ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

Secret Story | Florence and the Uffizi Gallery ย้อนตำนานความยิ่งใหญ่ของตระกูลเมดีชี


Lifestyle

15 ม.ค. 67

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

Logo Thai PBS
แชร์

Secret Story | Florence and the Uffizi Gallery ย้อนตำนานความยิ่งใหญ่ของตระกูลเมดีชี

https://www.thaipbs.or.th/now/content/680

Secret Story | Florence and the Uffizi Gallery ย้อนตำนานความยิ่งใหญ่ของตระกูลเมดีชี
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

“มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยจนเหลือเงินมาอุปถัมภ์ศิลปินและค้ำจุนศิลปะ” อาจไม่ใช่ของแปลกหายาก แต่มหาเศรษฐีที่จริงจังกับการสนับสนุน สร้าง และสะสมงานศิลปะอย่างต่อเนื่องยาวนานเป็นจำนวนมหาศาล ถึงขั้นที่กรุสมบัติของพวกเขากลายมาเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่ใหญ่โตที่สุดในโลก และเป็นหลักฐานพยานของการสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะนั้น คงจะเป็นใครอื่นไปไม่ได้นอกจากมหาเศรษฐี “ตระกูลเมดีชี”

ครอบครัวเปียโร ดิ โคสิโม เดอ เมดีชี (Piero di Cosimo de Medici) วาดโดย ซานโดร บอตติเชลลี

ในสารคดี Florence and the Uffizi Gallery เราจะได้เห็นเรื่องราวของงานศิลปะชิ้นโดดเด่นมากมายใน “หอศิลป์อุฟฟีซี (Uffizi Gallery)” ซึ่งผู้คนหลายรุ่นของตระกูลเมดีชีเป็นผู้สะสม แต่ละชิ้นเต็มไปด้วยความงดงาม และที่มาอันพิสดารน่าทึ่ง ยิ่งดูก็ยิ่งชวนให้อยากรู้ว่าสมาชิกผู้มั่งคั่งของครอบครัวนี้มีวิธีคิดและวิธีการอย่างไร จึงทำให้เกิดสมบัติที่แสนยิ่งใหญ่ของชาวโลกเช่นนี้ขึ้นมาได้

หอศิลป์อุฟฟีซี (Uffizi Gallery)

ในอันจะตอบคำถามที่ว่านั้น เราต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 14 ที่ตระกูลเมดีชีกลายเป็นบุคคลสำคัญ และทรงอิทธิพลในเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี พวกเขาทั้งทำการค้า เล่นการเมือง เป็นผู้ปกครอง เป็นกระทั่งพระสันตะปาปา และก่อตั้งธนาคารที่ขยายสาขาออกไปอย่างกว้างขวาง ซึ่งทำให้พวกเขากลายเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ (ระดับที่ว่ากันว่าประชาชนชาวฟลอเรนซ์กว่าครึ่งเมืองในช่วงเวลานั้น ล้วนทำงานให้แก่ตระกูลนี้) และด้วยความร่ำรวยนี้เอง ที่เอื้อให้พวกเขาสามารถใช้จ่ายเงินทางวัฒนธรรมได้อย่างคล่องมือและต่อเนื่อง โดยเฉพาะการอุปถัมภ์ศิลปะและสถาปัตยกรรมในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา

ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด ที่เคยรับจ้างทำงานให้ตระกูลเมดีชีมีทั้ง มีเกลันเจโล บัวนาร์โรตี (Michelangelo di Lodovico Buonarroti Simoni), เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci), ราฟาเอล (Raphael) และซานโดร บอตติเชลลี (Sandro Botticelli) นอกจากนั้นพวกเขายังเกี่ยวข้องกับการสร้างชาเปลซิสติน หรือโบสถ์น้อยซิสติน และให้การสนับสนุนสร้างสถาปัตยกรรมสำคัญ ๆ ของฟลอเรนซ์หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์อุฟฟีซี, วังพิตติ, สวนโบโบลิ, ป้อมเบลเวเดเร และวังเมดีชี ซึ่งผลงานเหล่านี้นี่แหละที่ทำให้ชื่อเสียงของเมดีชี อยู่ยั้งยืนยงคงทนต่อกาลเวลา ยิ่งกว่าอิทธิพลทางการเมืองหรือการเงินเสียอีก

ภาพวาดลอเรนโซ เดอ เมดีชี "ลอเรนโซผู้ยิ่งใหญ่" (Lorenzo de' Medici, Duke of Urbino)

การจ้างวาด และการสะสมศิลปะของเมดีชีไม่ได้ทำไปแค่เพราะรวยเหลือใช้ หรือหาอะไรทำแก้เบื่อ แต่หลายผลงานที่ปรากฏออกมาแสดงให้เห็นว่า พวกเขารู้เป็นอย่างดีว่างานศิลปะนั้นมีอิทธิพลทางการเมืองได้ขนาดไหน หรือพูดอีกอย่างว่า พวกเขาสามารถใช้ “ภาพเหมือน” เป็นเครื่องมือในการสร้างอิทธิพลทางการเมืองได้อย่างไรบ้าง ตัวอย่างที่ชัดมากก็คือ ภาพ Lorenzo de' Medici, Duke of Urbino ภาพนี้ ซึ่งราฟาเอลวาดลอเรนโซ เดอ เมดีชี ("ลอเรนโซผู้ยิ่งใหญ่") ในปี ค.ศ. 1958 อย่างพิถีพิถันโดยเชื่อมโยงเข้ากับสไตล์ศิลปะฝรั่งเศสที่โดดเด่นในยุคนั้น เพื่อให้ลอเรนโซใช้มันเป็นเครื่องสานสัมพันธ์ทางการทูตกับฝรั่งเศส ภาพนี้จึงถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความทะเยอทะยานทางการเมืองของลอเรนโซ และแสดงถึงความเข้าใจของเขาต่อพลังโน้มน้าวใจของศิลปะ

ความสนใจของลอเรนโซยังครอบคลุมไปถึงโบราณวัตถุและโบราณสถานอีกด้วย เขาจึงยิ่งโดดเด่นในฐานะผู้อุปถัมภ์ศิลปะที่มีหลากหลายมิติ วิลล่าหลังงามของเขาในปราโต แคว้นทัสคานี ซึ่งเริ่มสร้างเมื่อปี ค.ศ. 1485 เป็นตัวอย่างชัดเจนของแนวคิดทางสถาปัตยกรรมแบบใหม่ ในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาที่เน้นความงาม ความสมดุล และความกลมกลืน

วิลล่าเมดีชี (Villa Medici)

ที่น่าสนใจขึ้นไปอีกก็คือ การสนับสนุนศิลปะของเมดีชีไม่ได้อยู่แค่ในรูปแบบของการว่าจ้างสร้างงานเป็นชิ้น ๆ เพื่อการสะสม แต่พวกเขายังลงทุนด้านวิชาการด้วย โดยเฉพาะการสนับสนุนให้เกิดสถาบัน Platonic Academy ในศตวรรษที่ 15 ซึ่งว่ากันว่าเป็นดัง “ที่หลบภัย” สำหรับศิลปิน นักปรัชญา และนักวิชาการ เพราะคนเหล่านี้สามารถเข้าร่วมพบปะ แลกเปลี่ยนบทสนทนาแบบสหวิทยาการกันโดยไม่มีการปิดกั้น นับเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของความคิด และสะท้อนว่าตระกูลเมดีชีเข้าใจดีว่าการจะ “ฟื้นฟูศิลปวิทยา” อย่างแท้จริงนั้น ไม่อาจทำได้แค่การส่งเสริมให้ศิลปินผลิตงาน แต่ต้องเปิดพื้นที่สำหรับการเพาะบ่มวิทยาการ และปัญญาควบคู่กันไปด้วย

อิทธิพลของเมดีชีดำเนินมาจนถึงบั้นปลายในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นช่วงที่บทบาทด้านต่าง ๆ ของพวกเขาสูญสลายไปมากแล้ว แต่โชคดีที่งานศิลปะกลับยังถูกรักษาไว้ได้ ต้องนับเป็นคุณูปการของ แอนนา มารีอา เดอ เมดีชี ทายาทคนสุดท้ายผู้สร้างข้อตกลงให้คอลเลกชันทั้งหมดของครอบครัวยังคงถูกเก็บไว้ที่เมืองฟลอเรนซ์ต่อไป ไม่ต้องกระจัดกระจายไปยังที่ต่าง ๆ เหมือนทรัพย์สินของราชวงศ์อื่น ๆ ในอิตาลี ทำให้ฟลอเรนซ์ยังคงรุ่งเรืองในด้านนี้เรื่อยมา

จากบทบาททั้งหมดนี้ เราอาจจะสรุปอย่างรวบรัดได้ว่า ตระกูลเมดีชีมีวิสัยทัศน์ที่มองเห็นความสัมพันธ์ซับซ้อนระหว่างวัฒนธรรม การเมือง และความก้าวหน้าทางสังคม การอุปถัมภ์ของพวกเขาจึงครอบคลุมหลากหลายรูปแบบศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรม ประติมากรรม วรรณกรรม และการแสวงหาความรู้ ส่งผลให้สิ่งที่พวกเขาทำนั้นก้าวไปไกล ยิ่งกว่าการสร้างความยิ่งใหญ่ส่วนตัว แต่เป็นการยกระดับเมืองฟลอเรนซ์ให้กลายเป็นศูนย์กลางทางศิลปะและวัฒนธรรมอย่างแท้จริง

▶ รับชมสารคดี Florence and the Uffizi Gallery ท่องเมืองฟลอเรนซ์และหอศิลป์อุฟฟิซิ ทาง www.VIPA.me และ VIPA Application

“ Secret Story ” คอลัมน์น้องใหม่จาก VIPA ที่มาพร้อมเรื่องราวเจาะลึก มุมมองในมิติที่คุณอาจไม่เคยรู้ ทั้งเบื้องหน้า และเบื้องหลังของผลงานสารคดีคุณภาพ ที่เราไม่อยากให้คุณพลาดใน www.VIPA.me 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

VIPAdotMeสารคดีงานศิลปะสารคดี Florence and the Uffizi Gallery ท่องเมืองฟลอเรนซ์และหอศิลป์อุฟฟิซิเมืองฟลอเรนซ์หอศิลป์อุฟฟีซีอิตาลีตระกูลเมดีชีบอตติเชลลีประวัติศาสตร์ประวัติศาสตร์ศิลปะยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยา
ธิดา ผลิตผลการพิมพ์
ผู้เขียน: ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

ผู้ก่อตั้ง Documentary Club คลับของคนรักสารคดี และหนังนอกกระแส

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด