ปลูกได้เอง เวียดนามคู่แข่งสำคัญ แต่ทำไม ? “คนจีน” หลงใหล “ทุเรียนไทย” ไม่เสื่อมคลาย
อินเทรนด์กระแส “ทุเรียนไทย” ผลไม้เลื่องชื่อ ที่โอกาสยังสดใสในตลาดจีน แม้จะมีเวียดนามคู่แข่งสำคัญ รวมถึงจีนปลูกเองได้ก็ตาม อะไรเป็นปัจจัยสะกดใจ คนจีนมองทุเรียนไทยอย่างไร Thai PBS พาไปส่องมุมคิดพร้อมหาคำตอบไปด้วยกัน
จากข้อมูลกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) ทำให้ทราบว่า ยอดการส่งออก “ทุเรียนสด” ผ่านแดน ปี 66 พุ่งสูงถึง 44.1% โดยที่จีนครองแชมป์ยอดสั่งสูงสุด มูลค่า 93,664 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 81.7%
โดยด่านศุลกากรสำคัญในการส่งออกทุเรียนสดไปจีน ได้แก่ ด่านศุลกากรมุกดาหาร นครพนม และเชียงของ
📌อ่าน : คนจีนแชมป์สั่งซื้อ "ทุเรียนไทย" ปี66 พุ่งกว่า 9 หมื่นล้าน
คลายสงสัย ทำไม ? ต้อง “ทุเรียนไทย” แม้จีนก็ปลูกได้เอง
คำตอบก็คือเนื่องจาก สภาพดิน ฟ้า อากาศของเมืองไทยได้เปรียบจีน โดยไทยตั้งอยู่ในเขตร้อน ได้รับอิทธิพลจากสองมรสุมก็คือ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงปริมาณน้ำฝนมาก อุณหภูมิโดยเฉลี่ยสูง นอกจากนี้ไทยมีพื้นที่ราบภาคกลางที่มีดินอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชเขตร้อน สภาพดินฟ้าอากาศเป็นมรสุมชัดเจน
ขณะที่ “จีน” จะมี 4 ฤดูกาลชัดเจน อุณหภูมิแตกต่างกันมากระหว่างภาคใต้และภาคเหนือ ภาคใต้ร้อน ภาคเหนือหนาว ฤดูร้อนในพื้นที่ส่วนใหญ่มักมีฝนตกชุกอากาศร้อน บริเวณตะวันตกเฉียงใต้ไปจนถึงบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือแบ่งได้เป็นเขตชื้นที่มีอุณหภูมิและความชื้นต่างกัน พืชสวนที่สามารถปลูกได้ในแต่ละบริเวณจึงแตกต่างกันไป
ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว ทำให้ไทยได้เปรียบจีนในด้านการปลูกผลไม้ เนื่องจากปริมาณน้ำฝน รวมทั้งมีอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกพืชและผลไม้เมืองร้อนได้ตลอดทั้งปี และการปลูกในจีนเองปริมาณยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนในประเทศ จึงต้องมีการนำเข้า “ทุเรียน” ส่งผลให้ “จีน” เป็นแหล่งรองรับการขยายตัวด้านการส่งออกทุเรียนของไทย
“ไทย” ตลาดนำเข้าผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดของจีนในอาเซียน
ในปัจจุบัน “ประเทศไทย” เป็นตลาดน่าเข้าผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดของจีนในอาเซียน โดยข้อมูลจาก China Chamber of Commerce of Import & Export of Foodstuffs, Native Produce & Animal By-Products (CFNA) เผยว่า
1. ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 66 จีนนำเข้าผลไม้และผลิตภัณฑ์ผลไม้จากไทยมูลค่า 6,770 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 65 และคิดเป็นร้อยละ 41.45 ของมูลค่าการนำเข้าผลไม้ทั้งหมดของจีน
2. ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 66 จีนนำเข้าผลไม้จากเวียดนามมูลค่า 2,701 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 131.19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 65
3. ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 66 จีนนำเข้าทุเรียนจากเวียดนามมีมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 15 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 65 ซึ่งการส่งออกทุเรียนมาจีนของไทยเผชิญการแข่งขันจากเวียดนามที่มีต้นทุนต่ำกว่าจากความสะดวกในการขนส่งทางบกผ่านด่านโหย่วอี้กวานที่เขตฯ กว่างซี
ทั้งนี้การเติบโตของการค้าทุเรียนระหว่าง “จีน” กับ “อาเซียน” มีหนึ่งตัวแปรสำคัญก็คือ ความตกลง RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) เป็นความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค โดยเป็นความคืบหน้าสำคัญ (milestone) ในการรวมกลุ่มทางภูมิภาค และเป็นต้นแบบที่ชัดแจ้งในการแบ่งปันโอกาสด้านการพัฒนาของประเทศในภูมิภาค ซึ่งในช่วงสองปีที่ผ่านมา ต้นทุนการค้าในภูมิภาคลดลงอย่างมาก ความเชื่อมโยงของห่วงโซ่ธุรกิจและห่วงโซ่อุปทานแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น นำมาซึ่งประโยชน์ที่แท้จริงให้แก่ประเทศสมาชิก จากการเปิดเผยของนางเหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน
แม้เวียดนามมาแรง แต่ “คนจีน” ยังหลงใหล “ทุเรียนไทย” ไม่เสื่อมคลาย
สาเหตุที่ทำให้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สินค้าเกษตรของไทยกลายเป็น “ดาวเด่น” ในตลาดจีน เนื่องจากความสดใหม่ รสชาติดี และมีคุณภาพสูง รวมถึงได้รับประโยชน์จากแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) การเปิดบริการทางรถไฟจีน-ลาว ระเบียงการค้าทางบก-ทางทะเลระหว่างประเทศใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor) และการดำเนินตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) อย่างรอบด้าน
📌อ่าน : ครบ 2 ปี “RCEP” ช่วยส่งเสริม “สินค้าไทย” สู่ “ครัวจีน”
ปัจจุบัน การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยสู่จีนจึงได้รับการ “เหยียบคันเร่ง” จากระยะทางหลายพันกิโลเมตรถูกย่นย่อด้วยช่องทางการขนส่งที่ราบรื่น “ทุเรียน” จากสวนในจังหวัดจันทบุรี สามารถถูกวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตจีนได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน
โดยยอดจำหน่ายทุเรียนที่โตเร็วในปี 66 ช่วยให้ผู้ค้าวางแผนการจัดจำหน่ายในปี 67 ได้อย่างเต็มกำลัง “ไล่ผิงเซิง” ประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารในกว่างซี กล่าวว่าในปี 66 “ทุเรียนไทย” ของกลุ่มฯ ถูกส่งมาจีนประมาณ 1,000 ตู้คอนเทนเนอร์ โดยจัดจำหน่ายในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน 40 ตัน เพิ่มขึ้นกว่า 20.9 ตันจากปีก่อน และมียอดจำหน่าย 2.21 ล้านหยวน (ประมาณ 11.18 ล้านบาท) ไล่เสริมว่าบริษัทฯ วางแผนนำเข้าทุเรียนไทย 3,000 ตู้ในปี 67 โดยจะจัดจำหน่ายในกว่างซี 324 ตัน ซึ่งจะวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ จำนวน 600 แห่ง
ขณะที่รายงานอีกฉบับระบุว่ากว่างตง (กวางตุ้ง) เป็นมณฑลของจีนที่นำเข้าสินค้าเกษตรไทยมากเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยยอดนำเข้าช่วง 11 เดือนแรกของปี 66 ที่ 3.44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.22 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี ในบรรดามณฑลและภูมิภาคผู้นำเข้า 10 อันดับแรก กว่างซีนำเข้าสินค้าเกษตรไทยเพิ่มมากที่สุด โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.1 เมื่อเทียบปีต่อปี คิดเป็นมูลค่า 923 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.28 หมื่นล้านบาท)
เบญจมาศ ตันเวทยานนท์ กงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง กล่าวว่า กว่างซีเป็นเมืองท่าที่สำคัญในการส่งออกทุเรียน มังคุด ลำไย และผลไม้อื่น ๆ จากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยสู่จีน ขณะเดียวกันผลไม้ไทยมักเป็นสินค้าขายดีในกว่างซี ซึ่งมีผลไม้สดจากไทยวางขายตลอดทั้งปี ตั้งแต่ร้านรวงในตลาดกลางคืนไปจนถึงร้านค้าขนาดใหญ่
กวนไฉ่เสีย เจ้าของแผงขายผลไม้ในตลาดไห่จี๋ซิง ตลาดค้าส่งผลไม้ใหญ่ที่สุดในนครหนานหนิง กล่าวว่า รู้สึกดีใจอย่างมากที่คนจีนนิยมกินผลไม้ไทยมากขึ้น และรู้สึกเชื่อมั่นว่าจะทำยอดจำหน่ายได้ดีในฤดูทุเรียนที่กำลังจะมาถึง กวนเล่าว่าย้อนกลับไปเมื่อปี 66 การซื้อขายทุเรียนในตลาดยังค่อนข้างน้อย แต่กลับเป็นที่นิยมสูงมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้ค้าและยอดจำหน่ายล้วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ทุเรียนไทยนั้นมีข้อได้เปรียบทั้งในด้านผลผลิต รสชาติ และความร่วมมือระหว่างสองประเทศ ในอนาคตทุเรียนไทยจะยังคงเป็นทุเรียนจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ครองส่วนแบ่งตลาดในจีนมากที่สุด”
ช่วงนี้กำลังเข้าสู่ “เทศกาลตรุษจีน” สินค้าอาหารแปรรูปจากทุเรียน อาทิ ลูกอม คุกกี้ และขนมอบรสทุเรียน เป็นทางเลือกใหม่สำหรับซื้อเป็นของฝากญาติสนิทและเพื่อนฝูง อีกทั้งยังมีเมนูสร้างสรรค์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งทุเรียนลาเต้ เค้กทุเรียน เป็นต้น จึงเห็นได้ว่าสิบกว่าปีที่ผ่านมา “ทุเรียน” ถูกพลิกโฉมจากผลไม้ที่มีคนกินแค่เฉพาะกลุ่ม สู่สินค้า “ชั้นเลิศ” ที่ใคร ๆ ก็ล้วนต้องการ
เผิงเสวี่ยเยี่ยน ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการของบริษัท กว่างซี หม่าอี่หยางฮั่ว ซัพพลาย เชน เมเนจเมนต์ จำกัด กล่าวว่า ทุเรียน ผลิตภัณฑ์จากทุเรียน และ รังนก ล้วนเป็นสินค้าขายดีของหม่าอี่หยางฮั่ว แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของกว่างซี โดยทุเรียนและสินค้าแปรรูปจากทุเรียนเหมาะให้เป็นของขวัญชั้นดีในช่วงเทศกาล และได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวจีนมาโดยตลอด ขณะที่ขนมจากทุเรียนเช่น เครปเค้กทุเรียน ไอศกรีมทุเรียน ได้รับความนิยมทุกวัน และช่วงเทศกาลตรุษจีนที่กำลังจะมาถึงนี้ คาดว่าอุปทานทุเรียนจะยังคงไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคชาวจีน
ควรทำอย่างไร ? ให้ “ทุเรียนไทย” ครองใจ “คนจีน” ต่อไปในอนาคต
แม้ “คนจีน” จักยังคงหลงใหล “ทุเรียนไทย” แต่เวียดนามได้ก้าวเข้ามาเป็นคู่แข่งสำคัญ รวมถึงการที่จีนปลูกเองด้วย ดังนั้น ต้องทำให้ “สวนทุเรียนไทย” เป็นแหล่งปลูกที่น่าเชื่อถือ ได้มาตรฐาน เนื่องจากผู้นำเข้าในจีนให้ความสำคัญการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ทั้งด้านคุณภาพและมีความปลอดภัย
นอกจากนี้ “ทุเรียนไทย” ที่จะส่งไปจีนควรมีการวางแผนรักษาคุณภาพสินค้าให้คงที่ควบคุมคุณภาพผลไม้ส่งออกอย่างสม่ำเสมอ ไม่เก็บผลไม้ก่อนเวลา จะช่วยให้ความนิยม “ทุเรียนไทย” ในตลาดจีนเพิ่มขึ้นได้ และที่สำคัญควรมีการประชาสัมพันธ์ “ทุเรียนไทย” จากทั้งภาครัฐ สวนปลูก ผู้ส่งออก รวมถึงผู้นำเข้า ทั้งในช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อทำให้ “ทุเรียนไทย” กลายเป็นอีกหนึ่ง “ซอฟต์พาวเวอร์” เข้าไปอยู่ในใจคนจีนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : Xinhua, ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน, bangkokbanksme