให้เซลล์ต่าง ๆ ได้รับออกซิเจนมากขึ้น ทำให้เม็ดเลือดขาวแข็งแรงและเพิ่มจำนวน โดยการออกกำลังกายเบา ๆ ต่อเนื่องประมาณ 30 นาที จะช่วยให้ร่างกายดึงไขมันสะสมมาใช้ สำหรับการที่เรารู้สึกสดชื่นหลังจากออกกำลังกาย ก็เนื่องจากร่างกายหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) นั่นเอง
วิตามินและแร่ธาตุช่วยได้
วิตามินดี : ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมไปบำรุงกระดูก ทำให้ร่างกายแข็งแรง
วิตามินซี : ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เราไม่ป่วยหรือเป็นหวัดได้ง่าย ๆ เพิ่มความต้านทานต่อโรคหัวใจ โดยการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในร่างกาย
โพรไบโอติกส์ (Probiotics) : ช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาวที่เยื่อบุผนังลำไส้เล็กส่วนปลาย ให้ตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันและการอักเสบได้
วิตามินเอ : ช่วยสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาว และเพิ่มความแข็งแรงของเม็ดเลือดขาว
แร่ธาตุสังกะสี (Zinc) : ช่วยเรื่องการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ไม่ป่วยบ่อย ช่วยเรื่องการซ่อมแซมบาดแผล ทำให้แผลหายเร็วขึ้น
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, โรงพยาบาลสุขุมวิท, สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ, โรงพยาบาลกรุงเทพ, โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์