ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เช็กก่อน (ไม่เทรวม) แยกถุงลดค่าธรรมเนียมกทม.คิกออฟ 1 ส.ค.

สิ่งแวดล้อม
14 ม.ค. 68
15:31
183
Logo Thai PBS
เช็กก่อน (ไม่เทรวม) แยกถุงลดค่าธรรมเนียมกทม.คิกออฟ 1 ส.ค.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เช็กก่อน (ไม่เทรวม) แยกถุง แยกขยะลดค่าธรรมเนียมอัตราใหม่กทม.คิกออฟ 1 ส.ค.68 ยึดหลักขยะทุกชิ้นมีเจ้าของ หวังลดขยะที่จัดเก็บ 10,000 ตันต่อวันและต้องเสียค่ากำจัด 7,000 ล้านบาทต่อปี

วันนี้ (14 ม.ค.2568) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพ มหา นคร แถลงข่าว Kick off "บ้านนี้ไม่เทรวม" แยกขยะลดค่าธรรมเนียม เนื่องจากขณะนี้ กทม.เตรียมจัดเก็บค่าเก็บขยะอัตราใหม่จาก 20 บาทต่อเดือน เป็น 60 บาทต่อเดือน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในช่วงกลางปีหรือปลายปีนี้ 

ขณะที่บางบ้านคัดแยกขยะไม่เทรวมอยู่แล้ว แต่รอบนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ที่จะการแยกขยะพร้อมกันทั้ง กทม. มีกฎระเบียบ ค่าธรรมเนียมมากำกับ หวังผลช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะที่ต้องใช้ 7,000 ล้านบาทต่อปี 

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากทม.

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากทม.

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากทม.

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า ในกทม.เก็บขยะได้ 10,000 ตันต่อวัน ส่วนใหญ่ 50% เป็นขยะเศษอาหารถูกปะปนกับขยะที่รีไซเคิลทำให้ขยะเน่าและมีกลิ่น มีรายได้จากส่วนนี้ 500 ล้านบาทต่อปี หัวใจไม่ใช่เพิ่มเงินจากการเก็บขยะ แต่ต้องการลดขยะจากต้นทาง

ดังนั้นจึงต้องลดขยะที่ต้นทางจากครัวเรือน และมีขยะที่นำไปรีไซเคิลได้ก็แทบจะไม่มีขยะ ที่ผ่านมามีการคัดแยกจากห้างสรรพสินค้าและผู้ประกอบการ 4,600 แห่งและได้ขยะที่ลดได้ 1,000 ตันต่อวัน จึงจะเริ่มในส่วนของประชาชนตั้งเป้าอีก 1,000 ตันต่อวัน

ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นนิสัย จึงต้องเปลี่ยนทันที และถ้าไม่เริ่มวันนี้ อีกกี่โมงอีกกี่สิบปีจะเริ่มได้ เพราะขยะทุกชิ้นมีเจ้าของ 

ขยะเยอะจ่ายเยอะ-จูงใจแยกขยะ

นายพรพรหม ณ ส.วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า สำหรับการจัดกลุ่มผู้ชำระค่าธรรมเนียมจัดการเก็บขยะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1.บ้านพักอาศัย คอนโดมิเนียม แฟลต หมู่บ้านจัดสรร และชุมชนที่มีขยะไม่เกิน 20 ลิตรหรือ 4 กก.คิดอัตรา ไม่แยกขยะ 60 บาทต่อเดือน คัดแยกขยะ 20 บาทต่อเดือน

อ่านข่าว กทม.จ่อปรับเกณฑ์ WFH รับมือฝุ่นระลอกใหม่ 14-15 ม.ค. 

กลุ่มที่ 2 ร้านอาหาร สถานประกอบการขนาดเล็ก ร้านสะดวกซื้อ ขยะเกินวันละ 20 ลิตรแต่ไม่เกิน 1 ลบ.ม. หรือ 200 กก. ทิ้งเยอะจ่ายมาก 120 บาทต่อหน่วย กลุ่มที่ 3 ห้างสรรพสินค้า ตลาด สถานประกอบการขนาดใหญ่ ขยะเกินวันละ 1 ลบ.ม. (200 กก.) และทิ้งเยอะ จ่ายมาก 8,000 บาท หน่วยละ 1 ลบ.ม.สำหรับการร่วมโครงการไม่เทรวม มีขั้นตอนดังนี้

แบบเดี่ยว

  • บ้านพักอาศัย หมู่บ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม/แฟลต ที่ไม่มีนิติบุคคล เจ้าของบ้านหรือผู้เช่าที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ 
  • ลงทะเบียนด้วยตนเองทางแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ BKK Waste Pay กรณีไม่มีสมาร์ทโฟนลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ที่จัดเก็บค่าธรรมเนียมหรือลงทะเบียนที่สำนักงานเขต เริ่มลงทะเบียนล่วงหน้า 14 ม.ค.
  • ระบบจะแจ้งเตือนให้ส่งภาพหลักฐานการคัดแยกขยะตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.นี้ และเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมอัตราใหม่เมื่อข้อบัญญัติมีผลบังคับใช้
  • สิ่งที่ต้องใช้ในการลงทะเบียน ประกอบด้วย รหัสประจำบ้าน (House ID) 11 หลัก ชื่อ-สุกล เบอร์โทรศัพท์ และภาพถ่ายการคัดแยกขยะ (ขยะเศษอาหาร ขยะรีไซเคิล และขยะอันตราย ขยะทั่วไป) บ้านเรือนที่ลงทะเบียนจะได้รับถุงใส่ขยะเศษอาหารสำหรับ 1 ปีแรก ทั้งนี้ ระบบจะมีการสุ่มตรวจการคัดแยกขยะทุก ๆ 3 เดือน 
  • จะมีการแจกถุงขยะสีเขียวสำหรับเศษอาหารแจกสติกเกอร์สำหรับการแสดงหน้าอาคารและจัดเตรียมรถเก็บขยะแยกประเภทสำหรับเศษอาหาร

โดยกทม.จะมีการปักมุดพิกัด และหากผู้สมัครแล้วไม่ได้คัดแยกขยะจริงก็จะให้หยุดชั่วคราวและเปิดให้ลงทะเบียนใหม่

แบบกลุ่ม

  • ต้องมีที่พักรวม และนิติบุคคลลงทะเบียนแทน และลูกบ้านจ่าย ต่อครัวเรือน 20 บาท และกทม.จะแจกถัง (1 ถัง 100 ลิตรต่อ 20 ห้อง/บ้าน)
  • กลุ่มนี้จะเริ่มลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.นี้ และเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมอัตราใหม่เมื่อข้อบัญญัติมีผลบังคับใช้
  • โดยสำนักงานเขตพื้นที่จะเชิญนิติบุคคลมาประชุมเพื่อแจ้งรายละเอียดและแนวทางการจัดที่พักรวมมูลฝอยที่คัดแยก 4 ประเภท รวมถึงขั้นตอนและวิธีการลงทะเบียน หลักฐานที่ต้องแนบ เช่น รายงานการประชุมลูกบ้านที่มีมติ รหัสประจำบ้าน (House ID) 11 หลัก และหลักฐานการใช้ประโยชน์ขยะ

สำหรับการจัดเก็บขยะแบบไม่เทรวม ทางกทม.จะรองรับขยะทั่วไป ขยะเศษอาหารแยกจากกันไป 

  • ทิ้งถังขยะทั่วไป (ถังสีน้ำเงิน)ในชุมชน หมู่บ้านรถขยะประจำเส้นทาง เก็บ 2 ครั้ง/สัปดาห์ 
  • จุดทิ้งบนทางเท้าตามวันเวลาที่กำหนด รถขยะประจำเส้นทาง (รถแบบอัด) จัดเก็บทุกวัน
  • ส่วนขยะเปียกเศษอาหาร แยกเฉพาะเปลือกผลไม้ เศษผัก อาหาร เศษใบไม้ กิ่งไม้เล็กๆ กรองน้ำออก และใส่ถุงสีเขียวมัดปากถุงให้แน่น ตั้งวางที่หน้าบ้านวันที่เขตนัดเก็บ
  • ขยะรีไซเคิลจะมีแอปพลิเคชันรับซื้อถึงหน้าบ้าน มีรถซาเล้ง ธนาคารขยะตลาดนัดรีไซเคิล รถเก็บขยะชิ้นใหญ่ทุกวันอาทิตย์

เช็กก่อน (ไม่เทรวม) แยกถุง 

  • ขยะทั่วไป เช่น ถุงพลาสติกเปื้อนอาหาร ซองบะหมี่ ถุงขนม
    กล่องโฟม ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ถุงแกง หลอดยาสีฟัน ถุงเติม ทิชชู่เปียก
  • ขยะเศษอาหาร เช่น เศษผักผลไม้ เศษอาหาร เศษเนื้อสัตว์
  • ขยะรีไซเคิล เช่น กระดาษ พลาสติก แก้ว โลหะ
  • ขยะอันตราย เช่น หลอดไฟ แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย ยาหมดอายุ กระป๋องสเปรย์ ขวดน้ำยาล้างห้องน้ำ

ทั้งนี้กรุงเทพมหานคร ได้ปรับปรุงข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครว่าด้วยค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนร่วมมือลดและคัดแยกมูลฝอยที่แหล่งกำเนิดอย่างจริงจัง และปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น สอดคล้องกับสภาวการณ์และภาระค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน

โดยสภากรุงเทพมหานคร มีมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. .เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2567 และข้อบัญญัติจะมีผลบังคับใช้ภายหลังจากประกาศในราชกิจจานุเษก 180 วันประมาณปลายปี พ.ศ.2568




 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง