นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (University of California, Berkeley) ได้พัฒนา "ผงดักจับคาร์บอน" ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ
ผงดักจับคาร์บอนมีคุณสมบัติในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศในปริมาณที่เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 1 ต้น โดยผงดักจับคาร์บอนเพียง 7 ออนซ์ (ประมาณ 200 กรัม) สามารถดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงถึง 20 กิโลกรัมต่อปี (44 ปอนด์) ซึ่งเท่ากับปริมาณที่ต้นไม้ใหญ่หนึ่งต้นสามารถดูดซับได้ งานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications เมื่อเดือนตุลาคม 2024
ผงดักจับคาร์บอนสร้างจากวัสดุที่เรียกว่า COF-999 (Covalent Organic Framework-999) ซึ่งมีโครงสร้างแบบตาข่ายที่สามารถดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ถึง 100 ครั้งโดยไม่สูญเสียความจุหรือคุณสมบัติ ซึ่งแตกต่างจากการปลูกต้นไม้ที่ต้องใช้เวลาหลายปี
นักวิจัยอธิบายว่าผงสีเหลืองนี้ทำงานได้โดย ไม่ต้องอาศัยตัวช่วยอื่น เพราะโครงสร้างของ COF-999 จะทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ถูกกักเก็บไว้ จากนั้นเมื่อนำผงไปใช้ในความร้อนที่อุณหภูมิ 140 องศาฟาเรนไฮต์ (60 องศาเซลเซียส) คาร์บอนจะถูกปลดปล่อยออกมา ซึ่งกระบวนการนี้ทำให้ CO2 ที่ดักจับได้สามารถนำไปเก็บในชั้นหินใต้ดินได้ถาวร หรือใช้ในอุตสาหกรรมผลิตวัสดุต่าง ๆ เช่น คอนกรีตและพลาสติก
อีกหนึ่งความโดดเด่นของผงดักจับคาร์บอน คือการใช้งานที่ยืดหยุ่นและง่ายต่อการนำไปใช้ในพื้นที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเขตอุตสาหกรรมหรือพื้นที่เมืองใหญ่ โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรหรือการบำรุงรักษามากเท่ากับการปลูกต้นไม้ หรือการติดตั้งระบบดักจับคาร์บอนขนาดใหญ่
เทคโนโลยีนี้ได้รับความสนใจอย่างมากในวงการวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่สามารถช่วยลดภาวะโลกร้อนได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ให้เหมาะสมกับการปลูกต้นไม้ อีกทั้งยังสามารถผลิตผงได้ในปริมาณมากตามความต้องการของอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท
การพัฒนา "ผงดักจับคาร์บอน" ของทีมวิจัยนับเป็นก้าวสำคัญในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งผงนี้สามารถดักจับคาร์บอนในปริมาณเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้โดยไม่ต้องใช้พื้นที่ปลูกหรือต้นทุนด้านพลังงาน ทำให้เป็นเทคโนโลยีนี้เป็นที่น่าจับตามองในฐานะทางเลือกที่ยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
เรียบเรียงโดย ขนิษฐา จันทร์ทร
ที่มาข้อมูล: berkeley, fastcompany, kqed, newatlas
ที่มาภาพ: berkeley
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech