สร้างความประหลาดใจไม่น้อย หลัง"โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump)" ขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี มีความประสงค์แรงกล้า อยากให้ "แคนาดา (Canada)" รวมเข้ามาเป็นมลรัฐที่ 51 ของสหรัฐอเมริกา และอยากได้ "คลองปานามา (Panama Canal)" กลับคืนสู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยสหรัฐฯ จากการสูญเสียอำนาจการปกครองไปเมื่อปี 1999
หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า เหตุผลหนึ่งที่ "ทรัมป์" ต้องการคลองปานามาด้วยเหตุผลทาง "เศรษฐกิจ" ล้วน ๆ แต่คำถาม คือ หากต้องการผลลัพธ์เชิงกำไรจริง ๆ เหตุใด "จิมมี คาร์เตอร์ (Jimmy Carter)" ประธานาธิบดีผู้ล่วงลับ จึงยอมปล่อยมือออกจาก "ทางลัดเส้นทางเดินเรือ" แหล่งทำเงิน "ผูกขาด" ไปง่าย ๆ ซึ่งถือว่าขัดหลักการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล (Rational Choice) อย่างยิ่ง
มีความเป็นไปได้หรือไม่ อีกเหตุผลหนึ่งของ ทรัมป์ คือต้องการคลองปานามาเพื่อรักษา"สถานภาพ (Status)" ในการสร้างยุทธศาสตร์ เพื่อครองความเป็น "เจ้าอเมริกาเหนือ (North America Hegemon)"ให้สอดรับกับการกลับมาผงาดสู่การเป็น "เจ้าโลก" ที่จะตามมาภายหลัง
"โลกสวย" เสียสถานะ "เจ้าอเมริกาเหนือ"
ตามหลักการปกครอง ต้องมีทั้ง "พระเดช" และ "พระคุณ" แต่จะให้น้ำหนักอย่างหนึ่งอย่างใด มากเกินกว่ากันไม่ได้ เนื่องจาก หากใช้พระเดชมากเกินไป ผู้ใต้ปกครองจะเกิดความระส่ำ ยิน ยอมเชื่อฟังเพียงเพราะเกรงกลัวอำนาจ หากแต่เทน้ำหนักพระคุณมากเกินไป ผู้ใต้ปกครองจะได้ใจ เกิดอาการปีนเกลียวอำนาจยับเยิน หาความยำเกรงไม่ได้
สหรัฐฯ ในช่วงปี 1980-1990 กล่าวได้ว่า ใช้พระคุณมากจนเกินไป จนกลายเป็นดำเนินนโยบายการต่างประเทศแบบ "โลกสวย" ตามหลักการ "เสรีนิยม (Liberalism)" เห็นได้จาก การเชิดชูนโยบาย "Self-determination" หมายถึง ปล่อยให้รัฐบาลประเทศนั้น ๆ มีอิสระในการตัดสินใจและเลือกทางเดินด้วยตนเอง สหรัฐฯ ห้ามเข้าไปวุ่นวายกิจการภายใน (Non-intervention) โดยเด็ดขาด
ปานามา เป็นผลพวงจากวิธีคิดดังกล่าว จากเดิม สหรัฐฯ ช่วยให้ประเทศ "ปลดแอก" ตนเองออกจากโคลัมเบีย โดยมีเงื่อนไข "สัมปทาน" ในการขุดทางเดินเรือ (Ditch) เชื่อมระหว่างทะเลแคริเบียนและมหาสมุทรแปซิฟิก และการเก็บค่าระวางและศุลกากรต่าง ๆ แต่เพียงผู้เดียว หมายความว่า ปานามาต้องเสีย "อำนาจอธิปไตย (Sovereignty)" การปกครองให้สหรัฐฯ ตามพื้นที่แนวชายฝั่งคลอง หรือ "Canal Zone" แต่ปานามาก็ยอมสยบแต่โดยดี เพื่อหวังขจัดอำนาจของโคลัมเบียให้สิ้นไป
โนเอล เมาเรอร์ (Noel Maurer) และ คาร์ลอส ยู (Carlos Yu) เสนอไว้ในหนังสือ The Big Ditch: How America Took, Built, Ran, and Ultimately Gave Away the Panama Canal ความว่า กระบวนการตัดสินใจของปานามา วางอยู่บนหลักการของการปลดปล่อย มากกว่ากำไรขาดทุน ทำให้รู้สึก "เสียดาย" เม็ดเงินจำนวนมหาศาล ที่สหรัฐฯ เก็บค่าผ่านทางเรือได้ในแต่ละปีในกาลต่อมา จึงออกแนวแข็งขืน เรียกร้องสิทธิในการบริหารจัดการคลองปานามากลับมาสู่มาตุภูมิ
การเรียกร้องดังกล่าว มีประเด็นที่หยิบยกขึ้นมามากที่สุด คือ การที่ผู้ปกครอง "ขาดความเคารพ" ในชนชาติปานามา เชิญธงชาติปานามาขึ้นสู่ยอดเสาต่ำกว่าสหรัฐฯ หรือกล่อมเกลา "Zonian" หมายถึง ผู้คนที่อาศัยใน Canal Zone ให้กลายเป็นชาวอเมริกันทั้งกระบิ ซึ่งจริง ๆ ไม่ถือว่าผิด เพราะดินแดนส่วนนี้เป็นของสหรัฐฯ โดยชอบธรรมตามข้อตกลงปลดแอก แต่ด้วยกระแสชาตินิยม (Nationalism) ที่กำลังโหมกระหน่ำ เรื่องแบบนี้ใครจะยอมได้
เมื่อเข้าสู่ช่วงปี 1970 จิมมี คาร์เตอร์ จากพรรคเดโมแครต ขึ้นสู่ตำแหน่ง ยิ่งส่งผลให้เกิดแนวทางนโยบายรับลูกกระแสชาตินิยมในบรรดาประเทศที่ต้องการอำนาจอธิปไตยโดยสมบูรณ์ โดยเฉพาะ อเมริกากลาง (Cantral America) ที่สหรัฐฯ เข้าไปมีอิทธิพลมากเป็นพิเศษ
ประกอบกับ เดโมแครตมักมีนโยบาย โลกสวย ต้องการเป็นมหาอำนาจแบบพ่อพระมาโปรด เป็นโลกบาลแบบ "Peacemaker" สร้างสันติภาพมากกว่าประกาศสงคราม ทำให้มหาอำนาจต้องปรับเปลี่ยนบทบาทขนานใหญ่ เน้นช่วยเหลือประเทศขนาดกลางและขนาดย่อมตามข้อเรียกร้องของพวกเขามากยิ่งขึ้น และตัวตนของประธานาธิบดีคาร์เตอร์เองที่มีบุคลิก "ผ่อนปรน" ยินดีเจรจาเพื่อหาทางออกอย่าง "Neutrality" หมายถึง คุยอย่างเป็นมิตร หยวนได้หยวนไป
ท้ายที่สุด ด้วยสนธิสัญญาโทริโฆส์-คาร์เตอร์ (Torrijos–Carter Treaties) ที่ลงนามในปี 1977 ที่ระบุถึง "การส่งมอบ" Full Control ของปานามาต่อ Canal Zone และการจัดเก็บค่าผ่านทางในคลองปานามาแต่เพียงผู้เดียว ภายในปี 1999 โดยให้กองทัพของทั้งสองฝ่าย ดำเนินการ "เปลี่ยนผ่าน" อย่างค่อยเป็นค่อยไป
หนังสือ Erased: The Untold Story of the Panama Canal เขียนโดย มาริสา ลาซโซ (Marixa Lasso) เสนอว่า ที่คาร์เตอร์เลือกการเปลี่ยนผ่านโดยระยะเวลายาวนานกว่า 25 ปี ตามหน้ากระดาษอธิบายว่า ต้องการให้ประชาชนในพื้นที่ที่มีความเป็นอเมริกันสูง ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงวิธีคิด และซึมซับความเป็นปานามาไปทีละน้อย แต่จริง ๆ เป็นเพราะต้องการเปลี่ยนผ่านให้บริษัทสัญชาติอเมริกัน "สูญเสียรายได้น้อยที่สุด" ซึ่งระยะเวลา 20 กว่าปี ทุนที่ตั้งมั่นในปานามา จะทยอยออกไปโดยไม่ขาดทุนมากนัก
มาริสา ลาซโซ อธิบายการกระทำของสหรัฐฯ ต่อการปกครอง Canal Zone ว่าเป็น "เจ้าอาณานิคมแห่งสุดท้ายในลาตินอเมริกา" หมายความว่า สหรัฐฯ ต้องการครองความเป็นเจ้าในภูมิภาค (Regional Hegemon) มาตั้งแต่ต้น เพราะบริเวณที่ดินขนาบคลองปานามา ไม่ได้เป็นพื้นที่รกร้าง แต่จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์แบบใหม่ ระบุว่า มีชาวพื้นเมืองอาศัยอยู่มานานเกินกว่า 400 ปี
หมายความว่า การเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องของ "ความจำยอมอย่างเสียไม่ได้" ของสหรัฐฯ ที่ตอนนั้นกำลังเล่นบทบาทผู้สร้างสันติภาพ มาทำตัว "Hypocrite" หรือ มือถือสากปากถือศีล ย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้อยากขาดทุนเต็มสตรีม จึงเลือกลงนามสนธิสัญญาดังกล่าวเป็นการ "แก้ลำ" ไม่ให้น่าเกลียดเกินไป
หวนสู่ "จักรวรรดินิยม" หวัง "พลิกสถานะ"
ดังจะเห็นได้ว่า สหรัฐฯ เลือกปล่อยมือออกจากขุมทรัพย์ที่ชื่อว่าคลองปานามา เนื่องจาก การต้องเล่นบทบาทมหาอำนาจผู้แสนดี เพื่อปลดแอกสถานะของประเทศอื่น ๆ แบบรัว ๆ ในฐานะ "Norm" หรือ ปทัสถาน/บรรทัดฐาน การระหว่างประเทศ ที่มหาอำนาจต้องกระทำตาม
การที่มหาอำนาจกระทำตนโดยเน้นพระคุณมากกว่าพระเดช ผลร้ายก็กลับมาสู่ตนเองในลักษณาการ "เสื่อมอำนาจ" เห็นได้จาก องค์การระหว่างประเทศทั้งหลาย สหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณและทุนจำนวนมากที่สุดเหนือชาติสมาชิกอื่น ๆ โดยเฉพาะ NATO ที่จ่ายไปราว ๆ 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16 จากงบประมาณที่ชาติสมาชิกจ่ายทั้งหมด
จึงไม่น่าแปลกใจ หากทรัมป์จะต้องการคลองปานามากลับคืนอ้อมอกสหรัฐฯ ต้องการ "ถอนทุนคืน" ส่วนหนึ่ง และมากกว่านั้น คือ การเพิ่ม "สถานภาพ" ที่เคยเป็นมหาอำนาจแบบทั่วโลกยำเกรง มีอิทธิพลเหนืออำนาจอธิปไตยของประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะ ในอเมริกากลาง ที่สหรัฐฯ สูญเสียอิทธิพลไปมาก ทั้งที่อยู่ในผืนทวีปเดียวกัน โดยอเมริกากลางหันหน้ามุ่งใต้ลงไปหา "บราซิล" เพื่อสร้างทางเลือกในการเข้าร่วม BRICS มากกว่าที่จะพุ่งขึ้นเหนือเพื่อซูฮกสหรัฐฯ ดังที่เคยเป็นมา
การขึ้นสู่อำนาจของทรัมป์ โดยเชิดชูแคมเปญ "Make America Great Again" นอกจากจะทำ "อย่างเปิดเผย" ในทางเศรษฐกิจ ในการระหว่างประเทศ ยังเปิดให้เห็นประเด็น "จักรวรรดินิยม (Imperialism)" ที่เป็นเครื่องแสดงสถานะแบบสมัยก่อนของมหาอำนาจ หวนกลับมาใช้อีกครั้ง แทนที่จะ "แทรกซึม (Infiltrate)" กลับกลายเป็นย้อนกลับมา "พิชิต (Conquest)" ดินแดนอย่างตรงไปตรงมาเสียอย่างนั้น