ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รับมือ "ทรัมป์ 2.0" ป่วนโลก จี้รัฐบาลไทยตั้งวอร์รูม ป้อง "สงครามการค้า"

เศรษฐกิจ
4 ก.พ. 68
18:24
124
Logo Thai PBS
รับมือ "ทรัมป์ 2.0" ป่วนโลก จี้รัฐบาลไทยตั้งวอร์รูม ป้อง "สงครามการค้า"

ป่วนทั้งโลก หลังจากกลับรอบ 2 ในตำแหน่งประธานาธิบดีของ "โดนัลด์ ทรัมป์" ด้วยนโยบายขึ้นภาษีกับประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุล หนึ่งในนั้น คือไทย แม้ขณะนี้จะยังไม่โดนมาตรการดังกล่าวในทันที แต่เชื่อว่าคงหนีไม่พ้น จากผลกระทบที่สหรัฐฯ ไปขึ้นภาษีประเทษอื่น ไม่ว่าจะเป็น พี่ใหญ่อาเซียน อย่าง จีน เม็กซิโก และแคนาดา นำร่องไปก่อน 10-25 % เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา ก่อนกลับลำ ชะลอการขึ้นภาษีออกไปอีก 30 วัน

นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

แม้ไทยยังไม่ได้รับผลกระทบตรงๆ แต่เมื่อ 2 มหาอำนาจห้ำหั่นกัน จนกลายเป็นสงครามการค้าที่ร้อนแรง ได้สร้างแรงสะเทือนต่อเศรษฐกิจโลก ทำให้หลายประเทศต้องหาวิธีการรับมือ รวมทั้งไทยที่ต้องวางตัวเป็นกลางทางการค้าให้ชัดเจน

สรท. ชี้ ในร้ายยังมีดี "ทรัมป์" เปิดช่องเจรจา

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาส่งออกไทยถือว่าสอบผ่าน โดยยอดส่งออกทะลุเป้าที่ 5.4% ท่วมกลางปัจจัยเสี่ยงที่มีรอบด้านแต่ไทยยังทำตัวเลขได้ดี ส่วนปีนี้สรท.มองว่าส่งออกไทยทั้งปีน่าจะขยายตัวที่1-3% หรือ 305000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าไว้ที่ 2-3% ส่วนไตรมาสแรกของปีนี้สรท.มองว่าจะขยายตัว2-3% หรือ 72500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือว่ายังขยายตัวได้ดี ประกอบกับไทยยังไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐ แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะทยอยประกาศขึ้นภาษีนำเข้าจีน 10% และแคนาดา 25% เริ่มตั้งแต่ 4 ก.พ. 2568

นายชัยชาญ  เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

ถือว่าเป็นข่าวดี เพราะมาตรการยังไม่เข้มข้นมาก เป็นการทยอยขึ้นภาษีแบบค่อยเป็นค่อยไป และที่สำคัญสหรัฐอเมริกาเปิดช่องให้มีการเจรจาได้ ทำให้ไทยยังไม่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐ

ประธานสรท. กล่าวอีกว่า ไตรมาส 2 สงครามการค้าของมหาอำนาจระหว่างจีนกับสหรัฐฯ มีความเป็นไปได้ที่จะเริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย เพราะเห็นทิศทางการออกนโยบายเป็นไปตามที่สหรัฐประกาศไว้

แต่มีข้อดี คือ ยังสามารถเจรจาได้ จึงต้องติดตามว่าจะออกนโยบายอะไรมาเพิ่มเติม โดยไทย ยังต้องใช้แนวทางการทำงานร่วมกันใกล้ชิด ระหว่างภาครัฐ และเอกชน โดยเร่งรัดให้มีการประชุม กรอ.พาณิชย์ หรือ คณะกรรมร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ รายเดือน หรือ รายไตรมาส

ตั้งแต่ไตรมาส 2 ปีเป็นต้นไป การส่งออกของไทยจะมีความท้าทายสูง สิ่งที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุด คือ มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา เพราะเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของไทย ครองส่วนแบ่งมากถึง 17% ในปี 2567 โตมากถึง 13.7% ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าสหรัฐอเมริกาอาจจะประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยตั้งแต่เดือน เม.ย.

ตั้ง "วอร์รูม" รับมือ "นโยบายทรัมป์ 2.0"

ประธาน สรท. กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการคือเร่งหารือร่วมกับภาคเอกชน และควรมีการตั้ง ”วอร์รูมเฉพาะนโยบายทรัมป์ 2.0“ ให้เร็วที่สุด และเรียกประชุมทันที ซึ่งเอกชนคาดหวังว่า หลังจาก นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกาฯจะมีการเชิญภาคเอกชนร่วมหารือ เพื่อกำหนดกลยุทธ์ การทำงานให้เป็นแบบหนึ่งเดียวทั้งภาครัฐเองและเอกชน และวางจุดยืนของไทยให้ชัดเจน

แนวทางการเจรจาหลังสหรัฐฯประกาศมาตรการกับไทย เพราะมองว่าขณะนี้ เหลือเวลาไม่มากแล้วในการเตรียมความพร้อมของไทยในการรับมือ เพื่อให้การส่งออกเป็นไปตามเป้าหมาย หากเราไม่ทำอะไรหรือล่าช้า ไปถึงเดือนเม.ย.ที่น่าจะถึงคิวที่ไทยจะโดยขึ้นภาษี ความผลกระทบที่ตามมาจะมหาศาล

นอกจากนี้รัฐบาลควรถอดบทเรียนการขึ้นภาษีกับกลุ่มประเทศแรก คือ แคนาดา และเม็กซิโก ซึ่ง สรท. วางมาตรการรับมือในเชิงลึก เพื่อชะลอผลกระทบเบื้องต้น ไว้ 14 แนวทาง เช่น การวางตัวเป็นกลาง ท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน เสริมสร้างความแข็งแกร่งของซัพพลายเชน และโลจิสติกส์ การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยเฉพาะต้นทุน และนวัตกรรม /การเดินหน้ารุกตลาดใหม่ ทั้งอินเดีย และตะวันออกกลาง รวมถึงส่งเสริมการใช้ประโยชน์ จากเขตการค้าเสรี หรือ FTA ที่มีอยู่ ให้เพิ่มขึ้น

ประธานสรท.กล่าวอีกว่า รัฐบาลไทยต้องมีความเป็นกลาง เนื่องจาก 2 ประเทศ มหาอำนาจที่กลับมาใช้มาตรการทางการค้าระหว่างกันอีกครั้ง ประเทศไทยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน จะต้องทำการค้าที่เป็นการ เป็นชาติการค้าไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง รัฐบาลไทยต้องแสดงจุดยืนให้ชัด

นาย คงฤกธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท.

นาย คงฤกธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท.

นาย คงฤกธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท.

นาย คงฤกธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท. กล่าวว่า การจัดตั้งวอร์รูมหรือ กรอ.พาณิชย์ มีความจำเป็น ภาพการใช้นโยบายการขึ้นภาษีมากดดันกับประเทศต่างๆเริ่มได้รับการตอบรับซึ่งหากนโยบายการขึ้นภาษีใช้กับไทยจะมีผลกระทบกับการส่งออกของไทยค่อนข้างมาก เนื่องจากส่งออกไทยไม่มีปัจจัยบวกเข้ามาส่งเสริม ดังนั้นการตั้งวอร์รูมเพื่อติดตามนโยบายของทรัมป์ 2.0 เป็นสิ่งที่จำเป็นในขณะนี้ ซึ่งภาคเอกชนคงไม่มีหน้าที่ไปสอนรัฐบาล แต่เอกชนเตรียมข้อมูลและมาตรการรับมือกับนโยบายของทรัมป์ 2.0 ไว้หมดแล้ว เหลือแค่รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ภาครัฐและเอกชนควรจะต้องทำงานใกล้กันมากขึ้น สรท. ขอเสนอให้กระทรวงพาณิชย์จัดตั้งวอร์รูม เกาะติดมาตรการสงครามการค้าของสหรัฐหรือ ทรัมป์ 2.0 ให้เร็วสุด และตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้นมาดูแลเฉพาะ ประชุมร่วมกันทุก ๆ เดือน เพื่อกำหนดกลยุทธ์ การทำงานและรับมือกับปัญหาดังกล่าวให้เป็นแบบหนึ่งเดียวทั้งภาครัฐเองและเอกชน วางจุดยืนไทยให้ชัดเจน

โดยสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ คือ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์, เครื่องจักรกล, เม็ดพลาสติก และยางล้อรถยนต์  อย่างไรก็ตาม สรท. มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ขอให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดให้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน กระทรวงพาณิชย์ (กรอ.พณ.), จัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

เช่น การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า การโปรโมตสินค้าในรูปแบบออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มที่มีชื่อเสียงระดับโลก รวมถึงการจัดคณะผู้แทนทางการค้าไปเยือนประเทศคู่ค้าสำคัญ, เร่งเจรจาการค้าเสรีและจัดทำข้อตกลงความร่วมมือทางการค้ากับคู่ค้าสำคัญ, ส่งเสริมการลงทุนของไทยในประเทศเป้าหมาย เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการกีดกันทางการค้า และเร่งประสานความร่วมมือดำเนินการแก้ไขปัญหาการจราจรแออัดภายในท่าเทียบเรือแหลมฉบังโดยด่วน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

แนะไทย "ปรับกลยุทธ์" รับมือ สงครามการค้า

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลกระทบจากสงครามการค้ารอบใหม่เริ่มแสดงให้เห็นชัดเจนต่อตลาดโลก หุ้นทั่วโลกปรับลดลง และตลาดการเงินเกิดความผันผวน สะท้อนว่าตลาดอยู่ในภาวะ Shock Reaction จากมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ ภายหลังจากที่ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าต่อ เม็กซิโกและแคนาดา ซึ่งนำไปสู่การเจรจาที่สองประเทศต้องยอมถอย

สะท้อนให้เห็นว่า ทรัปม์ 2.0ใช้นโยบายกดดันทางภาษีเป็นเครื่องมือในการเจรจาต่อรอง และเป็นไปได้สูงว่านโยบายนี้จะถูกนำมาใช้กับประเทศอื่น ๆ แม้จะเป็นประเทศพันธมิตรกับสหรัฐฯ ก็ตาม หากสหรัฐฯ มองว่าเสียเปรียบทางการค้า รวมถึงจีนที่เป็นเป้าหมายหลักในการปรับขึ้นภาษีรอบล่าสุด

ในมุมมองหอการค้ามองภาพเศรษฐกิจออกเป็น 3 ระยะ หลังจากนี้ คือ ระยะสั้น เชื่อว่าตลาดยังคงตกใจและมีความผันผวนสูง นักลงทุนและตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงจากความไม่แน่นอนของนโยบายสหรัฐ ส่วนค่าเงินบาทอ่อนค่าตามแนวโน้มเงินทุนไหลออกและความกังวลของนักลงทุน ด้านภาคการส่งออกของไทยในครึ่งปีแรกน่าจะยังเติบโตได้

ระยะกลาง คาดว่าภาคธุรกิจและตลาดการค้าจะปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะจีนอาจเร่งขยายตลาดส่งออกใหม่หรือพิจารณาย้ายฐานการผลิต ซึ่งอาจส่งผลต่อการค้าในภูมิภาคอาเซียน โดยทำให้สินค้าจากจีนหลั่งไหลเข้ามาแข่งขันในตลาดมากขึ้น ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ภาครัฐจำเป็นต้องกำหนดมาตรการปกป้องที่เหมาะสม เพื่อให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม และรักษาสมดุลของตลาดภายในประเทศ

และ ระยะยาว หอการค้าฯ ยังมองว่าเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และการค้าโลก ความไม่แน่นอนของสงครามการค้าอาจนำไปสู่การปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานใหม่ โดยเน้นการผลิตในประเทศ (Localization) มากขึ้น ซึ่งอาจลดโอกาสของประเทศที่พึ่งพาการส่งออกอย่างไทย ซึ่งไทยเองก็จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ด้านการค้า เช่น กระจายตลาดส่งออก และ เร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีเพิ่มเติม เพื่อรองรับความผันผวนในอนาคต

แม้ไทยไม่ใช่ประเทศหลักที่ถูกเพ่งเล็งจากสหรัฐ แต่หอการค้าไทยมองว่า นโยบายทางภาษีสหรัฐฯจะมีส่วนกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้โ ดยเฉพาะภาคการส่งออก ซึ่งคงต้องประเมินตัวเลขอีกครั้งหลังจากมีความชัดเจนของมาตรการต่าง ๆ ที่ทรัมป์น่าจะประกาศออกมาหลังวันที่ 1 เม.ย.

อย่างไรก็ตาม หอการค้าฯ จึงมีข้อเสนอเบื้องต้นเพื่อเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.การเตรียม TEAM THAILAND+ ที่เป็นคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเร่งศึกษาผลกระทบของไทยต่อนโยบายสหรัฐฯ ในทุก Sector และจัดทำเป็น Strategic Plan ของประเทศในการเจรจากับสหรัฐ รวมถึงการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนกับสหรัฐฯ ผ่านกลไก US Chamber of Commerce

2. ถือโอกาสคความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าโลกนี้ ในการโปรโมทการลงทุนจากบริษัทต่างชาติที่ต้องการย้ายฐานการผลิต โดยเสนอสิทธิประโยชน์ที่จูงใจ และ3. เร่งเจรจา FTA ที่ค้างอยู่ โดยเฉพาะไทย-EU เพื่อกระจายตลาดส่งออก ลดการพึ่งพาจีน+และสหรัฐฯ และขยายไปยังภูมิภาคอื่น ๆ เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป

ดังนั้น คงต้องติดตามต่อไปว่า หลังจากที่รมว.พาณิชย์ กลับมาจากสหรัฐฯในวันที่ 8ก.พ. จะมีการเชิญภาคเอกชนเข้าหารือเพื่อตั้งวอร์รูมเพื่อรับมือกับนโยบายของ"ทรัมป์2.0"  อย่างไร?

มีกระแสข่าวแว่วมาว่า หลังจากกลับจากสหรัฐฯ มีแผนจะเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นต่อหรือจะแต่งตั้งใครนั่งหัวโต๊ะหารือกับภาคเอกชนแทน.....ซึ่งการตั้งวอร์รูม รับมือ ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องมีการหารือก่อนที่จะถึงคิว ประเทศไทยที่จะถูกทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีในเดือนเม.ย.นี้ 

อ่านข่าว

Stop work order ศูนย์ผู้ลี้ภัย "มนุษยธรรม" ทางออกไทย "ม้าอารี"

 เศรษฐกิจไทยทรุด เงินหมื่นไม่ช่วย อุตสาหกรรม "ไร้สัญญาณบวก"

"ไทย" รับมือสงครามการค้าโลกเดือด “ทรัมป์” กลับมาเอาคืน

 TDRI ชี้เศรษฐกิจไทยปี68 “ไม่ตายแต่ไม่โต” มรสุมการค้า-สงครามทำโลกปั่นป่วน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง