หมู-พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ถือเป็นอีกตำนานเพลงเพื่อชีวิต ที่ผ่านประสบการณ์มากมาย และได้สร้างผลงานโดดเด่นตลอดหลายปีในวงการเพลง โดยน้าหมูได้มีโอกาสเล่าเรื่องราวเส้นทางชีวิตในรายการนักผจญเพลง REPLAY ตอนพิเศษ ที่ยกกองไปถ่ายทำถึงจังหวัดนครราชสีมา เพื่อพูดคุยกับ น้าหมู พงษ์เทพ ที่อยู่ในช่วงพักรักษาตัวจากปัญหาสุขภาพ
การพูดคุยในครั้งนี้ น้าหมู พงษ์เทพ ได้เล่าหลากหลายเรื่องราวในชีวิต ทั้งเรื่องจุดเริ่มต้นในฐานะศิลปิน เรื่องผลงานเพลงที่เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคนที่ไม่เข้าใจแนวคิดในการทำงาน รวมถึงมิตรภาพของน้าหมู พงษ์เทพ กับวงคาราบาวที่คอยสนับสนุนเขาตั้งแต่ก้าวแรกที่เป็นศิลปินจนถึงวันที่กลายเป็นตำนานวงการเพลงเพื่อชีวิต
ความมานะอดทนของชายที่ชื่อ “พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ”
น้าหมู พงษ์เทพ ได้เล่าให้ฟังว่า ในช่วงแรกนั้น เขาทำเพลงเอง ทั้งแต่งเนื้อร้อง ทำนอง และเล่นดนตรีเอง เพราะหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เขาได้เริ่มต้นอาชีพศิลปินแบบไม่มีเงิน เลยตัดสินใจทำทุกอย่างโดยพึ่งพาคนอื่นให้น้อยที่สุด ซึ่งในการทำเพลงขายช่วงแรก ก็ไม่มีใครซื้อ นอกจากศิลปินร่วมรุ่นอย่าง วิสา คัญทัพ จากวง Hope เพราะในยุคที่น้าหมู พงษ์เทพ ทำผลงานเพลงออกมา ไปตรงกับช่วงเพลงสตริงคอมโบเฟื่องฟู
ซึ่งเหตุการณ์ที่น้าหมู พงษ์เทพ จดจำได้เป็นอย่างดี คือในวันที่ขายอัลบั้ม ห้วยแถลง แล้วเขาเอาผลงานไปฝากขายที่ร้านเทป แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจ แถมทางร้านเทปยังขอให้เขามารับอัลบั้มคืนไป
เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่ฟังดูเจ็บปวด เพราะอีกมุมหนึ่งเขาพยายามอย่างเต็มที่ในการทำงาน ทั้งเอาแว่นเชื่อมเหล็กมาทำเป็นเครื่องแต่งกาย หรือการเอากล้องที่ใช้แล้วทิ้งมาถ่ายภาพทำปก หรือแม้แต่การบันทึกเสียง ก็ใช้ห้องอัดร่วมกับวงคาราบาวที่เป็นเพื่อนของเขา และเพลงในอัลบั้มก็มีสมาชิกคาราบาวมาช่วยบันทึกเสียง
โดยวงคาราบาวได้พยายามช่วยเหลือน้าหมู พงษ์เทพ ทุกทางในการทำงาน ทั้งเรื่องการทำอัลบั้มและมอบเวทีให้เขาได้แสดงสดระหว่างคอนเสิร์ตของคาราบาว แต่ในเวลานั้นกระแสตอบรับอัลบั้มห้วยแถลงก็ไม่ได้ดีขึ้น
วันที่ “หมู พงษ์เทพ” ประสบความสำเร็จ ผ่านการสนับสนุนของ คาราบาว
หลังเจอสถานการณ์ลำบากในช่วงแรก น้าหมู พงษ์เทพ ก็ได้ทำเพลงด้วยกันกับแอ๊ด และ เล็ก คาราบาว จนได้ผลงานเพลง “คนกับหมา” ที่มีกระแสตอบรับดี ก่อนที่ผลงานอัลบั้ม คนจนรุ่นใหม่ จะประสบความสำเร็จในที่สุด
ก่อนหน้านั้น อัลบั้ม ตรงเส้นขอบฟ้า และอัลบั้ม ยิ้มเหงา ๆ เป็นที่นิยมกับกลุ่มนักศึกษาและปัญญาชน ส่วนกลุ่มคนต่างจังหวัดยังไม่เข้าใจเพลงที่เขาทำออกมา แต่พอมาทำอัลบั้มชุด คนจนรุ่นใหม่ ที่มีเพลง “ตังเก” ที่สนุกสนานเพิ่มเข้ามาในอัลบั้ม ทำให้สุดท้ายงานชุด คนจนรุ่นใหม่ ประสบความสำเร็จในแง่ยอดขาย
ทว่าหลังจากที่อัลบั้ม คนจนรุ่นใหม่ ประสบความสำเร็จ น้าหมู พงษ์เทพ ตัดสินใจออกจากค่าย GMM Grammy เนื่องจากได้รับคำชวนจาก ยืนยง โอภากุล หรือ แอ๊ด คาราบาว ให้ไปทำอัลบั้มกับค่ายดี-เดย์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ ซึ่งน้าหมู พงษ์เทพ ก็ตัดสินไปทำงานกับเพื่อน เพราะอยากตอบแทนวงคาราบาวที่คอยดูแลเขาในช่วงที่ลำบาก
จ.ป.ล. (จีนปนลาว) อัลบั้มที่ภูมิใจของ หมู พงษ์เทพ ภายใต้การดูแลของสังกัดใหม่
หลังจากที่ ปล่อยอัลบั้มชุด คนจนรุ่นใหม่ ออกมา น้าหมู พงษ์เทพ ก็มีอัลบั้มชุด จ.ป.ล. (จีนปนลาว) กับทางค่าย ดี-เดย์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ ซึ่งเป็นสังกัดใหม่ของ แอ๊ด คาราบาว ในช่วงเวลานั้น โดยงานชุด จ.ป.ล. (จีนปนลาว) ที่มีเพลงดัง อย่าง เพลง จันทราคาลิปโซ่, เพลง โคราชา, เพลง คิดถึงบ้าน และเพลง จ.ป.ล. (จีนปนลาว)
แม้จะมียอดขายไม่มากเท่าผลงานชุด คนจนรุ่นใหม่ แต่อัลบั้ม จ.ป.ล. (จีนปนลาว) ก็เป็นงานที่โดดเด่นและเป็นความภาคภูมิใจของน้าหมู พงษ์เทพ เพราะเขาได้ทีมงานนักดนตรีคุณภาพมาช่วยสร้างสรรค์ผลงานในขั้นตอนการบันทึกเสียง และหลังจากนั้นหมู พงษ์เทพ ก็มีผลงานตามมาอีกหลายชุดจนได้รับการยกย่องให้กลายเป็นอีกตำนานของวงการเพลงเพื่อชีวิต
บทสรุป
นอกจากการทำงานหนักแล้ว จังหวะชีวิตและการมีเพื่อนที่ดีก็เป็นส่วนสำคัญที่สามารถเปลี่ยนชีวิตศิลปินได้ และสำหรับ น้าหมู พงษ์เทพ ที่นอกจากการทำงานหนักแล้ว เขายังมีเพื่อนอย่างคาราบาวที่คอยสนับสนุนการทำงาน จนเขาค่อย ๆ ประสบความสำเร็จมากขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่องานของเขาตรงกับกระแสแนวดนตรียุคนั้น เขาก็โด่งดังทันที ความสำเร็จของน้าหมู พงษ์เทพ เกิดจากหลายปัจจัยรวมกัน ไม่ใช่แค่การทำงานหนักและพรสวรรค์อย่างเดียว