รายงาน Synthetic Drugs in East and Southeast Asia : latest developments and challenges 2024 ของ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ระบุ มีการยึดยาบ้าจำนวน 190 ตัน ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2566 ถือเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ตลาดสารเสพติดสังเคราะห์ ในเอเซียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเติบโตในระดับที่น่ากังวล
แหล่งผลิตยาเสพติด ยังคงอยู่ในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำในเมียนมา แม้ที่ผ่านมา สมาชิก 6 ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงจะมีแผนปฎิบัติการแม่น้ำโขงปลอดภัย เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติด การลักลอบนำเข้าเคมีภัณฑ์ และสารตั้งต้น แต่ยังคงมีปัญหาการลักลอบนำเข้ายาเสพติดตลอดแนวชายแดนแทบทุกด้าน
สำหรับกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติ นอกจากจะมีขบวนการค้าและผลิตยาเสพติดครบวงจรแล้ว ยังเกี่ยวพันกับการค้ามนุษย์ และค้าสัตว์ป่าบังหน้าด้วย โดยในช่วง 1-2 ปีมานี้ บรรดาผู้ค้ายาเสพติดได้เปิด "ธุรกิจมืดบังหน้า" ด้วยการ "ค้าสัตว์หายาก" ส่งไปยังประเทศต่าง ๆ
อ่านข่าว: สึนามิ “ยาเสพติด” ทะลักรอบด้าน พิบัติภัย “ไทย-อาเซียน”
ธุรกิจบังหน้า ค้าซากสัตว์หายาก "ยัดไส้ยาเสพติด"
รายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ในชื่อ World Drug Report 2024 ระบุว่า บรรดาพ่อค้ายาบ้ามีการเปิดธุรกิจ "บังหน้า" เพื่อทำกำไรเพิ่มเติมจากยาเสพติด เนื่องจากที่ผ่านมา รัฐบาลจีน เมียนมา และไทย ได้ปราบปรามอย่างหนัก กลุ่มผู้ค้ายาเสพติดจึงต้องสร้าง "ทางเลือก" ใหม่เพื่อป้องกันหากเพลื้ยงพล้ำถูกเจ้าหน้าที่จับกุมได้ จะได้ไม่หมดตัว โดยทางเลือกของพวกเขานั้น คือ "การค้าสัตว์หายาก"
ข้อมูลจาก World WISE ระบุว่า สัตว์หายากที่พ่อค้ายาในบริเวณ ASEAN นิยมมากที่สุด คือ "กวาง" ในอัตราเกินกว่าร้อยละ 80 จากปริมาณที่พ่อค้ายาทั่วโลกข้องเกี่ยวกับการค้าสัตว์หายากทั้งหมด รองลงมา คือ "หมี" ที่อัตราเกินกว่าร้อยละ 50 ที่เหลือจะเป็น "ช้าง" "ตัวนิ่ม" หรือ "เสือ" ในอัตราลดหลั่นลงไป โดยพ่อค้ายาจะ "ยัดไส้" สิ่งเสพติดต่าง ๆ ในซากสัตว์ เพื่อแอบนำไปขายอีกทอดหนึ่ง
![ที่มา: WORLD DRUG REPORT 2024](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDiBpaoq0H9h3578NhmoZ1BgS.png)
ที่มา: WORLD DRUG REPORT 2024
ที่มา: WORLD DRUG REPORT 2024
สาเหตุที่ต้องค้าสัตว์ป่าหายาก แทนที่จะบังหน้าด้วยธุรกิจอื่น ๆ รายงานจาก UNODC ชี้ว่า เพราะสินค้าประเภทสัตว์หายาก เป็นที่ต้องการในประเทศจีน ที่นิยม "เปิบพิสดาร" ทั้งยังเป็น "คู่ค้า" สำคัญลำดับแรกของเมียนมา ในอัตราการส่งออกสัดส่วนกว่าร้อยละ 22 จากการส่งออกสินค้าของเมียนมาทั้งหมด
ดังนั้น เมื่ออุปสงค์ของสัตว์หายากมีมาก หมายความว่า "มาตรการทางการค้า" ของจีนที่มีต่อสินค้าชนิดนี้ จะมีลักษณะ "ผ่อนปรน" ไปโดยปริยาย และเมื่อเป็นเช่นนี้ การสอดใส้ยาบ้าลงไป จะได้เปรียบในแง่ที่ว่า "เล็ดลอดสายตา" ของเจ้าหน้าที่ไปได้ง่าย ๆ
![ที่มา: WORLD DRUG REPORT 2024](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDiBpaoq0H9h4824XzoWYGICe.png)
ที่มา: WORLD DRUG REPORT 2024
ที่มา: WORLD DRUG REPORT 2024
โดยเฉพาะบริเวณ "รัฐยะไข่" มีอัตราการทำธุรกิจยาบ้า พร้อมกันกับบังหน้าด้วยค้าสัตว์หายาก "มากที่สุด" เนื่องจาก บริเวณนี้ "ไกลปืนเที่ยง" จากรัฐบาลเมียนมา และมีกลุ่มต่อต้านที่มีอัทธิพลมากมาย ยังมีความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ และยังเป็นมีพื้นที่ชายแดนที่ติดกับจีน เงื่อนไขเหล่านี้ เอื้อให้รัฐยะไข่ดำเนินกิจการดังกล่าวเป็นอย่างมาก
UN เตือน "ฝิ่นระบาด" หนักกว่า ยาบ้า
ดังจะเห็นได้ว่าขบวนการค้ายาเสพติดในประเทศเพื่อนบ้าน ได้ใช้วิธีการบังหน้าด้วยการค้าสัตว์หายาก เพื่อลด"เงื่อนไขที่นำไปสู่ความเสี่ยง"ต่อการถูกจับกุม เนื่องจากความต้องการของชาวจีนบางกลุ่มที่ต้องการบริโภคสัตว์ป่าหายา กลายเป็นช่องว่างและเปิดทางให้คนเหล่านี้ใช้เป็นช่องทางทำธุรกิจมืดดังกล่าว
แม้ รายงานของ UNODC ไม่ได้ให้นำหนักในการอธิบายประเด็นดังกล่าวมากนัก แต่ได้"เน้นหนัก" ให้ การค้าฝิ่น เป็น "ภัยคุกคาม" ชายแดนที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อไทย
ในช่วง 10-20 ปีก่อน "อัฟกานิสถาน" เป็นประเทศผู้ผลิตและจัดจำหน่ายฝิ่นจำนวนมากที่สุดแต่ในปี 2022 เมื่อกลุ่ม "ตาลีบัน" ยึดกุมอำนาจรัฐได้สำเร็จ ได้ออกคำสั่ง "แบนฝิ่น"ทันที ดังนั้น บรรดาพ่อค้าฝิ่น จึงได้สรรหาตลาด "ครบวงจร" ใหม่ จนในที่สุด ก็มาลงหลักปักฐานที่ "เมียนมา"
![ที่มา: WORLD DRUG REPORT 2024](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDiBpaoq0H9h8EHGy5DcS96G3.png)
ที่มา: WORLD DRUG REPORT 2024
ที่มา: WORLD DRUG REPORT 2024
ข้อมูลจาก UNODC ระบุว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของไร่ฝิ่นในเมียนมา เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด หลังจากการแบนฝิ่นของอัฟกานิสถาน โดยพื้นที่เพาะปลูกได้กว่าร้อยละ 87 ในบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ โดยเฉพาะ "รัฐฉาน" เป็นฝิ่นไปแล้วกว่าร้อยละ 83 ในปี 2023 และอัตราการทำไร่ฝิ่นเพิ่มขึ้น จากปี 2023 สู่ปี 2024 มากกว่าอัตราร้อยละ 58
![ที่มา: WORLD DRUG REPORT 2024](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDiBpaoq0H9iCEXKnGXxXXctL.png)
ที่มา: WORLD DRUG REPORT 2024
ที่มา: WORLD DRUG REPORT 2024
ความน่ากลัว คือ ฝิ่นเปลี่ยน "ชาวนา" ในพื้นที่ ให้กลายเป็น "ผู้ประกอบการ" หมายความว่า ชาวนาเมียนมานั้น "ปลูกเอง ขายเอง" หรือบางทีอาจจะ "เสพเอง" เสียด้วยซ้ำ สิ่งนี้ ทำให้เกิด "วงจรหนี้" คือ ชาวนาปลูกฝิ่น ได้กำไรมหาศาลกว่าการทำเกษตรทั่วไป เกิดความโลภ กู้เงินนายหน้าค้าฝิ่นมาลงทุนปลูกเพิ่ม และขายในปริมาณที่เพิ่ม ทำวน ๆ ซ้ำ ๆ จนกลายเป็นภาระหนี้ผูกพัน บางรายผลผลิตไม่ตรงตามเป้าหมาย ถึงกับล้มละลายเลยทีเดียว
สำหรับไทย ในฐานะเพื่อนบ้าน ต้องเฝ้าระวังเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นประเทศ "ตัวกลาง" ในการขนส่งฝิ่น ไปยังประเทศอื่น ๆ ด้วย เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งลาวและเมียนมา ยังปลูกฝิ่นเพิ่มขึ้น จึงเป็นความท้าทายของนโยบายด้านความมั่นคงที่รัฐบาลไทยต้องเผชิญ
แหล่งอ้างอิง
- https://www.unodc.org/unodc/en/data-and-analysis/wdr2024-drug-market-trends.html
- https://www.unodc.org/unodc/en/data-and-analysis/wdr2024-key-findings-conclusions.html
- https://www.unodc.org/unodc/en/data-and-analysis/wdr2024-special-points-of-interest.html
- https://www.unodc.org/unodc/en/data-and-analysis/wdr2024-contemporary-issues.html