วันนี้ (12 ธ.ค.2567) นายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทยเพื่อ พร้อมด้วยนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธาน สส.พรรคเพื่อไทย นายนพดล ปัทมะ และนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย แถลงหลังประชุมพรรคเสร็จสิ้น
นายนพดล กล่าวว่า สส.มีการพูดคุยที่จะสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลอย่างเต็มที่เกี่ยวกับ MOU 2544 ซึ่งทุกรัฐบาลใช้เป็นกรอบในการเจรจาเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (OCA) และในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ใช้ดำเนินการเจรจา ซึ่งเนื้อหาไม่ได้มีผลกระทบต่อเรื่องสิทธิด้านเขตแดน
นายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทยเพื่อ พร้อมด้วยนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธาน สส.พรรคเพื่อไทย นายนพดล ปัทมะ และนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ร่วมแถลงกรณี MOU 2544
รวมถึงกรณีที่มีการยื่นหนังสือต่อรัฐบาลเชื่อว่า รัฐบาลจะตอบข้อข้องใจของผู้ยื่นหนังสือได้ทุกประเด็นในเวลาที่เหมาะสม เรื่องนี้ไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องของกลุ่มพันธมิตรใหม่หรือกรณีของนายสนธิ ลิ้มทองกุลว่า เป็นศัตรูทางการเมือง เพราะถือว่าเป็นคนไทยที่มีข้อห่วงใยที่จะต้องรับฟัง แต่สิ่งหนึ่งที่ยอมรับไม่ได้คือการใช้ความเท็จในการขับเคลื่อนกระบวนการที่จะกระทบสถานภาพของรัฐบาล
โดยยกประเด็นที่มีการกล่าวหามาชี้แจงว่า การดำเนินการเจรจาตาม MOU 2544 ว่า เป็นการยอมรับเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชา ยืนยันไม่ใช่ข้อเท็จจริงแต่เป็นความเข้าใจผิดและวิเคราะห์เองโดยสิ้นเชิง เพราะคนพวกนี้เคยวิเคราะห์ว่า ตนเองจะทำให้เสียดินแดนแต่สุดท้ายศาลก็พิพากษาว่าไม่ใช่ข้อเท็จจริงและจะต้องฟังกรมสนธิสัญญาและกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งถือที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล
นายนพดล ปัทมะ รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย อดีต รมว.ต่างประเทศ
โดยเฉพาะกรมสนธิสัญญาและกฎหมายยืนยันว่า MOU 2544 ไม่ได้ทำให้เสียดินแดนหรือยืนยันเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชา ยืนยันรัฐบาลนี้จะไม่ยอมเสียดินแดนแม้แต่ตารางมิลลิเมตรเดียว
ขอให้สบายใจว่าการเจรจา ไทยจะไม่ยอมรับเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชา หากการเจรจาล้มเหลวไปไม่ได้ก็ไม่กระทบสิทธิของไทยและกัมพูชาและถ้ายืนยันตามที่ประกาศเขตไหล่ทวีปในปี 2516 คือ ท่าทีของประเทศไทยยังไม่เปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นไม่มี MOU ขายชาติใด ๆ
และปฏิเสธข้อกล่าวหาว่า รัฐบาลจ้องเกี๊ยะเซียะกับกัมพูชาเพื่อนำน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมาแบ่งปันกันโดยไม่สนใจเรื่องเขตแดน ชี้เป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลความจริง หากซึ่งรัฐบาลไม่สามารถดำเนินการเช่นนั้นได้ตาม MOU 2544 ในข้อ 2 ที่ระบุไว้ว่า เรื่องเขตแดนกับเรื่องการพัฒนาร่วมกันจะต้องผูกกันเป็นเรื่องควบคู่ขนานกันไปไม่สามารถเจรจาเรื่องผลประโยชน์และแยกเรื่องเขตแดนไว้ภายหลังนั้นไม่สามารถที่จะทำได้
ดังนั้น ถ้ายกเลิก MOU 2544 ผลจะตามมาอย่างไรคือ 1. การอ้างสิทธิ์ในเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาเมื่อปี 2515 และของไทยเมื่อปี 2516 จะยังคงอยู่ทุกประการ 2.พื้นที่ทับซ้อน 26,000 ตร.กม.จะยังคงอยู่ทุกประการ 3.เราจะพลาดข้อได้เปรียบที่จะผูกพันให้กัมพูชามาเจรจาตามกฎหมายระหว่างประเทศออกไป 4. กัมพูชาและไทยยังมีพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ 1982 ต้องเจรจาโดยสุจริตและต้องหาข้อยุติที่เป็นธรรม แม้ไม่มี MOU 2544 ก็ยังต้องเจรจากันต่อไป
เมื่อมีสะพานที่ต้องข้ามอยู่แล้วคุณจะไปพังสะพานแล้วบอกไปสร้างสะพานใหม่เพื่ออะไร ไม่สมเหตุสมผล
ทั้งนี้ ได้ให้ความมั่นใจว่าในฐานะ สส.พรรคเพื่อไทยมั่นใจว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ และ คณะรัฐมนตรีจะดูแลผลประโยชน์ของชาติอย่างดี และการเจรจาจะดำเนินอย่างโปร่งใสไม่ให้เกิดการเสียพื้นที่ และท้ายที่สุดไม่มีการงุบงิบ เพราะกระบวนการจะต้องผ่าน 5 กระบวนการกลั่นกรอง ที่ประชาชนจะมองเห็นทุกขั้นตอน ทั้ง 1.การเจรจาของคณะทำงานทางเขตแดนและพัฒนาร่วม 2.คณะอนุกรรมการร่วมทางเทคนิค (Joint Technical Committee: JTC) 3. คณะกรรมการเทคนิคร่วมชุดใหญ่ 4. คณะรัฐมนตรี
และ 5. ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา
รัฐบาลไหนทำให้เสียดินแดนไม่มีทางอยู่เป็นรัฐบาลได้ และประชาชนจะไม่ให้อภัย อาจต้องติดคุกด้วย และรัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีเกียรติประวัติในการปกป้องดินแดนจะรักษาดินแดนของเราอย่างดีที่สุด ในการเจรจายืนยันจะรักษาได้ทั้งดินแดนและความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน
อ่านข่าว : ปัดฝุ่น "MOU44" พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา
กต.แจงปมพื้นที่ทับซ้อน MOU44 คนไทยต้องเห็นชอบก่อน
รู้หรือไม่? “MOU44” มีที่มาอย่างไร และทำไมควรจะยกเลิก