ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มุมมองนักวิชาการ-เอ็นจีโอ-ภาคธุรกิจ : ไทยในอุ้งมือสหรัฐฯ กับสถานะ "เทียร์ 3" บัญชีดำการค้ามนุษย์

ต่างประเทศ
28 ก.ค. 58
03:40
302
Logo Thai PBS
มุมมองนักวิชาการ-เอ็นจีโอ-ภาคธุรกิจ : ไทยในอุ้งมือสหรัฐฯ กับสถานะ "เทียร์ 3" บัญชีดำการค้ามนุษย์

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง, สมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน, พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และสุนัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทย สนทนากับ "ณัฏฐา โกมลวาทิน" ในรายการตอบโจทย์วันที่ 27 ก.ค.2558 ว่าด้วยการที่สหรัฐอเมริกาคงสถานะของไทยไว้ในบัญชีที่ 3 ของรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2015 ซึ่งเผยแพร่เมื่อเวลาประมาณ 21.00 น.เมื่อวานนี้ (27 ก.ค.) ตามเวลาประเทศไทย

"สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์"  นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง
การที่สหรัฐฯ คงสถานะประเทศไทยไว้ในกลุ่มที่ 3 เป็นเรื่องที่ไม่เกินความคาดหมาย ซึ่งการคงสถานะของไทยไว้ที่กลุ่มประเทศอันดับที่ 3 นี้อยู่บนฐานของทั้งข้อเท็จจริงและดุลยพินิจ เพราะตั้งแต่ปี 2000 ที่สหรัฐฯ จัดทำรายงาน Trafficking in Persons  รวมทั้่งการออกกฎหมาย Trafficking Victims Protection Act (TVPA) ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ต้องการ หรือที่เรียกว่า "soft power" ซึ่งกระบวนการนี้ก็ได้ผล เพราะสหรัฐฯ สามารถใช้เป็นเครื่องมือได้จริงโดยการอ้างถึงหลักสิทธิมนุษยชนและการค้ามนุษย์ แต่อีกด้านหนึ่งประธานาธิบดีก็ใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาได้ โดยการเล่นงานประเทศที่อยู่ในเทียร์ 3 อาจใช้การตัดเงินอุดหนุนทางการศึกษา วัฒนธรรมหรือบีบให้สถาบันทางการเงินต่างๆ งดความช่วยเหลือซึ่งข้อนี้เราไม่ค่อยกระทบเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สหรัฐฯ ไม่สามารถทำได้ก็คือ การกีดกันทางการค้า การตัดจีเอสพี หรือการระงับความช่วยเหลือด้านมนุษยชนธรรม

การใช้เครื่องมือแบบนี้ไม่ได้มีเพียงแต่สหรัฐฯ เท่านั้นที่ใช้ แต่สหภาพยุโรป (อียู) ก็กำลังทำในแบบเดียวกัน สหรัฐฯ ใช้รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์เพื่อดูว่าประเทศไหนที่อยู่ในแนวทางที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ  แม้ว่าเขาจะบอกว่ารายงานนี้อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง แต่จริงๆ แล้วมันมีส่วนของดุลยพินิจอยู่ด้วยว่าจะปรับขึ้นหรือลง จนอาจเรียกได้ว่าเป็นการใช้สองมาตรฐาน ตัวอย่างเช่น คิวบา (ที่ได้ปรับอันดับขึ้นจากเทียร์ 3 มาอยู่เทียร์ 2) ก็เป็นเรื่องที่น่าสงสัยเพราะสหรัฐฯ และคิวบากำลังอยู่ในช่วงฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูต

ผมคิดว่าการคงสถานะประเทศไทยไว้ที่เทียร์ 3 เป็นเรื่องของการเมือง เพราะการพิจารณามีการใช้ดุลยพินิจอยู่ด้วย เห็นได้จากหลักเกณฑ์ที่สหรัฐฯ วางไว้ คือ
เทียร์ 1 คือประเทศที่ทำตามกฎเกณฑ์ของกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ (TVPA) เต็มที่
เทียร์ 2 คือประเทศที่ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเต็มที่ แต่มีความพยายามที่จะทำ
เทียร์ 2 ที่ขึ้นบัญชีจับตามอง (Tier 2 Watch List) คือประเทศที่อยู่ในบัญชีที่ 2 แต่มีเงื่อนไขพิเศษ เช่น จำนวนเหยื่อค้ามนุษย์เพิ่มสูงขึ้น
เทียร์ 3 คือประเทศที่ไม่ให้ความสำคัญกับการป้องกัน ช่วยเหลือเหยื่อ หรือจับกุมผู้ค้ามนุษย์

แม้ว่าการพิจารณาจัดอันดับของสหรัฐฯ จะใช้สถิติต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินคดี จำนวนเหยื่อ จำนวนเคส ฯลฯ แต่ก็ต้องยอมรับว่าใช้สถิติเหล่านี้ก็เป็นเรื่องของดุลยพินิจเหมือนกันว่า สถิติตัวไหนจะผ่านหรือไม่ผ่าน ดังนั้นในที่สุดแล้วการจัดอันดับประเทศของสหรัฐฯ ใช้ทั้งข้อมูลและดุลยพินิจในทางการเมือง

หลังจากนี้ สิ่งที่ประเทศต้องทำคือแก้ไขปัญหาตามที่รายงานฯ ระบุไว้ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้เรายังคงอยู่ในเทียร์ 3 ซึ่งเกี่ยวข้องกับกฎหมาย กระบวนการดำเนินการ การลดกรณีปัญหา การช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์
 
                        

<"">
         

"สมพงษ์ สระแก้ว" ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน
ในเรื่องของความพยายามของรัฐบาลไทยในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ถ้าเป็นหน่วยงานรัฐมองก็คงจะคิดว่าได้ทำดีที่สุดแล้ว แต่ผมมองว่าการแก้ปัญหาของภาครัฐยังมีจุดอ่อน การวางมาตรการแก้ไขระยะยาว 5 ปีก็ยังไม่เข้มข้นเพียงพอ เช่น การดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีผู้กระทำผิด การสอบสวน การคัดแยกเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าไหร่ บางคนที่เป็นผู้เสียหายกลับไม่ถูกระบุว่าเป็นผู้เสียหาย

ในรายงานการค้ามนุษย์ปี 2014 สหรัฐฯ ได้มีข้อเสนอแนะ 22 ข้อ ว่าไทยควรทำอะไรบ้างเพื่อแก้ปัญหานี้ ซึ่งขณะนี้ยังมีหลายข้อที่ยังไม่ได้ทำ

รายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการที่อียูให้ "ใบเหลือง" ประเทศไทยจากการทำประมงผิดกฎหมาย แต่ก็อาจมีการนำข้อมูลมาประกอบกัน ผมมองว่าประเด็นในการออกใบเหลืองของอียูก็คือเขาสนใจเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนบนเรือประมง แต่เรามุ่งแก้ปัญหาการใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย โดยให้ความสนใจน้อยมากเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือการคุ้มครองลูกเรือประมง  ทั้งสหรัฐฯ และอียูให้ความสนใจกับการใช้แรงงานทาสในธุรกิจประมง ผู้ที่ถูกใช้แรงงานทาสมีทั้งคนไทยและแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่เมื่อมีการหยิบยกปัญหานี้ขึ้นมาพูดทางการไทยก็ให้ความสำคัญเฉพาะคนไทย ยังไม่ได้สนใจแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเท่าที่ควร

                        

<"">

พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย
ไทยไม่สมควรที่จะถูกคงสถานะไว้ในเทียร์ 3 เพราะในช่วงปีที่ผ่านมาเราได้ทำอะไรไปเยอะมากและเป็นรูปธรรมมาก มีการแก้ไขกฎหมายต่างๆ เพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ ประกาศเป็นวาระ ผมค่อนข้างไม่สบายใจกับรายงานที่ออกมา แต่เชื่อว่าทางภาครัฐต้องรีบดำเนินการให้ดีกว่านี้อีก ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกัน ที่ผ่านมาเราทำไปเยอะแต่ประชาสัมพันธ์ไม่ชัดเจน ในความเป็นจริงการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อาจทำได้ไม่รวดเร็ว แต่สำคัญที่ว่าเราได้พยายามทำหรือเปล่า ได้ทำดีขึ้นหรือเร็วขึ้นหรือยัง

สุนัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทย
คิดว่าการคงสถานะของไทยไว้ในบัญชีที่ 3 ของการรายงานการค้ามนุษย์ไม่เกี่ยวกันเท่าไหร่กับสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยที่ปกครองด้วยรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร เพราะเนื้อหาในรายงานและที่รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ แถลงด้วยวาจาระบุถึงเหตุผลที่ชัดเจนว่าไทยยังคงอยู่ในเทียร์ 3 เพราะการแก้ปัญหายังไม่มีความคืบหน้า ซึ่งเราก็ต้องเข้าใจว่า ช่วงเวลาในการประเมินของรายงานฉบับนี้ได้ปิดรับข้อมูลไปก่อนที่ไทยดำเนินการอย่างจริงจังและเห็นผลเป็นรูปธรรม เช่น การกำหนดมาตรการการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ การช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นเหยื่อค้ามนุษย์ในเรือประมง หรือการช่วยเหลือชาวโรฮิงญา ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เราทำหลังจากสหรัฐฯ ปิดรับข้อมูลสำหรับการประเมินไปแล้ว กรณีนี้ทำให้มองย้อนกลับไปได้ว่ารัฐบาลก่อนหน้านี้ก็น่าจะรับทราบอยู่แล้วแต่เหตุใดจึงไม่แก้ปัญหา ทำให้ไทยอยู่ในบัญชี 2 เฝ้าระวัง (Tier 2 Watch List) มานานต่อเนื่องจนตกมาอยู่ในบัญชีที่ 3

หวังว่าความพยายามในการแก้ปัญหาของไทยในช่วงปีนี้จะถูกนำไปประเมินในรายงานของปีหน้า น่าจะเห็นผลในทางบวกได้มากกว่านี้

                        

<"">


ข่าวที่เกี่ยวข้อง