ขนฟูชูใจ ! ไอเดียดี ๆ เกิดได้จากการเป็น “ทาสแมว” สู่การรังสรรค์ “HIDE & SEEK” นวัตกรรม “ทรายแมว” รักษ์โลก ผลิตจาก “มันสำปะหลัง” รายแรกของโลก ช่วยส่งเสริมสินค้าเกษตรของเกษตรกรไทย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม “แมว” กลบปลอดภัย “ทาส” เก็บสบายใจ ใครกำลังหาแรงบันดาลใจในการคิดค้น หาไอเดียหรือประดิดประดอยสิ่งต่าง ๆ ไม่ควรพลาดบทสัมภาษณ์นี้
จาก “ทาสแมว” สู่นวัตกรรม “ทรายแมว” รักษ์โลก
ดร.ลัญจกร อมรกิจบำรุง นักวิจัยภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้คิดค้น “ไฮด์แอนด์ซีค” นวัตกรรมทรายแมวผลิตจากมันสำปะหลังกล่าวว่า “ไอเดีย” ก่อร่างสร้างตัวขึ้นจากการที่ตนเองเป็น “ทาสแมว” เลี้ยงแมวเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว แล้วพบว่า “ทรายแมว” ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเกือบ 100% จึงอาศัยความรู้ที่ตนเองเป็นทั้งนักเคมีและนักวิจัยที่จุฬาฯ มาทำให้เกิดประโยชน์แปรรูปวัตถุดิบไทยให้เป็น “ทรายแมว” เพื่อทดแทนการ “นำเข้า” แล้วยังสามารถ “ส่งออก” ได้ด้วย
ก่อนจะเริ่มจุดประกายสรรหาวัตถุดิบจริงว่าสิ่งใดจะเหมาะกับการนำมาผลิตเป็น “ทรายแมว” ซึ่งตนเองเป็น “ทาสแมว” จึงรู้อยู่แล้วว่าต้องเป็นสิ่งที่สามารถจับตัวเป็นก้อนได้เร็ว สู่การคิดค้นนำ “มันสำปะหลัง” มาทำทรายแมว เนื่องจาก “มันสำปะหลัง” หลังจากสัมผัสกับน้ำจะมีความเหนียวเกิดขึ้น ซึ่งง่ายต่อการทำความสะอาดสามารถตักไปทิ้งได้เลย ขณะที่ส่วนที่เหลือยังสะอาด
ตนเองใช้เวลาคิดค้นประมาณ 1 ปี ก่อนผลิตและจัดจำหน่ายมาประมาณ 3 ปีแล้ว ในชื่อแบรนด์ HIDE & SEEK ทรายแมวเป็นมิตรต่อแมวผู้กลบและทาสผู้เก็บ
ทำไม ? ต้อง “HIDE & SEEK”
ด้วยสัญชาตญาณของ “แมว” จะไม่อยากให้ศัตรูตามเจอ ดังนั้นเมื่ออึหรือฉี่จะทำการ “กลบ” ด้วยทรายแมว เมื่อเราเลิกงานกลับมาบ้าน ก็จะเหมือนเล่นซ่อนหาตามชื่อ “HIDE & SEEK” แมวซ่อนฉี่-อึ ส่วนเราเป็นคนหา ซึ่งทรายแมวจากมันสำปะหลังจะช่วยให้หาได้ง่าย เนื่องจากจับตัวเป็นก้อนกับสิ่งปฏิกูล สามารถตักไปทิ้งชักโครกได้เลย ไม่ทำให้อุดตัน เนื่องจาก “ไฮด์แอนด์ซีค” มีการนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงคุณสมบัติเชิงวัสดุ ช่วยให้ทิ้งง่าย ย่อยสลายได้ และไม่เป็นอันตรายต่อ “แมว” ถ้าเผลอเลียทรายแมวเข้าไป
HIDE & SEEK แมวเผลอกินหรือคนกินไม่เป็นอะไร วัตถุดิบจากมันสำปะหลังมีความปลอดภัย ไม่มีสารเคมีต่าง ๆ ไม่เกิดการตกค้างในไตของแมวจนนำไปสู่การเกิดโรค
“ทรายแมวไทย” ไม่ธรรมดา โกอินเตอร์ ให้ “ทาสแมวต่างชาติ” รู้จัก
จากการนำ “มันสำปะหลัง” มาเป็นวัตถุดิบ ที่นอกจากจะช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังแล้ว ยังช่วยให้ “ทรายแมว” มีต้นทุนไม่สูง สามารถแข่งขันได้กับทรายแมวที่ผลิตจากเต้าหู้หรือไม้สน เนื่องจากทิ้งในชักโครกได้เหมือนกัน เมื่อบวกกับคุณสมบัติแมวเลียได้ไม่อันตราย ทำให้เป็นที่ถูกใจ “ทาสแมวต่างชาติ” ปัจจุบัน “HIDE & SEEK” ส่งออกเกือบ 20 ประเทศทั่วโลก
ไอเดีย “ทรายแมว” ต่อยอดสู่ “ชุดตรวจสุขภาพแมว”
จากประสบการณ์ของ “ดร.ลัญจกร” พบเจอว่าเมื่อแมวเจ็บป่วย จะเริ่มกินข้าว-น้ำน้อยลง ซึ่งกว่าจะทราบแน่ชัด กว่าจะไปถึงมือสัตวแพทย์ก็อาจไม่ทันการณ์ กลายเป็นแนวคิดสร้างไอเดียต่อยอดจาก “ทรายแมว” สู่ “ชุดตรวจสุขภาพแมว”
แต่ด้วยความที่แมวไม่เหมือนคนที่จะบอกให้ไปฉี่เพื่อนำมาตรวจโรคได้ จุดประกายว่า ทำไม ? ไม่ตรวจเช็กสุขภาพจาก “ปัสสาวะแมว” ที่อยู่ในทรายแมวเลยล่ะ ก่อนเป็นที่มาของ “ชุดตรวจเลือดในปัสสาวะแมว” ซึ่งสามารถใช้ตรวจโรคไต-โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคยอดฮิตของน้องแมวได้
โดยชุดตรวจจะคล้าย ๆ “ชุดตรวจ ATK” โควิด-19 เนื่องจากผู้คนมีภาพจำจากชุดตรวจ ATK อยู่แล้ว และใช้งานง่าย เพียงบิก้อนฉี่แมวใส่ในหลอดที่มีน้ำยาอยู่ด้านใน จากนั้นเขย่าให้เข้ากันแล้วนำมาหยดบนที่ตรวจเหมือนชุดตรวจโควิด จากนั้นจะขึ้นสีว่าแมวป่วยหรือไม่ป่วย รวมถึงมีเลือดปนในฉี่หรือไม่ หากแมวมีอาการป่วยจะได้นำตัวส่งโรงพยาบาลสัตว์เพื่อทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที
ขณะนี้ได้มีการนำไปทดสอบกับแมวที่ป่วยจริงในโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ พบว่าชุดตรวจใช้งานได้จริง ต่อจากนี้จะมีการทดสอบเพิ่มเติมในขั้นตอนสุดท้าย ก่อนออกสู่ตลาดในอนาคตอันใกล้
“นวัตกรรม” จะใช้ได้จริง “นักวิจัย” ต้องออกจากห้องแล็บ
ทิ้งท้ายการสัมภาษณ์ “ดร.ลัญจกร” ได้ฝากวิธีคิดไว้อย่างน่าสนใจว่า ปัจจุบันภาครัฐมีการสนับสนุนนวัตกร (Innovator), นักวิจัย (Researcher) จำนวนมาก อาทิเช่น สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมซัพพอร์ตด้านต่าง ๆ
สิ่งสำคัญที่ “นักวิจัย” ควรทำก็คือ จะต้องออกจากห้องแล็บให้มากขึ้น ต้องออกไปสู่โลกแห่งความเป็นจริง
ซึ่งตนเองกว่าจะออกจากแล็บได้ก็ใช้เวลาเยอะเหมือนกัน เพราะว่าไม่ใช่ที่ที่เราคุ้นเคย ต้องมีการออกไปขายของให้ลูกค้า ไปคุยกับผู้ใช้งานจริงว่าฟีดแบ็กเป็นอย่างไร บางทีตนก็กลัวว่าเขาจะว่าของเราไม่ดีหรือเปล่า แต่สิ่งนี้คือความเป็นจริงที่เราต้องไปเผชิญ หากนักวิจัยเพิ่มจุดนี้เข้าไป ออกไปสู่โลกภายนอกมากขึ้น ออกไปหา “Potential Customer, Potential User” เราจะได้เรียนรู้อีกเยอะ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสเกิดเป็น “ผลิตภัณฑ์” ที่ตอบโจทย์ Pain Point เป็นที่ต้องการของผู้ใช้เป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น
“HIDE & SEEK” รางวัลที่ได้รับ :
• รางวัลเหรียญทอง จากงานประกวดสิ่งประดิษฐ์ Kaohsiung International Invention & Design Expo 2023 ไต้หวัน
• รางวัลเหรียญทอง จากงานประกวดสิ่งประดิษฐ์ Seoul international invention fair 2022 สาธารณรัฐเกาหลี
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech