การประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนที่เสนอญัตติ ในวันที่ 13-14 ก.พ.2568
ซึ่งการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สามารถที่จะเดินหน้าต่อได้ เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบทั้ง 2 วัน
- รัฐสภาล่ม! ถกแก้รัฐธรรมนูญวันแรก มี 204 เสียง นัดอีก 14 ก.พ.
- สภาล่ม! โชว์ตัวแค่ 175 ไม่ครบองค์ประชุมปมแก้รัฐธรรมนูญ
สำหรับพรรคเพื่อไทยเองมีจุดยืนที่ชัดเจนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เสมอมาตั้งแต่ยังเป็นพรรคฝ่ายค้าน โดยมีแนวทางคือการเดินหน้าแก้ไขมาตรา 256 ที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์วิธีการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นการปลดล็อกให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนได้
ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยได้ประกาศนโยบายแก้รัฐธรรมนูญ และจัดทำรัฐธรรมนูญของประชาชน รวมถึงเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทย ที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแถลงไว้ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2567
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpCZzvd9bku6kFrFGfbArizs1p.jpg)
ปี 2563 ยื่นญัตติแก้ รธน.
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 3 ส.ค.2563 พรรคเพื่อไทยมีมติเอกฉันท์ในการดำเนินการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อจัดตั้ง สสร. จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยยกเว้นการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2
ในวันที่ 17 ส.ค.2563 จึงได้ยื่นญัตติต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร
วันที่ 18 พ.ค.2563 ที่ประชุมร่วมของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พิจารณาญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ รวมถึงร่างแก้ไขมาตรา 256 ของพรรคเพื่อไทย ผลปรากฏว่าผ่านวาระแรก จึงเริ่มพิจารณาวาระที่สอง
ปี 2564 พิจารณาวาระ 2-3 ก่อนถูกปัดตก
ทว่า ในระหว่างการพิจารณาวาระที่ 2 วันที่ 9 ก.พ.2564 สมาชิกรัฐสภาได้ยื่นญัตติด่วนต่อรัฐสภา เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า รัฐสภามีอำนาจในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ โดยที่ประชุมร่วมมีมติเห็นชอบ
จากนั้น ในวันที่ 11 ม.ค.2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ว่ารัฐสภามีอำนาจ แต่ต้องทำประชามติถามประชาชนก่อนว่าจะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างเสร็จ ต้องทำประชามติถามประชาชนอีกครั้งหนึ่ง
ในเวลานั้น ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวกำลังเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 3 ซึ่งเป็นวาระการพิจารณาเห็นชอบแล้ว เมื่อมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงมีความเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างสมาชิกรัฐสภา แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะเห็นว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวเปิดให้สามารถทำประชามติหลังจากรัฐสภาผ่านร่างแก้ไขในวาระที่ 3 สมาชิกรัฐสภาจำนวนมากเห็นว่าไม่มีอำนาจในการลงมติ จึงมีมติไม่เห็นชอบหรืองดออกเสียง ทำให้ร่างดังกล่าวจึงถูกปัดตกไปในวันที่ 17 มี.ค.2564
วันที่ 16 มิ.ย.2564 พรรคเพื่อไทยได้ยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยหลักการและแนวทางเดิมอีกครั้ง แต่ถูกปัดตกโดยประธานสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 18 มิ.ย.2564 โดยอ้างคำวินิจฉัยดังกล่าว
อ่านข่าว : "เพื่อไทย" รับทำสภาล่ม หวังรักษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpCZzvd9bku6kOcmGwUQoHzm07.jpg)
ปี 2566 นโยบายหลักหาเสียงเลือกตั้ง
จากนั้น ได้มีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน พ.ค.2566 ได้รัฐบาลใหม่และนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลคือการมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่เนื่องจากประเด็นดังกล่าวยังมีความเห็นแตกต่างอย่างมากในสังคม
ดังนั้น เมื่อวันที่ 3 ต.ค.2566 นายกรัฐมนตรีจึงได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อฟังความเห็นจากภาคการเมือง พรรคการเมือง และภาคประชาชนให้ครบถ้วนเสียก่อน
ถัดมาวันที่ 25 ธ.ค.2566 คณะกรรมการประชามติฯ ได้ข้อสรุปการทำคำถามประชามติ ใจความว่า ท่านจะเห็นชอบหรือไม่ให้มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์
ปี 2567 เสนอญัตติขอแก้ไขมาตรา 256 อีก
วันที่ 16 ม.ค.2567 พรรคเพื่อไทย เสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 เพื่อลดการทำประชามติให้เหลือเพียง 2 ครั้ง
วันที่ 9 ก.พ.2567 ประธานรัฐสภาไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าสู่วาระประชุม
วันที่ 29 มี.ค.2567 นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อขณะนั้นเสนอญัตติให้ไปถามศาลรัฐธรรมนูญ โดยที่ประชุมรัฐสภามีมติส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร. รัฐสภาจะลงมติพิจารณาแก้ไขได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน
วันที่ 17 เม.ย.2567 ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีมติตอบกลับมาไม่รับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา
ปลายเดือน ส.ค.2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่ง รัฐสภาได้เห็นชอบให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
วันที่ 12 ก.ย.2567 น.ส.แพทองธาร แถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภา ว่ารัฐบาลจะเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยเร็วที่สุด โดยยึดโยงกับประชาชนและหลักการของประชาธิปไตย
วันที่ 25 พ.ย.2567 นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมว.ประจำสำนักนายกฯ และ รองหัวหน้าพรรค ยืนยันเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยกล่าวว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอาจจะไม่ทันในช่วงเวลารัฐบาลนี้ แต่จะเสนอแก้รายมาตรา ให้ตั้ง สสร. ให้ได้ก่อน ลดการทำประชามติจาก 3 ครั้งเหลือ 2 ครั้ง
อ่านข่าว : รัฐธรรมนูญ 2560 แก้ได้ หรือ ห้ามแก้?
ปี 2567 สภาล่ม 2 วันติด ก่อนพิจารณา
วันที่ 8 ม.ค.2568 พรรคเพื่อไทย เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 อีกครั้งโดยประธานรัฐสภาบรรจุไว้ในระเบียบวาระประชุมรัฐสภาวันที่ 13-14 ก.พ.นี้ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรานี้ ก็เพื่อเป็นการเปิดทางรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตั้ง สสร. เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญให้ได้สำเร็จต่อในอนาคต
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpCZzvd9bku6kHV14OgqUHufcy.jpg)
วันนี้ (13 ก.พ.2568) การประชุมรัฐสภาที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ในวาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน เริ่มต้นในเวลา 09.30 น. ก่อนที่สมาชิกเสนอให้นับองค์ประชุม หลังจากถกเถียงเกี่ยวกับการเดินหน้าพิจารณาร่างกฎหมาย
ซึ่งการนับองค์ประชุมโดยการเสียบบัตรและกดปุ่มแสดงตนปรากฏว่ามีสมาชิกเป็นองค์ประชุมจำนวน 204 คนจากจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ของทั้งสองสภา 692 คน ไม่ถึงกึ่งหนึ่งหรือ 346 คนขึ้นไป ถือว่าไม่ครบองค์ประชุมต้องปิดการประชุมในช่วงเวลา 11.30 น.
วันที่ 14 ก.พ.2568 เปิดการประชุมได้ 20 นาที ประธานรัฐสภาได้สั่งพักการประชุม 20 นาที ตามข้อเสนอของนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.พรรคประชาชน โดยต้องการให้วิป 3 ทั้งฝ่ายหารือ หลัง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.พรรคเพื่อไทย เสนอให้นับองค์ประชุม
จากนั้นเวลา 10.47 น.สภาล่มวันที่สอง เนื่องจากมีสมาชิกเข้าร่วม 175 คน ไม่ครบองค์ประชุม โดยนายวันมูหะมัดนอร์ประธาน สั่งปิดการประชุมทันที ไม่ทันได้เข้าสู่การพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ
สำหรับพรรคประชาชน หรือ พรรคก้าวไกล ในขณะนั้น นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ เป็นตัวแทนพรรคก้าวไกล ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็น สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ มาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับต่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานผู้แทนราษฎร โดยมีนายมุข สุไลมาน เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับหนังสือแทน ในวันที่ 15 มี.ค.2567
โดยวิป 3 ฝ่ายได้ข้อสรุปบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 13-14 ก.พ.2568
ทั้งนี้ต้องจับตาว่าหลังจากนี้รัฐสภาจะบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 เมื่อไหร่ และจะทันกับการเลือกตั้ง ปี 2570 หรือไม่
อ่านข่าว :
เทียบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ "เพื่อไทย-ประชาชน"