นับตั้งแต่ปี 1992 เป็นต้นมา สหพันธ์สุขภาพจิตโลก (The World Federation for Mental Health: WFMH) ได้กำหนดให้ทุกวันที่ 10 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day: WMHDAY) เพื่อให้ผู้คนทั่วโลกได้เห็นความสำคัญของสุขภาพจิต และการลงทุนเพื่อการป้องกันและบำบัดรักษาผู้ที่เจ็บป่วยทางจิตใจ
ธีมของปี 2023 นี้ได้แก่ “สุขภาพจิตคือสิทธิมนุษยชนสากล” หรือ “Mental health is a universal human right” เพื่อให้สังคมหันมายกระดับความสำคัญของสุขภาพจิต ไม่ให้แตกต่างจากความสำคัญของสุขภาพกาย ซึ่งสังคมที่ทำงานถือเป็นสถาบันทางสังคมหนึ่งที่สำคัญ ทั้งยังเป็นสถานที่ที่มีผู้คนที่ต้องเผชิญกับความเครียดและภาวะกดดันได้สูง
จิตวิทยาเชิงบวกเป็นแนวคิดทางจิตวิทยาแขนงหนึ่งที่น่าสนใจที่จะช่วยป้องกันและสร้างเสริมความแข็งแรงของสุขภาพจิตได้
Thai PBS care จึงขอชวนทุกคนมารู้จัก “จิตวิทยาเชิงบวก” ตัวช่วยหนึ่งที่จะช่วยปรับให้ชีวิตของคนทำงานมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น จากแนวคิดของ Martin E.P. Seligman อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเพนซิเวเนีย นักจิตวิทยาผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งแนวคิดจิตวิทยาเชิงบวก เพื่อตอบคำถามว่า การมีชีวิตที่มีความสุขคืออะไร ? จึงเป็นที่มาของทฤษฎี P.E.R.M.A. ซึ่งแบ่งความสุขว่ามีที่มาจาก 5 หลักคิดตามตัวย่อเหล่านี้
แล้วตัวย่อเหล่านี้ย่อมาจากอะไรบ้าง ? เราขอชวนทุกคนมาเทียบชีวิตการทำงานในแต่ละวัน มีอะไรบ้างที่สามารถปรับเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นมุมคิด หรือสภาพแวดล้อม หรือพฤติกรรมบางอย่าง เพื่อเข้ากับหลักคิด สิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้คุณเห็นความสุขระหว่างการทำงานมากขึ้นได้ บางสิ่งบางอย่างที่เป็นอยู่ คุณอาจกำลังทำงานที่รู้สึกมีความสุขโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้
1. Positive Emotion - สภาวะอารมณ์ที่ดี
ถือเป็นสิ่งที่เรียบง่ายที่สุด เป็นความรู้สึกหรืออารมณ์ด้านบวก เช่น ความสุข ดีใจ ตื่นเต้น สนุก พึงพอใจ ภาคภูมิใจ รวมไปถึงอัศจรรย์ใจ คุณอยู่ในภาวะอารมณ์เหล่านี้บ้างมั้ยระหว่างทำงาน ปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นพื้นฐานของความสุขเลยทีเดียว คุณอาจเริ่มต้นวันด้วยรอยยิ้ม มื้ออาหาร ของว่าง หรือฟังเพลงที่ชอบเพื่อทำอารมณ์ให้มีความสุข เป็นการปูพื้นฐานอารมณ์ก่อนการทำงานในแต่ละวัน
2. Engagement - สร้างความผูกพันกับงานที่ทำ
คือความรู้สึกเพลิดเพลินไปกับการทำสิ่งใดจนกระทั่งลืมเวลาที่กำลังผ่านไป โดยมีพื้นฐานมาจากการรู้สึกมีส่วนร่วมกับสิ่งนั้น และกิจกรรมนั้นที่จะต้องใช้ทักษะความสามารถที่มีความท้าทายอย่างพอเหมาะ ไม่ยากเกินไป ไม่ง่ายเกินไป ซึ่งช่วยให้เกิดความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำกิจกรรมนั้นให้บรรลุไปถึงเป้าหมายได้สำเร็จ ภาวะของการมีสมาธิกับกิจกรรมจนลืมเวลาลักษณะนี้มีอีกชื่อเรียกว่า Flow ซึ่งเป็นอีกสิ่งที่ทำให้มีความสุขโดยไม่รู้ตัว
ในชีวิตของคุณอาจคุ้นชินกับภาวะแบบนี้ในการทำงานอดิเรก เช่น การดูซีรีส์ อ่านหนังสือ ดูทีวี เล่นเกมอย่างจดจ่อจนลืมเวลา แต่คุณจะทำอย่างไรให้สามารถเข้าสู่สภาวะนี้ในระหว่างการทำงาน ?
