วันนี้ (18 ก.พ.2568) เครือข่ายประชาชนภาคใต้, เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ, เครือข่ายชาติพันธุ์ภาคใต้, เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น, สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านฯ, เครือข่ายรักษ์ระนอง, กลุ่มนักรบผ้าถุง ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง ขอให้ยกเลิกการเสนอร่างกฎหมายระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ SEC ระบุว่า
เรียน นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร
การเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาลปัจจุบัน ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยจากยุคนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน จนมาถึงยุคของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ได้นำเสนอนโยบายการ ว่าด้วยเรื่องระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ที่ต้องการใช้เป็นเครื่องมือในการรองรับโครงการขนาดใหญ่
โดยเฉพาะโครงการแลนด์บริดจ์ระนอง-ชุมพร ที่รัฐบาลอ้างว่า จะเป็นโครงการที่สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับคนภาคใต้และคนไทยทั้งประเทศ หากแต่โครงการดังกล่าวจะต้องใช้ที่ดินจำนวนมหาศาล เพื่อรองรับโครงการย่อยต่าง ๆ อีกหลายโครงการ จึงจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายพิเศษ ประกาศใช้ในพื้นที่ตอนบนของภาคใต้ในเบื้องต้น 4 จังหวัด คือ ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช

ซึ่งขณะนี้ได้มีพรรคการเมือง มีการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว 3 ฉบับ และทราบว่า ร่างของรัฐบาล อยู่ระหว่างการตรวจทานของสำนักงานกฤษฎีกา ซึ่งคาดว่า จะมีการนำร่างให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในเร็ววันนี้ เพื่อผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาต่อไป
พวกข้าพเจ้า ได้มีการศึกษารายละเอียดของร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ที่ได้นำเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็น สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ทั้ง 3 ฉบับ ทำให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรม และความเหลื่อมล้ำในการใช้กฎหมาย เพื่อบริหารประเทศของรัฐบาล อันเป็นบรรทัดฐานของการเลือกปฏิบัติ ระหว่างประชาชนซึ่งเป็นพลเมืองของประเทศกับนักลงทุน ที่จะเข้ามาใช้ฐานทรัพยากรของส่วนรวม
ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง มากกว่าจะเป็นนักลงทุนต่างชาติ ที่รัฐบาลกำลังเดินสายเชิญชวนไปแล้วหลายประเทศ อันจะทำให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างคนทั้ง 2 กลุ่มอย่างชัดเจน ในเรื่องการเข้าถึงฐานทรัพยากรสำคัญของประเทศนี้ โดยเฉพาะเรื่องที่ดินและแหล่งผลิตอาหาร และสิทธิด้านอื่น ๆ

พวกข้าพเจ้า จึงไม่เห็นด้วยกับการสถาปนาอำนาจพิเศษ เพื่อคนพิเศษ เพียงบางกลุ่มบางคน ผ่านการบัญญัติกฎหมายระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ทุกฉบับ ด้วยเหตุผลเบื้องต้นดังนี้
1.ร่างกฎหมายดังกล่าว มีลักษณะของการละเมิดสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน และยิ่งความเหลื่อมล้ำในการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เท่าเทียมกันในหมู่ประชาชนด้วยกัน กับนักลงทุน (ซึ่งอาจจะเป็นคนต่างชาติ)
โดยมีการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายบางฉบับและบางมาตรา อย่างเช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน การจัดการทรัพยากรและพื้นที่อนุรักษ์ การประกอบอาชีพสงวน การเงิน แรงงาน ผังเมือง และอื่น ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การมาตรฐานทางสังคมที่ไม่เท่ากันของพลเมืองกับนักลงทุนที่เข้ามาใช้พื้นที่พิเศษตามประกาศของร่างกฎหมายดังกล่าว
2.ร่างกฎหมายระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ คือการคัดลอกมาจากพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2562 หรือที่เรียกว่า “กฎหมายในเขตอีอีซี หรือ EEC” แทบทั้งฉบับ อันเป็นพระราชบัญญัติที่ใช้มาแล้วกว่า 5 ปี ซึ่งพบว่า เป็นกฎหมายที่น่าจะมีความล้มเหลวในการบังคับใช้
ด้วยเพราะมีปัญหาที่เกิดขึ้นมากมาย ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ทั้งเรื่องความหละหลวมในการบริหารจัดการมลพิษ กากสารเคมี การคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค การคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการอยู่อาศัยและทำกิน รวมถึงการช่วยเหลือเยียวยา ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงภายใต้กฎหมายดังกล่าว

ซึ่งเรื่องนี้ รัฐบาลควรจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของการใช้กฎหมาย ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดไว้ในมาตรา 77 เสียก่อน อันจะทำให้เห็นถึงจุดแข็งจุดอ่อนหรือช่องว่างของการใช้กฎหมาย ก่อนที่จะให้ความล้มเหลวเล่านั้นเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ต่อไป
3.ร่างกฎหมายลักษณะดังกล่าว อาจจะไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “.....การรับรอง ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยให้ชัดเจนและครอบคลุม อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น โดยถือว่าการมีสิทธิเสรีภาพเป็นหลัก และการจํากัดตัดสิทธิเสรีภาพเป็นข้อยกเว้น แต่การใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เพื่อคุ้มครองส่วนรวม.....”
ทั้งยังเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 ในหลายมาตรา อย่างเช่น มาตรา 25 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะ ในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจํากัดไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิ และเสรีภาพที่จะทำการนั้นได้ และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ

มาตรา 26 การตรากฎหมายที่มีผล เป็นการจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคล ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าว ต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้
รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจํากัดสิทธิ และเสรีภาพไว้ด้วย กฎหมายตามวรรคหนึ่ง ต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใด กรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง และมาตรา 27 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครอง ตามกฎหมายเท่าเทียมกัน
4.ร่างกฎหมายระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ รวมไปถึงพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2562 ที่บังคับใช้ไปแล้วนั้น ถือเป็นกฎหมายที่จะสร้างระบบและกลไกในการบริหารประเทศในรูปแบบพิเศษ ซึ่งมีลักษณะของการสร้างอำนาจพิเศษในพื้นที่พิเศษเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับคนพิเศษ (กลุ่มทุน)

แม้จะอ้างเหตุผลว่า เพื่อประโยชน์ทางทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ยังสงสัยอยู่ว่า สามารถกระทำได้บนพื้นฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่เป็นอยู่นี้ได้กระนั้นหรือ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความคิดและความเห็นของคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ด้วยเช่นกัน ด้วยเพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ตอนที่มีการบัญญัติและบังคับใช้กฎหมายในลักษณะนี้ขึ้นครั้งแรกในพื้นที่ภาคตะวันออกนั้น คือช่วงเวลาที่ประเทศอยู่ในการปกครองแบบพิเศษเช่นกัน เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลจะต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเหตุผลเบื้องต้นเท่านั้น ที่พอจะอธิบายให้ท่านได้ทราบถึงข้อเท็จจริงต่อร่างกฎหมายระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ที่รัฐบาลกำลังมีแนวคิดที่จะผลักดันในกระบวนการรัฐสภาในเร็ววันนี้ จึงทำให้พวกเราอดที่จะตั้งคำถามในเชิงหลักการไม่ได้ว่า “รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบบประชาธิปไตย” จะกล้าที่จะให้ประชาชนได้อยู่ภายใต้กฎหมายในลักษณะได้กระนั้นเช่นนั้นจริงหรือ

ซึ่งท่านไม่ควรอ้างว่าประเทศของเรามีกฎหมายในลักษณะนี้อยู่ก่อนแล้วตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้เสนอให้มีพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2562 เพราะเราต่างรับรู้กันดีว่า รัฐบาลในยุคนั้นมีอำนาจพิเศษจนประชาชนทั่วไปแทบจะเห็นต่างไม่ได้ แม้จะไม่เห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าวแต่ก็ไม่สามารถแสดงออกได้อย่างตรงไปตรงมา
พวกข้าพเจ้าจึงหวังว่า รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร จะเข้าใจและน้อมรับฟังข้อเรียกร้องของพวกเราในครั้งนี้ หรือหากไม่เป็นเช่นนั้น พวกเราจะขอประกาศอย่างเป็นทางการในโอกาสนี้ว่า ในนามเครือข่ายประชาชนภาคใต้ ที่มารวมตัวกันในวันนี้จะขอคัดค้านร่างกฎหมายระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ทุกฉบับให้ถึงที่สุด อันจะเป็นการยืนยันว่า “แผ่นดินภาคใต้จะต้องไม่มีกฎหมายพิเศษเพื่อคนพิเศษ”
อ่านข่าว : ภาคประชาชน ร้องทบทวน "ร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคใต้"
ผบ.ตร.ขีดเส้น 7 วัน ตรวจสอบ "ชาวอิสราเอล" ในพื้นที่ปาย
"ง่าย รวดเร็ว จองคิวออนไลน์" อัปเดตขั้นตอนทำพาสปอร์ตไทย 2568