ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ผ่านเผาหลอก-สู่เผาจริง ? ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจไทยปี 2568

เศรษฐกิจ
25 ธ.ค. 67
11:28
374
Logo Thai PBS
ผ่านเผาหลอก-สู่เผาจริง ? ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจไทยปี 2568
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

นับถอยหลัง อีกไม่กี่วันจะสิ้นปี 2567 ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเจอสภาวะผันผวนมาตลอด แม้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทย ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้น เมื่อ การท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน การส่งออกสินค้า ขยับตัวต่อเนื่อง กอปรกับรัฐ ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการEasy E-Receipt เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนแล้วก็ตาม แต่ภาคการผลิตหดตัวต่อเนื่อง ทำให้การฟื้นตัวไม่ทั่วถึง

ไทยพีเอส ออนไลน์ ประมวลสถานการณ์ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในรอบปี 2567 ว่า นอกจากปัญหาดังกล่าวข้างต้นแล้ว ไทยได้เผชิญความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และปัญหาอัตราเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง ถือเป็นสัญญาณความอ่อนแอของเศรษฐกิจในประเทศ โดยกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าการส่งออกไทยจะขยาย 4% ขณะที่หลายสำนักฟันธงไปก่อนหน้านี้ว่า การส่งออกไทยน่าจะขยายตัว 2-3% เท่านั้น

เศรษฐกิจไทย “จีดีพีโตต่ำ-ภาคการลงทุนหดตัว”

ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิเคราะห์ ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยปี 2567 ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มแข็งแกร่งขึ้น คาดว่า GDP เติบโต เพียง 2.6% มีภาคบริการเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ขยายตัว 3.8%การท่องเที่ยวยังเป็นหลักที่จะนำรายได้เข้าประเทศ จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35-36 ล้านคน

การส่งออกฟื้นตัวแต่การลงทุนยังอ่อนแอ มีการขยายตัว 4.6% ขณะที่การลงทุนรวมขยายตัวเพียง 0.1% โดยการลงทุนภาคเอกชนหดตัว -0.4% แม้การลงทุนภาครัฐจะขยายตัว 2.0% การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวแข็งแกร่งที่ 5.0% สนับสนุนโดยมาตรการแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 1 ในกลุ่มเปราะบาง

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่ต้องติดตาม สินค้าคงคลังยังลดลงต่อเนื่อง โดยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2567 มียอดลดลงสะสม -139.7 พันล้านบาท และถึงแม้ว่าหนี้สินภาคครัวเรือนจะมีแนวโน้มลดลง แต่สัดส่วนหนี้สินภาคครัวเรือนต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 2567 ยังอยู่ในระดับสูงที่ 87.4% - อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำที่ 0.5% ซึ่งสะท้อนว่ากำาลังซื้อยังไม่เข้มแข็งมากนัก

สำหรับปัจจัยบวกที่สนับสนุนการเติบโตของ GDP เมื่อเทียบกับประมาณการครั้งก่อน (Net Positive Impact +0.03% ต่อ GDP) ด้านบวก การส่งออกสินค้า (+0.99%) มาตรการภาครัฐ (+0.62%) และการบริโภคเอกชน (+0.59%) ปัจจัยลบ การนำเข้าสินค้า (-0.89%) การนำเข้าบริการ (-0.45%) และสถานการณ์น้ำท่วมปี 2567 (-0.42%)

กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 อยู่ระหว่าง 0.2 – 0.8 %(ค่ากลาง 0.5%) สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่มีการขยายตัวของการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงแนวโน้มนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มต่อเนื่อง ทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าและบริการปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงการใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้นจาก โครงการเติมเงิน 10,000 บาท

หนี้ครัวเรือนพุ่ง -ฉุดกำลังซื้อ “คนก่อหนี้”

ข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะสังค มไทยไตรมาส 3 /67 พบว่า หนี้สินครัวเรือนล่าสุดในช่วงไตรมาสสอง ปี 2567 ขยายตัวชะลอลง มีมูลค่ารวม 16.32 ล้านล้านบาท ขยายตัว 1.3% จาก 2.3% ของไตรมาสที่ผ่านมา ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปรับลดลงจาก 90.7% ของไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 89.6% ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่หนี้ครัวเรือนลดลงและตัวเลขจีดีพีเพิ่มขึ้น

แม้หนี้สินครัวเรือนจะลดต่ำสุดนับแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย ถือว่ายังมีกำลังซื้อสูง ส่วนหนึ่งเกิดจากระดับภาระหนี้ที่สูงประกอบกับคุณภาพสินเชื่อที่ปรับลดลงต่อเนื่อง ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น สะท้อนจากเงินให้กู้แก่ภาคครัวเรือนของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 หรือ 38.5% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมดที่หดตัวเป็นครั้งแรกที่ 1.2%

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า พฤติกรรมการก่อหนี้ของคนไทย พบว่า 53% หรือ 1 ใน 2 เป็นหนี้เสียเกิดจากกลุ่มคนที่มีอายุ 20-30 ปีที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน และเป็นสัดส่วนที่ไม่เคยลดลง และกลุ่มที่เริ่มทำงานมีหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้ส่วนบุคคล หนี้รถ เป็นกลุ่มที่มีหนี้เสียสูงถึง 27%

ขณะที่กลุ่มเกษตรกรมีสัดส่วนรายได้ที่จ่ายหนี้คืน 34% และ กลุ่มผู้มีรายได้น้อยอยู่ที่ 41% ทำให้มีเงินเหลือใช้จ่ายในส่วนที่จำเป็นหรือเงินออมน้อยลง และพบว่า 40% ของลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลหรือจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำมีหนี้ที่ผูกพันอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามมีคนไทยเพียง 22.4% เท่านั้นที่มีเงินออมเพื่อฉุกเฉินและรองรับการว่างงานได้ 6 เดือนขณะที่ เกือบ 50% ของคนไทย พบว่า มีเงินออมเพื่อฉุกเฉินไม่เพียงพอ ทำให้เกิดการก่อหนี้เพิ่มขึ้น และอีก 25% ของคนเกษียณยังใช้หนี้ไม่หมดเฉลี่ย 419,915 บาทต่อคน

23% หรือ 1 ใน 5 ของคนไทยที่เป็นหนี้ในเครดิตบูรโร และมีหนี้เสียเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด จากปี2563 จาก 17% เป็น 23% ในปี2566 แสดงให้เห็นว่าคนไทยจำนวนหนึ่งจ่ายหนี้ไม่ไหวเพราะเกิดจากการก่อหนี้เกินตัว

จากกการสำรวจพบว่า คนไทยมีหนี้นอกระบบ 43 % เฉลี่ย 54,300 บาทและเสียดอกเบี้ย 10 % เดือนหรือ 120 %ต่อปี และบางรายเสียดอก 20%/เดือน หรือ 240%/ปี ส่งผลให้คนไทยมีหนี้สินต่อครัวเรือน 91%ต่อGDP
โดยที่ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ถึง 67% ของบัญชีหนี้ประเภท สินเชื่อส่วนบุคคลและหนี้บัตรเครดิต ในขณะที่หนี้ที่สร้างรายได้ เช่นหนี้บ้าน หนี้ธุรกิจ หนี้เพื่อทำการเกษตรมีเพียง 17% เท่านั้น

ศูนย์วิจัยเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและการลดลงของการปล่อยสินเชื่อใหม่ ดังนั้นปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90% ของ GDP ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อใหม่มากขึ้น

“แจกเงิน “ทางออกรัฐบาลแก้ “หนี้ครัวเรือน”

ดร.ธนวรรธน์ กล่าวว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้รัฐบาลมีมาตร การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแจกเงินสดขนาดใหญ่ในปี 2567 และ 2568 จะเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญที่ช่วยพยุงให้เศรษฐกิจไทยพอขยายตัวต่อได้ แบ่งเป็น ระยะที่ 1: งบประมาณ 142,000 ล้านบาท 0.7% ของ GDP ถูกใช้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 ผ่านการแจกเงินสด 10,000 บาทให้กับกลุ่มเปราะบาง

ระยะที่ 2: รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ 184,000 ล้านบาท 0.9% ของ GDP จะถูกแจกเป็นเงินสดให้กับผู้สูงอายุ 5-8 ล้านคนภายในเดือนมกราคม และระยะที่ 3: หลังจากสองระยะแรก ยังเหลืองบประมาณราว 100,000 ล้านบาท ซึ่งจะนำไปแจกให้กับประชาชน 10 ล้านคนที่ลงทะเบียนในโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลโดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในไตรมาสที่ 2 ปี 2568

ด้าน ศูนย์วิจัยเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ว่า การแจกเงินสดรอบใหม่นี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากปัจจัยสำคัญอื่น ๆ เช่น ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังอ่อนแอ สภาวะสินเชื่อที่เข้มงวดจากธนาคาร และการฟื้นตัวของรายได้ที่ยังล่าช้า มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นและผลกระทบต่อการบริโภคมากกว่าการแจกเงินสดเพียงครั้งเดียว

เศรษฐกิจโลก-ไทยปี 2568 “ผันผวน”รอบด้าน

สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2568 อาจยังต้องเผชิญกับปัญหาความท้าทายรอบด้าน จาก แนวโน้มการขยายตัวที่ต่ำกว่าคาดของเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลก ความผันผวนภาคเกษตร ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงปัจจัยภาวะหนี้สินของครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง

โดยศูนย์วิจัยเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ว่า หากไทยไม่ปรับตัว ก็จะมีความเสี่ยงและมีแนวโน้มสู่ช่วงขาลงอย่างต่อเนื่อง และยังไม่สามารถกลับมาเท่าศักยภาพเดิมที่ 3.0% - 3.5% โดยไทยยังถือเป็นหนึ่งในประเทศที่เติบโตได้ช้าที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

และในปี 2568 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตเพียง 2.6% และปี2569 เติบโต2.4% โดยเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแอลงในปีหน้า เป็นผลมาจากปัจจัยระยะสั้นและระยะยาว จาก ปัญหาความสามารถในการแข่งขัน ที่สะท้อนจากการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของไทยที่หดตัวลงต่อเนื่อง

โดยเฉพาะหากมีการปรับภาษีนำเข้าสินค้าขึ้นจากสหรัฐ ฯ ซึ่งจะส่งกระทบเพิ่มเติมต่อภาคการส่งออกไทย ขณะที่ภาคบริการขยายตัวช้าลง ส่วนการหดตัวของสินเชื่อในภาคธนาคารจะยังคงดำเนินต่อไป ส่งผลกระทบกับการบริโภคในระยะข้างหน้า และ การเข้าสู่สังคมสูงอายุ กดดันแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

ชี้ 3 ปัจจัยสำคัญ กดเศรษฐกิจไทยโตต่ำ

อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยในปีหน้ามีแนวโน้มเผชิญกับการเติบโตต่ำจากปัจจัยหลัก 3 ประการ คือ ภาคบริการและการท่องเที่ยวจะไม่ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจมากเท่าเดิม จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในปี 2568-2569 คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยเพียง 6.9% ต่อปี ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับการฟื้นตัวช่วงหลังการเปิดประเทศหลังโควิดที่โตได้กว่า 255%

ขณะที่ภาคการผลิตของไทยยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัวอุตสาหกรรมหลักของไทย คือ ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและความต้องการของตลาดโลก เช่น การผลิตรถยนต์ที่ลดลงกว่า 14% จากปี 2564 จากการเข้ามาแข่งขันของรถยนต์ค่ายจีน

นอกจากนี้ การผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ซึ่งเคยเป็นสินค้าส่งออกหลักของไทย กำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากหน่วยความจำแบบ SSD เข้ามาแทนที่ ส่งผลให้การผลิต HDD ลดลงกว่า 50% ตั้งแต่ปี 2564

คาดครึ่งปี 2568 เจอมาตรการภาษี พ่นพิษทำไทยกระอัก

ศูนย์วิจัยเกียรตินาคินภัทร ชี้ว่า เศรษฐกิจไทยตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ยังมีความเสี่ยงโตต่ำกว่าที่ประเมิน จากความเสี่ยงนโยบายภาษีของว่าที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีการส่งออกไปยังสหรัฐ ฯ และเกินดุลการค้ากับสหรัฐ ฯเป็นลำดับต้น ๆ ของเอเชีย

โดยส่งออกไปยังสหรัฐ ฯ 9% ของ GDP และเกินดุลการค้ากับสหรัฐ ฯกว่า 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นลำดับที่ 12 ของโลก และการเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าในช่วงสามปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่อาจเป็นผลมาจากสินค้านำเข้าจากจีนทำให้ไทยมีความเสี่ยงถูกมาตรการการค้าเพิ่มเติมได้

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกปี 2568 เผชิญความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้า ภายหลังจาก ทรัมป์ ประกาศจะใช้มาตรการเก็บภาษีนำเข้า เป็นนโยบายทางการค้า จึงประเมินว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2568 จะอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอน

และมีโอกาสเติบโตได้ต่ำกว่า 3% ส่วนเศรษฐกิจจีนมีโอกาสเติบโตได้เพียง 4.0-4.5% และอาจกระทบการเติบโตของประเทศในอาเซียนได้มาก ทั้งการส่งออกไปจีนที่จะลดลง เนื่องจากถูกทดแทนด้วยสินค้าจีน และการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัว

คาดว่ามาตรการทางด้านภาษีจะเกิดขึ้นช่วงกลางปี 2568 และนโยบาย Trump 2.0 จะไม่จำกัดเฉพาะสินค้าจากจีน แต่จะเป็นเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าจากทุกประเทศ

นอจากนี้ จีนอาจจะถูกขึ้นอัตราภาษีนำเข้า 60% และจากประเทศอื่น ๆ 10-20% โดยถูกเก็บภาษีเพื่อเป็นนโยบายในการต่อรองกับประเทศคู่ค้า เช่น เม็กซิโก แคนาดา และกลุ่ม BRICS ซึ่งการขึ้นภาษีกับจีนอาจเกิดขึ้นได้เร็ว โดยเฉพาะกับสินค้าที่สหรัฐฯ เคยเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นในช่วง Trump 1.0

วิกฤตเศรษฐกิจ“เผาหลอก” ผ่านไปแล้วอีก 1 ปี หลังจากนี้ต้องลุ้นว่าปี 2568 คนไทยจะเจอมรสุม “เผาจริง” ไปได้หรือไม่ และเศรษฐกิจไทยจะมีปัจจัยบวกอื่นใดมาหนุนให้เติบโตได้อย่างไร หากเศรษฐกิจโลกยังตกอยู่ในสภาวผันผวนและไม่แน่นอน

 อ่านข่าว:

 ศึกสิบทิศ “ข้าวไทย” 2568 “สต็อก” โลกล้น เขย่าธุรกิจวงการค้า

SME หนีตายแข่งขันค้าโลก ใช้ FTA ลดเสี่ยงภาษีสูง "ทรัมป์ 2.0 "

โยนหินถามทาง "ปรับ VAT 15%" รีดภาษีประชาชน ทางตันรัฐบาล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง