เคยสงสัยกันบ้างไหมว่า ทำไม ? “นกแก้ว” จึงเป็นสัตว์ฉลาด และเนื่องจากวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี เป็น “วันนกแก้วโลก” เพื่อเน้นย้ำถึงภัยคุกคามต่อนกแก้วป่าและนกแก้วที่เลี้ยงไว้ทั่วโลก นอกจากนี้ยังเป็นวันที่เราจะได้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับนกที่ฉลาดและงดงามตัวนี้ ดังนั้นไทยพีบีเอสจึงขอพาไปหาคำตอบกัน
เหตุผลที่ “นกแก้ว” เป็นสัตว์ฉลาด
เนื่องจาก “นกแก้ว” มีเซลล์ประสาทอยู่ที่สมองส่วนหน้า (Forebrain) มากเป็นพิเศษ จึงสามารถใช้สมองในการรับรู้และวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะนกแก้วแอฟริกันเกรย์ ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นนกแก้วฉลาดที่สุด หลายคนเชื่อว่านกแก้วพูดได้ ซึ่งสิ่งที่เราคิดว่าพูดได้นั้น เป็นเพียงอีกพฤติกรรมหนึ่งในการลอกเลียนแบบเสียงมนุษย์ แต่นั่นก็เป็นอีกเครื่องยืนยันได้ถึงความฉลาดในการลอกเลียนแบบได้ของนกแก้ว
อีกหนึ่งประการสำคัญก็คือ “สมองนกแก้ว” มีเซลล์ประสาทต่อตารางนิ้วมากกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammal) อีกหลายชนิด นำมาสู่เหตุผลที่ว่าทำไมนกแก้วสามารถแสดงระดับสติปัญญาที่เทียบเท่าหรือสูงกว่าสัตว์อื่น ๆ นั่นเอง
นอกจากนี้วารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences ได้ทำการศึกษาแล้วค้นพบว่า สมองนกเต็มไปด้วยเซลล์ประสาทที่อยู่กันอย่างหนาแน่นกว่าสัตว์ชนิดอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้จึงอาจเป็นเหตุผลให้นกมีรูปแบบทางสังคมและการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนไม่แพ้กลุ่มลิง (Primate)
รายการ A Life on the Road ถนน คน ชีวิต ตอน เรื่องเล่าการเดินทาง : นกแก้วสายรุ้งลอรีคีต
อยากให้นกแก้วที่เลี้ยง “ฉลาด” ควรทำอย่างไร ?
ปัจจุบันบ้านเรานิยมเลี้ยงนกแก้วอยู่ไม่น้อย แน่นอนว่าสัตว์ชนิดนี้มีความฉลาดอยู่ในตัว ยิ่งหากได้เทคนิคจากไทยพีบีเอสไปช่วยฝึก ยิ่งจะช่วยให้นกแก้วของคุณแสนรู้มากขึ้น ว่าแล้วก็ตามมาดูเคล็ด (ไม่) ลับกันได้เลย
- สำหรับการฝึกนกแก้วควรทำตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อให้นกแก้วรู้สึกว่าเราเป็นพ่อเป็นแม่ ซึ่งจะช่วยสร้างความคุ้นเคยระหว่างกัน ยอมเรียนรู้กับเราได้ง่ายขึ้น
- การฝึกควรเริ่มฝึกจากในบ้าน เช่น เรียกออกจากกรง เรียกชื่อนกให้เจ้าตัวรู้จักชื่อตัวเอง ไปจนถึงเรียกให้เดินมาหา
- การสอนพูดต้องฝึกให้พูดเป็นคำ ๆ ไม่สอนเป็นประโยค จากนั้นพูดให้ฟังทุกวัน เพื่อให้เกิดการจดจำ
- มอบรางวัลเมื่อนกแก้วทำได้ ยิ่งจะช่วยให้เกิดการกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้
- หากต้องทำโทษนกแก้วเพื่อฝึกนิสัย อาจเลือกวิธีดีด เช่น ที่ปาก เมื่อนกแก้วจิกกัด จากนั้นเจ้าตัวจะจำได้ว่าทำแบบนี้ไม่ได้
- เลือกเวลาที่ฝึก ควรดูกิริยาท่าทางของนกแก้วด้วยว่าอารมณ์ดี มีความพร้อมที่จะเรียนรู้ด้วยหรือเปล่า
- สำหรับการฝึกบิน ให้นกแก้วลงบินลงเตี้ย ๆ เช่น จากโซฟาหรือหลังตู้ พอเชื่องแล้วค่อยพาไปฝึกบินด้านนอก
“นกแก้ว” เป็นสัตว์ที่ฉลาดและน่าทึ่ง มักทำให้เราประหลาดใจไม่ว่าจะเป็นความสามารถหรือบุคลิกอยู่เสมอ ถ้าได้รู้จัก..แล้วคุณจะหลงรัก “นกแก้ว” แน่นอน
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : treehugger.com, scientificamerican.com