“วินนี เดอะ พูห์ (Winnie The Pooh)” คือเรื่องราวการผจญภัยในป่า 100 เอเคอร์ของเด็กชายนามว่า “คริสโตเฟอร์ โรบิน” กับผองเพื่อน โดยมีตัวละครที่มีเสน่ห์น่าจดจำมากมาย โดยเฉพาะเจ้าหมีตัวสีเหลืองหรือที่รู้จักกันในชื่อ “หมีพูห์” ความหลากหลายตัวละครอันมีเอกลักษณ์ สร้างความสนุกสนานให้กับผู้คนมาอย่างยาวนาน
โลกอันแสนอบอุ่นไร้เดียงสาของวรรณกรรมเยาวชนสุดคลาสสิกเรื่องนี้ เมื่อเวลาผ่านไปนักจิตวิทยากลับค้นพบว่า หลากหลายตัวละครที่ปรากฏในเรื่องมีบุคลิกลักษณะของผู้มีอาการทางจิตเวชอยู่
อาการเหล่านี้คืออะไรบ้าง ? และเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ?...เราคงต้องย้อนไปทำความรู้จักกับผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมเยาวชนสุดโด่งดังเรื่องนี้ “อลัน อเล็กซานเดอร์ มิลน์ (Alan Alexander Milne)” เจ้าของนามปากกา “เอ. เอ. มิลน์ (A. A. Milne)” นักเขียนชาวอังกฤษ เจ้าของผลงานสุดอบอุ่นท่ามกลางชีวิตจริงที่ไม่สามารถก้าวผ่านบาดแผลจากสงคราม
อาการทางจิตของผองเพื่อนแสนอบอุ่น
ผองเพื่อนในป่า 100 เอเคอร์ ถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญที่แต่งแต้มให้เรื่องราวในวินนี เดอะ พูห์นั้นน่าจดจำ พฤติกรรมรวมถึงบุคลิกลักษณะที่หลากหลายตัวละครเหล่านี้ ดร.ซาราห์ เชีย กุมารแพทย์ชาวแคนาดา ได้ตีพิมพ์การศึกษาทางการแพทย์ด้านจิตวิเคราะห์เผยว่า มีลักษณะที่ตรงกับอาการผิดปกติทางจิตตามที่ระบุใน DSM-5 ซึ่งเป็นคู่มือมาตรฐานในการวินิจฉัยอาการทางจิตนั่นเอง โดยคณะนักวิจัยได้วิเคราะห์อาการไว้ดังนี้
หมีพูห์ ชอบกิน ชอบทำตามใจ สบาย ๆ และสนุกสนานไปกับทุกสิ่งที่กำลังเผชิญ พร้อมทั้งยังมีอาการดุ๊กดิ๊กน่ารัก ลักษณะอาการเหล่านี้ตรงกับอาการทางจิตหลายอย่าง ได้แก่ อาการสมาธิสั้น (ADHD : Attention Deficit Hyperactivity Disorder) ย้ำคิดย้ำทำ (OCD : Obsessive Compulsive Disorder) โรคกินไม่หยุด รวมถึงโรคทูเร็ต (TS : Tourette syndrome) หรือโรคติกส์ อาการผิดปกติทางระบบประสาทที่ทำให้กล้ามเนื้อกระตุก
พิมเล็ต หมูน้อยสีชมพูที่บุคลิกเด่นคือมักจะกังวลกับบางสิ่งบางอย่างอยู่ตลอดเวลา ด้านนึงก็ชวนขัน แต่ในอีกมุมก็เป็นลักษณะอาการของโรควิตกกังวลทั่วไป (GAD : Generlized Anxiety Disorder)
อียอร์ เจ้าลาหูตูบที่ดูจะเซื่องซึมอยู่เสมอ มักปรากฏตัวพร้อมท่าทางที่ดูหมดแรงอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งตรงกับอาการซึมเศร้าเรื้อรัง (Dysthymia)
เหล่านี้คือตัวอย่างตัวละครและพฤติกรรมที่เชื่อมโยงกับอาการทางจิต ซึ่งผู้วิจัยได้วิเคราะห์ถึงอาการทางจิตที่มีอยู่ในทุกตัวละครที่ปรากฏตัวในวรรณกรรมเยาวชนเรื่องนี้
ทั้งนี้ นับจากช่วงเวลาที่วินนี เดอะ พูห์ได้ถูกแต่งขึ้นในปี 1926 ก็ต้องใช้เวลายาวนานกว่า 70 ปี กว่าที่จะมีแนวคิดเชื่อมโยงอาการทางจิตเวชกับตัวละครในเรื่อง ภาพสะท้อนเหล่านี้ช่วยให้เราสามารถทำความเข้าใจปัญหาทางจิตได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น และได้เรียนรู้ผ่านความไร้เดียงสาของเรื่องราวที่เราคุ้นเคยว่า แม้ผู้คนจะแตกต่างและบ้างก็มีปัญหาของตัวเองแต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้
อาการทางจิตจากความจริงอันเจ็บปวด
ในการสร้างสรรค์งานประพันธ์ของเหล่านักเขียน หลายครั้งก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวในชีวิตจริงของตนเอง บทความวิชาการที่ตีพิมพ์ใน International Journal of Language and Literary Studies วารสารวิชาการด้านภาษาและวรรณกรรมเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมาได้วิเคราะห์งานเขียน “วินนี เดอะ พูห์” ผ่านทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง (Iceberg theory) ที่ว่าด้วยเรื่องราวที่ปรากฏให้เราเห็นในหนังสือนั้น แท้จริงเป็นเพียงปลายยอดของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นมาเหนือมหาสมุทร ยังมีเรื่องราวมากมายซ้อนอยู่
การจะเข้าใจเรื่องราวเหล่านั้นต้องย้อนไปดูประวัติของผู้แต่งเสียก่อน
อลัน อเล็กซานเดอร์ มิลน์ เจ้าของนามปากกา เอ เอ มิลน์ นักเขียนชาวอังกฤษผู้เกิดในลอนดอน เขามีลูกชายชื่อ คริสโตเฟอร์ โรบิน ชื่อเดียวกับเด็กชายตัวเอกในงานเขียนชิ้นสำคัญของเขาเอง มิลน์เรียนจบด้านคณิตศาสตร์ เริ่มงานเขียนในวารสารวิชาการก่อนที่รู้ตัวว่ารักในงานเขียน และเริ่มต้นชีวิตนักเขียนในนิตยสารแห่งหนึ่ง
หลังจากเข้าร่วมสงครามโลกทั้ง 2 ครั้งสลับกับผลิตงานเขียนหลากหลาย ทั้งบทละครเวที บทกวี นิยายและชิ้นงานด้านเยาวชนอีกจำนวนนึง ทุกครั้งที่กลับจากสงครามมิลน์จะต้องใช้เวลาพักรักษาร่างกายจากสงครามยาวนาน หลายคนที่เข้าร่วมสงครามต้องเผชิญกับโรคเครียดจากเหตุสะเทือนใจหรือโรค PTSD (Posttraumatic Stress Disorder) ซึ่งเป็นไปได้ว่ามิลน์ก็จะได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการบาดเจ็บทางกายด้วย เขามีงานเขียนจำนวนนึงที่เขียนเพื่อต่อต้านสงคราม
ฝันร้ายจากสงครามตามไล่ล่าเขา เมื่อลูกโป่งแตกเขาหวาดผวาถึงขั้นคว้าลูกชายที่ยังเล็กหลบเข้าที่กำบัง บางครั้งเขาสับสนระหว่างเสียงผึ้งบินกับเสียงกระสุนปืนที่วิ่งไปในอากาศ เหล่านี้คือสิ่งที่สะท้อนว่าเขาไม่สามารถจะก้าวผ่านความเจ็บปวดจากสงครามได้
แล้ววันนึงมิลน์ได้พาลูกชายไปที่สวนสัตว์ ที่นั่นมีหมีตัวหนึ่งชื่อวินนีเพ็ก ลูกชายของเขาชอบชื่อนี้มาก และได้เปลี่ยนชื่อตุ๊กตาหมี จาก “เอ็ดเวิร์ด” เป็น “วินนี” และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นแรงบันดาลใจทั้งหมด
โลกของวินนี เดอะ พูห์ มีฉากหน้าเป็นโลกไร้เดียงสาของเด็กและผองเพื่อน ทว่าในอีกด้านนึงตัวละครต่าง ๆ ก็มีบุคลิกของการป่วยเป็นโรค PTSD ซึ่งเป็นผลมาจากสงคราม การผสมผสานบุคลิกลักษณะเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หนังสือประสบความสำเร็จ
ทั้งนี้ หลายตัวละครเด่นในเรื่องได้รับแรงบันดาลใจจากคนในชีวิตจริงของเขา ทั้งเพื่อนในวัยเด็ก ลูกชาย ตุ๊กตาหมีของลูก และพี่เลี้ยงของลูกชายเขา ดังนั้นจึงไม่แปลกที่มิลน์จะดึงเอาอาการด้านจิตเวชของเหล่าเพื่อนทหารที่เขารู้จักมาเป็นส่วนผสมหนึ่ง เช่น อาการหลงลืมของลุงฮูก การวิตกกังวลของพิกเลต ความหุนหันพลันแล่นของทิกเกอร์ การปกป้องลูกมากเกินไปของแกงก้า (จิงโจ้ที่เก็บลูกไว้ที่ในกระเป๋าหน้าท้องตลอดเวลา) รวมถึงอาการซึมเศร้าของอียอร์
ภาพการผจญภัยในป่า 100 เอเคอร์ จึงเป็นการประกอบสร้างภาพความไร้เดียงสาและด้านสว่างสดใสของวัยเด็กแต่ก็แฝงไว้ด้วยความโศกเศร้าและหดหู่อันเป็นผลกระทบจากสงคราม
การที่มนุษย์ทำอะไรไปโดยไม่รู้ตัวตามแนวคิดของซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) อาจมีที่มาจากจิตไร้สำนึกของคน ๆ นั้น เมื่อนำมาวิเคราะห์ร่วมกับทฤษฎีภูเขาน้ำแข็งที่มองเรื่องเล่าที่ปรากฏมีส่วนที่ถูกปกปิดอยู่ งานเขียนวินนี เดอะ พูห์จึงถือเป็นตัวอย่างชั้นดีของเรื่องราวซึ่งตัวละครแสดงบุคลิกที่โดดเด่นของตนเอง แต่โดยไม่รู้ตัวนักเขียนก็ได้ซ้อนความจริงบางอย่างเอาไว้
ฉากหน้าของเรื่องเล่าคือโลกไร้เดียงสา ส่วนฉากหลังเบื้องลึกกลับเป็นผลของบาดแผลจากสงครามที่ถูกใส่เข้ามาโดยไม่รู้ตัว
การซ้อนความจริงเหล่านั้นไว้นั่นเองที่เป็นเสมือนการบำบัดความเจ็บปวดจากสงคราม และเป็นความพยายามที่จะปกป้องเด็ก ๆ รวมถึงลูกชายของเขาเพื่อให้โลกสดใสไร้เดียงสา ไร้ความเจ็บปวดของเด็กยังมีอยู่ ส่วนโลกความจริงอันโหดร้ายให้อยู่ใต้ภูเขาของเรื่องเล่าแต่เพียงเท่านั้น
อ้างอิงเนื้อหา
The Iceberg Theory: A Critical Reading of A.A Milne’s Tale Winnie the Pooh (1926)
WINNIE THE POOH & MENTAL HEALTH
Pathology in the Hundred Acre Wood: a neurodevelopmental perspective on A.A. Milne
บทความ จิตเวชศาสตร์ทหาร Military Psychiatry โดย พลโทวีระ เชื่องศิริกุล
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
"ซิกมุนด์ ฟรอยด์" กับทฤษฎี "จิตวิเคราะห์" ความเชื่อมโยงของจิตกับด้านเทคโนโลยีที่น่าสนใจ
เช็กความเสี่ยงโรค PTSD โรคเครียดหลังเผชิญเหตุร้ายแรง
ประเด็นสังคม : "โรค PTSD" ดูแลสุขภาพจิตใจ หลังรับข่าวความรุนแรงผ่านสื่อ