#ThaiPBSMoneyTip EP 4
บทความซีรีส์..ไทยพีบีเอส
อีกหนึ่งกลโกงที่พบบ่อย ๆ ในปัจจุบันก็คือ การหลอก - แฮกข้อมูลเพื่อดูดเงิน “บัตรเครดิต” ของเหล่ามิจฉาชีพ ด้วยความห่วงใย ไทยพีบีเอส จึงขอนำ How to รู้ทัน การหลอกดูดเงิน “บัตรเครดิต” มาให้ได้ทราบ ป้องกันไม่ให้คุณตกเป็นเหยื่อ
ชวนรู้จัก 6 กลโกง “บัตรเครดิต” ยอดฮิต
กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ตอท.) และ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้เปิดเผยถึง 6 กลโกง “บัตรเครดิต” ยอดฮิต ที่มิจฉาชีพใช้เป็นประจำ ได้แก่
1. การหลอกลวงผู้เสียหายเผลอจนให้ข้อมูลบัตรกับมิจฉาชีพ เช่น หลอกให้กรอกข้อมูลทางการเงินผ่านเว็บไซต์ปลอม หรือแอปพลิเคชันปลอม หรือการให้บัตรเครดิตไปกับผู้อื่นเพื่อทำธุรกรรมการเงิน แล้วบุคคลนั้นนำข้อมูลที่ได้ไปใช้แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ
2.หลอกลวงให้ผู้เสียหายกดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอม หรือลิงก์โฆษณาต่าง ๆ ที่ฝังมัลแวร์ดักรับข้อมูลของมิจฉาชีพ แล้วนำข้อมูลไปสร้างความเสียหายให้กับเจ้าของบัตรเครดิต
3. คัดลอกข้อมูลจากแถบแม่เหล็กของบัตร โดยเครื่องสกิมเมอร์ขนาดพกพา หรือแฮนด์เฮลด์สกิมเมอร์ (Handheld Skimmer) ซึ่งมิจฉาชีพมักจะถือไว้ในฝ่ามือ และจะนำบัตรของเหยื่อมาดูรหัสปลอดภัยด้านหลังบัตร ขณะเหยื่อเผลอ
4. คัดลอกข้อมูลจากแถบแม่เหล็กของบัตร โดยเครื่องสกิมเมอร์ (Skimmer) ที่ติดตั้งไว้ที่ตู้เอทีเอ็ม
5. ขโมยข้อมูลจากใบบันทึกรายการ (ATM Slip) ตามตู้เอทีเอ็มที่มียอดคงเหลือค่อนข้างมาก โดยนำไปใช้ค้นหาข้อมูลสำคัญในการทำธุรกรรมทางการเงิน
6. ปลอมแปลงเอกสารส่วนตัว หรือใช้เอกสารส่วนตัวของเหยื่อที่ขโมยมา ไปใช้สมัครบัตรเครดิต แล้วนำไปใช้จ่ายในนามของเหยื่อ
การ “โจรกรรม” เกิดขึ้น สังเกตได้จากสัญญาณ “ข้อมูลบัตรเครดิต” รั่วไหล
ด้วยความที่การรั่วไหลของ “ข้อมูลบัตรเครดิต” สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น นอกจากนี้ยังมีการผูกบัตรไว้กับแพลตฟอร์มออนไลน์ รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลด้วยตัวเองผ่านการโพสต์ภาพลงโซเชียลมีเดีย ที่ทำให้ข้อมูลรั่วไหลได้ด้วย ดังนั้นหากเมื่อไรที่เราไม่ได้ใช้จ่ายอะไรในขณะนั้น แต่มีแจ้งเตือนว่า “บัตรเครดิต” ถูกตัดเงิน อาจหมายถึงการถูกโจรกรรมเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งสิ่งที่ต้องรีบทำเป็นการด่วนคือการตรวจเช็กกับสถาบันการเงินทันที นอกจากนี้ต้องคอยสังเกตสัญญาณน่าสงสัยอื่น ๆ เพื่อให้พร้อมรับมือกับภัยมิจฉาชีพได้อย่างทันท่วงที เช่น
- การตัดบัตรซ้ำซ้อน หรือมีรายการที่เหมือนกันเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ติดกันบนใบแจ้งยอด
- การตัดบัตรที่ไม่ทราบที่มาหรือตัดบัตรเป็นจำนวนเงินเล็กน้อย เพราะอาจเป็นการทดสอบบัตรของมิจฉาชีพ
- การตัดบัตรที่ถูกยกเลิก แม้ว่าจะมีวงเงินบัตรเครดิตคงเหลือแต่ไม่สามารถทำรายการได้
- ไม่ได้รับใบแจ้งยอดหรือใบแจ้งยอดมาช้ากว่าปกติ อาจเป็นเพราะถูกเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่อยู่โดยมิจฉาชีพ
แนวทางป้องกัน ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
สำหรับแนวทางป้องกันการถูกมิจฉาชีพดูดเงิน “บัตรเครดิต” นั้น กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) ได้มีข้อแนะนำดังนี้
1. ไม่เปิดเผยข้อมูลบัตรให้ผู้อื่นล่วงรู้ และอย่าให้บัตรคลาดสายตาเมื่อต้องใช้บัตร
2. หลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมที่ไม่น่าเชื่อถือออนไลน์ (ต้องกรอกข้อมูลเลขด้านหน้าบัตร และรหัส 3 ตัวหลังบัตร หรือ CVV)
3. หลีกเลี่ยงการกดลิงก์ หรือติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก ไม่รู้ที่แหล่งมา
4. ระมัดระวังการกรอกข้อมูลหมายเลขบัตรผ่านเว็บไซต์ปลอม หรือแอปพลิเคชันปลอม ที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมาให้เหมือนกับเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันจริง
5. เมื่อต้องการซื้อสินค้า หรือบริการประเภทต่าง ๆ ควรใช้บัตรเดบิต โดยการโอนเงินเข้าบัตรเพื่อชำระสินค้าหรือบริการเท่าที่จะชำระโดยเฉพาะ
6. ตั้งค่าการแจ้งเตือนการทำรายการผ่านข้อความ (SMS) หรือแอปพลิเคชันไลน์ (LINE)
7. ไม่บันทึกรายละเอียดบัตรไว้กับเบราว์เซอร์ เช่น Chrome, Firefox หรือ Safari โดยเด็ดขาด
8. ควรนำแผ่นสติกเกอร์ทึบแสงปิดหรือขูด รหัส 3 ตัวด้านหลังบัตร (CVV) แล้วจำรหัส 3 ตัวดังกล่าวเอาไว้ เพื่อความปลอดภัย
9. ตรวจสอบรายการบัญชีอย่างสม่ำเสมอ หากพบสิ่งผิดปกติให้รีบแจ้งไปยังสถาบันการเงินทันที
ด้วยความที่ “เทคโนโลยี” เข้ามามีส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ดังนั้น โอกาสที่มิจฉาชีพจะใช้เทคโนโลยีในการหาช่องโหว่ สร้างกลโกงเพื่อแฮก “ข้อมูลบัตรเครดิต” ก็ยิ่งมีโอกาสเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย เพื่อรู้เท่าทันก่อนเกิดเหตุร้ายกับ “บัตรเครดิต” ของเรา ควรติดตามข่าวสารถึงรูปแบบกลโกงใหม่ ๆ ที่มิจฉาชีพใช้อยู่เสมอ เพื่อป้องกันตัวเราเองให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้หากมีปัญหาเกี่ยวกับการดูดเงิน “บัตรเครดิต” สามารถติดต่อ บช.สอท. ได้ที่ โทร. 1441 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือเข้าไปแจ้งเหตุที่เว็บไซต์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (www.thaipoliceonline.com)
📖 อ่านเพิ่มเติม : เตือนภัย ! แอปฯ - SMS แจ้งสิทธิรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่แท้มิจฉาชีพหลอกดูดเงิน
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย, กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.), กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ตอท.), ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค, กองบัญชาการตำรวจสันติบาล