ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

Thai PBS On This Day | สิงหาคม 2567


วันสำคัญ

1 ส.ค. 67

วิรินทร์ พรหมสาขา ณ สกลนคร | จูล~Joule

Logo Thai PBS
แชร์

Thai PBS On This Day | สิงหาคม 2567

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1458

Thai PBS On This Day | สิงหาคม 2567
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เพราะทุกเรื่องราวมีความหมาย เราจึงรวบรวมทุกวันสำคัญ วันนี้ในอดีต เทศกาลและเหตุการณ์ที่น่าจดจำทั่วทุกมุมโลกมาให้คุณได้รู้ ผ่านการเล่าอดีต บันทึกปัจจุบัน รอบรู้ทุกวัน กับ Thai PBS On This Day ประจำเดือนสิงหาคม 2567

 

1 สิงหาคม : วันสตรีไทย

ในปี 2546 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานให้วันที่ 1 สิงหาคม ของทุกเป็น “วันสตรีไทย” เพื่อให้ผู้หญิงไทยมีโอกาสได้แสดงความรู้ความสามารถในการพัฒนาประเทศ ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันสังคม เทียบเท่าสตรีสากลของหลายประเทศ

ทั้งยังเป็นการเทิดพระเกียรติเนื่องในวันมหามงคล 12 สิงหาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะ บำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีอาชีพ เช่น มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ยากไร้ในชนบท โดยการส่งเสริมอาชีพให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น

“วันสตรีไทย” ถือเป็นวันสำคัญที่บ่งบอกถึงบทบาทที่เปลี่ยนไปของสตรียุคใหม่ ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในหลากหลายด้าน เป็นที่ยอมรับ เป็นส่วนหนึ่งในการบริหารประเทศชาติในบทบาทต่าง ๆ ทั้งยังเป็นแม่ที่ดีของลูก เป็นภรรยาที่ดีของสามี เป็นแม่ศรีเรือนที่ดีของบ้าน พร้อมทั้งก้าวทันเทคโนโลยีในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

1 สิงหาคม : วันมะเร็งปอดโลก (World Lung Cancer Day)

ในปี 2555 ได้มีการกำหนดให้วันที่ 1 สิงหาคม ของทุกปีเป็น “วันมะเร็งปอดโลก (World Lung Cancer Day)” เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาของโรคมะเร็งปอด และรณรงค์ให้ผู้คนดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันมะเร็งปอด รวมถึงเป็นการสร้างโอกาสในการระดมทุนการวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็งปอดด้วย

“โรคมะเร็งปอด (Lung Cancer)” เป็นมะเร็งที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงและเป็นปัญหาสุขภาพระดับโลก พบได้บ่อยในผู้ชายเป็นอันดับ 1 และเป็นอันดับ 3 ในผู้หญิง การตรวจพบมะเร็งปอดตั้งแต่ระยะเริ่มต้น จะช่วยเพิ่มโอกาสทางการรักษาให้มากขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด “โรคมะเร็งปอด (Lung Cancer)” คือ การสูบบุหรี่ ได้รับสารพิษ โรคปอด หรือปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งทำให้เซลล์เยื่อบุหลอดลมปอดได้รับการระคายเคืองเป็นเวลานาน ผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ หรือบางรายอาจมีอาการอื่น ๆ เช่น เบื่ออาหาร เสียงแหบ ปวดกระดูก กลืนลำบาก อัมพาต

ทั้งนี้ ควรดูแลรักษาสุขภาพให้ห่างไกล “โรคมะเร็งปอด (Lung Cancer)” โดยการงดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสองและมลพิษทางอากาศ ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ ออกกำลังกายเป็นประจำ รวมถึงรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

1 สิงหาคม 2317 : “โจเซฟ พริสต์ลีย์” ค้นพบ “ออกซิเจน”

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2317 “โจเซฟ พริสต์ลีย์ (Joseph Priestley)” นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ค้นพบธาตุ “ออกซิเจน (Oxygen : O2)” ในอากาศ ขณะที่เขากำลังทำการทดลองเกี่ยวกับก๊าซต่าง ๆ เขาได้นำออกไซด์สีแดงของปรอทมาเผาให้สลายตัว แล้วเก็บก๊าซที่เกิดขึ้นเอาไว้ จนพบว่าเมื่อนำสิ่งต่าง ๆ ที่ติดไฟได้มาใส่ในภาชนะที่มีก๊าซนี้อยู่ จะทำให้ติดไฟได้ดียิ่งขึ้น เขาจึงเชื่อว่าก๊าซชนิดนี้ จะต้องมีอยู่ในอากาศและจำเป็นในการหายใจของสิ่งมีชีวิตด้วย

ทั้งนี้ “ออกซิเจน (Oxygen : O2)” เป็นธาตุที่ถูกค้นพบครั้งแรกในศตวรรษที่ 16 โดย “ไมเคิล เซนดิโวเกียส (Michael Sendivogius)” นักเคมีและนักปรัชญาชาวโปแลนด์ เขาจำกัดความว่า ก๊าซที่เขาค้นพบเป็น “สารหล่อเลี้ยงชีวิต (The Elixir Of Life)” จากนั้นในปี 2316 ธาตุชนิดนี้ก็ถูกค้นพบอีกครั้งโดย “คาร์ล เชเลอ (Carl Wilhelm Scheele)” เภสัชกรชาวสวีเดน และการค้นพบครั้งที่ 3 โดย “โจเซฟ พริสต์ลีย์ (Joseph Priestley)” ในปี 2317 ที่ช่วยตอกย้ำการค้นพบทั้งสองครั้งก่อนหน้า

สำหรับชื่อธาตุ “ออกซิเจน (Oxygen : O2)” มาจาก “อองตวน ลาวัวซีเอ (Antoine Lavoisier)” เป็นผู้ตั้งชื่อโดยใช้รากศัพท์จากภาษากรีกที่มีความหมายว่า “ผู้สร้างกรด (Acid-Former)” ด้วยความเข้าใจว่า กรดจะต้องมีออกซิเจนรวมอยู่ด้วยเสมอ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด แต่ก็ยังคงใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน

2 สิงหาคม 2413 : “ทาวเวอร์ ซับเวย์” รถไฟใต้ดินสายแรกของโลก เปิดให้บริการ

“ทาวเวอร์ ซับเวย์ (Tower Subway)” รถไฟใต้ดิน (Underground Tube Railway) สายแรกของโลก เปิดให้บริการครั้งแรกที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2413 มีลักษณะเป็นอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเทมส์ (Thames) ประกอบด้วยสองสถานีคือ “ทาวเวอร์ ฮิลล์ (Tower Hill)” และ “ไวน์ เลน (Vine Lane)” โดยตั้งชื่อรถไฟใต้ดิน “ทาวเวอร์ ซับเวย์ (Tower Subway)” ให้สอดคล้องกับ “หอคอยแห่งลอนดอน (Tower of London)”

ตัวอุโมงค์ออกแบบและก่อสร้างโดย “เจมส์ เกรทีด (James Henry Greathead)” เปลือกอุโมงค์ออกแบบโดย “ปีเตอร์ บาร์โลว์ (Peter William Barlow)” และลูกชายของเขา “ปีเตอร์ บาร์โลว์ จูเนียร์ (Peter W. Barlow Jr.)” เป็นวิศวกรผู้ควบคุมงานก่อสร้าง

“ทาวเวอร์ ซับเวย์ (Tower Subway)” เริ่มการก่อสร้างในเดือนกุมภาพันธ์ 2412 โดยขุดอุโมงค์รถไฟด้วยเครื่องจักรไฮดรอลิก ลึกประมาณ 18 เมตร ในระยะแรกอุโมงค์ยาวเพียง 410 เมตร กว้าง 2.1 เมตร รางกว้าง 76.2 เซนติเมตร ใช้เครื่องจักรไอน้ำขนาด 4 แรงม้าเป็นตัวลากรถเคเบิลคาร์ (Cable Car) ขนาด 12 ที่นั่ง ใช้เวลาโดยสารเที่ยวละประมาณ 70 วินาที

ภายหลังการเปิดใช้งานได้ประมาณ 3 เดือน กลับไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก เนื่องจากความคับแคบและการใช้งานที่ไม่ค่อยสะดวกในสถานี ประชาชนจึงนิยมเดินเท้ามากกว่า จึงมีการปรับปรุงโดยการนำลิฟท์มาใช้แทนบันได เปลี่ยนเครื่องจักรไอน้ำเป็นเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง โดยมีผู้โดยสารกว่าสองหมื่นคนต่อสัปดาห์

แต่เมื่อมีการก่อสร้างสะพาน “ทาวเวอร์ บริดจ์" (Tower Bridge)” ในปี 2437 ก็ทำให้ความนิยมในการใช้รถไฟใต้ดิน “ทาวเวอร์ ซับเวย์ (Tower Subway)” ลดลงอีกครั้ง เนื่องจากการใช้สะพานไม่มีค่าใช้จ่ายเหมือนรถไฟใต้ดิน ทำให้เกิดภาวะขาดทุนจนรัฐบาลต้องขายกิจการให้เอกชนดำเนินการต่อ ก่อนจะปิดการใช้งานอย่างถาวรในปี 2441

2 สิงหาคม 2464 : “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส” สิ้นพระชนม์

“สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส” สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประสูติเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2403 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 47 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 กับเจ้าจอมมารดาแพ พระสนมเอก มีพระนามเดิมว่า “พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ”

ทรงเริ่มศึกษาภาษาบาลีเมื่อพระชนมายุ 8 พรรษา จนสามารถแปลธรรมบทได้ ต่อมาเมื่อ “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์” สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 8 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สิ้นพระชนม์ในปี 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส” ทรงครองวัดบวรนิเวศวิหารสืบต่อ นับเป็นเจ้าอาวาสพระองค์ที่ 3

ต่อมาในปี 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระสมณศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต จากนั้นได้ทรงเริ่มพัฒนากิจการพระศาสนา ทรงสนับสนุนให้ภิกษุสามเณรที่บวชใหม่เล่าเรียนพระธรรมวินัยฉบับภาษาไทย ในเวลาต่อมาจึงทรงกำหนดให้เป็นหลักสูตรการศึกษาสำหรับคณะสงฆ์ เรียกว่า “นักธรรม” ซึ่งเป็นหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของคณะสงฆ์สืบมาจนถึงปัจจุบัน

ทรงจัดตั้ง “มหามกุฎราชวิทยาลัย” ในปี 2436 เป็นการทรงริเริ่มจัดการศึกษาของภิกษุสามเณรแบบใหม่ คือ เล่าเรียนพระปริยัติธรรมประกอบกับวิชาการอื่น ๆ ที่เอื้อต่อการสั่งสอนพระพุทธศาสนา รวมทั้งจัดให้เป็นสถานศึกษาของภิกษุสามเณรและกุลบุตรด้วย

ในปี 2437 ทรงออกนิตยสาร “ธรรมจักษุ” พร้อมขยายการศึกษาของภิกษุสามเณรออกไปยังหัวเมืองทั่วพระราชอาณาจักร โดยให้วัดเป็นโรงเรียน ให้พระเป็นครู นับเป็นการวางรากฐานการศึกษาระดับประถมศึกษาของไทย ต่อมาในปี 2453 ทรงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง “สมเด็จพระสังฆราช” พระองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

“สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส” ทรงประชวรด้วยวัณโรค สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2464 ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร สิริพระชนมายุ 61 พรรษา

2 สิงหาคม 2465 : “อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์” ผู้ประดิษฐ์โทรศัพท์ เสียชีวิต

“อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ (Alexander Graham Bell)” นักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์ชาวสกอตแลนด์ เกิดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2390 ที่เมืองเอดินเบอระ (เอดินเบิร์ก) สหราชอาณาจักร เขาเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเอดินเบิร์ก (University of Edinburgh) และมหาวิทยาลัยโตรอนโต (University of Toronto)

เมื่อเขาอายุได้ 23 ปี ได้ย้ายไปอยู่ที่ประเทศแคนนาดา และเริ่มศึกษาเรื่องเสียง รวมถึงการได้ยินของมนุษย์ จนภายหลังเขาได้ไปเป็นศาสตราจารย์ด้านการออกเสียง (Elocution) ที่มหาวิทยาลัยบอสตัน (Boston University) สหรัฐอเมริกา

ผลงานที่สร้างชื่อให้เขาเป็นที่รู้จักระดับโลกคือ การเป็นผู้ประดิษฐ์ “โทรศัพท์ (Telephone)” เครื่องแรกของโลก ซึ่งจดลิขสิทธิ์ในปี 2419 เขายังเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท “เบลล์ เทเลโฟน (Bell Telephone Company)” และก่อตั้ง “สมาคมแนะนำและสอนคนหูพิการแห่งอเมริกา (American Association to Promote the Teaching of Speech to Deaf)” ในปี 2466 อีกด้วย

“อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ (Alexander Graham Bell)” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2465 ในที่ดินของเขา Beinn Bhreagh เขตวิกทอเรีย รัฐโนวาสโกเชีย ประเทศแคนาดา โดยภายหลังได้มีการตั้งชื่อหน่วยวัดความดังของความเข้มเสียง เรียกว่า “เดซิเบล (Decibel : dB)” เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา

3 สิงหาคม 2500 : มีการจัดงานประกาศผล “รางวัลตุ๊กตาทอง” เป็นครั้งแรก

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2500 “หอการค้ากรุงเทพฯ” ได้จัดให้มีงานประกาศผล “รางวัลตุ๊กตาทอง” เป็นครั้งแรก ณ เวทีลีลาศ ลุมพินีสถาน โดย “รางวัลตุ๊กตาทอง” เป็นรางวัลที่มอบให้แก่บุคลากรในวงการผลิตภาพยนตร์ไทย ที่มีผลงานดีเด่นในสาขาต่าง ๆ ริเริ่มโดย “สงบ สวนสิริ” นักเขียนเจ้าของนามปากกา “สันตสิริ” บรรณาธิการนิตยสาร “ตุ๊กตาทอง”

สำหรับนักแสดงนำยอดเยี่ยม จะได้รับรางวัล “ละคอนรำ” เป็นตุ๊กตารูปนางละคอนรำ เป็นที่มาของการเรียกชื่อรางวัลว่า “รางวัลตุ๊กตาทอง” ส่วนรางวัลอื่น ๆ จะได้รับ “รางวัลโล่สำเภาทอง” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ “หอการค้ากรุงเทพฯ” ซึ่งเป็นผู้จัดงาน

งานประกาศผล “รางวัลตุ๊กตาทอง” ครั้งแรกในปี 2500 มีภาพยนตร์ที่ได้รับเสนอชื่อเข้าชิงจำนวน 52 เรื่อง “รางวัลตุ๊กตาทอง” ดารานำยอดเยี่ยมฝ่ายชายคือ “ลือชัย นฤนาท” จากภาพยนตร์เรื่อง “เล็บครุฑ” ส่วน “รางวัลตุ๊กตาทอง” ดารานำยอดเยี่ยมฝ่ายหญิงคือ “วิไลวรรณ วัฒนพานิช” จากภาพยนตร์เรื่อง “สาวเครือฟ้า”

“รางวัลโล่สำเภาทอง” บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมได้แก่ “ประจิต จุลละพันธ์” จากภาพยนตร์เรื่อง “สุภาพบุรุษเสือไทย” บทประพันธ์ยอดเยี่ยมได้แก่ “เรียมเอง” จากภาพยนตร์เรื่อง “ชั่วฟ้าดินสลาย” ผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยมได้แก่ “วสันต์ สุนทรปักษิณ” จากภาพยนตร์เรื่อง “ทางเปลี่ยว” และภาพยนตร์ยอดเยี่ยมได้แก่ ภาพยนตร์เรื่อง “เศรษฐีอนาถา” อำนวยการสร้างโดย “สุริยน ไรวา” บริษัท เอส.อาร์. ฟิล์ม

ต่อมามีการออกแบบรางวัลใหม่ เป็นรูป “พระสุรัสวดี” เทพเจ้าแห่งความรู้และภาษา จึงเปลี่ยนชื่อเรียกรางวัลนี้เป็น “รางวัลพระสุรัสวดี” แต่ผู้คนก็ยังคงนิยมเรียกว่า “รางวัลตุ๊กตาทอง” มาโดยตลอด ทั้งนี้ ภายหลังการงานประกาศผล “รางวัลตุ๊กตาทอง” ครั้งที่ 8 ในปี 2509 ก็มีเหตุต้องหยุดการจัดงานไปเป็นเวลา 9 ปี และได้รื้อฟื้นขึ้นใหม่ในปี 2517 จัดโดย “สมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย” ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

4 สิงหาคม : วันสัตวแพทย์ไทย

“สัตวแพทย์” เป็นสาขาวิชาทางการแพทย์อีกหนึ่งสาขาที่นับว่ามีความสำคัญมาก เนื่องจากต้องเป็นผู้ดูแลรักษาทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์เศรษฐกิจ เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง รวมถึงป้องกันไม่ให้เกิดโรคต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรวิชาชีพด้านสัตวแพทย์อยู่มาก จึงได้มีการกำหนดให้วันที่ 4 สิงหาคม ของทุกปีเป็น “วันสัตวแพทย์ไทย” เพื่อให้ผู้คนและสังคมเล็งเห็นถึงความสำคัญในบทบาทของ “สัตวแพทย์”

คำว่า “สัตวแพทย์” คาดว่ามาจากการบัญญัติคำของ “พล.ต. ม.จ.ทองฑีฆายุ ทองใหญ่” ผู้ทรงได้รับการขนานพระนามว่าเป็น “พระบิดาของเหล่าทหารการสัตว์และสัตวแพทย์ไทย” ทั้งยังทรงเป็นพระบิดาของวิชาสัตวแพทย์สมัยใหม่ ทรงก่อตั้งโรงเรียนอัศวแพทย์ทหารบก ซึ่งได้พัฒนาต่อมาเป็นโรงเรียนนายสิบสัตวแพทย์ และโรงเรียนนายดาบสัตวแพทย์ทหารบก ตามลำดับ

นับว่าเป็นการศึกษาวิชาสัตวแพทยศาสตร์ครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อผลิตกำลังพลให้กับกองทัพ และได้พัฒนาเป็นแผนกอิสระสัตวแพทยศาสตร์ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี “ศาสตราจารย์ พ.ท.หลวงชัยอัศวรักษ์ (ไชย แสง-ชูโต)” เป็นคณบดีคนแรก ซึ่งถือเป็นการศึกษาวิชาสัตวแพทยศาสตร์ในสถานศึกษาพลเรือนเป็นครั้งแรก เพื่อผลิตสัตวแพทย์ในระดับปริญญา

ภายหลังได้มีการพัฒนาเป็นคณะสัตวแพทยศาสตร์ สังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายพัฒนาประเทศในสมัยนั้น รัฐบาลได้โอนคณะสัตวแพทยศาสตร์มาสังกัด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปี 2497 โดยมีการเรียนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน จำนวน 2 ปี และไปเรียนที่ถนนอังรีดูนังต์ อีก 4 ปี

ต่อมาได้มีการย้ายกิจการคณะไปสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจัดตั้งเป็นคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2510 แต่ก็ยังมีอาจารย์และนิสิตส่วนหนึ่งอยู่พัฒนาคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต่อไป โดยได้เชิญอธิบดีกรมปศุสัตว์ในสมัยนั้น คือ “ศาสตราจารย์ น.สพ. ดร.จักร พิชัยรณรงค์สงคราม” เป็นคณบดี และถือว่าท่านคือบิดาของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ยังได้เปิดสอนวิชาสัตวแพทยศาสตร์ (ระดับประกาศนียบัตร) ณ โรงเรียนสัตวแพทย์ (Paraveterinary School) เพื่อผลิตบุคลากรให้กรมปศุสัตว์ โดยมีเพลง “นกน้อยในไร่ส้ม” เป็นเพลงที่ถูกแต่งขึ้น เพื่อชื่นชมการปฏิบัติหน้าที่ของสัตวแพทย์ในชนบท และถูกนำไปใช้ในวิชาชีพสื่อสารมวลชนในเวลาต่อมา

ทั้งนี้คำว่า “สัตวแพทย์” สามารถสื่อความหมายได้ในสองกรณี คือ

  • “สัตวแพทย์ (Paravet)” หมายถึง บุคคลที่เรียนจบสัตวแพทย์ในระดับปริญญาตรี ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้รับคุณวุฒิปริญญาทางสัตวแพทยศาสตร์ (สพ.บ.) และได้รับใบประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง
  • “นายสัตวแพทย์ (Veterinarian)” หมายถึง บุคคลที่เรียนจบโรงเรียนสัตวแพทย์ของกรมปศุสัตว์ ได้รับประกาศนียบัตร (2 ปี) และได้รับใบประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นสอง

โดยในปัจจุบัน โรงเรียนสัตวแพทย์ของกรมปศุสัตว์ ได้ยุบและโอนย้ายไปเป็นคณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดทำการสอนในระดับปริญญาด้านเทคนิคการสัตวแพทย์ (4 ปี)

4 สิงหาคม : วันสื่อสารแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2526 คณะกรรมการจัดงานปีการสื่อสารโลกและคณะรัฐมนตรี มีมติกำหนดให้วันที่ 4 สิงหาคม ของทุกปีเป็น “วันสื่อสารแห่งชาติ” เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา “กรมไปรษณีย์” และ “กรมโทรเลข” ขึ้นในวันที่ 4 สิงหาคม 2426 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของกิจการสื่อสารของประเทศไทย

ทั้งยังทรงแต่งตั้งให้ “สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช” (พระยศในขณะนั้น) หรือ “สมเด็จวังบูรพา” เป็นอธิบดีผู้สำเร็จราชการ ทั้งกรมไปรษณีย์และกรมโทรเลข เป็นพระองค์แรก โดยในเวลาต่อมาได้มีการรวมหน่วยงานเป็น “กรมไปรษณีย์โทรเลข”

โดยมีการจัดงาน “วันสื่อสารแห่งชาติ” ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2526 ในโอกาสครบรอบ 100 ปี การสถาปนากรมไปรษณีย์โทรเลข พร้อมกันนั้นก็ได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองปีการสื่อสารโลกของสหประชาชาติอีกด้วย

5 สิงหาคม 2505 : “มาริลิน มอนโร” ดาราภาพยนตร์ฮอลลีวูด เสียชีวิต

“มาริลิน มอนโร (Marilyn Monroe)” ดาราภาพยนตร์ฮอลลีวูด เซ็กซี่สตาร์เบอร์ต้น ๆ ของโลก เกิดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2469 ที่เมืองลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เธอมีชื่อจริงว่า “นอร์มา จีน มอร์เทนเซน (Norma Jeane Mortenson)”

ในวัยเด็กเธอมีชีวิตที่อาภัพ ไม่ได้อยู่กับแม่ตั้งแต่เกิด เธออาศัยอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์กว่า 7 ปี แม้จะมีช่วงเวลาแสนสุขในระยะหนึ่งที่ได้กลับไปอยู่กับแม่ และค้นพบความชื่นชอบในภาพยนตร์ของตัวเอง แต่ท้ายที่สุดแม่ก็ล้มป่วยด้วยโรคทางประสาท เธอต้องกลับไปอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์และถูกล่วงละเมิดทางเพศ

เธอแต่งงานตอนอายุ 16 ปี กับ “เจมส์ โดเฮอร์ตี้ (James Dougherty)” เจ้าหน้าที่ตำรวจชาวอเมริกัน แต่สุดท้ายก็ต้องเลิกรากันไป เพราะในช่วงเวลานี้เองที่ความงดงามของเธอทำให้มีแมวมองมาแอบถ่ายรูป ในเวลานั้นคือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ผู้ชายไปออกรบ และผู้หญิงรวมถึงเธอก็ไปทำงานในโรงงาน

นั่นคือเส้นทางเข้าสู่การเป็นนางแบบของเธอ ภายใต้สังกัดโมเดลลิ่งที่ชื่อว่า “Bluebook Modeling” และกลายมาเป็น “มาริลิน มอนโร (Marilyn Monroe)” นักแสดงของค่ายภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่อย่าง “20th Century Fox” จนแจ้งเกิดในที่สุด

ด้วยความรักในการแสดงและอยากพัฒนาฝีมือ เพื่อให้ไม่ต้องรับแต่บทผู้หญิงสวยที่ไม่มีความคิด เธอจึงตัดสินใจไปเรียนต่อด้านการแสดงที่เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในศาสต์ที่เรียกว่า “Method Acting” ซึ่งเป็นการแสดงแบบที่นักแสดงกลืนและกลายเป็นตัวละครในทุกมิติ เข้าถึงบทบาทของตัวละครที่ได้รับ จนแทบจะเรียกได้ว่า ไม่ได้แสดง แต่กลายเป็นตัวละครนั้นจริง ๆ โดยภาพยนตร์ที่เป็นภาพจำของเธอในชุดเดรสสีขาวอัดพลีท กำลังยืนปิดกระโปรงที่ปลิวพลิ้วไปตามแรงลม คือเรื่อง “Seven Year Itch (1955)”

การทำงานหนัก ส่งผลให้เธอเริ่มมีปัญหาสุขภาพด้านระบบประสาทระหว่างเรียนการแสดงที่นิวยอร์ก อีกทั้งยังมีข่าวลือว่าเธอเข้าไปพัวพันกับ “จอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy)” ประธานาธิบดีคนที่ 35 ของสหรัฐอเมริกา จนเป็นเหตุทำให้ค่ายหนังต้องไล่เธอออก จากกรณีที่เธอทิ้งกองถ่ายไปร้องเพลงอวยพรวันเกิดให้เคนเนดี แล้วทำให้ภาพยนตร์เรื่อง “Something’s Got to Give (1962)” ถ่ายทำไม่จบ

“มาริลิน มอนโร (Marilyn Monroe)” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2505 ขณะอายุได้ 36 ปี ที่โรงแรมฮอลลีวู้ด รูสเวลต์ แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ด้วยการกินยานอนหลับเกินขนาด ซึ่งการตายยังคงเป็นปริศนาว่าเป็นอุบัติเหตุ เป็นการฆาตกรรมหลังจากที่เธอไปล่วงรู้ความลับของรัฐบาล หรือเธอตั้งใจจบชีวิตตัวเองเพราะความเครียดของมรสุมชีวิต

ทั้งนี้ ภายหลังการจากไป เธอถูกจดจำในฐานะของผู้หญิงสู้ชีวิต จากความกล้าในการเปิดเผยเรื่องการถูกล่วงละเมิดทางเพศ กล้าเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียม เธอไม่ได้มีเพียงความสวยจากภายนอกเท่านั้น แต่เธอยังมีความแข็งแกร่งในจิตใจจากภายในที่พร้อมจะรับมือกับอุปสรรคที่เข้ามาในชีวิตอีกด้วย

7 สิงหาคม : วันรพี

เมื่อปี 2497 “เนติบัณฑิตยสภา” ได้ถวายการยกย่องแด่ “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์” เป็น “พระบิดาแห่งกฎหมายไทย” จากการที่ทรงปฏิรูประบบกฎหมายไทยให้เป็นที่ยอมรับในสากล ทั้งยังกำหนดให้วันที่ 7 สิงหาคม ของทุกปีเป็น “วันรพี” เพื่อน้อมรำลึกถึงคุณูปการด้านกฎหมายในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์ท่าน

“พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์” ประสูติเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2417 ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 14 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาตลับ ทรงมีพระนามเมื่อแรกประสูติว่า “พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์” ทรงเป็นต้นราชสกุล “รพีพัฒน์”

ทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมายที่ประเทศอังกฤษ ด้วยพระทัยตั้งมั่นที่จะพยายามขอยกเลิกอำนาจศาลกงสุลต่าง ๆ ที่มาตั้งพิจารณาพิพากษาคดีชนชาติไทย ซึ่งยากแก่การปกครอง เพื่อจะให้ประเทศไทยได้มีเอกราชทางการศาลอย่างแท้จริง รวมถึงการพัฒนากฎหมายบ้านเมือง ผู้พิพากษาและราชการศาลยุติธรรมให้ดีขึ้น เพื่อให้นานาชาติยอมรับกฎหมายไทย และยอมอยู่ภายใต้อำนาจศาลไทย

ในปี 2434 ทรงสอบผ่านเข้าศึกษาวิชากฎหมายที่วิทยาลัยไครสต์เชิร์ช มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Christchurch College Oxford University) ขณะมีพระชนมายุเพียง 17 พรรษา ทรงสอบไล่ผ่านทุกวิชาและได้รับปริญญาเกียรตินิยมทางกฎหมาย Bachelor of Arts.Hons (B.A. (Oxon)) เมื่อพระชนมายุ 20 พรรษา โดยใช้เวลาศึกษาเพียง 3 ปี  

เสด็จนิวัติพระนครในปี 2437 ทรงเป็นอธิบดีผู้จัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เพื่อสอนความรู้เบื้องต้นสำหรับผู้เข้ารับราชการพลเรือนในกระทรวงต่าง ๆ ต่อมาทรงสมัครเข้ารับราชการทางฝ่ายตุลาการ แล้วทรงฝึกหัดราชการในกรมราชเลขานุการ และทรงศึกษากฎหมายไทยอย่างจริงจัง

ปี 2439 รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงเป็นสภานายกพิเศษ จัดการตั้งศาลในมณฑลอยุธยา ปี 2440 ทรงเป็นประธานพร้อมด้วยกรรมการไทยและฝรั่ง ช่วยกันตรวจชำระพระราชกำหนดบทพระอัยการเก่าใหม่ และจัดระเบียบเรียบเรียงกฎหมายขึ้นใหม่ให้เป็นบรรทัดฐาน ในปีเดียวกันนั้นก็ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม

ต่อมาในปี 2440 ทรงสถาปนาโรงเรียนสอนกฎหมาย สังกัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสศึกษาวิชากฎหมาย ทรงแนะนำสั่งสอนด้วยพระองค์เอง ปลายปีเดียวกัน ทรงเปิดให้มีการสอบไล่เนติบัณฑิต โดยใช้ศาลาการเปรียญใหญ่ วัดมหาธาตุ เป็นสถานที่สอบ ใช้เวลาสอบ 6 วัน วันละ 4 ชั่วโมง ให้คะแนนเป็นเกรด ผู้สอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตรุ่นแรกมีทั้งสิ้น 9 คน ผู้สอบได้ลำดับที่ 1 ในครั้งนั้น คือ “เจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์)” ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นเนติบัณฑิตไทยคนแรก

ในปี 2443 ทรงดำริให้จัดตั้งกองพิมพ์ลายมือ ทรงสอนวิธีตรวจเส้นลายมือ และวิธีเก็บพิมพ์ลายมือ สำหรับตรวจพิมพ์ผู้ต้องหาในคดีอาญา เพื่อใช้เป็นหลักฐานเพิ่มโทษผู้กระทำความผิดหลายครั้ง ต่อมาในปี 2462 ทรงประชวรด้วยพระวัณโรคที่พระวักกะ (ไต) และได้ขอพระราชทานกราบถวายบังคมลาพักราชการรักษาพระองค์ เพื่อเสด็จไปรักษาที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

“พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์” สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2463 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส สิริพระชนมายุ 46 พรรษา

8 สิงหาคม : วันอาเซียน (ASEAN Day)

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 ภายในห้องโถงใหญ่ของพระราชวังสราญรมย์ ที่ทำการของกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีการลงนามใน “ปฏิญญาสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Declaration of ASEAN Concord)” หรือ “ปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration)” โดยผู้นำจาก 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และประเทศไทย

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความร่วมมือในการเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม วัฒนธรรมในกลุ่มประเทศสมาชิก รวมถึงการธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค เปิดโอกาสให้คลายข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิกอย่างสันติ

ถือเป็นการจัดตั้ง “สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations)” หรือ “อาเซียน (ASEAN)” อย่างเป็นทางการ ต่อมาจึงเรียกวันนี้ว่า “วันอาเซียน (ASEAN Day)”

“อาเซียน (ASEAN)” ใช้สัญลักษณ์เป็นรวงข้าวสีเหลือง 10 ต้น มัดรวมกัน เป็นตัวแทนของประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วงกลมที่อยู่รอบรวงข้าว แสดงถึงความเป็นเอกภาพ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มิตรภาพและความสมานฉันท์ของประเทศสมาชิก

เป้าหมายหลักของประชาคม “อาเซียน (ASEAN)” คือการจัดตั้งประชาคมอาเซียน โดยแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนที่หนึ่ง ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ส่วนที่สอง ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และส่วนที่สาม ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน

ทั้งนี้ ภายหลังปี 2527 “อาเซียน (ASEAN)” มีรัฐสมาชิกเพิ่มขึ้นจนครบ 10 ประเทศ คือ กัมพูชา ไทย บรูไน เมียนมา (พม่า) ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย สำหรับ “กฎบัตรอาเซียน” ได้มีการลงนามเมื่อเดือนธันวาคม 2551 ซึ่งทำให้ “อาเซียน (ASEAN)” มีสถานะคล้ายกับสหภาพยุโรปมากยิ่งขึ้น

8 สิงหาคม : วันแห่งคนอ้วน (デブの日 - Debu No Hi)

ที่ประเทศญี่ปุ่น วันที่ 8 สิงหาคม ของทุกปีเป็น “วันแห่งคนอ้วน (デブの日 - Debu No Hi)” แม้จะไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นผู้ก่อตั้งวันนี้ แต่ที่แน่ ๆ วันนี้ถูกก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2521 จากความช่างสังเกตของชาวญี่ปุ่น ที่เมื่อเห็นคนจ้ำม่ำใส่ชุดว่ายน้ำ จะมีไขมันส่วนเกินออกมา ดูคล้ายกับเลข 8 นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เลือกใช้วันที่ 8 เดือน 8 ในการสร้างวันนี้ขึ้นมา

โดยคำว่า デブ (เดะ-บุ) มีความหมายว่า อ้วนหรือจ้ำม่ำ คำนี้จึงถูกนำมาใช้เรียกวันนี้ เพื่อให้ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพของตัวเองให้มากขึ้น ด้วยการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอเหมาะพอดี จะได้มีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง

8 สิงหาคม : วันแมวสากล (International Cat Day)

ในปี 2545 “กองทุนระหว่างประเทศเพื่อสวัสดิภาพสัตว์ (International Fund For Animal Welfare : IFAW)” ได้กำหนดให้วันที่ 8 สิงหาคม ของทุกปีเป็น “วันแมวสากล (International Cat Day)” หรืออาจเป็นที่รู้จักในอีกชื่อว่า “วันแมวโลก” เพื่อให้ทาสแมวได้ปรนนิบัติเจ้านายขนฟูอย่างถูกต้อง ดูแลสวัสดิภาพสัตว์ รวมถึงการช่วยเหลือคุณภาพชีวิตแมวจร หรือการรักษาพยาบาลฉุกเฉินน้องแมวอย่างทันท่วงที

“แมว” คือสัตว์เลี้ยงที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษย์ มนุษย์เราเริ่มเลี้ยงแมวมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งแมวในยุคแรก ๆ สืบเชื้อสายมาจากแมวป่าแอฟริกาที่มีความดุร้ายและเป็นนักล่า โดยตามบันทึกทางประวัติศาสตร์พบว่า ชาวอียิปต์มีความเคารพแมวและเชื่อว่าแมวเป็น “เทพเจ้ามาฟเดต (Mafdet)” เทพแมวผู้พิทักษ์ ปกป้องอันตรายจากงู แมงป่อง และความชั่วร้าย

นอกจากนี้ “แมว” ยังมีบทบาทในด้านการไล่ศัตรูพืชในการเกษตร เป็นเครื่องบอกฐานะด้วยการเป็นสัตว์เลี้ยงของชนชั้นสูงในยุคกลาง และเคยถูกไล่ล่าอย่างหนัก จากการถูกกล่าวหา ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งลี้ลับเพราะเป็นสัตว์เลี้ยงของแม่มด รวมถึงการเป็นพาหะของกาฬโรคในปี 1891 ทำให้ผู้คนในยุคนั้นเกิดความเข้าใจผิด และกำจัด “แมว” ไปเป็นจำนวนมาก

ต่อมาในปี 2143 “แมว” ก็พ้นข้อกล่าวหาอย่างไร้มลทิน และกลับมาเป็นที่รักของมนุษย์อีกครั้ง อย่าง “แมว” ในสหรัฐอเมริกาก็ได้เดินทางไปในที่ต่าง ๆ ผ่านการเป็นเจ้าหน้าที่จับหนูบนเรือสินค้า นั่นอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประชากรแมวมีอยู่ทั่วทุกมุมโลก

8 สิงหาคม 2531 : เกิดเหตุการณ์ “8888” ในประเทศเมียนมา

“เหตุการณ์ 8888 (8888 Uprising)” คือเหตุการณ์ทางการเมืองของประเทศเมียนมา (พม่าในขณะนั้น) ในวันที่ 8 สิงหาคม 2531 (วันที่ 8 เดือน 8 ปี 1988 ซึ่งกลายเป็นที่มาของชื่อเรียกเหตุการณ์) โดยนักศึกษา ประชาชนและพระสงฆ์ ได้รวมตัวกันนับล้านคนออกมาชุมนุมอย่างสันติที่กรุงย่างกุ้งและตามเมืองใหญ่ ๆ ทั่วประเทศ เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยจากรัฐบาลเผด็จการทหารของ “นายพล เน วิน (Ne Win)” ที่ปกครองประเทศมายาวนานถึง 26 ปี

ทั้งนี้เมียนมาได้รับอิสรภาพจากอังกฤษเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2491 โดยมี “นายพล อู นุ (U Nu)” ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรก จากนั้นก็ถูก “นายพล เน วิน (Ne Win)” ทำรัฐประหารยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2505

ตลอดเวลา 26 ปี ที่ “นายพล เน วิน (Ne Win)” ยึดอำนาจปกครองประเทศเมียนมา ในนาม “พรรคโครงการสังคมนิยมพม่า (The Burma Socialist Programme Party : BSPP)” หรือที่เรียกขานกันว่า “ระบอบเนวิน” นำพาประเทศเมียนมาเข้าสู่ภาวะที่สภาพการเมือง เศรษฐกิจและสังคมตกต่ำอย่างถึงที่สุด จากที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียอาคเนย์

ในค่ำของวันที่ 8 สิงหาคม 2531 ฝ่ายรัฐบาลได้ส่งทหารพร้อมอาวุธครบมือออกมาปราบปรามผู้ชุมนุม ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็น “กบฏคอมมิวนิสต์” และปฏิบัติการสังหารโหดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 4 วัน ทางการออกมาให้ข่าวว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 500 คน แต่เจ้าหน้าที่ทางการทูตและผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์กล่าวว่า ตัวเลขที่แท้จริงอยู่ราว ๆ เกือบ 10,000 คน

ต่อมาในวันที่ 15 สิงหาคม 2531 “ออง ซาน ซู จี (Aung San Suu Kyi)” เจ้าหน้าที่วิจัยกระทรวงการต่างประเทศพม่า ของหน่วยงาน “องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN)” ในขณะนั้น ที่เพิ่งกลับเมียนมาประเทศบ้านเกิด เพื่อมาดูแลคุณแม่ “ดอว์ขิ่นจี (Khin Kyi)” ซึ่งกำลังป่วยหนัก ก็ได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงรัฐบาล เรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้ง และนี่คือจุดเริ่มต้นเส้นทางการทำกิจกรรมทางการเมืองของเธอนับตั้งแต่นั้น

จากนั้น “นายพล ซอว์ หม่อง (Saw Maung)” ก็ทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง และประกาศตั้ง “สภาฟื้นฟูกฎระเบียบแห่งรัฐ (The State Law and Order Restoration Council : SLORC)” หรือ “รัฐบาล "สล็อร์ค” และประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในเมียนมา โดย “พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League For Democracy : NLD)” ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น 392 ที่นั่งจาก 455 ที่นั่ง ส่วนพรรค National Unity Party ของรัฐบาลทหาร ได้เพียง 10 ที่นั่ง แต่รัฐบาลทหารไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง และกักบริเวณ “ออง ซาน ซู จี (Aung San Suu Kyi)” ในบ้านพัก ทั้งยังมีการจับกุมสมาชิกพรรคจำนวนมากไปคุมขังไว้ที่ “เรือนจำอินเส่ง”

จนถึงปัจจุบัน เหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศเมียนมายังคงอยู่ในวังวนของอำนาจเผด็จการทหาร มีการควบคุมตัวและจับกุมคุมขังนักการเมือง นักกิจกรรม และประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย รวมทั้งยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนชาวเมียนมาและชนกลุ่มน้อยตลอดมา

9 สิงหาคม : วันสากลว่าด้วยชนพื้นเมืองดั้งเดิมของโลก (International Day Of the World’s Indigenous People)

“สมัชชาแห่งองค์การสหประชาชาติ (United Nation General Assembly)” ได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2537 กำหนดให้ทศวรรษที่ 1994 - 2004 (พ.ศ.2537 - 2547) เป็น “ทศวรรษสากลว่าด้วยชนพื้นเมืองดั้งเดิมของโลก (International Decade of the Worlds’ Indigenous Peoples)”

พร้อมทั้งกำหนดให้วันที่ 9 สิงหาคม ของทุกปีเป็น “วันสากลว่าด้วยชนพื้นเมืองดั้งเดิมของโลก" (International Day Of the World’s Indigenous People)” เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2538 โดยถือเอาวันที่กลุ่มแรงงานชนพื้นเมืองเดิมของอนุสัญญาว่าด้วยการส่งเสริมและการปกป้องสิทธิมนุษยชน ได้ประชุมกันเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2525 เพื่อขยายความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการแก้ปัญหาที่ชนพื้นเมืองต้องเผชิญในขอบเขตของสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม การพัฒนา การศึกษา และสาธารณสุข

ทั้งนี้ “วันสากลว่าด้วยชนพื้นเมืองดั้งเดิมของโลก" (International Day Of the World’s Indigenous People)” กำหนดขึ้นเพื่อช่วยปกป้องสิทธิของชนพื้นเมือง ด้วยเพราะกระแสโลกาภิวัตน์ได้กำลังทำลายจิตวิญญาณ ประเพณีและวิถีชีวิตของชนดั้งเดิมของโลก ซึ่งเคยดำรงอยู่แนบชิดกับธรรมชาติให้อ่อนแอลง กลายเป็นเหยื่อของระบอบทุนนิยมเสรีในปัจจุบัน ทำให้ปัญหาการอพยพย้ายถิ่นฐานกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ ท้าทายประชาคมโลกในยุคต้นศตวรรษที่ 21

ปัจจุบันมีชนพื้นเมืองดั้งเดิมของโลกกว่า 350 ล้านคน อาศัยอยู่ใน 70 ประเทศในทุกทวีปทั่วโลก ใช้ภาษาพูดมากกว่า 5,000 ภาษา และมีการนับถือศาสนา-ความเชื่ออีกนับหมื่นสิ่ง

10 สิงหาคม : วันสิงโตโลก (World Lion Day)

ในปี 2552 “เดเรค และ เบเวอร์ลี่ จูเบิร์ต” (Dereck and Beverly Joubert) คู่รักผู้หลงใหลในแมวป่าและการอนุรักษ์ ได้ก่อตั้งโครงการ “Big Cat Initiative (B.C.I.)” ร่วมกับ “National Geographic” เพื่อปกป้องและอนุรักษ์สายพันธุ์สิงโตที่ยังเหลืออยู่ในโลก จากการที่จำนวนสิงโตลดลงอย่างมากทั่วโลก

โดยตามสถิติพบว่า จำนวนประชากร “สิงโต (Lion)” ในแอฟริกาลดลง 45% นับตั้งแต่ปี 2533 และน้อยกว่า 50,000 ตัวทั่วโลก จนถูกจัดให้อยู่ในบัญชีแดงของ “สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ”

ในปี 2556 โครงการ “Big Cat Initiative (B.C.I.)” จึงได้กำหนดให้วันที่ 10 สิงหาคม ของทุกปีเป็น “วันสิงโตโลก (World Lion Day)” เพื่อให้ผู้คนให้ความสำคัญกับสิงโต ซึ่งกำลังเข้าใกล้การสูญพันธุ์จากการลักลอบล่า ด้วยการเพิ่มมาตรการป้องกัน รวมถึงการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่ตามธรรมชาติของสิงโตทั่วโลก

12 สิงหาคม : วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นพระธิดาองค์ใหญ่ของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ (หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร) กับหม่อมหลวงบัว กิติยากร ทรงพระราชสมภพเมื่อวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม 2475 ที่บ้านเจ้าพระยาวงศานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) ผู้เป็นบิดาของหม่อมหลวงบัว มีพระนามเมื่อแรกประสูติว่า “หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร” โดยเป็นชื่อพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 มีความหมายว่า “ผู้เป็นศรี แห่งกิติยากร”

ในปี 2479 ทรงเข้าเรียนชั้นอนุบาลที่โรงเรียนราชินี ปากคลองตลาด ต่อมาในปี 2483 ทรงเข้าเรียนชั้นประถมและมัธยมที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ และเริ่มเรียนเปียโนด้วยความตั้งมั่นที่จะเป็นนักเปียโนผู้มีชื่อเสียง

ด้วยงานด้านการฑูตของผู้เป็นบิดา ทรงต้องเด็จไปประทับยังประเทศต่าง ๆ อยู่เป็นระยะ โดยในปี 2491 ขณะประทับอยู่ในปารีส ได้รับเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งโปรดเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโรงงานทำรถยนต์ในกรุงปารีสอยู่เสมอ จนเป็นที่คุ้นเคยและต้องพระราชอัธยาศัย

เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประสบอุปัทวเหตุทางรถยนต์ในสวิตเซอร์แลนด์ ต้องประทับรักษาพระองค์ในสถานพยาบาล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมหลวงบัวพาบุตรีทั้งสองคือ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์และหม่อมราชวงศ์บุษบา เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทเยี่ยมพระอาการเป็นประจำ จนพระอาการประชวรทุเลาลงและเสด็จกลับพระตำหนักได้

สมเด็จพระราชชนนีได้รับสั่งขอให้ทรงอยู่ศึกษาต่อที่เมืองโลซานน์ ในโรงเรียนประจำ Riante Rive ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในการสอนวิชาพิเศษแก่กุลสตรี คือ ภาษา ศิลปะ ดนตรี ประวัติวรรณคดี และประวัติศาสตร์

ต่อมาอีก 1 ปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้านักขัตรมงคลและครอบครัวมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท แล้วสมเด็จพระราชชนนีรับสั่งขอหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ต่อหม่อมเจ้านักขัตรมงคลและทรงประกอบพิธีหมั้นเป็นการภายใน ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2492 ทรงใช้พระธำมรงค์ที่สมเด็จพระราชบิดาทรงหมั้นสมเด็จพระราชชนนีเป็นพระธำมรงค์หมั้น แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ทรงศึกษาต่อจนถึงกำหนดตามเสด็จกลับมาถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 8 ในเดือนมีนาคม 2493

ถัดมาในวันที่ 28 เมษายน 2493 มีพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ วังสระปทุม สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเป็นประธานพระราชทานน้ำพระพุทธมนต์และเทพมนตร์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ได้ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย และทรงสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เป็น “สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์”

วันที่ 5 พฤษภาคม 2493 มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับเฉลิมพระบรมนามาภิไธยว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และทรงเฉลิมพระยศ “สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์” เป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี”

ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม 4 พระองค์ คือ “ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี” “พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10” “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” และ “สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี”

เมื่อรัชกาลที่ 9 เสด็จออกทรงพระผนวชตามโบราณราชประเพณีในปี 2499 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระบรมราชินีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และภายหลังเมื่อทรงลาผนวชแล้ว ได้ทรงสถาปนาพระราชอิสริยยศขึ้นเป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” อันมีความหมายว่า ทรงเป็นที่พึ่งของประชาชน นับเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์ที่สองของไทยต่อจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ซึ่งทรงปฏิบัติราชการแทนพระองค์เมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรป

ต่อมาในวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงมีบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระนามาภิไธยว่า “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง”

  • บทอาเศียรวาท ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๗ วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

12 สิงหาคม : วันแม่แห่งชาติ

ในปี 2519 คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กำหนดให้วันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปีเป็น “วันแม่แห่งชาติ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

“วันแม่แห่งชาติ” มีดอกไม้สัญลักษณ์คือ “ดอกมะลิ” ดอกไม้ที่มีสีขาวที่เปรียบได้กับความรักบริสุทธิ์ที่แม่มีต่อลูก รวมถึงมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ อันเป็นเอกลักษณ์ และออกดอกตลอดทั้งปี เหมือนความรักที่ละมุนละไมของแม่ที่มีต่อลูกในทุก ๆ วัน

โดยคำขวัญวันแม่แห่งชาติ ประจำปี 2567 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ความว่า

คือใยรักถักร้อยด้วยชีวิต สร้างอีกหนึ่งชีวิตจนเติบใหญ่

ทอเส้นสายคุณธรรมสู่หัวใจ ลูกทดแทนคุณแม่ให้สู่แผ่นดิน

12 สิงหาคม : วันเยาวชนสากล (International Youth Day)

ในปี 2543 “องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN)”  ได้กำหนดให้วันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปีเป็น “วันเยาวชนสากล (International Youth Day)” เพื่อให้ผู้คนให้ความสำคัญกับปัญหาที่เยาวชนบางส่วนในพื้นที่ทั่วโลกต้องประสบปัญหา ทั้งการขาดทักษะการอ่านและคณิตศาสตร์ขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้ความยากจนยังทำให้เยาวชนไม่สามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาได้อีกด้วย

12 สิงหาคม : วันช้างโลก (World Elephant Day)

วันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปีเป็น “วันช้างโลก (World Elephant Day)” ถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้ผู้คนได้ตระหนักถึงความสำคัญของช้างและร่วมกันอนุรักษ์ช้าง ทั้งช้างเอเชียและช้างแอฟริกาทั่วโลก ซึ่งกำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงจากการถูกล่าเพื่อนำงามาทำเป็นยาหรือเครื่องประดับ การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย รวมถึงความขัดแย้งระหว่างคนและช้าง

“ช้าง (Elephant)” เป็นสัตว์ที่มีความสำคัญทางระบบนิเวศและสร้างประโยชน์ให้กับสัตว์ป่าต่าง ๆ มากมาย เช่น การเป็นสัตว์ผู้เบิกนำการสร้างเส้นทางและสร้างแหล่งน้ำ โดยการใช้งาขุดเจาะดินตามโป่งดินให้สัตว์อื่นมีแหล่งน้ำใช้ อีกทั้งช้างยังมีส่วนช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์พืชไปยังส่วนต่าง ๆ ของผืนป่า ผ่านทางการขับถ่ายอีกด้วย

13 สิงหาคม : วันคนถนัดซ้ายสากล (International Lefthanders Day)

“ดีน อาร์. แคมป์เบลล์ (Dean R. Campbell)” ผู้ก่อตั้งบริษัท Lefthanders International ได้จัดตั้ง “วันคนถนัดซ้ายสากล (International Lefthanders Day)” ขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 13 สิงหาคม 2535 เพื่อเฉลิมฉลองให้กับความแตกต่างและความโดดเด่นของคนถนัดซ้าย ทั้งยังเป็นการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาที่คนถนัดซ้ายต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน ในโลกที่ออกแบบมาเพื่อคนถนัดขวา

ที่มาของวันนี้ เริ่มขึ้นในปี 2533 “Left-Handers Club” สโมสรสำหรับคนถนัดซ้ายได้ถูกก่อตั้งขึ้น โดยมีพันธกิจเพื่อให้สมาชิกได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาสิ่งต่าง ๆ เพื่อคนถนัดซ้าย ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมมุมมองระหว่างคนถนัดซ้ายและผู้ผลิตสิ่งต่าง ๆ เพื่อคนถนัดขวา พร้อมทั้งดำเนินการวิจัยและให้ช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ กับสมาชิกด้วย เรียกได้ว่าสโมสรเป็นตัวแทนกลุ่มคนถนัดซ้าย จนทำให้เกิด “วันคนถนัดซ้ายสากล (International Lefthanders Day)” ก็ว่าได้

ตัวอย่างบุคคลที่โลกรู้จัก แต่อาจไม่รู้ว่าพวกเขาถนัดซ้าย ได้แก่ แม่ชีเทเรซา, บารัค โอบามา, วอลต์ ดิสนีย์, บิล เกตส์, ชาร์ลี แชปลิน, มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก, อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน, บิล คลินตัน, บารัค โอบามา, พอล แมคคาร์ทนีย์, จิมิ เฮนดริกซ์, โอปราห์ วินฟรีย์, จูเลีย โรเบิตส์, เลดี กากา

14 สิงหาคม : วันรหัสลับนาวาโฮ (Navajo Code Talkers Day)

“วันรหัสลับนาวาโฮ (Navajo Code Talkers Day)” เป็นวันที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา โดยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ปี 2485) ทหารของสหรัฐอเมริกาได้ทำการเข้ารหัสทางการทหารและส่งข้อความโดยใช้ภาษานาวาโฮที่มีความซับซ้อนสูงและไม่เป็นที่แพร่หลาย ทำให้กองทัพทหารญี่ปุ่นไม่สามารถถอดรหัสภาษาเพื่อเข้าใจการสื่อสารนี้ได้ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จและได้รับชัยชนะ

“ชนเผ่านาวาโฮ (Navajo)” มีถิ่นอาศัยบริเวณเขตสงวนของชนชาตินาวาโฮ (Navajo Nation) ซึ่งเป็น Indian Reservation ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา และเป็นอินเดียนแดงกลุ่มใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือ มีจำนวนประชากรราว 220,000 คน

ในปี 2525 ประธานาธิบดี “โรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan)” ของสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดให้วันที่ 14 สิงหาคม ของทุกปีเป็น “วันรหัสลับนาวาโฮ (Navajo Code Talkers Day)” เพื่อยกย่อง “ชนเผ่านาวาโฮ (Navajo)” ชนเผ่าพื้นเมืองของสหรัฐอเมริกา เพื่อเชิดชูเกียรติสำหรับผลงานของพวกเขาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

14 สิงหาคม 2423 : “มหาวิหารโคโลญ” สร้างสำเร็จ

ในวันที่ 14 สิงหาคม 2423 “มหาวิหารโคโลญ (Cologne Cathedral หรือ Kolner Dom)” ถูกสร้างได้สำเร็จ พร้อมพีธีวางหลักหินบันทึกข้อมูลการก่อสร้าง (Foundation Stone) โดยมีการเริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2334 ผ่านช่วงเวลาที่มีการพักการก่อสร้างในบางช่วง รวมแล้วจึงใช้เวลากว่า 600 ปี จึงสร้างได้เสร็จสมบูรณ์

“มหาวิหารโคโลญ (Cologne Cathedral หรือ Kolner Dom)” เป็นศาสนสถานของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก นับเป็นวิหารที่ใหญ่และสูงที่สุดในโลกสมัยนั้น (ในปัจจุบันยังคงติดอันดับต้น ๆ) ใช้สถาปัตยกรรมแบบโกธิค (Gothic) เป็นหอคอยแฝดสูง 157 เมตร กว้าง 86 เมตร ยาว 144 เมตร สร้างเพื่ออุทิศให้นักบุญเปโตร (Saint Peter) และ พระนางมารี (The Blessed Virgin Mary)

ปัจจุบัน “มหาวิหารโคโลญ (Cologne Cathedral หรือ Kolner Dom)” เป็นจุดหมายสำคัญของเมืองโคโลญและประเทศเยอรมนี โดย “องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO)” ได้ประกาศให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี 2536

15 สิงหาคม 2442 : รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “ถนนราชดำเนิน”

ภายหลังเสด็จกลับจากประพาสยุโรปครั้งแรกเมื่อปี 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทำบ้านเมืองให้ทันสมัย ทัดเทียมนานาอารยประเทศ จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนสำหรับเสด็จพระราชดำเนิน ระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังดุสิต และพระราชทานนามว่า “ถนนราชดำเนิน” โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ราชดำเนินนอก ราชดำเนินกลาง และราชดำเนินใน ออกแบบและจัดสร้างโดย “พระยาเทเวศวรวงศ์วิวัฒน์” เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ

“ถนนราชดำเนิน” เป็นถนนที่มีเอกลักษณ์งดงามและยังเป็นถนนที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมือง จากเหตุการณ์สำคัญ ๆ หลายครั้ง เช่น  “14 ตุลา 16”, “6 ตุลา 19” และ “พฤษภาทมิฬ 2535”

รู้หรือไม่! ว่ากันว่า “รัชกาลที่ 5” ได้ทรงทอดพระเนตร “ถนนช็องเซลีเซ (Champs-Élysées)” ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แล้วนำมาเป็นแบบอย่างในการสร้าง “ถนนราชดำเนิน” ให้บ้านเมืองมีความศิวิไลซ์มากขึ้น

15 สิงหาคม 2457 : “คลองปานามา” เปิดใช้งานเป็นครั้งแรก

“คลองปานามา (Panama Canal)” เป็นคลองที่ขุดในบริเวณคอคอดปานามา ในประเทศปานามา ทวีปอเมริกากลาง เริ่มทำการขุดในปี 2423 ออกแบบแผนผังโดย “เฟอร์ดินอง เดอ เลสเซปส์ (Ferdinand de Lesseps)” ผู้ขุดคลองสุเอซ โดยมีจุดประสงค์เพื่อเชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกกับแอตแลนติกเข้าด้วยกัน

ในวันที่ 15 สิงหาคม 2457 “คลองปานามา (Panama Canal)” ได้เปิดใช้งานเป็นครั้งแรก โดยคลองมีความยาว 82 กิโลเมตร กว้าง 300 - 400 ฟุต ลึก 35 - 40 ฟุต ใช้เวลาแล่นเรือข้ามคลองประมาณ 9 ชั่วโมง ช่วยย่นระยะทางจากเดิมที่ต้องอ้อมแหลมเคป ฮอร์น (Cape Horn) ทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา ถึง 15,700 กิโลเมตร มีเรือใช้เส้นทางนี้ประมาณ 12,000 ลำต่อปี

16 สิงหาคม : วันสันติภาพไทย

ในปี 2538 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันที่ 16 สิงหาคม ของทุกปีเป็น “วันสันติภาพไทย” เพื่อระลึกถึงพระบรมราชโองการประกาศสันติภาพในวันที่ 16 สิงหาคม 2488 ในเหตุการณ์ต่อต้านการรุกรานของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ปี 2484 - 2488)

โดยเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485 “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของหลายฝ่าย

ต่อมาในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 จึงมีการจัดตั้ง “เสรีไทย (Free Thai Movement)” ขบวนการใต้ดินในสงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งมีกลุ่มบุคคลสำคัญประกอบด้วย “หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช” ทูตไทยในสหรัฐอเมริกา “หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์” ผู้แทนไทยในอังกฤษ และ “ปรีดี พนมยงค์” ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในรัชกาลที่ 8 เมื่อสงครามสงบลง และมีพระบรมราชโองการประกาศสันติภาพในวันที่ 16 สิงหาคม 2488 จึงมีผลทำให้การประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นโมฆะ โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้รับรอง

16 สิงหาคม 2511 : “สุรพล สมบัติเจริญ” ราชาเพลงลูกทุ่ง เสียชีวิต

“สุรพล สมบัติเจริญ” ราชาเพลงลูกทุ่งของไทย เกิดเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2473 ที่จังหวัดสุพรรณบุรี เขามีชื่อจริงว่า “ลำดวน สมบัติเจริญ” เป็นผู้ที่หลงใหลในการร้องเพลงมาตั้งแต่วัยรุ่น เมื่ออยู่ที่โรงเรียนนักเรียนจ่าทหารเรือ เขามักจะร้องเพลงให้เพื่อน ๆ ทหารฟัง และขึ้นร้องเพลงในงานสังสรรค์ต่าง ๆ เสมอ จนในที่สุดเขาก็ได้ย้ายเข้าไปประจำกองดุริยางค์ทหารอากาศ

ในปี 2496 “น้ำตาสาวเวียง” เพลงแรกของเขาได้รับการบันทึกเสียงเป็นครั้งแรก ในทุกการแสดงของเขามักจะมีเทคนิคดึงดูดใจผู้ชม เขาทั้งร้อง ทั้งเล่นตลก เพื่อสร้างความบันเทิง นับเป็นเสน่ห์ที่ใครก็หลงรัก โดยเพลงดังที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักคือ “ลืมไม่ลง”

“สุรพล สมบัติเจริญ” ถูกยิงเสียชีวิต หลังจากการแสดงบนเวที เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2511 ที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ขณะมีอายุได้ 38 ปี แม้ชีวิตนักร้องเพลงลูกทุ่งของเขาจะมีอายุเพียง 15 ปี แต่ผลงานของเขาก็ได้ทำให้เพลงลูกทุ่งกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง จนถึงปัจจุบันนี้

17 สิงหาคม : วันยกย่องแมวดำ (Black Cat Appreciation Day)

ทาสแมวที่ไหนจะไปเชื่อว่า “แมว” ก็มียุคมืดเหมือนกัน!!! แต่มันเกิดขึ้นจริง ๆ ในยุคสมัยหนึ่ง ซึ่ง “แมว” ถูกเข้าใจผิดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งลี้ลับ อย่างการเป็นสัตว์เลี้ยงของแม่มด เลยไปจนถึงการเป็นพาหะของกาฬโรคในปี ค.ศ.1348 ทำให้ผู้คนในยุคนั้นเข้าใจผิด จนน้องถูกไล่ล่าและส่งกลับดาวแมวเป็นจำนวนมาก

“แมว” อันดับหนึ่งที่ถูกเข้าใจผิดว่าเป็น “ตัวแทนแห่งความโชคร้าย” ก็คือน้องแมวสีดำที่ดูลึกลับ ทำให้มีความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับน้องมากมาย แม้ว่าช่วงปี ค.ศ. 1600 น้องแมวจะพ้นข้อกล่าวหาอย่างไร้มลทิน และกลับมาเป็นที่รักของมนุษย์อีกครั้ง แต่ยุคมืดของน้องแมวดำเหมือนว่ายังคงดำเนินต่อไป

สิ่งเหล่านี้ทำให้ “แมวดำ” เป็นน้องแมวที่มีสถิติถูกทิ้งมากที่สุด เพียงเพราะน้องมีขนสีดำที่ไม่สามารถถอดออกได้ เหมือนตอนที่เราถอดเสื้อคลุมที่เราไม่ชอบ

ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลสำหรับที่มาของวันที่ 17 สิงหาคม “วันยกย่องแมวดำ (Black Cat Appreciation Day)” เพื่อให้ทุกคนลบล้างความเชื่อผิด ๆ ที่ปิดกั้นความน่ารักน่าเอ็นดูของแมวดำที่คุณอาจมองข้าม

เพราะตามการวิจัยพบว่า “แมวดำ” เป็นแมวที่มีนิสัยขี้อ้อนที่สุดในบรรดาเจ้าเหมียวทั้งหลาย แถมในตำราแมวโบราณของไทย “แมวดำ” คือ “แมวมงคล” ที่ดลบันดาลโชคลาภเงินทองให้เจ้าของได้ด้วย เช่น สายพันธุ์ “นิลรัตน์” และ “โกญจา”

18 สิงหาคม : วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ

ในวันที่ 18 สิงหาคม ของทุกปี ได้ถูกกำหนดให้เป็น “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ” เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” ผู้ทรงมีความสำคัญต่อวงการวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ไทย

จากเหตุการณ์สำคัญในวันที่ 18 สิงหาคม 2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง ซึ่งทรงคำนวณไว้ล่วงหน้าถึง 2 ปี ว่าจะเกิดในวันอังคาร ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 10 ปีมะโรง จุลศักราช 1230 โดยจะเห็นหมดดวงที่บ้านหว้ากอ แขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ จึงโปรดฯ ให้สร้างค่ายหลวงและพลับพลาที่ประทับ โดยมีคณะนักดาราศาสตร์จากฝรั่งเศส และ “เซอร์ แอร์รี่ ออร์ด” เจ้าเมืองสิงคโปร์ เดินทางมาเข้าเฝ้าฯ และร่วมสังเกตการณ์ด้วย

การเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ตั้งแต่ปราณบุรีลงไปถึงชุมพร ตามที่ได้ทรงคำนวณไว้ล่วงหน้าอย่างแม่นยำ โดยใช้หลักวิชาทางดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์ในครั้งนี้ นับเป็นสัมฤทธิ์ผลทางวิทยาศาสตร์ชิ้นแรกของไทยที่ได้รับการยืนยันโดยประจักษ์พยานชาวต่างประเทศที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ และนับเป็นสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งแรกเท่าที่มีบันทึกไว้ในประเทศไทย

ต่อมาในปี 2525 สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เสนอเรื่องผ่านทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน (ในสมัยนั้น) ขอให้รัฐบาลเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ให้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และกำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคม ของทุกปีเป็น “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ” โดยเริ่มจัดงานเชิงวิชาการทั่วประเทศเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2525

18 สิงหาคม 2567 : วันสารทจีน

“วันสารทจีน” หรือ “เทศกาลสารทจีน (Ghost Festival)” คือประเพณีที่ชาวจีนจะแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษโดยพิธีเซ่นไหว้ด้วยอาหารคาวหวาน กระดาษเงิน-กระดาษทอง เสื้อผ้า ของใช้ต่าง ๆ และยังถือเป็นเดือนที่ประตูนรกเปิดให้วิญญาณทั้งหลายมารับกุศลผลบุญได้

โดย “วันสารทจีน” จะตรงกับวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 7 ตามปฏิทินทางจันทรคติของจีน ซึ่งจะช้ากว่าปฏิทินทางจันทรคติของไทยประมาณ 2 เดือน ที่จะตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 9 โดยในปี 2567 “วันสารทจีน” ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม 2567

ชาวจีนจะเรียก “วันสารทจีน” ว่า “GuiJie (กุ่ยเจี๋ย)” หรือ “Wangren Jie (หวางเหรินเจี๋ย)” โดยคำว่า Gui (กุ่ย) หมายถึง ผี Wangren (หวางเหริน) หมายถึง คนที่ตายไปแล้ว และ Jie (เจี๋ย) หมายถึง เทศกาล

การไหว้ใน “วันสารทจีน” แบ่งออกเป็น 3 ชุด คือ ชุดสำหรับไหว้เจ้าที่ ชุดสำหรับไหว้บรรพบุรุษ และชุดสำหรับไหว้สัมภเวสี โดยจะมีขนมไหว้พิเศษอย่างขนมเทียน-ขนมเข่ง ซึ่งต้องแต้มจุดสีแดงไว้ตรงกลาง เนื่องจากชาวจีนมีความเชื่อว่า สีแดงเป็นสีแห่งความเป็นศิริมงคล นอกจากนั้นก็มีผลไม้ น้ำชา หรือเหล้าจีน และกระดาษเงิน-กระดาษทอง

19 สิงหาคม : วันมนุษยธรรมโลก (World Humanitarian Day : WHD)

ในปี 2552 “องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN)” ได้กำหนดให้วันที่ 19 สิงหาคม ของทุกปีเป็น “วันมนุษยธรรมโลก (World Humanitarian Day : WHD)” เพื่อรำลึกถึงวันครบรอบเหตุระเบิดสำนักงานใหญ่สหประชาชาติในอิรัก ซึ่งมีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 22 ราย หนึ่งในนั้นคือ “เซอร์จิโอ วิเอรา เด เมลโล (Sérgio Vieira de Mello)” ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติรวมอยู่ด้วย

“เซอร์จิโอ วิเอรา เด เมลโล (Sérgio Vieira de Mello)” เกิดและเติบโตในบราซิล เขาทำงานอย่างมุ่งมั่นเพื่อช่วยเหลือเหยื่อความขัดแย้งในสงคราม เป็นผู้ผลักดันการก่อตั้งวันมนุษยธรรมโลก รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ถึงภัยสงคราม และสื่อสารกับผู้คนทั่วโลกเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ผู้บริสุทธิ์ที่ต้องดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดและติดอยู่กับความขัดแย้งที่พวกเขาไม่ต้องการมีส่วนร่วม

“วันมนุษยธรรมโลก (World Humanitarian Day : WHD)” ยังถูกกำหนดขึ้น เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ปฏิบัติงานช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทั่วโลก ที่ต้องอยู่ในเขตความขัดแย้งหรือพื้นที่เสี่ยงภัยทางธรรมชาติ ซึ่งอาจต้องสละชีวิตและได้รับบาดเจ็บระหว่างการทำงาน ด้วยความพยายามที่จะช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตขึ้นในโลก

19 สิงหาคม : วันอุรังอุตังสากล (International Orangutan Day)

“อุรังอุตัง (Orangutan)” มี DNA 97% ร่วมกันกับมนุษย์!!! หรืออาจกล่าวว่าเป็นญาติกับมนุษย์เลยก็ว่าได้ นี่คือสัตว์ที่มีสติปัญญาสูงที่สุด โดย “อุรังอุตัง (Orangutan)” เป็นชื่อที่มาจากรากศัพท์ในภาษามลายู คือ “โอรัง (Orang)” ที่แปลว่า คน และ “ฮูตัน (Hutan)” ที่แปลว่า ผืนป่า รวมแล้วจึงมีความหมายว่า “มนุษย์แห่งพงไพร”

ด้วยแขนที่มีความยาว จนเกือบจะแตะพื้นได้เมื่อยืน ทำให้ “อุรังอุตัง (Orangutan)” เป็นลิงที่มีความเชี่ยวชาญมากในการใช้ชีวิตบนต้นไม้ สามารถโหนตัวจากกิ่งหนึ่งไปยังอีกกิ่งหนึ่งได้อย่างรวดเร็ว โดยส่วนใหญ่พบเฉพาะในป่าของเกาะบอร์เนียวและเกาะสุมาตราเท่านั้น

นับตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา จำนวน “อุรังอุตัง (Orangutan)” บนเกาะสุมาตรา ลดลงเฉลี่ยปีละ 1,000 ตัว สาเหตุหลักคือการตัดไม้ทำลายป่า การบุกรุกผืนป่าซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ รวมถึงการล่าอย่างผิดกฎหมาย ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าบางคนเชื่อว่า “อุรังอุตัง (Orangutan)” ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ จะสูญพันธุ์ในอีก 50 ปีข้างหน้า

วันที่ 19 สิงหาคม ของทุกปี จึงถูกกำหนดให้เป็น “วันอุรังอุตังสากล (International Orangutan Day)” เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงในการสูญพันธุ์ การปกป้องและอนุรักษ์ รวมถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศในป่าให้สมบูรณ์ เพื่อให้ “อุรังอุตัง (Orangutan)” อยู่กับเราไปอีกนานแสนนาน

19 สิงหาคม : วันถ่ายภาพโลก (World Photography Day)

ในปี 2553 “Korske Ara” ช่างภาพมืออาชีพ ได้ก่อตั้ง “วันถ่ายภาพโลก (World Photography Day)” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนถ่ายภาพที่มีความหมายสำหรับพวกเขา ทั้งยังเพื่อรำลึกถึงวันที่ 19 สิงหาคม 2382 ที่รัฐบาลฝรั่งเศสได้จดสิทธิบัตร “ดาแกโรไทป์ (Daguerreotype)” กระบวนการถ่ายภาพบนแผ่นโลหะ

ในวันนี้เราจะได้เฉลิมฉลองกับงานศิลปะ งานฝีมือทางวิทยาศาสตร์ และประวัติศาสตร์ของการถ่ายภาพ รวมถึงร่วมแบ่งปันภาพดี ๆ ให้โลกชื่นชมไปด้วยกัน โดยในวันที่ 19 สิงหาคม 2553 ซึ่งเป็นการจัดงาน “วันถ่ายภาพโลก (World Photography Day)” ขึ้นเป็นครั้งแรกนั้น ช่างภาพเกือบ 270 คน ได้แบ่งปันภาพของพวกเขาให้ผู้คนกว่า 100 ประเทศทั่วโลก เข้าเยี่ยมชมได้ผ่านแกลอรี่ออนไลน์

คำจำกัดความของ “การถ่ายภาพ (Photography)” มาจากวิธีการบันทึกภาพ ซึ่งเปรียบเสมือน “การวาดภาพด้วยแสง” โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ “เซอร์ จอห์น เฮอร์เชล (John Herschel)” ได้คิดค้นแนวคิดนี้ขึ้นในปี 2382 เขาใช้คำในภาษากรีก “phōtós” ที่แปลว่า “แสง” และ “graphê” ที่แปลว่า “การวาดภาพหรือการเขียน”

20 สิงหาคม : วันยุงโลก (World Mosquito Day)

“ยุง (Mosquito)” ตัวร้ายที่เป็นพาหะนำโรค “มาลาเรีย (Malaria)” ซึ่งเป็นโรคที่คร่าชีวิตผู้คนมากกว่าครึ่งล้านคนทุกปี โดยในปี 2553 พบการเสียชีวิตในแอฟริกากว่า 90% โดยองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ได้รายงานความกังวลเกี่ยวกับโรคมาลาเรียที่ดื้อยาและอาจขัดขวางความพยายามในการลดการแพร่กระจายโรค

ในปี 2440 “เซอร์ โรนัลด์ รอสส์ (Sir Ronald Ross)” ศัลยแพทย์กองทัพอังกฤษที่ทำงานในอินเดีย ได้ค้นพบว่า ยุงตัวเมียเป็นพาหะแพร่เชื้อมาลาเรียมาสู่มนุษย์ ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจและมาตรการป้องกันใหม่ ๆ ที่จะควบคุมการแพร่กระจายของโรคได้ในเวลาต่อมา โดยเขาได้รับรางวัลโนเบล สาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ ในปี 2445

นอกจากนี้ เขายังได้กำหนดให้วันที่ 20 สิงหาคม ของทุกปีเป็น “วันยุงโลก (World Mosquito Day)” เพื่อให้ผู้คนตระหนักรู้ถึงอันตรายของ “มาลาเรีย (Malaria)” พาหะนำโรคอย่าง “ยุง (Mosquito)” และการป้องกันตัวเองจากโรคนี้

22 สิงหาคม 2503 : “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยพระองค์แรก สิ้นพระชนม์

“พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยพระองค์แรก ทรงเป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไชยมงคล กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย (พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าไชยันตมงคล) กับ หม่อมส้วน ไชยันต์ ณ อยุธยา ประสูติเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2442 มีพระนามเดิมว่า “หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์”

ทรงสำเร็จการศึกษาจาก École libre des sciences politiques (ELSP) กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ภายหลังเสด็จนิวัติพระนคร ได้ทรงดำรงตำแหน่งเลขานุการกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และตำแหน่งสำคัญอีกมากมาย อาทิ อธิบดีกรมสรรพกร อธิบดีกรมศุลกากร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ปี 2491-2492) และทรงเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยพระองค์แรก เมื่อปี 2498

เมื่อครั้งที่ทรงดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายไทยของกระทรวงการคลัง ได้ทรงเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเตรียมจัดตั้งธนาคารชาติไทย ในที่สุดสภาผู้แทนราษฎรได้อนุมัติร่างพระราชบัญญัติและประกาศในราชกิจจานุเบกษา สำนักงานธนาคารชาติไทย จึงได้ถือกำเนิดขึ้น ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ธนาคารแห่งประเทศไทย” เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2485

ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องเผชิญปัญหาด้านการเงินการคลังในระหว่างสงคราม ตลอดจนการป้องกันภาวะเงินเฟ้อในประเทศ พระองค์ได้ทรงเสนอวิธีการต่าง ๆ ต่อรัฐบาล จนสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้สำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี

“พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย” สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2503 สิริพระชนมายุ 61 พรรษา

25 สิงหาคม : วันแห่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (即席ラーメン記念日)

“บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” กำเนิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ปี 2484 - 2488) ประเทศญี่ปุ่นกำลังตกอยู่ภายใต้ภาวะแพ้สงคราม ทำให้ประชาชนยากจน จนถึงกับมีอาหารไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงดูตัวเองได้

“โมโมฟุกุ อันโดะ (安藤 百福)” นักธุรกิจชาวญี่ปุ่น ผู้มีความเชื่อว่า สันติภาพที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อผู้คนมีอาหารบริโภคอย่างเพียงพอ จึงพยายามหาวิธีแก้ปัญหาปากท้องให้เพื่อนร่วมชาติ

เขาได้คิดค้น “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลกในวันที่ 25 สิงหาคม 2501 ต่อมาญี่ปุ่น จึงถือเอาวันที่ 25 สิงหาคม ของทุกปีเป็น “วันแห่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (即席ラーメン記念日 - Sokuseki Ramen Kinenbi)”

นี่จึงเป็นที่มาของฉายา “บิดาแห่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ของผู้คิดค้นอย่าง “โมโมฟุกุ อันโดะ (安藤 百福)” ซึ่งต่อมาเขาได้กลายเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเจ้าดังของญี่ปุ่นด้วย

สำหรับ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” รสชาติแรกที่โลกได้ลิ้มลองคือ “チキンラーメン (ชิกิ้น ราเมน - Chikin Ramen)” หรือราเมนรสไก่ เป็นรสชาติยอดนิยมที่ขายดีมาจนถึงทุกวันนี้

น่าชื่นชมกับความอร่อยง่าย ๆ ของ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ที่ถูกคิดค้นด้วยวิธีที่ชาญฉลาด โดยการนำเอาเส้นราเมน ผสมกับน้ำซุปกระดูกไก่ แล้วทอดในน้ำมันปาล์ม เพื่อไล่ความชื้นออกไป ทำให้สามารถเก็บไว้ได้นาน แค่เติมน้ำร้อน เส้นก็จะคืนสภาพเดิมและรับประทานได้ทันที โดยไม่ต้องปรุงอะไรเพิ่มเติมเลย

26 สิงหาคม : วันสุนัขโลก (International Dog Day)

ในปี 2547 “คอลลีน เพจ (Colleen Paige)” นักเขียน - ผู้เชี่ยวชาญด้านไลฟ์สไตล์และสัตว์เลี้ยง ได้ก่อตั้งให้วันที่ 26 สิงหาคม ของทุกปีเป็น “วันสุนัขโลก (International Dog Day)” เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการรับเลี้ยงสุนัขในศูนย์ช่วยเหลือและสถานสงเคราะห์ รวมทั้งยังเป็นโอกาสสำหรับสุนัขทุกตัวที่จะมีชีวิตที่ปลอดภัย มีความสุข และปราศจากการละเมิดสวัสดิภาพสัตว์

เหตุผลที่เธอเลือกวันที่ 26 สิงหาคม ของทุกปีเป็น “วันสุนัขโลก (International Dog Day)” เนื่องจากเป็นวันสำคัญเมื่อเธอมีอายุ 10 ขวบ ครอบครัวของเธอได้รับเลี้ยงสุนัขชื่อ “เชลตี้ (Sheltie)” เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ในบ้าน ทำให้เธอตกหลุมรักเจ้าเพื่อนตัวใหญ่ใจดีเข้าอย่างจัง

นอกจากจะเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์มาตั้งแต่หลายพันปีก่อน ในปัจจุบัน “สุนัข” ยังมีส่วนช่วยเหลือสังคมมนุษย์ผ่านบทบาทสำคัญต่าง ๆ เช่น เป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ติดตามระเบิดหรือผู้ค้ายา ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ต้องการ รวมถึงสามารถระบุมะเร็งในผู้ป่วยได้อีกด้วย

29 สิงหาคม : วันแห่งเนื้อย่าง (焼肉の日 - Yakiniku No Hi)

ในปี 2536 “สมาคมเนื้อย่างแห่งญี่ปุ่น (All Japan Yakiniku Association)” ได้กำหนดให้วันที่ 29 สิงหาคม ของทุกปีเป็น “วันแห่งเนื้อย่าง (ญี่ปุ่น) (焼肉の日 - Yakiniku No Hi)” เพื่อเชิญชวนและรณรงค์ให้ชาวญี่ปุ่นหันมาบริโภคเนื้อย่าง ซึ่งถือเป็นเมนูห้ามพลาดที่เหมาะกับอากาศหนาว ๆ ของญี่ปุ่น ที่เป็นแหล่งกำเนิดของเนื้อวัวคุณภาพที่เรารู้จักกันดี อย่างเนื้อโกเบอีกด้วย

ที่ต้องเป็นวันที่ 29 สิงหาคม ก็เพื่อให้เป็นการเล่นคำพ้องเสียงในภาษาญี่ปุ่น ระหว่างคำว่า “Ya-Ki-Ni-Ku (焼肉)” ที่แปลว่า “เนื้อย่าง” กับคำที่เรียงกันเป็นประโยคว่า “八” (Ya) ที่แปลว่า 8 “月” (Tsuki) ที่แปลว่า เดือน “に” (Ni) ที่แปลว่า 2 และ “く” (Ku) ที่แปลว่า 9 ซึ่งรวมกันแล้วแปลได้ว่า เดือน 8 วันที่ 29 นั่นเอง

30 สิงหาคม : วันผู้สูญหายสากล (International Day of the Disappeared)

ในวันที่ 21 ธันวาคม 2553 สมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ได้ผ่านมติที่ 65/209 แสดงความกังวลต่อสถิติการถูกบังคับให้สูญหายที่เพิ่มมากขึ้นในหลายภูมิภาคทั่วโลก รวมไปถึงการจับกุม กักขังและลักพาตัว อีกทั้งยังมีตัวเลขรายงานการข่มขู่คุกคามพยานหรือครอบครัวผู้เสียหายที่พุ่งสูงขึ้น

ซึ่งในมติดังกล่าว อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ จึงได้รับการรับรองจากสมัชชาสหประชาชาติ และประกาศให้วันที่ 30 สิงหาคม ของทุกปีเป็น “วันผู้สูญหายสากล (International Day of the Disappeared)” โดยเริ่มครั้งแรกในปี 2554 เป็นต้นมา

30 สิงหาคม : วันฉลามวาฬสากล (International Whale Shark Day)

ในปี 2551 มีการจัดประชุมฉลามวาฬนานาชาติที่เกาะอิสลา โฮลบ็อกซ์ (Isla Holbox) ในเม็กซิโก (Mexico) ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านมหาสมุทร นักเคลื่อนไหว และนักวิทยาศาสตร์กว่า 40 คน ที่ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับจำนวนประชากร “ฉลามวาฬ (Whale Shark)” ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นที่มาของ “วันฉลามวาฬสากล (International Whale Shark Day)” ในวันที่ 30 สิงหาคม ของทุกปี

“ฉลามวาฬ (Whale Shark)” เป็นฉลามสายพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก จุดเด่นคือลายจุดและลายเส้นบนผิวหนัง ว่ายน้ำอย่างเชื่องช้า นิสัยอ่อนโยน ชอบกินแพลงก์ตอน (Plankton) เป็นที่หนึ่ง รองลงมาคือหมึกและปลา

เจ้าปลาใหญ่ใจดีตัวนี้ สืบสายพันธุ์มาตั้งแต่ยุคจูราสสิค (Jurassic) และยุคครีเทเชียส (Cretaceous) ทุกฤดูใบไม้ผลิ “ฉลามวาฬ (Whale Shark)” จะอพยพไปที่แนวปะการัง Ningaloo Reef ในภูมิภาคชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย เพื่อไปรับประทานของโปรดประโยชน์เยอะอย่างแพลงก์ตอน (Plankton) นั่นเอง

โดยในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา “ฉลามวาฬ (Whale Shark)” ถูกจัดให้อยู่ในรายชื่อสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ของโลก จากการถูกล่าเพื่อเอาเนื้อ ครีบ หรือล่าเพื่อความบันเทิง ซึ่งนอกจากผิดกฎหมายแล้ว ยังทำให้ประชากร “ฉลามวาฬ (Whale Shark)” ลดลงกว่า 50% ทั่วโลก

จำนวนที่ลดลงของ “ฉลามวาฬ (Whale Shark)” ยังหมายถึงสภาพแวดล้อมทางทะเลที่อาจตกอยู่ในอันตรายเช่นกัน เพราะหากไม่มี “ฉลามวาฬ (Whale Shark)” ช่วยกินแพลงก์ตอน (Plankton) ก็จะมีการเจริญเติบโตของสาหร่ายมากเกินไป ซึ่งจะส่งผลเสียต่อปลาสายพันธุ์อื่น สิ่งแวดล้อม และมนุษย์ในที่สุด

“วันฉลามวาฬสากล (International Whale Shark Day)” จึงมีความสำคัญมากกว่าแค่การให้ความสำคัญกับ “ฉลามวาฬ (Whale Shark)” ให้มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างความตระหนักรู้ในการปกป้องและอนุรักษ์ “ฉลามวาฬ (Whale Shark)” รวมถึงทุกสิ่งมีชีวิตในทะเลอีกด้วย

31 สิงหาคม : วันตระหนักถึงการใช้ยาเกินขนาดสากล (International Overdose Awareness Day)

การใช้ยาเกินขนาดอันตรายกว่าที่คิด! เพราะนอกจากความตายแล้ว อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บอย่างถาวร ซึ่งไม่เพียงส่งผลร้ายต่อตัวเองเท่านั้น แต่คนใกล้ชิดก็อาจได้รับผลกระทบทางจิตใจด้วยเช่นกัน

ในปี 2544 แซลลี่ เจ. ฟินน์ (Sally J. Finn) และ ปีเตอร์ สเตรเกอร์ (Peter Streker) จึงได้ก่อตั้งให้วันที่ 31 สิงหาคม ของทุกปีเป็น “วันตระหนักถึงการใช้ยาเกินขนาดสากล (International Overdose Awareness Day)” เพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตที่เกิดจากการใช้ยาเกินขนาด ด้วยการให้ความรู้เรื่องการใช้ยาอย่างถูกวิธี หาแนวทางการป้องกัน รวมถึงช่วยเหลือผู้คนให้รับมือกับผลกระทบของการใช้ยาเกินขนาด

31 สิงหาคม 2540 : “เจ้าหญิงไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์” สิ้นพระชนม์

“เจ้าหญิงไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ (Diana, Princess of Wales)” ประสูติเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2504 ที่เมืองนอร์ฟอล์ก (Norfolk) สหราชอาณาจักร ได้รับตำแหน่ง “เลดี้ไดอานา ฟรานเซส สเปนเซอร์ (Lady Diana Frances Spencer)” ในปี 2518 เมื่อบิดาได้สืบทอดตำแหน่งเอิร์ล สเปนเซอร์ คนที่ 8 (Earl Spencer)

ต่อมาในวันที่ 29 กรกฎาคม 2524 ได้อภิเษกสมรสกับ “เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ (Charles, Prince of Wales)” ที่มหาวิหารเซนต์พอล (St. Paul's Cathedral) ในกรุงลอนดอน (London) สหราชอาณาจักร และได้รับการสถาปนาเป็น “เจ้าหญิงไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ (Diana, Princess of Wales)”

แม้ว่าจะมีการหย่าร้างในวันที่ 28 สิงหาคม 2539 แต่ “เจ้าหญิงไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ (Diana, Princess of Wales)” ยังคงได้รับการยกย่องในฐานะสมาชิกราชวงศ์ และพระมารดาของเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รี่

“เจ้าหญิงไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ (Diana, Princess of Wales)” สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2540 ด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส สิริพระชนมายุ 36 พรรษา พร้อมด้วย “โดดี อัล ฟาเย็ต (Dodi Al Fayed)” เพื่อนชายคนสนิท

อุบัติเหตุดังกล่าว เกิดขึ้นจากรถมอเตอร์ไซค์ของนักข่าวปาปารัสซีที่ไล่ตามรถพระที่นั่งด้วยความเร็วสูง ซึ่งนอกจากจะสร้างความสะเทือนใจต่อผู้คนทั่วโลกแล้ว ยังก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงสาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุครั้งนี้อย่างกว้างขวาง และกลายเป็นกรณีตัวอย่างของการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลโดยสื่อมวลชนอีกด้วย

🗝 เล่าอดีต บันทึกปัจจุบัน รอบรู้ทุกวัน กับ Thai PBS On This Day

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Thai PBS On This DayThai PBS Digital MediaThai PBSไทยพีบีเอสวันสำคัญวันนี้ในอดีตวันสตรีไทยวันมะเร็งปอดโลกWorld Lung Cancer Dayโรคมะเร็งปอดLung CancerออกซิเจนOxygenO2Tower Subwayสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพมหามกุฎราชวิทยาลัยอเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์Alexander Graham Bellรางวัลตุ๊กตาทองรางวัลพระสุรัสวดีสัตวแพทย์วันสัตวแพทย์ไทยวันสื่อสารแห่งชาติมาริลิน มอนโรMarilyn Monroeวันรพีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์พระบิดาแห่งกฎหมายไทยวันอาเซียนASEAN Dayประเทศอาเซียนวันแห่งคนอ้วนデブの日วันแมวสากลวันแมวโลกInternational Cat Day8888 Uprisingวันสากลว่าด้วยชนพื้นเมืองดั้งเดิมของโลกInternational Day Of the World’s Indigenous PeopleวันสิงโตโลกWorld Lion Dayสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงวันแม่แห่งชาติคำขวัญวันแม่แห่งชาติ
วิรินทร์ พรหมสาขา ณ สกลนคร | จูล~Joule
ผู้เขียน: วิรินทร์ พรหมสาขา ณ สกลนคร | จูล~Joule

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ทาสแมวผู้เลี้ยงกระต่ายอย่างมืออาชีพ รักในศิลปะ การถ่ายภาพและดนตรีนอกกระแส ชื่นชอบการชมภาพยนตร์ในโรง รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด