Happy Pill Dispenser เครื่องจ่ายยาอัตโนมัติ จบปัญหาการลืมกินยา กินยาไม่ตรงเวลา หรือกินยาไม่ครบ ไอเดียสุดเจ๋งที่สร้างสรรค์และพัฒนาโดยนักเรียนชั้น ป.3 และ ป.5 โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ
Thai PBS Sci & Tech พาไปพูดคุยกับ “สองพี่น้อง” ด.ช.ณธันย์ โฉลกพันธ์รัตน์ (น้องธันย์) และ ด.ช.ณกันต์ โฉลกพันธ์รัตน์ (น้องกันต์) นักเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย
“จุดเริ่มต้นของนวัตกรรมนี้ มาจากตู้กาชาปอง แล้วก็คุณแม่เป็นหมอครับ” สองหนุ่มน้อยบอกเล่าถึงที่มาที่ไปของนวัตกรรมที่วางอยู่ตรงหน้า
และเมื่อทั้งสองเรื่องมารวมกันจึงก่อเกิดเป็น "Happy Pill Dispenser" เครื่องจ่ายยาอัตโนมัติ เพื่อช่วยผู้ป่วยให้กินยาตรงเวลา
น้องธันย์ เล่าว่า ไอเดียมาจากของเล่นที่มีลักษณะเป็นรางลูกแก้ว จึงคิดขึ้นมาว่า การที่สิ่งของถูกเก็บไว้ในลักษณะที่เป็นเกลียว จะสามารถเก็บในพื้นที่สูงได้ รวมทั้งยังใช้พื้นที่น้อยลงด้วย ซึ่งเครื่องนี้จะใช้ในการขนยาที่ถูกเก็บอยู่ในแคปซูลที่คล้ายกับแคปซูลกาชาปอง
โดยทำงานร่วมกับแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า "Blynk IoT" เพื่อใช้สำหรับตั้งค่าต่าง ๆ เช่น ตั้งจำนวนแคปซูลทั้งหมดในเครื่อง และแจ้งเตือนจำนวนแคปซูลที่เหลือ
สำหรับวิธีใช้งาน ผู้ใช้จะต้องตั้งเวลาที่ต้องการกินยา เช่น 08.00 น. ตามเวลาประเทศไทย เมื่อถึงเวลาเครื่องก็จะส่งเสียงดังเพื่อแจ้งเตือนผู้ใช้ให้กินยา ซึ่งเมื่อผู้ใช้หยิบแคปซูลยาออกจากเครื่อง เสียงที่เตือนก็จะหยุดอัตโนมัติ
หรืออีกกรณีผู้ใช้สามารถกดหยุดแจ้งเตือนบนแอปพลิเคชันได้ แต่ในกรณีที่ไม่ได้หยิบแคปซูลยา เครื่องจะส่งเสียงแจ้งเตือนดังประมาณ 5 นาทีแล้วหยุดไป ก่อนที่จะแจ้งเตือนอีกครั้งในทุก ๆ 15 นาที จนกว่าผู้ใช้จะปิดแจ้งเตือนหรือหยิบแคปซูลยา
“เครื่องนี้ เป็น 1 ใน 4-5 อย่างที่นำเสนอให้อาจารย์ ว่าอาจารย์จะนำไอเดียนี้ ไปปรับปรุงต่อหรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านี้มีไอเดีย 4-5 อย่าง และได้รับการปรับปรุงมาจนถึงเครื่องนี้ ค่อนข้างใช้เวลานาน ประมาณ 1 ปี ส่วนในอนาคตอาจจะพัฒนาเป็นเวอร์ชัน 2 และเปลี่ยนชื่อใหม่ และอาจจะทำให้แคปซูลทึบขึ้น เพื่อป้องกันยาไม่ได้โดนแสง” เด็กชาย ป.5 วางแนวคิดในอนาคต
เมื่อถามถึงสิ่งที่ยากที่สุดในการสร้างนวัตกรรมนี้ขึ้นมา สองนักประดิษฐ์น้อย ตอบเราว่า “การคิดไอเดีย” ใครจะเป็นคนซื้อ และนวัตกรรมนั้นมีประโยชน์หรือไม่
“การทำนวัตกรรมมันไม่ได้ง่าย มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ส่วนใหญ่ก็จะบอกว่า มันไม่ได้มีโอกาส 100% ที่จะสามารถสำเร็จได้ ต้องขายไอเดียออกมาหลาย ๆ อย่าง และดูว่าอันไหนเวิร์คสุด และค่อยนำมาทำ” น้องธันย์ ให้ความเห็น
ขณะที่ น้องกันต์ พูดเสริมพี่ชายว่า “มันไม่ได้ง่ายและมันก็ไม่ได้ยาก ไม่ได้มีโอกาส 100% ที่จะประกวดแล้วได้เหรียญทอง หรือ Special Award หรือโล่รางวัล การทำนวัตกรรมให้ได้รางวัลยาก แม้ไม่ได้รางวัล เราก็สามารถลองทำไปเรื่อย ๆ ได้ หรือเอาไปใส่ในแฟ้มผลงานก็ได้”
และแน่นอนว่า ทั้งสองนำ "Happy Pill Dispenser" ไปกวาดรางวัลมาแล้วมากมายทั้งในและต่างประเทศ ทั้งรางวัลเหรียญทอง และ Special Award จากเวที World Invention Intellectual Property Association (WIIPA) และรางวัลเหรียญทอง รางวัล Best Young Inventor Award และ 2 Special Award จากเวที Toronto International Society of Innovation & Advanced Skills (TISIAS) และ The First Institute of Inventors and Researchers in I.R. IRAN (FIRI)
“ผมและน้องไม่มีไอดอล จะช่วยกันระดมสมองและคิดไอเดียออกมา และอธิบาย หรือวาดรูปให้เข้าใจ เพราะการอธิบายเป็นคำพูดอาจจะไม่ค่อยเข้าใจเท่ากับการวาดออกมาว่าจะเป็นประมาณไหน” น้องธันย์บอกกับทีมงาน
ท้ายที่สุดนี้ สำหรับเพื่อน ๆ ที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ และกำลังท้อถอยในการสร้างนวัตกรรม สองหนุ่มพี่น้อง ฝากบอกด้วยว่า ให้ลองไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวอาจจะได้ ค้นหาสิ่งที่ผิดพลาด และซ่อมไปเรื่อย ๆ แก้ไขไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะสำเร็จออกมาได้เป็นสิ่งที่ดี
“แม้ว่าตอนแรกผลงานอาจจะดูเละ ๆ เหมือนรูบิคที่ถูกบิดเบี้ยวคละกันคนละสี มันไม่ใช่แก้ไขไม่ได้ มันแก้ได้ แม้มันดูเหมือนมันแก้ยากแต่จริง ๆ แล้วมันแก้ได้..”
คำพูดเปรียบเปรยทิ้งท้ายในแบบฉบับของเด็กประถมฯ ให้ผู้ใหญ่อย่างเราย้อนกลับมาคิดว่าปัญหาทุกอย่างมีทางออกเสมอ
อ่านเรื่องอื่นเพิ่มเติม
Magic Flexi ถาดอาหารยืดหด เชื่อมต่อถาดของเพื่อนได้
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
STORY : Thai PBS Sci & Tech
PHOTO - EDITOR : พฤษพล จันทาพูน