ข้อแนะนำในชั้นแรก คุณอาจเริ่มจากปรับมุมมองให้ตัวเองรู้สึกมีส่วนร่วมกับเป้าหมายขององค์กรจากสิ่งที่คุณทำ เมื่อรู้สึกมีส่วนร่วมแล้ว ลองปรับระดับความยากง่ายของเป้าหมายในการทำงานแต่ละวันให้เหมาะสม หากเป้าหมายยากเกินไป คุณจะรู้สึกท้อแท้ได้ง่าย ควรมองเป้าที่ยังคงท้าทายที่ต้องใช้สมาธิอย่างจดจ่อเพื่อทำให้สำเร็จ หรือหากงานง่ายเกินไปจนทำให้คุณรู้สึกเบื่อหน่าย การเพิ่มปริมาณงาน มองหารูปแบบการทำงานใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มความท้าทายขึ้น วิธีเหล่านี้จะช่วยทำให้คุณเข้าสู่สภาวะ flow หรือการจดจ่อจนลืมเวลา ซึ่งช่วยให้คุณค้นพบความสุขได้มากขึ้น ผลที่ตามมาคือการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย
3. Relationships - จงเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับในความสัมพันธ์ที่ดี
ปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อความสุขของมนุษย์อย่างมาก สะท้อนผ่านหลากหลายงานวิจัยคือความสัมพันธ์ที่ดี ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ที่ดีจากครอบครัว คู่ชีวิต เพื่อน ๆ รวมถึงเพื่อนร่วมงาน โดยมีทั้งในรูปแบบของการได้รับการยอมรับ การได้รับความไว้วางใจ ซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีในสถานที่ทำงานนั้นเกิดได้จากการสื่อสารต่อกันในเชิงบวก
คุณสามารถเป็นได้ทั้งผู้ให้และผู้รับในการสื่อสารที่ดี เช่น การสอบถามเพื่อให้ความช่วยเหลือกัน การบอกเล่าหรือรับฟังถึงปัญหาการทำงานของกันและกัน หากสถานที่ทำงานให้ความสำคัญกับจิตวิทยาในการทำงาน การสร้างวัฒนธรรมการสื่อเชิงบวกต่อกันในลักษณะนี้จะช่วยให้คนทำงานร่วมกันเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับส่งพลังบวกให้แก่กันได้
4. Meaning - การรู้สึกถึงความหมายของชีวิต
ความรู้สึกถึงคุณค่าและความหมายในการมีชีวิตนั้นฟังดูยิ่งใหญ่ ทว่านิยามของมันอาจอยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด เพียงคุณมีความรู้สึกมีความสุข หรือมีส่วนร่วม หรือสิ่งที่ทำมีความหมาย หรือมีเป้าหมายยิ่งใหญ่ใด ๆ ก็ตามที่ตัวเองมีส่วนส่งเสริมให้เกิดเป้าหมายนั้น เพียงเท่านี้ก็คือการที่คุณมีชีวิตที่มีความหมายแล้ว ในชีวิตการทำงาน องค์กรอาจมีเป้าหมายใหญ่อยู่ การมองเห็นคุณค่าที่คุณเป็นส่วนนึงที่ทำให้ไปถึงเป้าหมายนั้นก็ทำให้คุณรู้สึกถึงสิ่งนี้ได้
อย่างไรก็ตาม คุณอาจหลงลืมการมีส่วนร่วมกับเป้าหมายขององค์กรไป การตอบคำถามเชิงบวกบางข้อเป็นตัวช่วยที่ดีได้ คำถามเหล่านั้นได้แก่ สิ่งที่รู้สึกภาคภูมิใจในการทำงานคืออะไร ? สิ่งที่รู้สึกประทับใจในที่ทำงาน ? อยากพัฒนางานด้านใดเป็นพิเศษ ? เวลาทำงานให้ความสำคัญกับอะไรมากที่สุด ? การได้ตอบคำถามเชิงบวกเหล่านี้จะช่วยสร้างแรงผลักดันและค้นหาความหมายในการทำงานต่อการใช้ชีวิตของคุณได้
หลักคิดของการรู้สึกถึงความหมายของชีวิตนี้จะส่งผลให้คุณมองเห็นว่าปัจจุบันนั้นมีความหมายส่งต่อไปถึงอนาคต ชวนให้คุณคิดถึงการเรียนรู้ของชีวิตที่ผ่านมา ช่วยให้เกิดแรงผลักดันในปัจจุบัน พร้อมทั้งยังช่วยมองไปถึงอนาคตด้วยมุมมองที่เป็นแง่บวกมากขึ้น
5. Accomplishment - การบรรลุถึงเป้าหมาย
ความรู้สึกว่าเราทำสำเร็จซึ่งจะอิงกับ 4 หลักคิดข้างต้น การมีสภาวะอารมณ์ที่ดี มีความผูกพันกับสิ่งที่ทำ มีความสัมพันธ์ที่ดี และรู้สึกถึงความหมายของชีวิต เหล่านี้จะต่อยอดมาสู่การรู้ถึงสิ่งที่เราต้องการในชีวิต หรือก็เป้าหมายนั่นเอง เมื่อบรรลุถึงเป้าหมายจะทำให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ ในมุมของคนทำงานที่ต้องรับแรงกดดันอยู่เป็นประจำ มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะหมดไฟในการทำงานหรือ burn out หากในระหว่างนั้นได้มีภาวะของการบรรลุถึงเป้าหมายจะมีส่วนช่วยปลดล๊อกคนทำงานจากภาวะหมดไฟได้
อย่างไรก็ตาม การบรรลุเป้าหมายของการทำงานมีได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งเป้าหมายเล็กน้อยจนถึงเป้าหมายใหญ่ การทำงานทุก ๆ วัน ย่อมมีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเรื่องเล็กน้อยจนถึงเรื่องใหญ่ ชัยชนะเล็ก ๆ ในแต่ละครั้งของทุกวันในการทำงาน เมื่อได้รับการชื่นชม ตระหนักถึงความสำเร็จ เมื่อทำอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้ทัศนคติในการรับมือกับความผิดพลาดได้ดีขึ้น เพราะจะสามารถมองหาความสำเร็จได้มากขึ้น ส่งผลให้มีความสุขในการทำงานและทำให้การทำงานมีผลิตภาพ (productivity) มากขึ้นอีกด้วย มีงานวิจัยให้พนักงานบริษัทเขียนบันทึกความสำเร็จของตนติดต่อกัน 21 วัน พบว่าพนักงานมีวิธีคิดที่เปลี่ยนไป ช่วยให้มีแรงผลักดันในการมองหาความสำเร็จและความท้าทาย ไม่จมอยู่กับปัญหา จึงทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ทั้ง 5 หลักคิดนี้ยังคงเป็นแนวคิดหลัก ซึ่งทุกคนสามารถนำมาปรับใช้กับตัวเอง รวมถึงทั้งองค์กรได้ ปัญหาสุขภาพจิตเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสังคมไทย โดยเฉพาะสังคมคนทำงานที่ต้องเผชิญกับความกดดันและความเครียดสูง ก่อนที่คนทำงานประสบกับปัญหาด้านสุขภาพจิต การป้องกันหรือเสริมสร้างความเข้มแข็งด้วยจิตวิทยาเชิงบวกถือเป็นพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งต่อตัวคนทำงานเอง และรวมถึงช่วยยกระดับองค์กรให้การทำงานมีประสิทธิภาพดีขึ้นอีกด้วย
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
คนสู้โรค : จิตวิทยาเชิงบวกกับการทำงาน และการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข
ข้อมูลจาก
ความหมายของ จิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) โดย อรุญฉัตร คุรุวาณิชย์ นักจิตวิทยาเชิงบวก
บทความวิชาการ จิตวิทยาเชิงบวก: การพัฒนา การประยุกต์ และความท้าทาย โดย สุดารัตน์ ตันติวิวัทน์ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 2017
รู้หรือไม่ ? จิตวิทยากับจิตวิทยาเชิงบวกต่างกันอย่างไร ?
- จิตวิทยา (Psychology) เดิมทีมีขึ้นเพื่อรักษาอาการทางจิต ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง การวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจด้วยวิทยาศาสตร์ทางสังคมโดยใช้องค์ความรู้ด้านที่เป็นศิลปะร่วมกับวิทยาศาสตร์ อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น วิเคราะห์พัฒนาจนมาเป็นเข้าใจการทำงานของจิตใจมนุษย์มากขึ้น เหล่านี้คือจุดเริ่มต้นของจิตวิทยาทั้งหมด ซึ่งแรกเริ่มนั้นมีขึ้นเพื่อใช้ในการรักษาอาการทางจิตเป็นหลัก ซึ่งจิตวิทยาเชิงบวกนั้นแตกต่างออกไป
- จิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) ถือเป็นแขนงหนึ่งของศาสตร์ด้านจิตวิทยาที่มุ่งเน้นในการพัฒนา เสริมสร้างจุดแข็งของผู้คน ต่อยอดมาจากแนวคิดจิตวิทยามนุษยนิยม (Humanistic Psychology) ซึ่งเน้นที่การสร้างแรงจูงใจในการดำเนินชีวิตสำหรับคนทั่วไป ซึ่งจะต่างจากการศึกษาจิตวิทยาแบบดั้งเดิมที่เน้นไปทางการรักษาความผิดปกติ