Secret Story | ริวจิ ซากาโมโตะ กับบทเพลงแห่ง “พระราชวังต้องห้าม”


Lifestyle

10 ก.ค. 67

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

Logo Thai PBS
แชร์

Secret Story | ริวจิ ซากาโมโตะ กับบทเพลงแห่ง “พระราชวังต้องห้าม”

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1367

Secret Story | ริวจิ ซากาโมโตะ กับบทเพลงแห่ง “พระราชวังต้องห้าม”
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ใน Ryuichi Sakamoto: Coda สารคดีปี ค.ศ. 2017 ที่กำกับโดย สตีเฟน โนมูระ ชีเบิล เราได้เห็น ริวอิจิ ซากาโมโตะ คีตกวีผู้โด่งดังและเก่งกาจชาวญี่ปุ่น คว้าถังพลาสติกครอบหัวแล้วเดินออกไปหน้าบ้านเพื่อฟังเสียงฝนที่ตกกระทบลงนั้น ได้เห็นเขาสวมรองเท้าบูทออกไปเดินย่ำใบไม้กลางป่า เพื่อฟังเสียงแห้งกรอบแกรบยามฤดูใบไม้ร่วง และเมื่อสบโอกาส เขาก็ออกเดินทางไกลไปพร้อมเรือสำรวจขั้วโลก เพื่อจะเก็บเสียงจากเครื่องบันทึกที่เขาหย่อนลงในโพรงเล็ก ๆ กลางผืนน้ำแข็ง

ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะความซุกซนอยากรู้อยากเห็น (แม้ว่าก็ใช่ นั่นคือนิสัยของเขาแน่ ๆ) แต่ยังเพราะในสายตาของซากาโมโตะแล้ว ธรรมชาติเปรียบเสมือน “จานสีแห่งเสียง” อันกว้างใหญ่ไพศาลและน่าอัศจรรย์ เขาเชื่อว่าโลกนี้เต็มไปด้วยเสียงที่เฝ้ารอให้จิตรกรทางดนตรีอย่างเขา เอื้อมคว้ามาผสมผสานกับท่วงทำนองและเครื่องดนตรีอื่น ๆ แล้วใช้ความกล้าทดลองแต่งแต้มออกเป็นเพลงที่ทั้งมีเอกลักษณ์ ลึกซึ้ง และไพเราะ

ในบรรดาผลงานมากมายที่ซากาโมโตะสร้างไว้ก่อนที่เขาจะจากเราไปเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ปี ค.ศ. 2023 นั้น ชิ้นหนึ่งที่น่าจะคุ้นหูหลาย ๆ คนและเป็นชิ้นที่ได้รับการยกย่องมากที่สุด ก็คืองานดนตรีประกอบหนังมหากาพย์ปี ค.ศ. 1987 เรื่อง The Last Emperor ของผู้กำกับชาวอิตาลี แบร์นาโด แบร์โตลุชชี ซึ่งเล่าเรื่องของ ผู่อี๋ จักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ชิง ผู้ได้เผชิญกับการขึ้นสู่จุดสูงสุดและการร่วงหล่นจากอำนาจ ท่ามกลางภาวะเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอันรุนแรงในประเทศจีน

สารคดี Ryuichi Sakamoto: Coda ซากาโมโตะเผยเบื้องหลังการทำงานของหนังเรื่องนี้ไว้สั้น ๆ แต่ก็เป็นเกร็ดที่น่าทึ่งมาก ๆ โดยเฉพาะเมื่อเราคิดถึงผลงานที่ปรากฏออกมาและความอยู่ยั้งยืนยงกลายเป็นตำนานของมัน บทความนี้จึงขอนำรายละเอียดที่มากกว่านั้นมาเล่าเพิ่มเติมค่ะ

การมาร่วมงานของซากาโมโตะกับ The Last Emperor ต้องเรียกได้ว่า “ไม่คาดฝัน” เพราะมันเริ่มจาก 4 ปีก่อนหน้านั้นที่อยู่ ๆ นางิสะ โอชิมะ ผู้กำกับผู้ยิ่งใหญ่และอื้อฉาวของญี่ปุ่นก็ชวนเขาไปแสดงนำ ! ในหนังเรื่อง Merry Christmas Mr. Lawrence (ปี ค.ศ. 1983) ในบทนายทหารผู้เก็บงำตัวตนที่แท้จริงไว้ภายใต้บุคลิกเคร่งขรึมโหดเหี้ยม และลงเอยด้วยการที่เขาได้ควบตำแหน่งคนทำเพลงประกอบให้ด้วย ต่อมาไม่นานในงานเลี้ยงแห่งหนึ่ง โอชิมะแนะนำให้เขาได้รู้จักกับแบร์โตลุชชี (ซึ่งกำลังหมกมุ่นกับการเตรียมงาน The Last Emperor) โดยทั้งคู่ไม่รู้เลยว่า บทสนทนาสั้น ๆ ในคืนนั้นจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมงานของพวกเขาในฐานะผู้กำกับและคอมโพสเซอร์คู่บุญในเวลาต่อมา

หลายปีผ่านไป วันหนึ่งเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น และเมื่อซากาโมโตะรับสาย ปลายทางก็สร้างความประหลาดใจเป็นที่สุดเพราะมันคือคำเชื้อเชิญให้เขาเข้าร่วมกองถ่าย The Last Emperor ที่ประเทศจีน...ในฐานะนักแสดง (อีกแล้ว) แม้คราวนี้จะเป็นแค่บทสมทบ แต่นิสัยของซากาโมโตะเป็นคนชอบความท้าทายใหม่ ๆ เขาจึงตอบรับคำชวนเดินทางไปยังเมืองฉางชุนทันที โดยคาดไม่ถึงอีกนั่นแหละว่ามันจะนำเขามาสู่การสร้างผลงานดนตรีระดับประวัติศาสตร์ในที่สุด

ที่จีน แบร์โตลุชชีกำลังหงุดหงิดกับดนตรีประกอบที่ไม่ได้ดั่งใจ เมื่อได้เจอซากาโมโตะ เขาจึงลั่นปากให้คอมโพสเซอร์หนุ่มช่วยแต่งเพลงสำหรับวงออเคสตรา เพื่อใช้ในฉากพิธีราชาภิเษกให้ที ด้วยเงื่อนไขว่ามีเวลาแค่สองวัน ! ฟังดูช่างเป็นคำขอที่เหลือเชื่อ แต่เรื่องเหลือเชื่อยิ่งกว่านั้นคือซากาโมโตะดันทำได้ ! เขาทั้งแต่งเพลง ซ้อมวง และบันทึกเสียงกับวงใหญ่ภายในสองวันตามนั้น แถมผลยังเป็นที่พอใจอย่างสุด ๆ ของแบร์โตลุชชีอีกต่างหาก

ด้วยเหตุนี้เอง หลังจากหนังถ่ายทำเสร็จสิ้นไปแล้วหลายเดือน ซากาโมโตะจึงได้รับโทรศัพท์สำคัญอีกครั้ง คราวนี้ปลายทางแจ้งว่าแบร์โตลุชชีอยากให้เขามารับหน้าที่แต่งเพลงประกอบ The Last Emperor ไปเลยทั้งเรื่อง แต่มีเวลาทำงานแค่สัปดาห์เดียวเท่านั้น ! (มันจะอะไรกันนักกันหนา !) แม้จะฟังดูไม่น่าเป็นไปได้ แต่มีหรือที่คนอย่างซากาโมโตะจะปฏิเสธ เขาตอบตกลง โดยขอแค่ต่อรองยืดเวลาเป็นสองสัปดาห์ (เขาเล่าด้วยว่าที่ยอมตกปากรับคำ ก็เพราะแบร์โตลุชชีใช้วิธียุกึ่งท้าว่า “ที เอนนิโอ มอร์ริโคเน นักแต่งเพลงชื่อดังระดับตำนานยังเคยทำสกอร์ชั้นยอดเสร็จในไม่กี่วันได้เลย”)

แน่นอนว่าช่วงเวลาแสนสั้นนั้น ต้องเต็มไปด้วยความกดดัน และความสร้างสรรค์ ซากาโมโตะสามารถแต่งท่อนดนตรีได้ทั้งสิ้นถึง 45 ท่อน พร้อม ๆ กับที่ต้องคัดเลือกนักดนตรีชาวจีนในโตเกียว และบันทึกเสียงการแสดงของพวกเขาให้เสร็จทันด้วย 

ก่อนจะนำทุกอย่างบินไปลอนดอน เพื่อนำเสนอบทเพลงนี้ให้แก่แบร์โตลุชชีและทีมงานชาวอิตาลีคนอื่น ๆ ฟัง ซากาโมโตะเล่าถึงช่วงเวลาแห่งความประทับใจนี้ไว้ในสารคดีว่า เมื่อทุกคนได้ฟังเพลงก็พากันร้องไห้ออกมาด้วยความซาบซึ้งพร้อมกับตะโกนว่า "ยอดเยี่ยมที่สุด !" ซึ่งเป็นท่าทีแสดงการยอมรับและชื่นชม ที่ทำให้ซากาโมโตะรู้สึกมีความสุขอย่างพิเศษ และเป็นเหตุผลให้เขาหลงรักการทำเพลงประกอบหนัง ทั้งยังยินดีกลับไปร่วมงานกับแบร์โตลุชชีในหนังเรื่องต่อ ๆ มาอย่าง The Sheltering Sky และ Little Buddha นั่นเอง

วิธีทำงานของซากาโมโตะน่าจะเรียกได้ว่าต่างจากการแต่งเพลงประกอบหนังโดยทั่วไป เขาไม่ได้เป็นนักแต่งเพลงคลาสสิกโดยสายอาชีพ แต่เติบโตมาจากวงอิเล็กทรอนิกส์ Yellow Magic Orchestra ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่หล่อหลอมให้เขามีมุมมองอันแตกต่าง สกอร์ The Last Emperor ของเขาผสมผสานระหว่างความเก่าแก่และความเป็นสมัยใหม่เพื่อสะท้อนถึงจุดเปลี่ยนผ่านจากราชวงศ์ชิงที่เสื่อมถอย และการเกิดขึ้นของสาธารณรัฐประชาชนจีน ธีมหลักของหนังเป็นเพลงบรรเลงด้วยออเคสตราเต็มวง ซึ่งถ่ายทอดความยิ่งใหญ่ของพิธีราชาภิเษก ส่วนบทเพลงที่ปรับจากธีมหลักจะสำรวจอารมณ์ที่ต่าง ๆ กันไป เช่น เพลงเศร้าที่ใช้ในฉากการตายของบิดา เพลงร่าเริงในฉากความไร้เดียงสาวัยเด็ก และท่วงทำนองจากเครื่องสายจีนโบราณ (ซอเอ้อหูและกู่เจิง) ใช้ถ่ายทอดแก่นแท้ของชีวิตภายในพระราชวังต้องห้ามของจักรพรรดิองค์สุดท้าย ผู้แม้จะเติบโตขึ้นท่ามกลางความหรูหราฟู่ฟ่า แต่ก็โดดเดี่ยวเดียวดายอย่างที่สุด

งานนี้ซากาโมโตะไม่ได้ทำเพียงลำพัง แต่เขาได้ร่วมงานกับ เดวิด เบิร์น แห่งวง Talking Heads และ ซูคง ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีคลาสสิกจีน ซึ่งผสมผสานความถนัดกันออกมาเป็นบทเพลงไร้พรมแดน ความสำเร็จของมันเป็นที่ประจักษ์เมื่อทั้งสามสามารถคว้าทั้งรางวัลออสการ์ รางวัลแกรมมี่ รางวัลลูกโลกทองคำ รวมถึงรางวัลจากสมาคมนักวิจารณ์อีกมากมายในสาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาได้ อีกทั้งก็เป็นงานนี้นี่เองที่ตอกย้ำสถานะของเขาในฐานะคอมโพสเซอร์ผู้ทรงอิทธิพลของวงการภาพยนตร์ยุคใหม่ และศิลปินผู้สร้างสรรค์บทเพลงที่ก้องอยู่ในหัวใจผู้ชมทั่วโลก

▶ ติดตามสารคดี Ryuichi Sakamoto: Coda จากซูเปอร์สตาร์แห่งวงการดนตรีเทคโนป๊อป สู่สถานะเจ้าของออสการ์ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม บทเพลงจากการประพันธ์ของ "ริวอิจิ ซากาโมโตะ" ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงจากมันสมองระดับอัจฉริยะ แต่มาจากการเพาะบ่มประสบการณ์ชีวิตที่หลากหลายหลังเหตุการณ์โศกนาฏกรรมฟุกุชิม่า

🎬รับชมทาง www.VIPA.me และ VIPA Application

แท็กที่เกี่ยวข้อง

VIPAdotMeสารคดี VIPASecret StoryRyuichi Sakamoto: CodaRyuichi Sakamoto รางวัลออสการ์นักแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์The Last EmperorFilm Score Composerนักแต่งเพลง
ธิดา ผลิตผลการพิมพ์
ผู้เขียน: ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

ผู้ก่อตั้ง Documentary Club คลับของคนรักสารคดี และหนังนอกกระแส

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด