ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ฟุตบอลโลก กับเทคโนโลยี VAR ป้องกันดราม่า? จากผู้ตัดสิน


กีฬา

2 ธ.ค. 65

Thai PBS Digital Media

Logo Thai PBS
แชร์

ฟุตบอลโลก กับเทคโนโลยี VAR ป้องกันดราม่า? จากผู้ตัดสิน

https://www.thaipbs.or.th/now/content/37

ฟุตบอลโลก กับเทคโนโลยี VAR ป้องกันดราม่า? จากผู้ตัดสิน
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

การตัดสินในเกมฟุตบอล มีปัญหาถึงความเที่ยงตรงมาเนิ่นนาน เห็นได้ชัดและเป็นตำนานที่สุดคือฟุตบอลโลก เมื่อปี 1986 ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย ทีมชาติอาร์เจนตินา พบกับ ทีมชาติอังกฤษ เมื่อเป็นนัดที่ "ดีเอโก มาราโดนา" ดาวยิงระดับตำนานของทัพ "ฟ้า-ขาว" กระโดดขึ้นพร้อมใช้มือปัดบอลเข้าประตูไป 

หลังจากนั้น นักเตะทีมชาติอังกฤษ ก็พยายามประท้วง อาลี บิน นาสเซอร์ ผู้ตัดสินจากตูนิเซีย แต่ก็ไม่เป็นผล และนั่นก็เป็นประตูกรุยทางทำให้ฟุตบอลโลกในครั้งนั้น อาร์เจนตินา คว้าแชมป์โลกไปครองได้สำเร็จ

อีกหนึ่งตัวอย่างการตัดสินที่ค้านสายตา เกิดขึ้นในฟุตบอลโลก ปี 2002 ที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพ ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย ที่เจ้าภาพร่วมอย่างเกาหลีใต้ พบกับทีมชาติอิตาลี ผู้ตัดสินในเกมนั้นมีชื่อว่า "ไบรอน โมเรโน่" ชื่อชั้นของ 2 ทีมนี้แน่นอนว่า ทางอิตาลีเหนือกว่าอย่างชัดเจน

แต่ในเกมการแข่งขันไม่เป็นเช่นนั้นเลย ผู้ตัดสิน ไบรอน โมเรโน่ ทำหน้าที่ได้อย่างค้านสายตาแฟนบอลที่รับชมกันทั่วโลก หลายจังหวะที่อิตาลี ถูกปะทะนอกเกม จนมีนักเตะอิตาลีเลือดตกยางออก แต่ก็ไม่ถูกปกป้องจากกรรมการคนนี้ จนท้ายที่สุด จากการตัดสินดังกล่าวนั้น ก็เป็นผลทำให้เกาหลีใต้มาได้ประตู Golden-Goal ในช่วงต่อเวลาพิเศษ และเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย

2 ตัวอย่างข้างต้น เห็นได้ชัดว่าเป็นการตัดสินที่ผิดพลาด และทางสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ก็พยายามหาทางที่จะทำให้การตัดสินของกรรมการ มีความเที่ยงตรงและยุติธรรมมากขึ้น

และหนึ่งในจังหวะที่มีการถกเถียงกันมากที่สุดก็คือจังหวะ "ล้ำหน้า" เมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ แฟนฟุตบอลคงได้เห็นเทคโนโลยี VAR หรือ Video Assistant Referee แน่นอนว่า ความแม่นยำในการตัดสินของกรรมการมีมากขึ้น ในการถ่ายทอดสด จอ VAR นั้น ได้ถูกส่งมาให้ผู้ชมทางบ้านได้เห็นพร้อม ๆ กัน เพื่อสร้างความโปร่งใสในวงการฟุตบอล 

แต่ถามว่า "แฟร์" 100% หรือไม่ ก็คงไม่ใช่ ยังมีบางจังหวะที่เป็นประเด็นหลังการตัดสินจาก VAR อยู่บ้าง

แต่พอมาถึงฟุตบอลโลก 2022 ฟีฟ่า ก็ได้มีเทคโนโลยี จับ "ล้ำหน้า" ชนิดใหม่ออกมา ในชื่อ Semi-Automated offside technology แปลเป็นไทยง่าย ๆ ก็คือ "เทคโนโลยีตรวจจับล้ำหน้าแบบกึ่งอัตโนมัติ" แฟนบอลหลายคนที่ได้ชม ฟุตบอลโลกในครั้งนี้ คงได้เห็นกันแล้ว จากภาพที่เป็นแอนิเมชัน และมีเส้นระบุตำแหน่งว่า จังหวะนั้นมีการล้ำหน้าหรือไม่

เทคโนโลยีระบบนี้ มีส่วนหลัก ๆ 2 ส่วน คือ มีการฝังชิปลงไปในลูกฟุตบอล และกล้องโมชั่นแคปเจอร์ ซึ่งกล้องชนิดนี้ใช้งานต่อหนึ่งเกมการแข่งขันนั้น จะถูกติดตั้งรอบสนามทั้งหมด 12 ตัว

เมื่อกล้องจับตัวนักฟุตบอลในสนาม คน ๆ นั้น จะถูกจับออกมาเป็น 3 มิติ ซึ่งจะเห็นตำแหน่งและพิกัดอย่างชัดเจน ว่ามีการล้ำหน้าเกิดขึ้นหรือไม่

ในการตัดสินจังหวะล้ำหน้า ลูกฟุตบอลที่เตะออกจากเท้านั้นก็มีส่วนสำคัญ จึงมีการฝังเซนเซอร์ในลูกฟุตบอล ข้อมูลที่ลูกฟุตบอลจับได้นั้น จะถูกส่งมายัง "Semi-Automated" ด้วย เพื่อใช้ประกอบในการตัดสินด้วย

แม้เทคโนโลยีมีก้าวล้ำแค่ไหน อย่างไรเสีย ในฟุตบอลโลกครั้งนี้ ปี 2022 ก็มิวาย ที่จะมีจังหวะปัญหาจากการตัดสินอยู่ดี โดยจังหวะเจ้าปัญหานี้ เกิดขึ้นในนัดสุดท้าย ของรอบแบ่งกลุ่ม กลุ่ม E  ที่ทีมชาติ ญี่ปุ่นเฉือนชนะ สเปน 2-1 ซึ่งในการทำประตูที่ 2 ของ ญี่ปุ่นนั้น มีการถกเถียงกันว่าลูกบอลออกหลังไปทั้งใบก่อนหรือไม่ แต่ที่สุดแล้ว จากการเช็ก VAR ไปหลายนาที ทีมผู้ตัดสินก็ยืนยันว่า ลูกฟุตบอลยังไม่ออกไปทั้งลูก  แม้ว่าจะมีการยืนยันจากเทคโนโลยีแล้ว แฟนบอลต่างประเทศ ก็ยังตั้งคำถามถึงช็อตดังกล่าวอยู่ 

แต่ท้ายที่สุดแล้ว ฟีฟ่า  ได้ออกมาอธิบายว่า จากภาพนั้น ลูกฟุตบอลยังมีบางส่วนที่อยู่บนเส้นจริง 

ในช่วงฟุตบอลโลก 2022 เริ่มแข่งขัน มาจนถึง ณ เวลาที่ผู้เขียน ได้เรียบเรียงอยู่ในขณะนี้ เทคโนโลยี "Semi-Automated" นั้นยังแสดงศักยภาพออกมาอยู่ในระดับที่น่าพอใจ 

และแน่นอนว่า เทคโนโลยีในการตัดสินเกมฟุตบอล จะมีการพัฒนาต่อไปอีกเรื่อย ๆ 

เพื่อความยุติธรรม และเที่ยงตรง และที่สำคัญ เพื่อลดความ "เสียหน้า" ของฟีฟ่าไปด้วยในตัว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

บอลโลกWORLD CUP 2022ฟุตบอลโลก
ผู้เขียน: Thai PBS Digital Media

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด