วันนี้ ( 1 ม.ค.2568 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) เปิดเผยว่า เครื่องสำอาง เป็นผลิตภัณฑ์ที่ส่วนใหญ่ใช้เพื่อความสะอาด ปกป้องร่างกาย เป็นผลิตภัณฑ์ที่คนทุกเพศทุกวัยใช้จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ปัจจุบันอุตสาหกรรมเครื่องสำอางทั่วโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความต้องการแตกต่างจากเดิม
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.)
ส่งผลให้เกิดการคาดการณ์แนวโน้มของเครื่องสำอางที่มาแรงในอนาคตไว้ 4 ประการ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากสารสกัดธรรมชาติ กลุ่มผลิตภัณฑ์ Anti-aging (3) ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ชาย และ การเสนอผลิตภัณฑ์เฉพาะบุคคลด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆทั้งนี้พบว่า ประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 3 อันดับแรกของโลก ได้แก่ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี
ส่วนของการนำเข้าเครื่องสำอางในตลาดโลกมีมูลค่า 145,970 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งประเทศที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงสุด 3 อันดับแรกของโลก คือ จีน มูลค่า 18,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สหรัฐอเมริกา มูลค่า 16,140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเยอรมนี มูลค่า 8,230 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับสถานการณ์การค้าของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางของไทยมีการขยายตัวในทิศทางเดียวกับโลก จากการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวและการเฟื่องฟูของการค้าออนไลน์ ไทยมีมูลค่าการส่งออกอยู่ในอันดับที่ 18 ของโลก มูลค่า 2,590 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.58 จากปีที่ผ่านมา
ผอ.สนค. กล่าวว่า ตลาดที่ไทยมีมูลค่าการส่งออกมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น มูลค่า 342.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฟิลิปปินส์ มูลค่า 268.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และออสเตรเลีย มูลค่า 245.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยที่ไทยเป็นฐานการผลิตเครื่องสำอางที่สำคัญของภูมิภาคมีการส่งออกเป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ ขณะที่ไทยมีมูลค่าการนำเข้าเครื่องสำอางอยู่ในอันดับที่ 28 ของโลก มูลค่า 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแหล่งนำเข้าของไทย คือ ฝรั่งเศส จีน และเกาหลีใต้
ทั้งนี้พบว่า ปี 2566 ไทยมีผู้ประกอบการผลิตเครื่องสำอางจำนวน 4,735 ราย หากแบ่งตามขนาดธุรกิจ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย (Micro) และผู้ประกอบการขนาดย่อม (Small) คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 97.95 ของจำนวนผู้ประกอบการที่ผลิตเครื่องสำอางทั้งหมดซึ่งเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกและจำหน่ายภายในประเทศ ซึ่งการจำหน่ายภายในประเทศมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ของปริมาณการจำหน่ายเครื่องสำอางไทยทั้งหมด
อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตอย่างมาก ได้รับความนิยมทั้งจากผู้บริโภคในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ไทยต้องรักษาฐานความนิยม
ผอ.สนค. กล่าวอีกว่า สิ่งที่ผู้ประกอการให้ต้องมองหาคือ การเสริมจุดแข็งให้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อดึงจุดเด่นเครื่องสำอางไทยเป็นที่รู้จักในตลาดโลกมากขึ้น รวมถึง การเพิ่มช่องทางการขายใหม่ ๆ เช่น ตลาดออนไลน์หรือขายผลิตภัณฑ์ในโรงแรมและที่พัก เพื่อมุ่งพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันและทำให้ไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมเครื่องสำอางในเอเชีย
อย่างไรก็ตามสนค. มีข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุ ไม่วาจะเป็น การใช้วัตถุดิบภายในประเทศ โดยเฉพาะพืชพรรณ หรือสมุนไพรไทย เพื่อสร้างอัตลักษณ์ด้านการเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ หรือเพิ่มช่องทางการรับรู้ สำหรับการทำการตลาดและการจัดจำหน่าย ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์
รวมทั้ง เร่งผลักดันการส่งออกเครื่องสำอางไทยไปสู่ตลาดใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น ประเทศแถบตะวันออกกลาง ซึ่งมีความต้องการเครื่องสำอางคล้ายกับประเทศไทยจากสภาพอากาศที่ใกล้เคียงกันและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการศึกษาและทำความเข้าใจการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ข้อตกลงทางการค้า (FTA) เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกเครื่องสำอางไทยไปยังประเทศคู่ค้า FTA มากขึ้น
อ่านข่าว:
เริ่มทยอยเข้าเมืองกรุง รฟท.-บขส.เตรียมพร้อมรับผู้โดยสาร