ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เดดไลน์ 30 เม.ย. ผู้ใช้ "เบอร์โทร" ไม่ตรง "แบงค์กิ้ง" รีบติดต่อด่วน

สังคม
1 ก.พ. 68
12:13
357
Logo Thai PBS
เดดไลน์ 30 เม.ย. ผู้ใช้ "เบอร์โทร" ไม่ตรง "แบงค์กิ้ง" รีบติดต่อด่วน
เช็กเงื่อนไข รัฐบาลเปิดยุทธการจัดการ "ล้มบัญชีม้า" ผนึก ธนาคาร-ค่ายมือถือ สกัดบัญชีม้า วางเดดไลน์ 30 เม.ย.นี้ หากผู้ใช้ "เบอร์โทร" ไม่ตรง "แบงค์กิ้ง" รีบติดต่อด่วน

วันนี้ (1 ก.พ.2568) รัฐบาลโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยกระดับความปลอดภัยในการใช้ "โมบายแบงก์กิ้ง"ในการสกัดกั้น "บัญชีม้า ที่เป็นเส้นทางก่ออาชญากรรมของมิจฉาชีพ โดยจะกำหนดให้ชื่อผู้ใช้งานตรงกับชื่อเจ้าของซิมมือถือ โดยกำหนดให้ธนาคารดำเนินการแจ้งผู้ใช้ หากตรวจพบรายชื่อเจ้าของหมายเลขโทรศัพท์มือถือไม่ตรงบัญชีโมบายแบงก์กิ้ง ผู้ใช้จะต้องได้รับข้อความผ่านแอปพลิเคชันของธนาคาร ระหว่างวัน 1-28 ก.พ.2568 เพื่อให้ยืนยันตัวตนผ่านศูนย์บริการโทรศัพท์มือถือ ภายในวันที่ 30 เม.ย.

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมาได้มีนโยบายการ Cleaning Mobile Banking ซึ่งเป็นการปรับข้อมูลผู้ใช้งานให้ตรงกับเจ้าของซิมโดย กสทช. และ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมทุกเครือข่าย รวมทั้งสำนักงาน ปปง. ธปท. และธนาคารทุกแห่ง ได้ดำเนินการตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์จำนวนกว่า 120 ล้านหมายเลขแล้วเสร็จเมื่อเดือน พ.ย. ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม (M) (N) และ (P) คือ กลุ่มที่ 1 เป็นลูกค้าที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แจ้งเป็น M คือ ชื่อเจ้าของซิม และ โมบายแบงก์กิ้ง ตรงกัน มีจำนวนประมาณ 75.8 ล้านหมายเลข คิดเป็นร้อยละ 63.02

กลุ่มที่ 2 คือลูกค้าที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แจ้งเป็น N คือ ชื่อเจ้าของซิม และ โมบายแบงก์กิ้ง ไม่ตรงกัน มีจำนวนประมาณ 30.9 ล้านหมายเลข คิดเป็นร้อยละ 25.68 ได้แก่ บัญชีต่างชาติ กลุ่มลูกค้าต่างชาติที่เปิดบัญชีตั้งแต่ปี 2565 และเปิดใช้งาน โมบายแบงก์กิ้ง ก่อนปี 2566 สามารถติดต่อศูนย์บริการโทรศัพท์มือถือ เพื่อเปลี่ยนเจ้าของซิมหรือติดต่อธนาคารที่ใช้งานโมบายแบงก์กิ้ง เปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์มือถือที่ผูกกับโมบายแบงก์กิ้งของธนาคาร เพื่อดำเนินการให้ข้อมูลชื่อเจ้าของซิมตรงกับชื่อที่ใช้งาน ภายในวันที่ 30 เม.ย.2568 หากไม่ดำเนินการภายในกำหนดอาจถูกระงับการใช้งาน

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

กลุ่มที่ 3 คือลูกค้าที่ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แจ้งกลับมาเป็น P คือ ไม่พบชื่อเจ้าของซิม/ไม่มีข้อมูล มีจำนวน 13.5 ล้านหมายเลข คิดเป็นร้อยละ 11.29 ได้แก่ กลุ่มลูกค้าที่เปิดบัญชีตั้งแต่ปี 2565 และเปิดใช้งานโมบายแบงก์กิ้ง ก่อนปี 2566 ที่ตรวจสอบจากค่ายมือถือแล้ว แต่ไม่พบชื่อเจ้าของซิม (ดำเนินการพร้อมกัน 2.4 ล้านเลขหมาย) โดยกรณีหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่ใช้ลงทะเบียนกับธนาคารมีข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ สามารถติดต่อศูนย์บริการโทรศัพท์มือถือที่ใช้บริการด้วยตนเอง เพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ ลงทะเบียนชื่อเจ้าของซิมให้ตรงกับชื่อผู้ใช้งานโมบายแบงก์กิ้ง ตามเงื่อนไขของผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ (ธนาคารไม่สามารถดำเนินการในส่วนนี้แทนได้) พร้อมบัตรประชาชน เพื่อดำเนินการให้ข้อมูลชื่อเจ้าของซิมตรงกับชื่อที่ใช้งานโมบายแบงก์กิ้ง ภายในวันที่ 30 เม.ย.2568 หากไม่ดำเนินการภายในกำหนดอาจถูกระงับการใช้งาน

ลูกค้าที่ได้รับแจ้ง (P) ต้องดำเนินการอัปเดตข้อมูลชื่อเจ้าของซิม และชื่อผู้ใช้งานโมบายแบงก์กิ้ง ให้ตรงกัน ภายในวันที่ 30 เม.ย. 68 หากไม่ดำเนินการภายในเวลาที่กำหนด ปปง. ธปท. และ กสทช. จะพิจารณาระงับการใช้งานเป็นการชั่วคราวต่อไป
ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ขั้นตอนการดำเนินการ มาตรการยกเว้นกลุ่มบุคคลใดบ้าง 

ธนาคารจะดำเนินการแจ้งประชาชน [ลูกค้าในกลุ่มที่ 2 (N) และกลุ่มที่ 3 (P)] ผ่านช่องทางโมบายแบงก์กิ้งของแต่ละธนาคาร ภายในวันที่ 1 ก.พ.2568 โดยประชาชนที่ได้รับแจ้งต้องดำเนินการอัปเดตข้อมูล ชื่อเจ้าของซิม และชื่อผู้ใช้งานโมบายแบงก์กิ้ง ให้ตรงกัน ภายในเวลา 90 วัน (สิ้นสุดวันที่ 30 เม.ย.2568) หากไม่ดำเนินการภายในเวลาที่กำหนด ปปง. ธปท. และ กสทช. จะพิจารณาระงับการใช้งาน Mobile Banking เป็นการชั่วคราวต่อไป 

ทั้งนี้ มาตรการโมบายแบงก์กิ้งพิจารณายกเว้นกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กลุ่มที่มีข้อจำกัดในการปฏิบัติตามมาตรการโดยมีรายละเอียดดังนี้

1. เบอร์มือถือที่จดทะเบียนในชื่อหน่วยงานราชการ (เช่น สำนักงานอัยการสูงสุด) หรือองค์กรที่ใช้โดยพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ จะได้รับการพิจารณาเป็นข้อยกเว้น และไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามมาตรการนี้

2. ลูกค้าที่มีความจำเป็น หรือข้อจำกัดเฉพาะ เช่น ไม่สามารถเปลี่ยนเบอร์มือถือได้ เนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมาย หรือเอกสาร สามารถยื่นคำขอยกเว้น พร้อมเอกสารประกอบแสดงเหตุผลต่อธนาคาร

3. กลุ่มบุคคลในครอบครัว เช่น พ่อ แม่ บุตร พี่น้อง ปู่ ย่า ตายาย คู่สมรส (จดทะเบียน) โดยจะต้องแสดงเอกสารความสัมพันธ์ต่อธนาคาร ได้แก่ เอกสารที่ออกโดยหน่วยงานราชการ เช่น ทะเบียนบ้าน สูติบัตร ทะเบียนสมรส เป็นต้น และเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของเบอร์โทรศัพท์ เช่น ใบกำกับภาษี ใบเสร็จ ค่าโทรศัพท์

4. นิติบุคคล ได้แก่ บริษัทเอกชน หรือนิติบุคคลตามกฎหมาย (กรณีที่ลงทะเบียนในนามนิติบุคคล และให้พนักงานในองค์กรใช้งาน) จะต้องมีเอกสารรับรองจากบริษัท ที่มีข้อความระบุชื่อ เบอร์โทรศัพท์ และอนุญาตให้ใช้เบอร์โทรศัพท์ผูกโมบายแบงก์กิ้ง

5. ผู้ที่ต้องได้รับความดูแลตามกฎหมาย ได้แก่ ผู้ไร้ความสามารถ ผู้เสมือนไร้ความสามารถ และผู้พิการ จะต้องนำเอกสารตามคำสั่งศาลแต่งตั้งผู้อนุบาล หรือเอกสารตามคำสั่งศาลแต่งตั้งผู้พิทักษ์ บัตรผู้พิการ หรือเอกสารที่หน่วยงานราชการออกให้ มายื่นแสดงต่อธนาคาร

รัฐบาลกำชับให้ธนาคารและผู้ให้บริการโทรคมนาคม สกัดบัญชีม้าเต็มรูปแบบ เริ่ม 1 ก.พ.2568 นี้ โดยประชาชนจะได้รับแจ้งเตือนผ่านแอปฯธนาคาร โมบายแบงก์กิ้งเท่านั้น ไม่แจ้งเตือนผ่านช่องทางอื่น ต้องตรวจสอบว่าตนเองอยู่ในกลุ่มใด และปฏิบัติตามคำแนะนำ พร้อมอัปเดตข้อมูลให้ชื่อเจ้าของซิมตรงกับชื่อผู้ใช้งานโมบายแบงก์กิ้ง ภายใน 90 วัน (สิ้นสุด 30 เม.ย. 2568) มิฉะนั้นอาจถูกระงับการใช้งานชั่วคราว ทั้งนี้ หากไม่ได้รับแจ้งเตือน สามารถใช้งานโมบายแบงก์กิ้งได้ตามปกติ ส่วนสมุดบัญชียังคงใช้งานได้ทุกกรณี

อ่านข่าว : "รางจืด" สมุนไพรฤทธิ์เย็น ใช้อย่างไรให้ได้ประโยชน์ - ข้อควรระวัง

เลขาฯ กกต.เชิญชวนเลือก อบจ. ยันยังไม่ได้รับรายงานทุจริต

เครื่องบินเล็กตกในฟิลาเดลเฟีย ผู้โดยสาร 6 คน - ไม่มีรายงานผู้รอดชีวิต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง