ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เข้าใจให้ตรงกัน “ขี้หู” มีเคลือบรูหูบ้างดีกว่าให้เช็ดสะอาดอยู่เสมอ


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

20 ม.ค. 68

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

เข้าใจให้ตรงกัน “ขี้หู” มีเคลือบรูหูบ้างดีกว่าให้เช็ดสะอาดอยู่เสมอ

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2199

เข้าใจให้ตรงกัน “ขี้หู” มีเคลือบรูหูบ้างดีกว่าให้เช็ดสะอาดอยู่เสมอ
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

“หู” เป็นอวัยวะของสัตว์ที่ใช้การดักคลื่นเสียง เป็นส่วนหนึ่งของระบบประสาทการได้ยิน โดยส่วนรูหูส่วนนอกเท่านั้นที่มีต่อมสร้าง “ขี้หู” ทำให้เราพบขี้หูอยู่รอบ ๆ ปากทางเข้ารูหูนั่นเอง ซึ่งขี้หูแม้จะทำให้หูของเราดูไม่ค่อยสะอาด แต่ทำไม ? แพทย์จึงไม่อยากให้เราแคะขี้หูบ่อย ๆ เพราะอะไรกันนะ

“ขี้หู” มีประโยชน์อย่างไร ?

“ขี้หู” (ear wax) หรือที่เรียกอย่างเป็นวิชาการคือ cerumen นั้นสร้างจากต่อมสร้างขี้หู ซึ่งอยู่ในช่องหูชั้นนอก ขี้หูมีคุณสมบัติเป็นกรดอ่อนๆ  มีสารต่อต้านเชื้อโรคและไม่ละลายน้ำ มีหน้าที่ช่วยปกป้องผิวหนังของช่องหูชั้นนอก และป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอม เข้าไปในช่องหู โดยปกติแล้วขี้หูจะมีกลิ่นและลักษณะเฉพาะตัวบางคนอาจมีขี้หูเปียก บางคนมีขี้หูแห้ง บางคนมีขี้หูมาก บางคนมีขี้หูน้อย แต่โดยรวมแล้วเยื่อบุช่องหูจะสร้างขี้หูขึ้นมาและขี้หูก็จะถูกผลักโดยเยื่อบุในช่องหู ให้ออกมาด้านนอกเอง

โดยไม่เคลื่อนตัวเข้าไปในส่วนลึก ๆ ของรูหู จึงไม่จำเป็นที่คนจะต้องแคะหูหรือใช้ไม้พันสำลีเช็ดหู เพราะบ่อยครั้งอาจจะดันให้ขี้หูเข้าไปสะสมในรูหูส่วนใน หรือทำให้รูหูถลอก อักเสบ-ติดเชื้อได้ หนังหุ้มรูหูส่วนในนั้นเปราะบางมาก เวลาแหย่หูลึก ๆ ถ้ากระแทกโดนจะเจ็บมาก

“ขี้หู” กับเรื่องที่หลายคนอาจเข้าใจไม่ถูกต้อง

หลายคนอาจเข้าใจผิดว่า ควรต้องเช็ด “รูหู” ให้สะอาดเสมอ หรือเช็ดหูด้วยไม้พันสำลีหลังอาบน้ำทุกครั้ง แต่จริง ๆ แล้ว มีขี้หูเคลือบรูหูบ้างจะดีกว่า เพราะว่ายิ่งเช็ดหรือแคะหูมาก รูหูจะยิ่งแห้งและคันหูได้มากกว่า หลังอาบน้ำหรือสระผม ถ้าน้ำเปียกหู อาจใช้ไม้พันสำลีชนิดเนื้อแน่น ขนาดเล็ก ซับน้ำที่ปากรูหูนิดหน่อยก็พอ

ถ้าน้ำเข้าหูเป็นชั่วโมงแล้วยังไม่ออกมา หรือหูยังอื้ออยู่ ส่วนใหญ่เป็นเพราะมีขี้หูในส่วนลึกของรูหูซึ่งอมน้ำไว้ กรณีเช่นนี้ควรให้แพทย์ หู-คอ-จมูก ตรวจทำความสะอาดหู แพทย์อาจล้างหูด้วยการฉีดน้ำ หรือใช้เครื่องดูดขี้หู แล้วแต่ความเหมาะสม

ผู้ที่มีปัญหาขี้หูมาก หรือขี้หูแห้ง - คันหูมาก หลังจากให้แพทย์ทำความสะอาดหูแล้วอาจใช้น้ำมันพวก GLYCERINE, BABY OIL หยอดหูอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง จะช่วยชะล้างรูหูให้สะอาดขึ้นได้ วิธีนี้ใช้ได้ดีกับเด็กเล็ก ๆ เพราะรูหูเล็ก เช็ดก็ยาก แคะก็ยาก

ถ้า “คันหู” บ่อย ๆ สิ่งที่ควรกระทำ คือ

1. งดแคะหู หรือ ใช้ไม้พันสำลีปั่นหู
2. ให้แพทย์ทำความสะอาดหู แล้วใช้น้ำมันหยอดหูเป็นประจำ
3. ถ้าเป็นโรคผิวหนังที่รูหู เช่น Seborrheic dermatitis แพทย์จะให้ป้ายยา - หยอดยาที่มี Cortisone ผสมอยู่

ถ้าเจ็บหู - รูหูอักเสบบ่อย ควรปฏิบัติเพิ่มเติมจากปัญหา “คันหู” คือ

1. อย่าใช้นิ้วแหย่หูเด็ดขาด เพราะขอบเล็บที่ปลายนิ้วจะทำให้รูหูถลอก ติดเชื้อ และอักเสบได้ง่าย
2. ให้แพทย์ตรวจ ทำความสะอาดหูปีละ 2 - 3 ครั้ง ไม่ให้ขี้หูค้างในรูหู
3. หลังว่ายน้ำทุกครั้ง ควรหยอดหูด้วย น้ำส้มสายชู (2% Acetic acid) หรือ น้ำส้มสายชูผสมแอลกอฮอล์ แต่ถ้ามีอาการหูอื้อหลายวันยังไม่หาย อาจจะไม่ใช่เป็นเพราะมีขี้หูก็ได้ เช่น น้ำขังในหูส่วนกลาง หรือโรคของหูส่วนใน ที่ต้องให้แพทย์ตรวจรักษาอย่างทันท่วงที


อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), โรงพยาบาลพระราม 9

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ขี้หูรูหูหูแคะขี้หูต่อมสร้างขี้หูear waxcerumenวิทยาศาสตร์วิทยาศาสตร์น่ารู้Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Science
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เซบา บาสตี้ : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphob.thawisoonsong@gmail.com หรือ 0854129703)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด