ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ศึก 3 เส้า “ส้ม-แดง-น้ำเงิน” ส่งบ้านใหญ่ ชิงนายก อบจ. 47 จังหวัด

การเมือง
6 ม.ค. 68
18:51
721
Logo Thai PBS
ศึก 3 เส้า “ส้ม-แดง-น้ำเงิน” ส่งบ้านใหญ่ ชิงนายก อบจ. 47 จังหวัด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ศึกเลือกตั้ง นายก อบจ.ทั่วประเทศ 47 จังหวัดที่เหลือ แม้  “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินสายโรดโชว์ เพื่อเรียกพลังศรัทธากลับคืน แต่ “บ้านใหญ่” ก็คือ “บ้านใหญ่” การเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ไม่ใช่การเลือกตั้งระดับชาติ สำหรับชาวบ้านแล้ว ระบบอุปถัมภ์ยังสำคัญ แม้จะมีกระแสเข้ามาช่วย แต่กระสุนก็ยังจำเป็น และสุดท้ายแล้ว “บ้านใหญ่” ก็ “วิน” อยู่ดี

ที่สำคัญสนามการเมืองท้องถิ่น ที่เป็น “ม้านอกสายตา” ไม่ได้อยู่ในสายตาของนักการเมืองระดับชาติมาก่อน แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว หากใครกุมฐานเสียงการเมืองท้องถิ่นได้ การเมืองระดับชาติในฤดูกาลหน้า อาจไม่ต้องเหนื่อยนัก

หลังจาก “ทักษิณ” ประกาศยอมรับบนเวทีหาเสียงที่ จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 5 ม.ค.2568 ที่ผ่านมาว่า ก่อนหน้านี้ไม่ได้สนใจการเมืองท้องถิ่น เพราะเป็นรัฐบาลมาจากพรรคใหญ่ มีกลไกในทุกกระทรวง แต่วันนี้ไม่ได้มี สส. 200 คน เหมือนเมื่อก่อน การเลือกตั้งสมัยหน้าก็ขอคืน สส.ให้กับพรรคเพื่อไทยให้หมด

“พรรคเพื่อไทย มองว่า การเมืองท้องถิ่นเป็นกลไกสำคัญ และตอนกลับมานั่งดูปัญหาทุกเรื่อง สิ่งที่เคยแก้ไว้มันหายไปหมด 17-18 ปีที่ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย ระบบเสียหายไปหลายอย่าง จึงต้องมานั่งดูว่าจะทำอย่างไรบ้าง”

อย่างไรก็ตาม หากไล่เรียงการเดินสายของ “ทักษิณ” ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงผู้สมัคร นายก อบจ.พบว่า พื้นที่เป้าหมายที่หวังผลได้ นายก อบจ. ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งมี สส.อยู่แล้วเป็นหลัก โดยผู้สมัคร นายก อบจ.หรือ ส.อบจ.ต่างลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย

ยกเว้นบางจังหวัดที่มี “บ้านใหญ่” หลายหลัง และหาก “เจรจา” เปิดทาง หรือหลบเลี่ยงกันได้ ก็จะไม่ส่งผู้ สมัครในนามพรรค แต่จะใช้วิธีส่ง เป็นกลุ่ม หรือ เครือข่าย คณะ เพื่อไม่ให้เกิดการปะทะกันของกลุ่มบ้านใหญ่

เช่น ที่ จ.ฉะเชิงเทรา โดยบ้านใหญ่ 3 ตระกูล คือ “ศิริลัทธยากร” “ตันเจริญ” และ ”ฉายแสง” รวมตัวกันส่ง นายกฯไก่ “กลยุทธ์ ฉายแสง” น้องชายจาตุรนต์ ฉายแสง ลงสมัครในนามกลุ่มแปดริ้วก้าวหน้า ทำให้ นายกฯไก่ “กิตติ เป้าเปี่ยมทรัพย์” อดีต นายก อบจ.ฉะเชิงเทรา 5 สมัย กลุ่มแปดริ้วโฉมใหม่ ต้องยอมหลีกทางให้ตามคำขอ หลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ช่วยเข้าไปเคลียร์ใจ

สำหรับการเลือกตั้งในปี 2568 พรรคเพื่อไทยส่งชิง นายก อบจ.และ ส.อบจ. 16 จังหวัด คือ โดยแยกสมัครในนามพรรค 14 จังหวัด และสมาชิกพรรค 2 จังหวัด

ในพื้นที่ภาคเหนือ 6 จังหวัด ประกอบด้วย จ.น่าน ผู้สมัคร คือ นพรัตน์ ถาวงศ์ อดีต นายก อบจ.น่าน, จ.เชียงราย “บ้านใหญ่ติยะไพรัช” ส่ง สลักจฤฏดิ์ ติยะไพรัช อดีต นายก อบจ.เชียงราย, จ.แพร่ บ้านใหญ่วงศ์วรรณ ส่ง “อนุวัธ วงศ์วรรณ” อดีต นายก อบจ.แพร่ 4 สมัย ทายาทพ่อเลี้ยงณรงค์ วงศ์วรรณ

จ.ลำปาง ส่ง ตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร อดีตนายก อบจ.ลำปาง เป็นตัวแทน “บ้านใหญ่โล่ห์สุนทร” จ.ลำพูน ส่ง อนุสรณ์ วงศ์วรรณ อดีตนายก อบจ.ลำพูน ทายาทพ่อเลี้ยงณรงค์ และที่ จ.เชียงใหม่ ส่ง พิชัย เลิศพงศ์อดิศร อดีตนายก อบจ.เชียงใหม่ ลงสมัครในนามสมาชิกพรรค

ภาคอีสาน พรรคเพื่อไทยส่ง 9 จังหวัด ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา ส่ง ยลดา หวังศุภกิจโกศล อดีตนายก อบจ.นครราชสีมา, จ.สกลนคร ส่ง นฤมล สัพโส ภรรยา พัฒนา สัพโส สส.สกลนคร จ.บึงกาฬ ส่ง ภูมิพันธ์ บุญมาตุ่น อดีตผู้สมัครนายก อบจ.บึงกาฬ สมัยที่แล้ว, จ.ศรีสะเกษ ส่ง วิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ อดีต สส.ศรีสะเกษ, จ.มุกดาหาร ส่ง บุญฐิณ ประทุมลี อดีต สส.มุกดาหาร

ที่ จ.หนองคาย ส่ง วุฒิไกร ช่างเหล็ก, จ.มหาสารคาม ส่ง พลพัฒน์ จรัสเสถียร น้องชาย ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีต สส.มหาสารคาม จ.นครพนม ส่ง อนุชิต หงษาดี อดีต นายก อบต.โพนสวรรค์, จ.อำนาจเจริญ ส่ง ดะนัย มะหิพันธุ์ อดีต สส.อำนาจเจริญ ลงสมัครในนามสมาชิกพรรค

และภาคตะวันออก จ.ปราจีนบุรี พรรคเพื่อไทยส่ง สจ.จอย หรือ ณภาภัช อัญชสาณิชมน ภรรยา อดีต สจ.โต้ง

ขณะพรรคประชาชน ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. 17 จังหวัด แต่การเลือกตั้งนายก อบจ. เมื่อปี 2567 ยังไม่มีผู้สมัครนายก อบจ.จากค่ายส้มได้แม้แต่จังหวัดเดียว

อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งนายก อบจ.2568 แกนนำพรรคประชาชน ได้ส่งผู้สมัครนายก อบจ. ในพื้นที่ที่มีความพร้อม และมีความมั่นใจว่าอาจจะสอดแทรกเข้ามาได้บ้าง

เช่น จ.จันทบุรี, ชลบุรี, ตราด, นครนายก, นนทบุรี, ปราจีนบุรี, พังงา, ภูเก็ต, มุกดาหาร, ระยอง, ลำพูน สงขลา, สมุทรปราการ, สมุทรสงคราม สมุทรสาคร, สุราษฎร์ธานี, และเชียงใหม่

แต่ดูความหวังแล้ว การสู้กับ “บ้านใหญ่” และตระกูลเก่าการเมือง ในท้องถิ่นที่มีการสานประโยชน์มานาน จึงเหมือนจะเป็นงานหินของค่ายสีส้ม

ส่วนพรรคภูมิใจไทย ค่ายสีน้ำเงิน เงียบ ๆ แต่ “กินเรียบ” ทุกพื้นที่ “เนวิน ชิดชอบ” ฐานะครูใหญ่พรรคภูมืใจไทย ไม่เน้นส่งผู้สมัครในนามพรรค แต่จะให้ความสนับสนุนส่งในนามเครือข่ายของตระกูลบ้านใหญ่ ตั้งแต่สนับสนุน บ้านใหญ่อยุธยา “สมทรง" พันธ์เจริญวรกุล” หรือเจ้สมทรง อดีตนายก อบจ. ลงอีกสมัยคว้าชัยเก้าอี้นายก อบจ.พระนครศรีอยุธยามาครองเมื่อปีที่แล้ว

หรือ “คนบุรีรัมย์” หรือ กลุ่มเพื่อนเนวิน ซึ่งส่ง หลานชาย “ภูษิต เล็กอุดากร” อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บุรีรัมย์ หลานชาย “เนวิน ชิดชอบ” ประธานสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ลงสมัครชิงเก้าอี้

ไม่ต่างจาก จ.สมุทรปราการ เมื่อครั้ง ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม บ้านใหญ่อัศวเหม ยังอยู่ ตระกูลม้าทองคำ ส่ง “นันทิดา แก้วบัวสาย“ เป็นนายก อบจ.สมุทรปราการ แต่เมื่อครบวาระและ “นันทิดา” ไม่ไปต่อ จึงส่ง “สุนทร ปานแสงทอง” อดีต รมช.เกษตรฯ ลงสนามในนามกลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า

สนามเมืองปากน้ำ “สุนทร” จะมีคู่ต่อสู้จากพรรคส้ม คือ “หมอเอ๊กซ์” นพดล สมยานนทนากุล อดีตผู้บริหารบริษัท ดิ ยูนิค แลปโบราทอรี่ จำกัด

ศึก 3 เส้า ในการชิงเก้าอี้ นายก อบจ.ในครั้งนี้ จึงน่าจับตาดูกว่า สนามการเมืองในระดับท้องถิ่น ใครจะคว้าชัยไปครองมากกว่ากัน ระหว่างเพื่อไทยที่หวังทวงคืนพื้นที่ ปูพรมหวังการเลือกตั้งในระดับชาติ หรือค่ายสีน้ำเงิน “ภูมิใจไทย” และพรรคประชาชน ที่ยังไม่สามารถคว้าเก้าอี้จากจังหวัดใดได้เลย มีสิทธิได้ลุ้นหรือไม่

อ่านข่าว มติ กบฉ.ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินพื้นที่ อ.ยะหา ชงเข้า ครม.

"ทองคำ" ผันผวน 9 ครั้ง ปิดตลาด “รูปพรรณ” ขายออก 43,650

เตือน 6-10 ม.ค.นี้ ลมหนาวมา "ฝุ่นจิ๋ว" พุ่งแจ้ง 15 จังหวัดงดเผา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง