นักวิจัยไทยค้นพบ “เปราะนภาวรรณ” พืชวงศ์ขิงชนิดใหม่ของโลก ที่ จ.นครสวรรค์


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

25 ธ.ค. 66

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

นักวิจัยไทยค้นพบ “เปราะนภาวรรณ” พืชวงศ์ขิงชนิดใหม่ของโลก ที่ จ.นครสวรรค์

https://www.thaipbs.or.th/now/content/616

นักวิจัยไทยค้นพบ “เปราะนภาวรรณ” พืชวงศ์ขิงชนิดใหม่ของโลก ที่ จ.นครสวรรค์
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ต้นก็งามนามก็ไพเราะ ชวนรู้จัก “เปราะนภาวรรณ” "Kaempferia napavarniae Saensouk, P.Saensouk & Boonma" เป็นพืชชนิดใหม่ของโลก ในวงศ์ขิง (Zingiberaceae) สกุลเปราะ (Kaempferia) สกุลย่อยเปราะหอม (Kaempferia) พบครั้งแรกในป่าพื้นที่ จ.นครสวรรค์ และมีสถานะเป็นพืชถิ่นเดียว (Endemic species) และพืชหายาก (Rare species) ของประเทศไทย เนื่องจากไม่พบรายงานการกระจายพันธุ์ในประเทศอื่น ๆ

รยางค์อับเรณูเปราะนภาวรรณ

โดยชื่อ “เปราะนภาวรรณ” ซึ่งเป็นชื่อวิทยาศาสตร์และชื่อไทยตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ รองศาสตราจารย์ ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ นักวิทยาศาสตร์อาวุโส ประจำปี 2563 ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประกอบไปด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.สุรพล แสนสุข, นายธวัชพงศ์ บุญมา (จากหลักสูตรความหลากหลายทางชีวภาพ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช) และ รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยะพร แสนสุข (ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์) เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยจาก BEDO สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติ Biodiversitas ปีที่ 23 ฉบับที่ 8 หน้า 4343-4354.

ทีมวิจัยเปราะนภาวรรณ

สำหรับพืชในสกุลเปราะ (Kaempferia genus) แบ่งออกได้เป็นสองสกุลย่อย (subgenus) ตามลักษณะการเกิดช่อดอกคือ “สกุลย่อยเปราะหอม” (subgenus Kaempferia) จะมีช่อดอกเกิดอยู่ระหว่างกาบใบ คือ มีใบก่อนแล้วถึงมีช่อดอก โดยมักพบออกดอกในช่วงเดือน มิ.ย. - ก.ย. ในขณะที่ “สกุลย่อยดอกดิน” (subgenus Protanthium) จะมีช่อดอกเกิดจากตาเหง้าก่อนที่จะมีลำต้น มักพบออกดอกในช่วงเดือน ก.พ. - พ.ค.

สำหรับ “เปราะนภาวรรณ” จะมีช่อดอกอยู่ระหว่างกาบใบจึงถูกจัดอยู่ใน “สกุลย่อยเปราะหอม” (subgenus Kaempferia)

ลักษณะทางสัณฐานวิทยา “เปราะนภาวรรณ” เป็นพืชล้มลุก มีการพักตัวในช่วงฤดูหนาว มีลำต้นใต้ดินหรือเหง้ารูปทรงไข่ เหง้าเรียงต่อกันเป็นแถวเมื่อมีอายุหลายปี รากสะสมอาหารอยู่ใกล้กับเหง้า ใบรูปไข่จนถึงรูปเกือบกลมแผ่ราบขนานดิน ปกติจะมีสองใบตรงข้ามกัน บางครั้งอาจพบมีได้ถึงสามใบ ปลายใบแหลมมีติ่งสั้น ฐานใบกลม ด้านบนของใบสีเขียวมีลายจุดสีเขียวเข้มมากจนถึงจุดสีดำ ช่อดอกเกิดอยู่ระหว่างกาบใบ ดอกสีขาว ดอกบานในระนาบเดียวกันขนานกับดิน คือ กลีบเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน (staminodes) ไม่ตั้งขึ้น เมื่อบานจะอยู่ในระนาบเดียวกับกลีบปาก (labellum) และมีแต้มสีเหลืองอ่อนบริเวณโคนกลีบปาก ใบอ่อนที่ยังม้วนอยู่ใช้รับประทานเป็นอาหารเหมือนกับบางชนิดในสกุลเดียวกัน พบออกดอกในช่วงเดือน มิ.ย. - ส.ค.

พืชสกุลเปราะแต่ละชนิด

“เปราะนภาวรรณ” มีดอกสีขาวแต้มเหลืองที่กลีบปากและมีใบแผ่ราบกับดินคล้ายกับ เปราะป่า (Kaempferia roscoeana Wall.) แตกต่างกันตรงที่ “เปราะนภาวรรณ” มีกาบใบที่มีขน ใบมีลายจุด และผิวใบมีขนทั้งสองด้าน ใบประดับมีขน กลีบเลี้ยงยาว 2.5-2.9 เซนติเมตร มีขนประปราย รยางค์อับเรณูรูปไข่กว้าง ประมาณ 5.5 x 5.0 มิลลิเมตร ต่อมน้ำหวาน (Epigynous glands) ยาวประมาณ 10 มิลลิเมตร

องค์ประกอบแต่ละส่วนของเปราะนภาวรรณ

ในขณะที่ “เปราะป่า” (K. roscoeana) มีกาบใบเกลี้ยงไม่มีขน ใบไม่มีลายจุด แต่เป็นลายสีเงินหรือสีเขียวเข้ม ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ใบประดับผิวเกลี้ยง รยางค์อับเรณูรูปไข่และมีขนาดเล็กไม่โดดเด่น ประมาณ 1.5 x 1.5 มิลลิเมตร ต่อมน้ำหวาน (Epigynous glands) สั้นประมาณ 3 มิลลิเมตร นอกจากนี้การกระจายพันธุ์ของ “เปราะป่า” ยังอยู่ในโซนตะวันตกเฉียงใต้ของไทย ในขณะที่ “เปราะนภาวรรณ” อยู่ในโซนภาคเหนือตอนล่างค่อนมาทางจังหวัดลพบุรี

และคล้ายกับ “เปราะโคราช” (Kaempferia koratensis Picheans.) ที่มีดอกสีขาวแต้มเหลืองที่กลีบปากและมีใบแผ่ราบกับดินเหมือนกัน ต่างกันตรงที่ “เปราะนภาวรรณ” มีใบลายจุด ใบมีขนทั้งสองด้าน แต่ “เปราะโคราช” ไม่มีลายจุด และ ต่อมน้ำหวาน (Epigynous glands) สั้นประมาณ 4 มิลลิเมตร รวมถึงการกระจายพันธุ์ในธรรมชาติของ “เปราะโคราช” ปัจจุบันพบแค่ในพื้นที่ป่าจังหวัดนครราชสีมา ไม่พบในโซนภาคกลางของไทย

ในขณะที่เมื่อเทียบกับชนิดที่มีใบลายจุดคล้ายกัน ในสกุลเดียวกันและมีการกระจายพันธุ์ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน พบว่า มีพืชในสกุลเปราะที่มีใบลายจุดสองชนิด คือ “เปราะใบลายจุด” (Kaempferia maculifolia Boonma & Saensouk), “เปราะเสือดาว” (Kaempferia pardi K.Larsen & Jenjitt.)

อย่างไรก็ตามทั้งสองชนิดนี้มีความแตกต่างจาก “เปราะนภาวรรณ” อย่างชัดเจน คือ กลีบปากมีแต้มสีม่วง  “เปราะใบลายจุด” (K. maculifolia) มีลำต้นเทียมที่ตั้งตรง ใบชี้ขึ้นไม่ได้แผ่แบนราบแบบ “เปราะนภาวรรณ” ในขณะที่ “เปราะเสือดาว” (K. pardi) ดอกบานเต็มที่ทำมุมประมาณ 45 องศา ไม่ได้บานในระนาบเดียวกันแบบดอกของ “เปราะนภาวรรณ” รวมไปถึงขนาดของใบ “เปราะเสือดาว” มีขนาดใหญ่กว่า และหนากว่ามาก

🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ภาพจาก : รศ. ดร.สุรพล แสนสุข, นายธวัชพงศ์ บุญมา

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : smujo, นายธวัชพงศ์ บุญมา 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เปราะนภาวรรณพืชวงศ์ขิงสกุลเปราะพืชชนิดใหม่ของโลกพฤกษศาสตร์Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech วิทยาศาสตร์Science
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

(เซบา บาสตี้) เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover : (jiraphob.thawisoonsong@gmail.com)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด