ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

บิดเบือน ! สาวลูกครึ่งเมียนมาพูดไทยไม่ชัด ลงทะเบียนผ่านรับเงิน 10,000 บาท


Verify

24 ต.ค. 67

ณัฐพล ทุมมา

Logo Thai PBS
แชร์

บิดเบือน ! สาวลูกครึ่งเมียนมาพูดไทยไม่ชัด ลงทะเบียนผ่านรับเงิน 10,000 บาท

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1775

บิดเบือน ! สาวลูกครึ่งเมียนมาพูดไทยไม่ชัด ลงทะเบียนผ่านรับเงิน 10,000 บาท
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

Thai PBS Verify พบคลิปกล่าวอ้างว่า หญิงสาวชาวเมียนมา สามารถได้รับสิทธิเงินดิจิทัล 10,000 บาท ถูกโพสต์ลงในติ๊กตอก โดยคลิปดังกล่าวระบุข้อความว่า เงินจากภาษีของคนไทย แต่พม่าได้สิทธิ??? ไม่ต้องกลัวนะครับคนไทยที่ไม่ได้รับสิทธิสิทธิของท่านพม่าได้รับไว้ให้แล้ว ส่วนคนไทยต้องมานั่งใช้หนี้ให้พม่า โดยคลิปดังกล่าวพบว่า ถูกโพสต์จากผู้ใช้บัญชีชื่อ za_66690 ซึ่งหลังจากที่โพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ ได้มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่สอบถามถึงการได้มาซึ่งบัตรประชาชนของหญิงสาวรายนี้ ซึ่งคลิปดังกล่าวมียอดดูไปแล้วกว่า 391,000 คน ยอดแชร์ถึง 3,461 ครั้ง

ภาพบันทึกหน้าจอของโพสต์ที่มีการบิดเบือนข้อเท็จจริง

สำหรับเนื้อหาภายในคลิปดังกล่าว เป็นภาพขณะชายที่ถ่ายคลิปเป็นผู้สอบถามหญิงสาวว่า ได้ข่าวว่าได้บัตรประชาชนแล้วนำไปลงทะเบียนเงินดิจิทัล 10,000 บาท ก่อนจะสอบถามต่อว่าลงทะเบียนอยู่ในขั้นตอนใด ซึ่งหญิงสาวรายดังกล่าวได้ระบุว่า ผ่านขั้นตอนตรวจสอบขั้นที่ 3 ก่อนเปิดแอปพลิเคชันทางรัฐยืนยันการลงทะเบียนให้ผู้ถ่ายคลิปดู ซึ่งผู้ถ่ายคลิปได้สอบถามต่อว่า เมื่อได้เงินแล้วจะนำไปทำอะไร โดยหญิงสาวรายดังกล่าวระบุว่า จะนำไปเที่ยววัดและทะเล จนทำให้ผู้ที่รับชมเกิดความเข้าใจผิด หรือรู้สึกสงสัยต่อกรณีที่หญิงสาวในคลิปสามารถมีบัตรประชาชนทั้ง ๆ ที่พูดภาษาไทยได้ไม่ชัด

ภาพบันทึกหน้าจอผู้ที่รับชมเกิดความเข้าใจผิด หรือรู้สึกสงสัยต่อกรณีที่หญิงสาวในคลิปสามารถมีบัตรประชาชนได้แม้พูดภาษาไทยไม่ชัด

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบด้วยภาพพบว่า ผู้ใช้บัญชีชื่อ za_66690 มีการนำคลิปมาใส่ข้อความเพิ่มเติม โดยพบว่า เป็นการนำคลิปของผู้ใช้บัญชีติ๊กตอกชื่อ user7268636340427 มาใส่ข้อความเพิ่มเติม 

เปรียบเทียบภาพบันทึกหน้าจอของโพสต์ที่มีการบิดเบือนข้อเท็จจริง (ซ้าย) และวิดีโอที่ปรากฎในช่องติ๊กตอกของ user7268636340427 (ขวา)

อย่างไรก็ตาม คลิปของหญิงสาวคนเดียวกัน ยังถูกพบว่ามีการนำไปโพสต์ด้วยบัญชีติ๊กตอกของผู้ใช้รายอื่น ซึ่งใช้ชื่อบัญชี kaimook_99  โดยภายในคลิประบุข้อความว่า ที่นี่คือที่ไหน ? สาวพม่า พูดไทยไม่ชัด แต่ทำบัตรประชาชนได้ เดินเรื่อง 3 เดือน ซึ่งเนื้อหาภายในคลิปได้มีผู้ถามหญิงสาวรายดังกล่าว ว่ามีบัตรประชาชนไทยได้อย่างไร ซึ่งหญิงสาวรายดังกล่าวได้ตอบว่ามีบัตรประชาชนไทย โดยเดินเรื่องระยะเวลา 3 เดือน นอกจากนี้ชายในคลิปยังมีการสอบถามว่า พูดไทยไม่ชัดสามารถมีบัตรประชาชนได้ด้วยหรือไม่ ซึ่งหญิงสาวรายดังกล่าวตอบว่าสามารถทำได้ พร้อมระบุว่า เธอมีอายุ 21 ปี ชื่อ นางสาว บุษบา (สงวนนามสกุล) ซึ่งคลิปดังกล่าวทำให้ผู้ที่รับชมเกิดความเข้าใจผิด หรือรู้สึกสงสัยต่อกรณีที่หญิงสาวในคลิปสามารถมีบัตรประชาชนทั้ง ๆ ที่พูดภาษาไทยได้ไม่ชัดด้วยเช่นเดียวกัน โดยมียอดรับชมไปถึง 18,000 ครั้ง

ภาพบันทึกหน้าจอของโพสต์ที่มีการบิดเบือนข้อเท็จจริง

ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบไปยังต้นทางของคลิปพบว่า ผู้ใช้บัญชีติ๊กตอกชื่อ user7268636340427 มีการถ่ายคลิปของหญิงสาวรายดังกล่าวในช่องติ๊กตอกของตนเอง โดยหนึ่งในคลิปเป็นภาพที่เธอกำลังนั่งดูรูปภาพเมื่อครั้งเจอพ่อของเธอ ซึ่งเธอระบุว่า ก่อนหน้านี้เธออยู่กับมารดาในประเทศเมียนมาราว 20 ปี ก่อนที่จะมาตามหาพ่อในประเทศไทย 2 ปี และได้พบกันในที่สุด โดยหลังจากที่ได้พบกัน ผู้เป็นพ่อได้พาไปทำบัตรประชาชน รวมถึงพาสมัครเข้าเรียนในประเทศไทย และยังพบการตอบข้อความของผู้โพสต์คลิปกับผู้รับชมรายอื่น ๆ ที่ยืนยันว่า ผู้โพสต์เป็นญาติของหญิงสาวรายนี้ และบิดาของหญิงสาวรายนี้เป็นคนไทย ทำให้ได้บัตรประชาชนมาอย่างถูกต้อง

ภาพบันทึกหน้าจอของผู้โพสต์คลิปต้นฉบับ ระบุว่า บิดาของหญิงสาวรายนี้เป็นคนไทย
ภาพบันทึกหน้าจอของผู้โพสต์คลิปต้นฉบับ ระบุว่า บิดาของหญิงสาวรายนี้เป็นคนไทย

ด้าน นาย สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายสัญชาติ เปิดเผยว่า การมีสัญชาติไทยโดยการเกิดมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ รูปแบบของการได้สัญชาติไทยโดยสายเลือด คือพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเป็นคนไทย รูปแบบที่ 2 คือ รูปแบบของการเกิดในดินแดนไทย ซึ่งรูปแบบของการเกิดในดินแดนนั้น จะมีข้อยกเว้นว่า ถ้าเป็นคนที่ยังไม่มีสัญชาติไทย และเกิดในดินแดนไทย รัฐก็จะยังไม่ให้สัญชาติ จะให้เฉพาะบางกลุ่ม ซึ่งทั้งสองหลักไม่มีข้อใดที่ระบุถึงภาษาพูด แต่เป็นเรื่องของข้อเท็จจริงว่า ผู้ที่ขอสัญชาติเกี่ยวข้องกับประเทศไทยอย่างไรบ้าง เช่น อยู่ในประเทศไทย เกิดในประเทศไทย หรือมีพ่อหรือแม่เป็นคนไทย

ดังนั้นจึงมีคนจำนวนมากที่มีสัญชาติไทย แต่อาจจะพูดไทยได้น้อย หรือไม่ได้เลย ซึ่งพบว่ามีคนไทยจำนวนหนึ่ง ซึ่งพ่อหรือแม่เป็นคนต่างชาติ และไปเติบโตในต่างประเทศ แต่ได้สัญชาติไทยตามหลักที่พ่อหรือแม่เป็นคนไทย ดังนั้นเมื่อคนเหล่านี้เติบโตในอีกสังคมหนึ่งที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทย ก็ยังถือว่าคนเหล่านี้เป็นคนไทย ซึ่งการชี้วัดว่าคนเหล่านี้เป็นคนไทยหรือไม่นั้น จะใช้หลักเกณฑ์ของสายเลือดและดินแดนเป็นหลัก ไม่ได้มีการวัดที่ภาษา เพราะขณะเดียวกันหากมีคนสัญชาติอื่น ที่พูดภาษาไทยได้ชัดมาขอสัญชาติไทย คนเหล่านั้นก็ไม่สามารถที่จะได้สัญชาติได้เช่นเดียวกัน เพราะต้องเข้าหลักเกณฑ์ข้างต้นที่กล่าวมาเพียงเท่านั้น

การได้สัญชาติไทยในปัจจุบัน 


การได้สัญชาติไทย ตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 23 ได้สัญชาติไทยโดยการเกิด มีหลักเกณฑ์ ได้แก่ (ลิงก์บันทึก)

1. เป็นบุคคลประเภท

1) บุคคลซึ่งเกิดในไทยก่อน 14 ธันวาคม 2515  บิดามารดาเป็นคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในไทยเป็นการชั่วคราว หรือได้รับผ่อนผันให้อยู่ได้เป็นกรณีพิเศษ หรือเข้ามาอยู่ในไทยโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นผู้ที่เคยมีสัญชาติไทย โดยการเกิดตามหลักดินแดนมาก่อน แต่ถูกถอนสัญชาติไทยหรือไม่ไม่สัญชาติโดยผลของ ปว.337

2) บุคคลซึ่งเกิดในไทย (14 ธันวาคม 2515 - 25 กุมภาพันธ์ 2535) มีพ่อและแม่เป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในไทยเป็นการชั่วคราวหรือได้รับการผ่อนผันให้อยู่ได้เป็นกรณีพิเศษ หรือเข้ามาอยู่ในไทยโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

3) บุตรของบุคคล บุคคลตามข้อ 1 หรือข้อ 2 ซึ่งเกิดในไทยก่อน 28 กุมภาพันธ์ 2551

2. เกิดในประเทศไทย มีหลักฐานการเกิด โดยมีชื่อในทะเบียนราษฎร

3. มีความประพฤติดี หรือทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมหรือประเทศไทย


หลักฐานที่ต้องใช้ประกอบการยื่นคำขอ ตาม พ.ร.บ. สัญชาติ มาตรา 23

     (1) สูติบัตร หรือหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.20/1) หรือหนังสือรับรองสถานที่เกิดของผู้ขอลงรายการสัญชาติไทย

     (2) ทะเบียนบ้าน (ท.ร.14 หรือ ท.ร.13) หรือทะเบียนประวัติ (ท.ร.38 ท.ร.38/1 ท.ร.38 ก ท.ร.38 ข)

          หรือหลักฐานเพิ่มตามทะเบียนราษฎร์กำหนด

     (3) หลักฐานแสดงว่าบิดาหรือมารดาเป็นผู้เกิดในประเทศไทย

          (กรณีผู้ยื่นคำขอเกิดระหว่าง 26 ก.พ. 2535 – 27 ก.พ. 2551)

     (4) รูปถ่ายขนาด 2 นิ้ว จำนวน 1 รูป

     (5) บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (ถ้ามี)

     (6) ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว (ถ้ามี)

     (7) เอกสารที่หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ออกให้เพื่อรับรองความประพฤติหรือการทำคุณประโยชน์ให้กับสังคม (ถ้ามี)

     (8) หลักฐานเอกสารที่แสดงว่าผู้ขอมีความประพฤติดีหรือทำคุณประโยชน์ให้กับสังคม (ถ้ามี)

     (9) พยานบุคคลที่น่าเชื่อถือซึ่งสามารถให้การรับรองและยืนยันตัวบุคคลได้

สำหรับความคืบหน้าเงินดิจิทัล 10,000 บาท เฟสแรก “โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2567” ปัจจุบันกรมบัญชีกลาง โอนเงินให้กับกลุ่มเปราะบางไปแล้ว 14.55 ล้านคน ตั้งแต่วันที่ 25-30 ก.ย. 67 ที่ผ่านมา โอนเงินสำเร็จ จำนวน 14.05 ล้านราย (ลิงก์บันทึก)

ขณะที่รอบเก็บตกสำหรับ "กลุ่มเปราะบาง" ที่ยังไม่ได้รับเงิน โอนเงินไม่สำเร็จ โดยมีสาเหตุเนื่องจาก กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และ กลุ่มคนพิการ บัญชีเงินฝากธนาคารถูกปิด, เลขบัญชีเงินฝากธนาคารไม่ถูกต้อง, ไม่ได้ผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชน, บัญชีไม่มีการเคลื่อนไหว, บัญชีเงินฝากธนาคารถูกปิด โดยบุคคลในกลุ่มดังกล่าวให้รีบแก้ไข เพื่อรอรับเงินรอบเก็บตก

ซึ่งการแจกเงิน 10,000 บาท รอบเก็บตก ครั้งที่ 2 ต้องทำบัตรหรือต่ออายุบัตรประจำตัวคนพิการภายในวันที่ 12 พ.ย. 67 ผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชน/แก้ไขบัญชีภายในวันที่ 18 พ.ย. 67 และกรมบัญชีกลาง จะจ่ายเงินวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567

ส่วนการแจกเงิน 10,000 บาท รอบเก็บตก ครั้งที่ 3 ต้องทำบัตรหรือต่ออายุบัตรประจำตัวคนพิการภายในวันที่ 3 ธ.ค. 67 ผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชน/แก้ไขบัญชีภายในวันที่ 16 ธ.ค. 67 และกรมบัญชีกลาง จะจ่ายเงินวันที่ 19 ธันวาคม 2567

ส่วนการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เฟส 2 นั้น นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง คาดว่า โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เฟส 2 จะเปิดให้ลงทะเบียนภายในปี 2568 ส่วนจะทันไตรมาสแรกของปี 2568 หรือไม่นั้น ยังต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

หลอกลวงคลิปตัดต่อโดนหลอกเงินดิจิทัลเมียนมาข้อมูลเท็จ
ณัฐพล ทุมมา
ผู้เขียน: ณัฐพล ทุมมา

จากทหารถือปืน เปลี่ยนมาเป็นนักข่าวถือไมค์ สู่การเป็นนักเขียนถือปากกา

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด