ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตลาดอาคารชุดเข้าสู่จุดหดตัว ทีทีบี ชี้ ทำเลใหม่เกิดยาก-กำลังซื้อลด

เศรษฐกิจ
18 มี.ค. 68
16:18
207
Logo Thai PBS
ตลาดอาคารชุดเข้าสู่จุดหดตัว  ทีทีบี ชี้ ทำเลใหม่เกิดยาก-กำลังซื้อลด
อ่านให้ฟัง
12:32อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ttb analytics มองตลาดอาคารชุดในกรุงเทพฯ และปริมณฑลนับจากปี 2568 เตรียมเข้าสู่ภาวะหดตัว หลังแรงหนุนจากโครงสร้างพื้นฐานอ่อนลง รวมถึงทำเลศักยภาพใหม่เริ่มจำกัดและอิ่มตัวง่าย แนะภาครัฐเร่งรับมือ ดึงกลุ่มต่างชาติลงทุน สร้างจุดเด่นที่อยู่อาศัยเขตนอกเมือง

วันนี้ (18 มี.ค.2568) ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี หรือ ttb analytics มองการฟื้นตัวของตลาดอาคารชุดในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลปี 2567 อาจเป็นเพียงภาพลวงตา จากข้อจำกัดด้านพื้นที่ในการพัฒนา (Location Depreciation) และปัจจัยผลักดันอย่างการขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าที่จะเริ่มแผ่วลงในระยะถัดไป คาดปี 2568 พลิกกลับมาหดตัวที่ 3.8% เสนอภาครัฐเร่งแก้ไขในการเพิ่มอุปสงค์โดยเฉพาะกลุ่มต่างชาติ รวมถึงปรับสมดุลเพิ่มแรงจูงใจการเลือกที่อยู่อาศัยเขตนอกเมือง

ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยแนวสูงในปี 2567 เหมือนจะฟื้นตัวดีขึ้นจากปี 2566 ที่ 7.8% ด้วยหน่วยโอน 116,570 หน่วย และคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ 2.97 แสนล้านบาท ซึ่งบทบาทสำคัญของอาคารชุดที่แสดงผ่านหน่วยโอนสูงสุดในตลาดที่อยู่อาศัยคิดเป็นสัดส่วน 33.7% ของหน่วยโอนที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ

โดยทำเลหลักของอาคารชุดยังคงเป็นพื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจากหน่วยโอนที่มีการกระจุกตัวสูงราว 74% ของหน่วยโอนอาคารชุดทั่วประเทศ ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลพบว่า บทบาทของอาคารชุดมีสัดส่วนที่ 50.4% ของหน่วยโอนที่อยู่อาศัยทุกประเภท

สาเหตุที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นพื้นที่ศักยภาพหลักที่เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวสูง ได้แก่ การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้มีการย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานจึงทำให้อุปสงค์ที่อยู่อาศัยสูงตามไปด้วย ราคาที่ดินสูงและพื้นที่มีจำกัด ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยแนวราบพุ่งสูงและผู้เริ่มทำงานสามารถเข้าถึงได้ยาก

ขณะที่อาคารชุดมีราคาเฉลี่ยเข้าถึงได้ง่ายกว่า จากการใช้ที่ดินน้อยกว่าและต้นทุนการก่อสร้างเฉลี่ยต่อหน่วยต่ำกว่า รวมถึงความสะดวกในการเชื่อมต่อชีวิตส่วนตัวกับชีวิตทำงาน จากการเดินทางสะดวกมีโครงข่ายรถไฟฟ้าที่ครอบคลุม

อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยที่ช่วยเอื้อให้กรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นพื้นที่ศักยภาพดูมีแนวโน้มจะอ่อนแรงลง ส่งผลให้การเติบโตของที่อยู่อาศัยแนวสูงในปี 2567 ที่ผ่านมาอาจเป็นเพียงภาพลวงตา

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัย ttb analytics มองว่า การเติบโตของตลาดแนวสูงใน ปี 2567 เป็นเพียงภาพลวงตา เนื่องจากปัจจัยหลักที่ผลักดันการขยายตัวดังกล่าวมาจากอิทธิพลของการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าที่มีแผนก่อสร้างสายใหม่ตั้งแต่ปี 2560แต่โครงการมีการล่าช้าและหยุดชะงักไปในช่วงโควิด-19 ก่อนจะกลับมาดำเนินการก่อสร้างเต็มรูปแบบ และเริ่มเปิดให้บริการสายนัคราพิพัฒน์ (สายสีเหลือง) ในปี 2566

และสายสีชมพูในปี 2567 ซึ่งได้เพิ่มศักยภาพให้กับพื้นที่กรุงเทพฯ รอบนอกและพื้นที่รอยต่อปริมณฑล โดยการเชื่อมต่อให้ประชากรที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯ และปริมณฑลสามารถเดินทางเข้าสู่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ (Central Business District : CBD) ได้สะดวกขึ้น จากเดิมที่อาจต้องใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง

เมื่อรถไฟฟ้าเข้าถึงพื้นที่รอบนอกมากขึ้นส่งผลให้ระยะเวลาเดินทางสั้นลงและอาจเหลือเพียง 1 ชั่วโมงเศษ หนุนให้ความต้องการในที่อยู่อาศัยแนวสูงที่มีราคาเฉลี่ยเข้าถึงง่ายกว่าแนวราบและตอบโจทย์ความสะดวกในการเดินทางจึงปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ศูนย์วิจัย ttb analytics มองว่า วิเคราะห์ว่า เฉพาะในพื้นที่จ.ปทุมธานีที่รองรับส่วนต่อขยายสายสีชมพูฝั่งเมืองทองธานีที่เปิดให้บริการในช่วงต้นปี 2568 และจ.สมุทรปราการที่รองรับสายสีเหลืองที่เปิดให้บริการไปแล้วในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ส่งผลให้หน่วยโอนในสองพื้นที่ดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้นสูงถึง 55% และ 31% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี 2566

แต่เป็นที่น่าสังเกต หลังพบว่าหน่วยโอนที่อยู่อาศัยแนวสูงที่เพิ่มขึ้นมาจากโครงข่ายรถไฟฟ้าสายใหม่ที่เปิดทำเลพื้นที่ชานเมืองรอยต่อกรุงเทพฯ และปริมณฑลให้มีศักยภาพเพียงพอสำหรับพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยแนวสูง และเป็นที่ยอมรับว่าพื้นที่ชานเมืองรอยต่อกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นพื้นที่ที่มีอุปสงค์ความต้องการที่อยู่อาศัยแนวสูงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน ไม่ว่าจะทั้งข้อจำกัดเรื่องความสะดวกด้านการเดินทางเข้าสู่แหล่งงานที่ต้องใช้เวลานานกว่า

และอาจรวมถึงกลุ่มที่ซื้อเพื่อการลงทุน เช่น การปล่อยเช่า ที่ในภาพรวมอาจหาผู้เช่าได้ยากกว่าเมื่อเทียบกับพื้นที่ CBD หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง พื้นที่ที่ช่วยดันตลาดปี 2567 เป็นพื้นที่ที่มีความด้อยค่าโดยเปรียบเทียบเรื่องทำเลที่ตั้ง (Location Depreciation) ที่ส่งผลให้จำนวนอุปสงค์ในพื้นที่เมื่อมีอุปทานเข้ารองรับแล้ว

การทำตลาดใหม่จะเริ่มยากขึ้นเนื่องจากอุปสงค์ส่วนที่เหลือ (Residual Demand) อาจมีจำนวนไม่มากพอที่จะจูงใจให้ผู้ประกอบการพัฒนาในโครงการใหม่ หรืออาจกล่าวได้ว่าในพื้นที่ชานเมืองรอยต่อกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ยังพอเป็นความหวังนั้นเป็นตลาดที่มีความอิ่มตัวง่ายกว่าพื้นที่ชั้นใน (Market Saturation)

ศูนย์วิจัย ttb analytics มองตลาดแนวสูงในกรุงเทพฯ และปริมณฑลปีนี้ มีแนวโน้มพลิกหดตัว 3.8% ด้วยแรงหนุนที่อ่อนตัวลงโดยเปรียบเทียบของทำเลศักยภาพใหม่ที่ได้รับแรงบวกจากโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีส้มและส่วนขยายสีม่วงสายใต้ ที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวสูงให้กับพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งมีนบุรี และสมุทรปราการ ฝั่งพระประแดง – สุขสวัสดิ์

แต่อุปสงค์ของอาคารชุดในพื้นที่ดังกล่าวต่ำกว่าพื้นที่ศักยภาพในปี 2567 จากประเด็นของความด้อยค่าโดยเปรียบเทียบเรื่องทำเลที่ตั้งที่ห่างจากพื้นที่ CBD รวมถึงบริเวณใกล้เคียงยังพอมีศักยภาพสำหรับการพัฒนาเป็นพื้นที่แนวราบได้ ส่งผลต่ออุปสงค์ที่อยู่อาศัยแนวสูงเบาบางจนการทำตลาดของที่อยู่อาศัยแนวสูงของผู้ประกอบการ (Developer) ค่อนข้างมีข้อจำกัด

สะท้อนผ่านหน่วยเปิดขายที่ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2567 กว่า 8,000 หน่วย และจำนวนใบขออนุญาตก่อสร้างปี 2567 ที่หดตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้าถึง 36% สอดคล้องกับพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างแนวสูงในช่วงเวลาเดียวกันที่หดตัวถึง 60%

การหดตัวของตลาดอาคารชุดในกรุงเทพฯ และปริมณฑลปี 2568 อาจยังไม่ใช่จุดต่ำสุด เนื่องจากนับจากปี 2569 อานิสงส์ของทำเลใหม่ตามการขยายของโครงข่ายรถไฟฟ้าเริ่มหมดลงเมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีก่อนหน้า ที่มีการขยายเส้นทางครอบคลุมสำหรับการเดินทางเชื่อมต่อบริเวณกรุงเทพฯ ชั้นในและรอบนอกเกือบเต็มพื้นที่

รวมถึงส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าหลังจากปี 2569 ส่วนมากเป็นการให้บริการในช่วงรัศมีรอยต่อระหว่างกรุงเทพฯ และปริมณฑลรอบนอก ซึ่งบนข้อจำกัดของความด้อยค่าของพื้นที่ที่ตั้งห่างจากจุดศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และความหนาแน่นของประชากรน้อย ส่งผลให้อุปสงค์อาคารชุดในพื้นที่ปริมณฑลรอบนอกอาจไม่มากพอที่จะจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าทำตลาด

รวมถึงปัจจัยรบกวนเชิงนโยบายภาครัฐอย่างนโยบาย บ้านเพื่อคนไทย ที่จะเริ่มเห็นจำนวนอุปทานจากโครงการนำร่องในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเข้าสู่ตลาดในช่วงกลางปี 2569 สูงถึง 4,000 หน่วย คิดเป็นราว 20% ของหน่วยเปิดขายใหม่ในปี 2568 รวมถึงหน่วยขายที่คาดพร้อมโอนในช่วงปลายปีอีกหลายหมื่นหน่วย ซึ่งจะเข้ามาลดทอนอุปสงค์อาคารชุดของภาคเอกชน

จากข้อได้เปรียบอย่างมากด้านทำเลที่อยู่ใจกลางเมืองบนระดับราคาที่ต่ำกว่ามาก และด้วยประเด็นสำคัญคือลักษณะของอุปสงค์การซื้อที่อยู่อาศัยสามารถเลื่อนการเลือกซื้อออกไปได้ ดังนั้น โครงการบ้านเพื่อคนไทยที่จะมีหน่วยขายพร้อมอยู่ในปี 2570 ก็ย่อมเป็นปัจจัยที่กดดันตลาดอาคารชุดในกรุงเทพฯ และปริมณฑลปี 2569 ได้ในเวลาเดียวกัน

ทั้งนี้แม้ปี 2567 สถานการณ์ที่อยู่อาศัยแนวสูงในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะสามารถพลิกฟื้นกลับเป็นบวกได้แต่คาดเป็นเพียงแรงส่งระยะสั้น โดยปี 2568 แรงส่งดังกล่าวคาดอ่อนค่าลงซึ่งส่งผลให้ตลาดแนวสูงในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อาจเริ่มสะท้อนภาพความเป็นจริงที่กำลังประสบภาวะตลาดอิ่มตัวและคาดหดตัวถึง 3.8% และสถานการณ์นี้อาจไม่ใช่แค่ภาวะชั่วคราวแต่อาจเป็นจุดพลิกของตลาดขาลงของอาคารชุดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

โดยเฉพาะเขตกรุงเทพฯ ชั้นในที่อาคารชุดถูกพัฒนาจนเต็มพื้นที่ บนอุปสงค์ส่วนที่เหลือยังอยู่ในระดับสูง แต่ราคาเกินเอื้อม ซึ่งอาจเป็นโจทย์ใหญ่ที่ภาครัฐต้องเร่งแก้ไข

โดยttb analytics มีข้อเสนอให้ภาครับกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็น อุปสงค์จากผู้มีกำลังซื้อสูง อาจพิจารณาปรับสัดส่วนการถือครองห้องชุดต่างชาติเพิ่มขึ้นจาก 49% บนระเบียบที่ต้องชัดเจนและรัดกุม เช่น การกำหนดพื้นที่ราคาเกินกว่ากำลังซื้อของคนในประเทศ รวมถึงกำหนดสิทธิผู้ซื้อที่อาจต้องสำแดงที่มาของแหล่งเงินเพื่อป้องกันกลุ่มเงินทุนผิดกฎหมาย

การปรับสมดุลความต้องการที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในสู่พื้นที่รอบนอก เพิ่มความต้องการหรือโอกาสในการขยายขนาดเมือง เช่น การปรับผังเมืองเพื่อขยายพื้นที่เมืองและลดความหนาแน่นของพื้นที่ชั้นใน รวมถึงอาจใช้สิทธิประโยชน์ภาษีทั้งในฝั่งผู้ประกอบการ เช่น ส่วนลดภาษี

ในกรณีไปตั้งโครงการในพื้นที่ที่กำหนดเพื่อเพิ่มอุปทาน รวมถึงกระตุ้นอุปสงค์ให้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในพื้นที่ชานเมือง เช่น การให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีสำหรับผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ชานเมืองแต่มีแหล่งงาน เป็นต้น

อ่านข่าว:

 “คลัง” เด้งรับ ซื้อหนี้เสียประชาชน ยึดโมเดลปี40 เล็งหารือส.ธนาคารวันนี้

"ธนาคารพาณิชย์" แนะแก้แผลเป็น ศก.ไทย รับมือนโยบายทรัมป์ 2.0

“พิชัย”ถกหอการค้าไทยฯ ย้ำเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว ต่างชาติสนลงทุน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง