สนามการเมืองท้องถิ่นของ จ.บุรีรัมย์ โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บุรีรัมย์ หลังจากทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดรับสมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 23-27 ธ.ค.2567 ที่ผ่านมา ทำให้อุณหภูมิการเมืองท้องถิ่นที่ดูคงที่กลับสูงขึ้นมาอีกครั้ง
สำหรับ จ.บุรีรัมย์ มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง อบจ.บุรีรัมย์ รวม 187 คน แต่ถูกตัดสิทธิ์รับสมัคร 3 คน เหลือผู้สมัครรับเลือกตั้ง อบจ.บุรีรัมย์ จำนวน 184 คน โดยมีผู้สมัครนายก อบจ.บุรีรัมย์ จำนวน 5 คน ถูกตัดสิทธิ์รับสมัคร 1 คน เหลือผู้สมัครนายก อบจ. 4 คน ได้แก่ หมายเลข 1 นายการุณ ใสงาม อดีต ส.ว.บุรีรัมย์, หมายเลข 2 น.ส.พิมพ์ชนก รัตนบรรณกิจ
หมายเลข 3 นายณัฐกิตติ์ ล้อประสิทธิ์ อดีตผู้สมัครนายก อบจ.บุรีรัมย์ เมื่อปี 2563 และ หมายเลข 4 นายภูษิต เล็กอุดากร อดีตนายก อบจ.บุรีรัมย์ สมัยที่ผ่านมา หลานชายของนายเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรฟุตบอล บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ในนามทีมกลุ่ม “คนบุรีรัมย์”
ส่วนผู้สมัครสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ ทั้ง 42 เขตเลือกตั้ง ใน 23 อำเภอ ของ จ.บุรีรัมย์ มีจำนวนทั้งสิ้น 182 คน ถูกตัดสิทธิ์รับสมัคร 2 คน เหลือผู้สมัครสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ 180 คน
ได้แก่ ผู้สมัครสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ ในนามทีมกลุ่ม “คนบุรีรัมย์” จำนวน 42 คน ส่งสมัครใน 42 เขตเลือกตั้งๆ ละ 1 คน เป็นอดีตสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ กว่า 30 คน และผู้สมัครสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ ในนาม “พรรคประชาชน” (ปชน.) จำนวน 9 คน ส่งสมัครใน 9 เขตเลือกตั้ง 7 อำเภอ
ส่วนที่เหลือเป็นผู้สมัครสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ ในนามอิสระ จำนวน 129 คน ใน 42 เขตเลือกตั้ง 23 อำเภอ ซึ่งผู้สมัครส่วนใหญ่เป็นนักการเมือง อดีตสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ เกือบทั้งหมด ข้าราชการบำนาญ ผู้ท้องถิ่น เกษตรกร และผู้นำชุมชน
โดยกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 1 ก.พ. 2568 แบ่งการเลือกตั้งออกเป็น 42 เขตเลือกตั้ง 2,645 หน่วยเลือกตั้ง ใน 23 อำเภอ 2,546 หมู่บ้าน ซึ่ง กกต.ท้องถิ่นตั้งเป้ามาใช้สิทธิ์ร้อยละ 70 ส่วนจะมีผู้มาใช้สิทธิ์มากน้อยเพียงใด
หากดูภูมิหลังของผู้สมัครนายก อบจ.ทั้ง 4 คน ว่ามีดีเด่นดังอะไรบ้าง และกระแสประชาชนชาวบุรีรัมย์จะเลือกใครเข้ามาเป็นนายก อบจ. และสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ ครั้งนี้
นายการุณ ใสงาม อดีต ส.ว.บุรีรัมย์ ผู้สมัครนายก อบจ. หมายเลข 1 ซึ่งคร่ำหวอดในแวดวงการเมืองมาตลอด และเป็นการลงชิงเก้าอี้นายก อบจ.ครั้งแรก เพราะต้องการเข้ามาเปลี่ยนแปลงการเมืองท้องถิ่น รวมถึงเข้าไปทำหน้าที่ในการปราบทุจริตในทุกรูปแบบ
เนื่องจากที่ผ่านมา ยังไม่เคยเห็นใครปราบปรามการกระทำทุจริตอย่างจริงจังเลย รวมถึงอยากเข้ามาดูแลสวัสดิการ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ ตาย โดยใช้งบประมาณขององค์การบริหารส่วนจังหวัด
คู่แข่งที่คาดว่าสู้กันเข้มข้นอย่าง นายภูษิต เล็กอุดากร นายก อบจ.บุรีรัมย์ สมัยที่ผ่านมา หลานชายของนายเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรฟุตบอล บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ผู้สมัครนายก อบจ. หมายเลข 4 ในนามทีมกลุ่ม “คนบุรีรัมย์” ขออาสามารับใช้พี่น้องประชาชนอีกครั้ง
ที่ว่ากันว่า มีฐานคะแนนแน่นในแทบทุกพื้นที่ของบุรีรัมย์ ฐานคะแนนหลักเป็นอดีตสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ นายกเทศมนตรี และ อบต. ซึ่งการเลือกตั้งคราวที่แล้วได้คะแนน 439,547 คะแนน
นายภูษิต กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ ขอให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน และไม่รู้สึกหนักใจเพราะการเมืองต้องมีคู่แข่งอยู่แล้ว เราแข่งขันกันโดยประชาธิปไตยไม่มีอะไร ส่วนเรื่องนโยบายก็จะสานต่อนโยบายเก่าที่ได้ทำไว้ และก็จะมีการเพิ่มอีกนโยบายในเรื่องน้ำดื่ม น้ำสะอาด ของพี่น้องประชาชนชาวบุรีรัมย์
และมั่นใจจะไม่มีความรุนแรง เพราะเราหาเสียงโดยความชอบธรรม ตามระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว ก็คงจะไม่มีความรุนแรงเหมือนจังหวัดอื่น บุรีรัมย์เราหาเสียงกันแบบแฮปปี้ ไม่มีการใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด
ส่วนในตัวผู้สมัครสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ ทั้ง 42 เขต ก็มีความมั่นใจ เนื่องจากผู้สมัครของเราแต่ละคนลงพื้นที่หนัก โดยเฉพาะช่วงที่ผ่านมา ดูแลพี่น้องประชาชนอย่างดี ส่วนจะมีพรรคการเมืองเข้ามาหาเสียงในพื้นที่หรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ แต่เราก็หาเสียงในนามของ “คนบุรีรัมย์”
ขณะที่ผู้สมัครนายก อบจ.อีก 2 คน แม้ชื่อเสียงจะไม่โด่งดัง และไม่เคยผ่านสนามการเมืองท้องถิ่นมาเลยอย่าง หมายเลข 2 น.ส.พิมพ์ชนก รัตนบรรณกิจ ผู้สมัครอิสระ ส่วนหมายเลข 3 นายณัฐกิตติ์ ล้อประสิทธิ์ อดีตผู้สมัครนายก อบจ.บุรีรัมย์ เมื่อปี 2563 ได้คะแนน 21,697 คะแนน ที่ไม่ค่อยคาดหวังอะไรมากกับการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ขออาสารับใช้พี่น้องชาวบุรีรัมย์ เป็นตัวเลือกใหม่ในการตัดสินใจ
หลายคนอาจมองว่า ทั้งสองคนเป็นไม้ประดับทางการเมือง แต่ผู้สมัครกลุ่มอิสระแต่ละคนก็หวังคะแนนจากพี่น้องประชาชนทั้ง 23 อำเภอ เลือกเข้าไปทำหน้าที่บริหาร อบจ.บุรีรัมย์
การเลือกตั้งครั้งนี้แม้ถูกมองว่า เป็นการแข่งขันกันระหว่าง นายภูษิต กับนายการุณ เพราะทั้งสองล้วนเป็นนักการเมืองในท้องถิ่น ที่ประชาชนในพื้นที่ต่างคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แต่นายภูษิตก็ยังถูกมองว่า เป็นคนที่มีโอกาสดีกว่าผู้สมัครคนอื่น อย่างไรก็ตามทุกคนก็ไม่ควรประมาทเช่นกัน ทำให้สนามเลือกตั้งนี้ดูเข้มข้นขึ้นมาก
แม้ว่าทางพรรคประชาชน จะไม่ส่งผู้สมัครนายก อบจ.บุรีรัมย์ แต่ก็ส่งผู้สมัครสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ จำนวน 9 คน ลงใน 9 เขตเลือกตั้ง 7 อำเภอ ทำให้มีการแข่งขันค่อนข้างเข้มข้นในหลายเขตเลือกตั้ง
สมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ ระหว่างผู้สมัครกลุ่มคนบุรีรัมย์ ของนายภูษิต กับผู้สมัครของพรรคประชาชน เพราะมีการแบ่งขั้วการเมืองกันอย่างชัดเจน อีกทั้งการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อปี 2566 ทางพรรคก้าวไกล ที่ปัจจุบันคือ พรรคประชาชน ก็มีคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ใน จ.บุรีรัมย์ มากเป็นอันดับหนึ่งด้วย จึงขอมาเป็นตัวสอดแทรกในการแบ่งเก้าอี้สมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ ครั้งนี้
สำหรับการหาเสียงของผู้สมัครแต่ละคน เริ่มคึกคัก ทั้งผู้สมัครนายก อบจ. และสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ พบว่า ส่วนมากจะใช้วิธีการแนะนำตัวผ่านโซเชียล และจัดทีมงานออกไปติดโปสเตอร์หาเสียงตามที่ต่าง ๆ และมีรถโฆษณาหาเสียงตระเวนไปทั่วในเขตเลือกตั้งตลอดทั้งวัน ซึ่งยอมรับว่า มีการจัดตั้งทีมงานที่ไว้ใจได้ นอกจากนี้ยังมีการลงพื้นที่ออกพบปะตามหมู่บ้าน ชุมชนเพื่อขอคะแนนเสียงอีกด้วย
สนามเลือกตั้งนายก อบจ.บุรีรัมย์ และสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ ครั้งนี้ ถูกจับตามองเป็นพิเศษว่า จะมีการแข่งขันค่อนข้างเข้มข้น คาดว่าในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง จะการส่งทีมงานเข้าไปเจาะหาผู้นำในชุมชน หมู่บ้านให้ช่วยเป็นหัวคะแนน เพื่อพยายามเจาะฐานเสียงคู่แข่งโดยอาศัยญาติพี่น้อง และผู้ใกล้ชิด แบบน้ำซึมบ่อทราย ซึ่งจะเป็นคะแนนจัดตั้งมากกว่า
ท้ายที่สุดแล้ว ผลการเลือกตั้งจะออกมาในรูปใด คงต้องรอในวันที่ 1 ก.พ.2568 นี้ จะเป็นเครื่องชี้วัดได้ว่า พี่น้องประชาชนชาวบุรีรัมย์ จะเลือกใครเป็นนายก อบจ.บุรีรัมย์ เข้ามาทำงาน และเลือกสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ ทั้ง 42 คน เข้ามาเป็นปากเสียงในสภา อบจ.บุรีรัมย์ ครั้งนี้
รายงาน : ไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคอีสาน
อ่านข่าว : เลือกตั้ง อบจ. 2568 "ผู้แทน - ผู้นำ" แบบไหน ที่คุณอยากเห็น
ทำไม 29 จังหวัดไม่ต้องเลือกนายก อบจ.ในวันที่ 1 ก.พ.68
เปิดรายชื่อผู้สมัครนายก อบจ. 47 จังหวัด เลือกตั้งพร้อมกัน 1 ก.พ.2568