วันเสาร์ที่ 25 เม.ย.2558 เวลา 11.56 น. เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขนาด 7.9 ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองกูรข่า ห่างจากกรุงกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของเนปาลไป 80 กิโลเมตร พื้นที่ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากแผ่นดินไหวครั้งนี้มีจำนวน 14 เขต จากทั้งหมด 75 เขต รวมทั้งกรุงกาฐมาณฑุด้วย ภายหลังเกิดเหตุการณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวจากประเทศไทยและญี่ปุ่นได้เดินทางมาสำรวจความเสียหายของอาคารในกรุงกาฐมาณฑุร่วมกับทีมข่าวไทยพีบีเอสและพบว่า พื้นที่ที่เสียหายอย่างหนักจากแผ่นดินไหวมีประมาณร้อยละ 30 ของพื้นที่ทั้งหมดในกรุงกาฐมาณฑุ ความเสียหายเกิดขึ้นกับอาคารที่ไม่ได้สร้างตามมาตรฐานวิศวกรรมเพื่อรองรับแผ่นดินไหว รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิตมองว่า บทเรียนจากแผ่นดินไหวใหญ่เนปาลสามารถนำไปใช้กับประเทศไทยได้เช่นกัน
"บทเรียนแรกที่ไทยควรได้รับจากเหตุแผ่นดินไหวที่เนปาล คือ การที่สร้างบ้านไม่แข็งแรงจะได้รับความเสียหายหนักมาก เหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ของเนปาลนี้ว่ากันว่าทำให้ประเทศล้าหลังไปประมาณ 10 ปี บทเรียนที่สอง คือ แม้เนปาลจะมีกฎกระทรวงที่เข้มแข็งในเรื่องการป้องกันภัยแผ่นดินไหวเพราะเขาอยู่พื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว แต่ก็ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเต็มที่" รศ.เสรีให้ความเห็น
รศ.เป็นหนึ่ง วานิชชัย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียวิเคราะห์ตรงกันว่า ในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องสร้างอาคารให้แข็งแรงขึ้นเพื่อเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติ
จริงๆ แล้ว อาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสามารถออกแบบให้แข็งแรงต้านทานแผ่นดินไหวได้ ถ้ารูปร่างของโครงอาคารดี และเสริมเหล็กได้ถูกวิธี แต่สิ่งที่เราเห็นที่เนปาลก็คล้ายๆ กับที่บ้านเราคือ ไม่ได้ออกแบบอาคารให้ต้านทานแผ่นดินไหว การเสริมเหล็กก็ไม่ได้ใส่ใจออกแบบให้ตัวอาคารทนต่อการโยกตัวไปมา
วันที่ 12 พ.ค.2558 เวลา 12.50 น.เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขนาด 7.3 ขึ้นอีกครั้งในเนปาล ถนนและเสาไฟฟ้าโยกอย่างรุนแรง ชาวบ้านกรีดร้องและวิ่งหนีออกมาจากอาคารที่มีรอยแตกร้าวอยู่แล้วจากแผ่นดินไหวขนาด 7.8 เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ชาวบ้านตื่นตระหนกอย่างหนักเพราะเกรงว่าบ้านของพวกเขาจะถล่มลงมาจากแรงแผ่นดินไหว
หลายอาคารในกรุงกาฐมาณฑุถล่มลงมาทันทีเพราะแรงแผ่นดินไหวรอบที่ 2 ทหารและตำรวจเนปาลจึงต้องเร่งเข้าไปกู้ภัยโดยเร่งด่วน ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ นักวิชาการมองว่า อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทยได้ ถ้าศูนย์กลางแผ่นดินไหวเลื่อนมาอยู่ใกล้เมืองที่มีชุมชนหนาแน่น เช่นหลายเมืองในภาคเหนือที่มีความเสี่ยงแผ่นดินไหว
เหตุแผ่นดินไหวทั้ง 2 ครั้งที่เนปาล ทำให้โบราณสถานกว่า 200 แห่งก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะมรดกโลกทั้ง 7 แห่งในกรุงกาฐมาณฑุ บางแห่งเสียหายมากถึงกว่าร้อยละ 90 โดยหน่วยงานด้านโบราณคดีของเนปาลจะเร่งซ่อมแซมและสร้างขึ้นมาใหม่ด้วยเงินทุนสนับสนุนจากยูเนสโกและนานาชาติ รวมทั้งธนาคารโลกโดยจะใช้เวลา 5-7 ปี
เหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ในเนปาลทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 9,000 คน บาดเจ็บมากกว่า 23,000 คน และประชาชนมากกว่า 450,000 คนต้องไร้ที่อยู่อาศัย จนถึงขณะนี้ก็ยังคงมีชาวจำนวนมากที่ต้องอาศัยอยู่ในที่พักพิงชั่วคราว การบังคับใช้กฎหมายที่จะปรับปรุงให้อาคารในพื้นที่เสี่ยงภัยเป็นอาคารต้านแผ่นดินไหวจึงมีความสำคัญอย่างมากทั้งในประเทศเนปาลและไทย