ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตร.ไซเบอร์ยันคลิปหลุด วันนอร์-สุชาติ ถูกตัดต่อ เร่งเอาผิดบัญชีอวตาร

อาชญากรรม
15 ก.พ. 68
17:00
387
Logo Thai PBS
ตร.ไซเบอร์ยันคลิปหลุด วันนอร์-สุชาติ ถูกตัดต่อ เร่งเอาผิดบัญชีอวตาร
ตร.ไซเบอร์เปิดเผยคลิปหลุด "วันนอร์-สุชาติ" เป็นของตัดต่อพร้อมใส่ข้อความ ชี้นำสร้างความเข้าใจผิด นอกจากนี้ยังเผยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับขบวนการคอลเซนเตอร์ หลังทางการไทยเข้มงวดมาตรการปราบปราม ส่งผลให้มีความพยายามย้ายฐานปฏิบัติ สถิติคดีออนไลน์ลดลง

วันนี้ (15 ก.พ.2568) พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เปิดเผยว่าได้ตรวจสอบกรณีคลิปวิดีโอที่ถูกเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นภาพของนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ประธาน ป.ป.ช. ขณะพบปะพูดคุยกับนายมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยพบว่าคลิปดังกล่าวถูกตัดต่อดัดแปลงและใส่ข้อความชี้นำ เพื่อให้ผู้รับชมเกิดความเข้าใจผิด

เบื้องต้นจากการตรวจสอบพบว่า คลิปดังกล่าวมีการตัดต่อให้เกิดความเสียหาย และอาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ฐานนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ หรือ มาตรา 16 ฐานนำภาพของบุคคลอื่นไปตัดต่อดัดแปลงให้เสื่อมเสียชื่อเสียง

จากการสืบสวน พบว่า บัญชีที่เผยแพร่คลิปดังกล่าวเป็นบัญชีอวตารที่ไม่มีการเปิดเผยตัวตน โดยก่อนหน้านี้ บัญชีดังกล่าวเคยโพสต์เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อปี 2565 ก่อนจะกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้งด้วยการเผยแพร่คลิปที่กำลังเป็นประเด็นขณะนี้ กำลังเร่งติดตามตัวบุคคลที่อยู่เบื้องหลังบัญชีนี้ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย พร้อมทั้งเตือนประชาชนให้ใช้วิจารณญาณในการรับชมและแชร์ข้อมูลจากสื่อออนไลน์ที่ยังไม่ได้รับการยืนยันข้อเท็จจริง

อ่านข่าว : นัดให้เอง! "บิ๊กโจ๊ก" รับคนกลางเบื้องหลังคลิปเจรจา วันนอร์-สุชาติ

สถิติอาชญากรรมออนไลน์ลด หลังรัฐปราบแก๊งคอลเซนเตอร์

พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ยังเปิดเผยว่า หลังจากภาครัฐดำเนินการกดดันขบวนการคอลเซนเตอร์อย่างหนัก ด้วยมาตรการตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตบริเวณแนวชายแดน ส่งผลให้กลุ่มมิจฉาชีพเริ่มหาทางย้ายฐานปฏิบัติการจากชายแดนฝั่งตะวันตกไปยังพื้นที่ฝั่งตะวันออกของประเทศ

ขณะเดียวกัน ทางการไทยได้ประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการติดตามความเคลื่อนไหวของขบวนการนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากปัจจุบันแก๊งคอลเซนเตอร์มีเครือข่ายข้ามชาติที่เกี่ยวข้องกับหลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มที่มุ่งเป้าหลอกลวงเหยื่อชาวจีนและอินเดีย

ผลจากมาตรการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์อย่างจริงจัง ส่งผลให้จำนวนคดีที่ประชาชนแจ้งความเกี่ยวกับการถูกหลอกลวงทางออนไลน์ลดลงอย่างชัดเจน จากเดิมที่มีการแจ้งความมากถึง 1,200 คดี/วันในปีที่แล้ว ลดลงเหลือประมาณ 800 คดี/วัน ตั้งแต่เดือน ม.ค.2568 เป็นต้นมา

และจากการช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในเครือข่ายคอลเซนเตอร์ ฝ่ายไทยได้รับการส่งตัวบุคคล 260 คนจากเมียนมากลับมา ซึ่งทั้งหมดเป็นชาวต่างชาติ จากการคัดกรองพบว่า มีเพียง 1 รายเท่านั้นที่ถูกหลอกให้ไปทำงาน ส่วนที่เหลือยอมรับว่าสมัครใจเดินทางไปเอง ขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของกลุ่มคนที่ถูกปล่อยตัว เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง และประเมินว่าอาจมีการกระทำผิดที่เข้าข่ายการเป็นสมาชิกองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า 4 ปี

พร้อมย้ำเตือนประชาชนให้เพิ่มความระมัดระวังในการรับข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะข้อมูลที่ไม่ได้มาจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ ทั้งนี้ หากพบเห็นหรือได้รับเบาะแสเกี่ยวกับขบวนการคอลเซนเตอร์ หรือการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ ควรแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันทีเพื่อให้สามารถดำเนินการทางกฎหมายได้อย่างทันท่วงที

อ่านข่าว : ศาลอาร์เจนตินาออกหมายจับ "มิน อ่อง หล่าย" ข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง