จากแนวคิดให้ชาวต่างชาติถือครองอสังหาริมทรัพย์ไทยได้ 99 ปี เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติให้มาลงทุนในไทย ชวนนึกย้อนถึงช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไทยถือเป็นประเทศที่มีชาวต่างชาติมาอาศัยอยู่อย่างยาวนาน
Thai pbs พาไปย้อนรู้จัก 5 ย่าน - เมือง ที่ชาวต่างชาติพากันเข้ามา ทั้งลงทุนถือครองและอยู่อาศัยจนแทบจะได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านของชนชาตินั้น ๆ มาดูที่มาที่ไป และเราอาจมองเห็นอนาคตต่อไปของอสังหาริมทรัพย์ไทย ที่อาจอยู่ในมือของชาวต่างชาติมากขึ้น
พัทยา เมืองหลวงของเขยฝรั่ง
พัทยาถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม ขึ้นชื่อทั้งความสวยงามของธรรมชาติ และเป็นเหล่งท่องเที่ยวกลางคืนที่เต็มไปด้วยสีสัน จนได้ชื่อว่าเมืองที่ไม่เคยหลับใหล ความประทับใจจากการท่องเที่ยวทำให้มีการกลับมาเที่ยวซ้ำ การกลับมาเที่ยวเป็นประจำนำไปสู่การต่อยอด มองหาลู่ทางย้ายถิ่นฐานมาอยู่พัทยา จนพัทยากลายเป็นบ้านหลังสุดท้ายในวัยเกษียณของชาวตะวันตก
มีงานวิจัยศึกษาถึงสาเหตุเบื้องหลังเผยว่า การใช้ชีวิตในพัทยานั้นมีความสะดวกสบาย มีอิสระจากกรอบเดิม ๆ ทั้งยังมีค่าครองชีพที่ไม่สูง นอกจากนี้ ยังพบว่ามีคู่รักไทย-ตะวันตกส่วนใหญ่พบรักกันพัทยาเป็นจำนวนมาก แล้วจากนั้นจึงเดินทางไปใช้ชีวิตกับบ้านเกิดของฝ่ายหญิงที่ภาคอีสาน
อย่างไรก็ตาม คู่รักไทย-ตะวันตกอีกส่วนเลือกใช้ชีวิตอยู่ที่พัทยาต่อไป เนื่องจากการปรับตัวไปใช้ชีวิตที่แถบอีสานนั้น มีความแตกต่างจากชีวิตที่พัทยาเป็นอย่างมาก บางคนจึงไม่สามารถปรับตัวได้ จึงเลือกกลับมาอยู่ที่พัทยาและไปมาหาสู่กับบ้านฝ่ายหญิงที่ภาคอีสานแทน ด้วยเหตุเหล่านี้พัทยาจึงเริ่มมีกลุ่มชาวตะวันตกมาใช้ชีวิตบั้นปลายร่วมกันมากขึ้นเรื่อย ๆ
ศรีราชา ลิตเติ้ลโอซาก้า
ศรีราชาถือเป็นอำเภอที่มีความสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของจังหวัดชลบุรี โดยเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง ซึ่งมีชาวญี่ปุ่นเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก และต้องพำนักอยู่เป็นเวลานาน จึงทำให้มีครอบครัวชาวญี่ปุ่นเข้ามาอยู่อาศัยกันจนเกิดเป็นชุมชนคนญี่ปุ่นขึ้น
และในตัวเมืองศรีราชาโดยเฉพาะบริเวณซอยศรีราชานครที่ได้ชื่อว่า ลิตเลิ้ตโอซาก้า (Little Osaka) เมืองไทย เนื่องจากร้านรวงต่าง ๆ มีการตกแต่งเป็นแบบญี่ปุ่น มีการใช้ภาษาญี่ปุ่นเพื่อให้บริการกับชาวญี่ปุ่นที่มาอยู่ในพื้นที่ เสมือนเป็นย่านการค้าแห่งนี้ เป็นย่านชอปปิ้งในเมืองโอซาก้านั่นเอง
นอกจากนี้ ยังมีการจัดเทศกาลญี่ปุ่นศรีราชาอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งจะจัดขึ้นที่ศาลเจ้าชินโตศรีราชา อันเป็นศาสนสถานแบบญี่ปุ่นแท้ ๆ ที่หากใครได้ไปเยือนก็เหมือนหลุดเข้าไปอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ทั้งยังแท้จริงแล้วนี่คือศรีราชา ชลบุรีเท่านั้นเอง
ห้วยขวาง นิวไชน่าทาวน์
ไชน่าทาวน์ (China town) เป็นชื่อที่ใช้เรียกย่านที่อยู่อาศัยในประเทศต่าง ๆ ที่มีชาวจีนอพยพไปตั้งรกรากอยู่เป็นจำนวนมาก ในอดีตเยาวราชถือเป็นย่านไชน่าทาวน์เมืองไทย ที่ยังคงหลงเหลือวัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์มาจนถึงปัจจุบัน ถึงตอนนี้คนจีนรุ่นใหม่ดูเหมือนจะเลือกหมุดหมายมายังย่าน “ห้วยขวาง”
จากกระแสการท่องเที่ยวในเมืองไทยของคนจีน สู่การเข้ามาของกลุ่มทุนจีนจนปรากฏเป็นร้านค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะร้านอาหารที่มีการใช้ภาษาจีนมากขึ้น นอกจากนั้นยังพบว่าอาคารโรงแรมที่พักต่าง ๆ มีการเปลี่ยนเจ้าของเป็นชาวจีนและเน้นให้บริการกับคนจีนเป็นหลัก
สีสันและการเปลี่ยนแปลงจากการเข้ามาชาวจีนรุ่นใหม่เหล่านี้สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับคนไทยเองจนเกิดกระแส “หม่าล่าฟีเวอร์” ไม่ใช่น้อย ทว่าการเข้ามาเหล่านี้ ยังมาพร้อมคำถามสำคัญ จากกระแสข่าวกลุ่มทุนจีนสีเทาที่ลักลอบทำสิ่งผิดกฎหมาย จึงไม่แน่ว่าการเข้ามาครั้งนี้ของคนจีนรุ่นใหม่ ส่วนนึงอาจลงท้ายด้วยความเสียหายของคนในประเทศไทยได้
ภูเก็ต เมืองสวรรค์ของรัสเซีย
เดิมทีชาวรัสเซียเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศที่พัทยาเป็นหลัก ทว่า “ภูเก็ต” ก็เริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้นจนกลายเป็นสถานที่ตากอากาศยอดนิยม เพื่อหลบหนีจากช่วงฤดูหนาวอันโหดร้ายของประเทศรัสเซีย การที่ไทยมีนโยบายฟรีวีซ่าสำหรับท่องเที่ยวให้กับชาวรัสเซีย รวมถึงมีเที่ยวบินตรงมายังภูเก็ต ไม่ยากที่ภูเก็ตจะขึ้นมาครองใจชาวรัสเซียไว้ได้
หลังสงครามรัสเซีย - ยูเครนเกิดขึ้น ก็มีรายงานพบว่าชาวรัสเซียเดินทางเข้ามายังภูเก็ตเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยมีการเข้ามาพักอาศัยแบบระยะยาวกันเป็นจำนวนมาก
รายงานจากสำนักข่าวต่างประเทศเผยว่า ชาวรัสเซียมีการลงทุนซื้อคอนโดโดยเฉพาะคอนโดหรูราคาตั้งแต่ 5 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ (17.4 ล้านบาท) ขึ้นไปเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้อสังหาริมทรัพย์ที่ภูเก็ตมีราคาพุ่งขึ้นหลายเท่า นอกจากนี้ยังมีการซื้อบ้านหรูเพิ่มขึ้น กลายเป็นพื้นที่สำหรับหนีจากสงคราม เนื่องจากมีความเป็นอยู่ที่ดี ปลอดภัยและมีค่าครองชีพที่ถูกกว่าประเทศบ้านเกิดนั่นเอง
พาหุรัด ลิตเติ้ลอินเดีย
ย่านพาหุรัดถือเป็นย่านที่อยู่อาศัยของชาวอินเดียมาอย่างช้านาน มีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ที่มีเสน่ห์ จนเป็นที่รู้จักในฐานะลิตเติ้ลอินเดีย (The Little India) เมืองไทย ตลาดขายผ้าชื่อดัง มีร้านอาหารอินเดีย รวมถึงวัดซิกซ์ที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตความเป็นอินเดีย ที่มีวัตธรรมอันหลากหลายอยู่รวมกัน เป็นพหุวัฒนธรรม ทั้งพ่อค้าเครื่องประดับชาวมุสลิม นิกายชีอะห์ พ่อค้าอาหารอินเดียชาวฮินดู และนายห้างค้าผ้าชาวซิกข์
ถึงตอนนี้ ย่านพาหุรัดตลอดจนคลองโอ่งอ่างกลายเป็นแลนด์มาร์กทางประวัติศาสตร์ของชุมชนอินเดียที่มาตั้งถิ่นฐานในไทย ยาวนาน และยังคงเอกลักษณ์เอาไว้ ผ่านการแต่งตัว การใช้ชีวิตของของผู้คนที่ยังคงความเป็นอินเดียได้อย่างครบถ้วน
รู้หรือไม่ ? ย่านไหนเป็นทำเลทองของนักลงทุนต่างชาติ
จากแนวคิดนโยบายดันภาคอสังหาริมทรัพย์ไทย ให้ต่างชาติครองอสังหาฯ ได้ 99 ปี ผลที่อาจเกิดจึงเป็นการเข้ามาของชาวต่างชาติตามย่านการค้าต่าง ๆ ต่อไปนี้คือทำเลทองที่นักลงทุนจากต่างประเทศกำลังให้ความสนใจลงทุนกันมากขึ้น และอาจกลายเป็นลิตเติ้ลชาตินั้น ๆ ในอนาคตก็เป็นได้
1. สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี – นิคมอุตสาหกรรมที่มีชาวเมียนมาเข้ามาเป็นแรงงานหลักจำนวนมาก บางพื้นที่ถือว่าเป็นแรงงานส่วนใหญ่ของพื้นที่ไปแล้ว
2. หัวหิน – ปลายทางเกษียณอายุของชาวตะวันตก จากเดิมที่ที่มาท่องเที่ยว ความประทับใจต่อหลายสิ่งทำให้นักท่องเที่ยวผันตัวมาเป็นทั้งนักลงทุน รวมถึงมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่นี่
3. ชุมพร เขาสามมุก อ่างศิลา – สถานที่พักผ่อนหนีหนาวยอดนิยมของชาวต่างชาติในกลุ่มประเทศแถบสแกนดิเนเวีย (ยุโรปเหนือ) ถึงตอนนี้ก็เป็นจุดปลายบั้นปลายในวัยเกษียณของชาวสแกนดิเวเนียด้วย
4. สงขลา – มีเขตพื้นที่เขคเศรษฐกิจพิเศษ เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่หมายตาของชาวญี่ปุ่น ฮ่องกงและมาเลเซีย เนื่องจากเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมจึงมีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งกัมพูชา เมียนมา และลาว เข้ามาอาศัยอยู่ด้วย
อสังหาริมทรัพย์ถือเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศ จึงจำเป็นจะต้องมีกฎที่ทั้งส่งเสริมและจำกัดเพื่อให้เกิดประโยชน์กับทั้งเงินที่จะเข้ามาสู่ประเทศ และการใช้ชีวิตของผู้คนในประเทศ
ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์นั้น ด้านหนึ่งก็ต้องการให้มีการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา อีกด้านคนไทยเองก็ยังขาดที่อยู่อาศัย นโยบายรัฐจึงจำเป็นต้องมีรายละเอียดของนโยบายที่ช่วยแก้ปัญหาโดยให้ความสำคัญปัญหาทั้งสองด้านอย่างครบถ้วน
อ้างอิง
Thailand’s ‘Little Russia’: Why Rich Tourists Are Rushing To Buy Phuket’s Luxury Houses
การตั้งถิ่นฐานของชาวจีนรุ่นใหม่: กรณีศึกษาชุมชนจีนแห่งใหม่: รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์
‘พัทยา’ บ้านหลังสุดท้ายของชาวต่างชาติ