ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อัปเดต "เสือโคร่ง" ดงพญาเย็นพบเสือวัยรุ่นเริ่มขยับหาพื้นที่

สิ่งแวดล้อม
25 ม.ค. 68
16:24
228
Logo Thai PBS
อัปเดต "เสือโคร่ง" ดงพญาเย็นพบเสือวัยรุ่นเริ่มขยับหาพื้นที่
หน้าเก่าถอยไป! นักวิจัยสัตว์ป่า เม้าท์มอยบรรดา "เสือโคร่ง" ในป่าลึกพบพฤติกรรม 119M ขาใหม่เริ่มเคลมพื้นที่ป่าดงพญาเย็นแทน 102M ที่เริ่มแก่สุขภาพไม่ดีต้องละถิ่นฐาน ส่วน "บะลาโก"น้องใหม่บันทึกภาพได้ครั้งแรก

วันนี้ (25 ม.ค.2568) เพจเฟซบุ๊กสถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่โพสต์ภาพเสือโคร่ง 2 ตัว พร้อมระบุว่า ขาใหม่มา หน้าเก่าก็ต้องไป

ข้อมูลระบุว่า TLT102M เป็นเสือโคร่งตัวผู้ที่ถูกบันทึกภาพด้วยกล้องดักถ่ายเพื่อการสำรวจประชากรเสือโคร่งในผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ในปี 2561 ซึ่งเป็นปีแรกของการสำรวจ

ตัวเลข 102M แปลความได้ว่ามันถูกระบุตัวได้เป็นลำดับที่ 2 และเป็นตัวผู้เขี้ยวค่อนข้างขาว และปลายเรียวแหลมที่เห็นได้จากภาพถ่ายครั้งนั้นทำให้คาดว่ามันมีอายุราว 3-4 ปี

ภายในพื้นที่ครอบครองของ 102M เป็นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งตัวเมียอีก 3 ตัว โดย 1 ใน 3 นั้นคือ TLT 106 F ที่ลูก ๆ ของมันกำลังเข้าสู่วัยรุ่น และคงต้องออกเดินทางหาพื้นที่ครอบครองในไม่ช้านี้

ส่วนตัวผู้เพื่อนบ้านของของ 102M นั้นคือเสือโคร่ง TLT103M ซึ่งยึดครองอยู่ตั้งแต่ปี 2562 จนปัจจุบัน และยังคงเป็นเพื่อนบ้านที่ดีคือไม่รุกรานกัน

ข้อมูลจากการสำรวจล่าสุด พบว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับ 102M ทั้งด้านสุขภาพที่มีริ้วรอยบาดแผลตามร่างกาย และด้านพฤติกรรมที่พบว่ามันเดินลาดตระเวนป้องกันพื้นที่น้อยลง

ขณะเดียวกันก็มี TLT119M เข้ามาเพ่นพ่าน และมีพฤติกรรมบุกรุกเพื่อยึดครองพื้นที่ในส่วนที่เป็นถิ่นอาศัยของ 106F และลูกๆ ที่เกิดกับ 102M โดยปีก่อน 119M ปรากฏตัวขึ้นในหลายๆ จุดของกลุ่มป่าดงพญาเย็น กระทั่งปี 2567 มันได้มาประชิดชายขอบของอาณาเขต 102M

การบุกเข้ามาของ 119M อย่างไม่ยำเกรงครั้งนี้ อาจสร้างความลำบาก ให้ 102M ในการปกป้องถิ่นและครอบครัว แต่เชื่อได้ว่ามันจะต้องพยายามประคับประคองไปอีกสักระยะ เพื่อรอเวลาให้ลูก ๆ ของมันมีความพร้อมในการออกเดินทางแสวงหาพื้นที่ใหม่

หลังจากนั้น 102M คงจะหลบ ละทิ้งถิ่นฐานรวมถึง 106F ที่เคยเป็นของมัน สู่พื้นที่ใหม่เพื่อใช้ชีวิตในบั้นปลาย ที่ไม่มีสิ่งใดสำคัญนอกจาก อาหาร เพื่อยังชีพให้ได้นานที่สุด “หน้าเก่าไป ขาใหม่มา” เป็นวัฏจักรปกติสำหรับเสือโคร่งตัวผู้

อ่านข่าว ไขความลับ "มูลเสือโคร่ง" ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่กินอะไร

สถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่

สถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่

สถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่

ถ่ายภาพได้แล้ว "บะลาโกล"

นอกจากนี้ ยังระบุว่า เจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ได้เข้าตรวจสอบกล้อง และเก็บการ์ดกล้องที่ตั้งในเส้นทางด่านที่คาดว่าบะลาโกลจะเดินผ่าน

ในการ์ดที่ได้มาปรากฏว่ามีภาพเสือตัวหนึ่งถูกบันทึกในวันที่ 19 ธ.ค.2567 เวลา 00.55.19 น.โดยลวดลายข้างลำตัวขาดความคมชัด มีเพียงที่คอคล้ายว่าจะใส่ปลอกคออยู่

นอกจากภาพนิ่งแล้วยังมีคลิป เวลา 00.55.30 บันทึกเสือโคร่งเดินเป็นเวลา 3 วินาที แล้วบั้นท้ายก็หายไปจากเฟรม จึงได้นำบั้นท้ายเสือปริศนามาเปรียบเทียบกับบะลาโกลเมื่อครั้งยังอยู่ที่คลองลาน

ในที่สุดการรอคอยตลอดเวลา 6 เดือน ก็สิ้นสุดเมื่อลายส่วนท้ายของภาพทั้งคู่ตรงกัน ยืนยันได้ว่า เสือโคร่งตัวนั้น คือบะลาโกลหลังจากที่ลัดเลาะอย่างอิสระอยู่ในกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่

แม้ว่าคลิปจะสั้นมาก แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้คือรูปร่างที่คล้ายสูงขึ้น และมีกล้ามเนื้อ โดยโคนหางเป็นอุปสรรคในการสอดส่องสิ่งที่เอฟซี อยากรู้อยากเห็นและแล้ว สิ่งนั้นยังคงลึกลับต้องค้นหากันต่อไป 

อ่านข่าว "เสือโคร่ง" ในป่าไทย เพิ่มขึ้นเป็น 179-223 ตัว

สำหรับการศึกษาประชากรเสือโคร่งในป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เมื่อปี 2561 สถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ร่วมกับองค์การแพนเทอรา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ สำรวจและติดตามประชากรเสือโคร่งในผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่อนุรักษ์ 5 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่อย่างต่อเนื่อง

พร้อมระบุว่าจากการสำรวจในปี 2565 สามารถถ่ายภาพเสือโคร่งตัวเต็มวัยได้ 15 ตัว และล่าสุดต้นปี 2567 ได้คลิปเสือโคร่งรหัส TLT106 ที่มีลูกน้อยเดินตามอีก 4 ตัว

ข้อมูลสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช รายงานในปี 2567  ไทยมีประชากรเสือโคร่งตัวเต็มวัยประมาณ 179-223 ตัว

ติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพจำนวนกว่า 1,200 จุด และมีรายงานการถ่ายภาพเสือโคร่งได้ในพื้นที่อนุรักษ์ 19 แห่ง 5 กลุ่มป่า ประกอบด้วยกลุ่มป่าตะวันตก 152-196 ตัว  กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ 19 ตัว กลุ่มป่าแก่งกระจาน-กุยบุรี 5 ตัว กลุ่มป่าฮาลา-บาลา 2 ตัว และกลุ่มป่าชุมพร 1 ตัว

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง