เป็นข่าวคราว กรณีมีการจ้างสอบเปรียญธรรม ซึ่งคำว่า “เปรียญธรรม” เป็นคำที่คุ้นเคยในหมู่พุทธศาสนิกชน มีรายละเอียด ตลอดจนขั้นตอนในการเรียนและการสอบที่น่าสนใจ Thai PBS นำเกร็ดน่ารู้ เรื่องเปรียญธรรม มาบอกกัน
ย้อนเวลาการศึกษาพระปริยัติธรรมของพระสงฆ์ไทย ที่นำมาสู่ “เปรียญธรรม”
การศึกษาของพระสงฆ์ไทย เกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่น ทรงพระปริวิตกถึงความเป็นไปของภิกษุสามเณร เนื่องจากการศึกษาภาษาบาลี หรือที่เรียกว่า การศึกษาพระปริยัติธรรม ล้วนเป็นภาษาบาลี ดังนั้น พระสงฆ์ที่ประสงค์จะรู้พระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา จำต้องศึกษาภาษาบาลีให้แตกฉาน ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ยากไม่น้อยสำหรับภิกษุสามเณรในสมัยนั้น
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จึงทรงพระดำริหาทางจัดการเล่าเรียนเพื่อให้ภิกษุสามเณรได้เรียนรู้พระธรรมวินัยได้สะดวกและกว้างขวางยิ่งขึ้น โดยทรงริเริ่มสอนพระธรรมวินัยแก่ภิกษุสามเณรบวชใหม่เป็นภาษาไทยขึ้นที่วัดบวรนิเวศวิหารเป็นครั้งแรก
เหตุการณ์ครั้งนั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาพระปริยัติธรรมแบบใหม่ ที่เรียกว่า “นักธรรม” หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า พระปริยัติธรรมแผนกธรรม ควบคู่ไปกับการเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ซึ่งเป็นหลักสูตรการศึกษาของพระสงฆ์ไทยมาแต่โบราณ
ในเวลาต่อมา มีการจัดสอบนักธรรมขึ้นเป็นครั้งแรก โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นประธานมหาเถรสมาคม จัดให้มีการสอบองค์สามเณรรู้ธรรมขึ้นครั้งแรก ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ราวเดือนตุลาคม พ.ศ.2454 ซึ่งนับจากวันนั้น การเรียนการสอนของพระสงฆ์ไทย ได้รับการสานต่อ และพัฒนาการมาจนถึงปัจจุบัน
รู้จักความหมาย “เปรียญธรรม”
เปรียญธรรม (ป.ธ.) หรือ ประโยค คือ ระดับชั้นการศึกษาพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ไทย ซึ่เปรียญธรรมมีทั้งหมด 9 ชั้น 8 ระดับ แบ่งเป็น
เปรียญตรี : มี 3 ชั้น คือ ประโยค 1-2, ป.ธ.3
เปรียญโท : มี 3 ชั้น คือ ป.ธ.4, ป.ธ.5, ป.ธ.6
เปรียญเอก : มี 3 ชั้น คือ ป.ธ.7, ป.ธ.8, ป.ธ.9
“เปรียญธรรม” เทียบเท่าการศึกษาสายสามัญ
การเรียนจบเปรียญธรรมแต่ละชั้น นำมาเทียบเท่ากับการศึกษาสายสามัญ โดยพระสงฆ์ที่จบการศึกษาบาลีระดับเปรียญธรรม 3 ประโยค หรือเปรียญธรรม 5 ประโยค หรือเปรียญธรรม 6 ประโยค สามารถเทียบได้กับวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ ม.6
ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. 2562 ระบุว่า ต้องจบเปรียญธรรม 3 ประโยค บวกวิชาสามัญเพิ่มเติม ถึงจะเทียบเป็นวุฒิการศึกษาระดับ ม.6 หรืออีกช่องทางหนึ่ง หากบวชตอนอายุ 16 ขึ้นไปแล้วสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค ถือว่าเทียบวุฒิการศึกษาม.6 ได้ แต่หากบวชตอนอายุยังไม่พ้นเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ คือระหว่างอายุ 7-15 ปี แต่สอบเปรียญธรรม 3 ประโยคได้ จะต้องเรียนวิชาสามัญเพิ่มเติม
กรณีจบเปรียญธรรม 5 ประโยค ผู้ที่สอบได้ชั้นนี้หากได้รับแต่งตั้งให้เป็นครูสอน 1 ปี และทำการสอนมาแล้วไม่ต่ำกว่า 300 ชั่วโมง สามารถนำมาขอใบเทียบวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมไปถึงผู้ที่เรียนจบระดับเปรียญธรรม 6 ประโยค สามารถนำมาเทียบเท่าการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้เช่นกัน
ส่วนกรณีจบเปรียญธรรม 9 ประโยค ตาม พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.2562 ระบุว่า ผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและแผนกบาลี สนามหลวง ชั้นเปรียญธรรม 9 ประโยค สามารถเทียบเท่ากับระดับปริญญาตรี
“เปรียญธรรม” เรียนแล้วนำไปทำอะไรได้บ้าง ?
สิ่งที่ได้รับจากการเรียนปริยัติธรรม คือ การเพิ่มพูนความรู้แก่พระสงฆ์ รวมทั้งยังสามารถนำความรู้มา “เทียบเท่า” วุฒิการศึกษาสามัญได้ นอกจากนี้ยังเป็นการบ่งบอกถึงคุณวุฒิทางการศึกษาของพระสงฆ์นั้น ๆ
และแม้ไม่ใช่เป็นข้อบังคับในทางเลื่อนสมณศักดิ์ แต่การมีเปรียญธรรม ยังถือเป็นจารีต ประเพณี ซึ่งรู้กันในทางคณะสงฆ์ ว่าใช้พิจารณาเลื่อนสมณศักดิ์ โดยหากพระสงฆ์เรียนจบเปรียญธรรม มักได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ
การสอบได้เปรียญสูง ยังเป็นที่เชิดหน้าชูตา ทั้งกับพ่อแม่ ครอบครัว ครูบาอาจารย์ และลูกศิษย์ลูกหา ในคราวเดียวกัน ในมุมของฆราวาส เวลานิมนต์พระสงฆ์ที่มีเปรียญธรรมสูง เพื่อไปประกอบกิจใด ๆ มักเป็นที่เชิดหน้าชูตาแก่เจ้าภาพด้วยเช่นกัน
ขึ้นชื่อว่า “ความรู้” ถือเป็นคุณ และเป็นสิ่งสร้างสรรค์ หากแต่การได้มาซึ่งความรู้ ควรเป็นเรื่องที่ถูกต้อง และเหมาะสม ความรู้ที่ได้มานั้น จะทรงคุณค่า และเป็นประโยชน์กับตัวตลอดไป...
อ้างอิง
อ่านข่าวเพิ่มเติม