วันนี้ ( 28 ก.พ.2568) นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับที่สูง ส่งผลให้การบริโภคเอกชนยังคงชะลอตัว รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่เก็บภาษีเพิ่มขึ้นกับประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า อาจส่งผลต่ออุตสาหกรรมและผู้ประกอบการไทยที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากการที่สินค้าประเทศจีนทะลักเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนก.พ. 2568 ว่า อยู่ที่ระดับ 96.18 หดตัว 3.91% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 59.01
แม้ว่าภาคท่องเที่ยวยังคงเป็นปัจจัยบวกกับเศรษฐกิจของประเทศ เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้รับอานิสงส์
เช่นเดียวกับการค้าระหว่างประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง มีมูลค่าส่งออกรวมเพิ่มขึ้น 14.0% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นการขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 ซึ่งมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 17.2% และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ ขยายตัว 17.1%

โดยสินค้าส่งออกหลักที่ขยายตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ สะท้อนให้เห็นว่าสินค้าไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก สำหรับระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทย เดือนมี.ค.2568 ส่งสัญญาณปกติเบื้องต้นและมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในระยะ 4-6 เดือนข้างหน้า
ปัจจัยภายในประเทศ อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังตามความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมและความเชื่อมั่นทางธุรกิจมีระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น

ส่วนการผลิตยูโรโซนอยู่ในภาวะเฝ้าระวังลดลงตามผลผลิตที่เริ่มมีทิศทางดีขึ้นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนก.พ. 2568 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ น้ำตาล ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.70% จากผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์และน้ำตาลทรายดิบ เป็นหลัก เนื่องจากมีน้ำมากพอในพื้นที่เพาะปลูก และราคาอ้อยจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น
ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.41% จากผลิตภัณฑ์ยางแท่ง ยางผสม และยางแผ่น เป็นหลัก เนื่องจากผู้ผลิตหลายรายผลิตสินค้าที่ผ่านการรับรอง EUDR เพื่อรองรับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากจีน สหรัฐอเมริกา และยุโรป
สัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 20.75% จากผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋อง เป็นหลัก เนื่องจากการเร่งผลิตเพื่อสต๊อกสินค้าหลังราคาปลาทูน่าปรับตัวลดลง

ส่วนอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตเดือนก.พ. 2568 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.71% จากรถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งไฮบริดขนาดต่ำกว่า 1,800 ซีซี รถยนต์นั่งขนาดเล็กและใหญ่ เป็นหลัก
เนื่องจากการชะลอตัวของตลาดในประเทศ จากภาวะเศรษฐกิจ หนี้ครัวเรือนสูง และสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ สำหรับตลาดส่งออกหดตัวตามความต้องการของประเทศคู่ค้า และมีการแข่งขันด้านราคาในตลาดสูง

ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.88 จากน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเบนซิน 95 และน้ำมันก๊าด เป็นหลัก เนื่องจากผู้ผลิตบางรายหยุดผลิตเพื่อซ่อมบำรุง
น้ำมันปาล์ม หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 28.58 จากน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ เป็นหลัก ตามปริมาณผลปาล์มที่เข้าสู่โรงงานลดลงจากปัญหาภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้ผลปาล์ม ยังคงมีราคาสูง
อ่านข่าว:
"สนั่น" ส่งไม้ต่อ "พจน์" นั่งปธ.หอการค้าฯ คนใหม่ ฝากดัน "ส่งออก"
อสังหาฯ ไทยซึมยาว KKP แนะต่างชาติถือครอง แก้บ้าน "ล้นตลาด"
สคฝ.เผยปี 67 "คนไทยส่วนใหญ่" มีเงินฝากต่ำกว่า 1 ล้านบาท