ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เพาะพันธุ์เชิงเศรษฐกิจ กรมอุทยานฯ กำหนดราคาขาย "เหี้ย" ตัวละ 500 บาท

สิ่งแวดล้อม
20:15
1,299
เพาะพันธุ์เชิงเศรษฐกิจ กรมอุทยานฯ กำหนดราคาขาย "เหี้ย" ตัวละ 500 บาท
อ่านให้ฟัง
03:29อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมอุทยานฯ กำหนดราคาขายพ่อแม่พันธุ์เหี้ยตัวละ 500 บาท ต้องเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตจากกรมฯ เท่านั้น รอมีผลหลังประกาศในราชกิจจาฯ ยันไม่กระทบประชากร พร้อมฝังไมโครชิพป้องกันคนหาจับในธรรมชาติ

ภายหลังเมื่อวันที่ 2 ก.ค.2568 คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า มีมติกำหนดราคาสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ รายการ "เหี้ย" เพื่อเปิดทางให้เกิดการสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ และเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่ที่คาดว่าจะสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการทั่วประเทศ ส่วนใหญ่น่าจะนำหนังไปใช้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์

ขั้นตอนต่อไป กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จะต้องเพิ่มรายชื่อดังกล่าวตามระเบียบ ในบัญชีการกำหนดราคาสัตว์ป่าแนบท้ายระเบียบกรมอุทยานฯ ว่าด้วยการกำหนดอัตราเรียกเก็บค่าใช้จ่าย ค่าบริการ หรือค่าตอบแทนและราคาสัตว์ป่า พ.ศ.2567 และรอการประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงจะมีผลให้สามารถซื้อพ่อแม่พันธุ์จากกรมอุทยานฯ ได้

วันนี้ (3 ก.ค.2568) นายเฉลิม พุ่มไม้ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ กล่าวว่า ทางกรมฯ จะเร่งออกประกาศฉบับนี้เพื่อให้สอดคล้องกับมติของคณะกรรมการฯ และภายหลังประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว จึงจะจำหน่ายพ่อแม่พันธุ์เหี้ยได้ เบื้องต้นจะจำหน่ายที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จ.ราชบุรี โดยมีเอกชนแจ้งความประสงค์แล้ว 1 ราย ในการซื้อพ่อแม่พันธุ์ประมาณ 30-40 คู่ เพื่อเปิดกิจการเพาะพันธุ์เหี้ย

ผู้ที่จะมาซื้อและนำไปเป็นพ่อแม่พันธุ์ ต้องได้รับใบอนุญาตจากกรมฯ ให้เป็นสถานที่มีสัตว์ป่าคุ้มครองเพื่อการเพาะพันธุ์
ภาพ : กรมอุทยานฯ

ภาพ : กรมอุทยานฯ

ภาพ : กรมอุทยานฯ

ทั้งนี้ เหี้ยถูกจับมาดูแลภายในสถานีเพาะเลี้ยง หลังประชาชนแจ้งความเดือดร้อนรำคาญในพื้นที่ต่าง ๆ และหากปล่อยคืนธรรมชาติก็อาจสร้างปัญหาเช่นเดิมอีก ขณะนี้ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน มีเหี้ยในความดูแล 290 ตัว

ส่วนการกำหนดราคาพ่อแม่พันธุ์เหี้ยตัวละ 500 บาท มาจากการคำนวณราคาค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเหี้ยที่อยู่ในความดูแลของกรมฯ และเป็นการเทียบเคียงจากราคางูเหลือมตัวละ 400 บาท บวกค่าไมโครชิพ 100 บาท รวมเป็น 500 บาท

นายเฉลิม ยืนยันว่า การเปิดให้เพาะพันธุ์เหี้ยดังกล่าว จะไม่กระทบประชากรเหี้ยในธรรมชาติ เพราะจะมีการฝังไมโครชิพในตัวพ่อแม่พันธุ์ รวมทั้งต้องแจ้งกรมฯ เมื่อมีลูกออกมาเพิ่มขึ้น หากตรวจพบการสวมสิทธิด้วยการจับเหี้ยในธรรมชาติมาเอง หรือคนทั่วไปที่ไม่มีใบอนุญาตนำไปเลี้ยง ก็จะมีความผิดตามกฎหมาย และมีบทลงโทษตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562

สถานะภาพของเหี้ยยังเป็นสัตว์คุ้มครอง แต่เป็นชนิดที่เพาะพันธุ์ได้
ภาพ : กรมอุทยานฯ

ภาพ : กรมอุทยานฯ

ภาพ : กรมอุทยานฯ

สำหรับผู้ขออนุญาตเพาะพันธุ์ต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตเพาะพันธุ์สัตว์ป่าคุ้มครอง มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่จะทำการเพาะเลี้ยงหรือได้รับการยินยอมจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น และต้องไม่มีประวัติเคยต้องโทษคดีเกี่ยวกับ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562​

ในส่วนของพ่อแม่พันธุ์ ไม่สามารถจับได้เองจากธรรมชาติ​ เนื่องจากเหี้ยยังมีสถานะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 จำเป็นต้องซื้อจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเท่านั้น และหลังจากมีผู้ได้รับอนุญาตเพาะพันธุ์และมีสัตว์ที่ได้จากการเพาะพันธุ์แล้ว ผู้ขออนุญาตจึงจะสามารถซื้อจากสถานที่เพาะพันธุ์ที่ได้รับอนุญาตนั้นได้

อ่านข่าว : เขาเขียวจัดเบิร์ทเดย์ "หมูเด้ง" ครบ 1 ขวบ ให้เด็กเที่ยวฟรี 4 วัน 

เขาเขียวจัดเบิร์ทเดย์ "หมูเด้ง" ครบ 1 ขวบ ให้เด็กเที่ยวฟรี 4 วัน 

คกก.เห็นชอบหลักการ ปลด "นกกรงหัวจุก" พ้นสัตว์ป่าคุ้มครอง