เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2567 ชาวซีเรียจำนวนมากหลั่งไหลไปยังเรือนจำเซดนายา บางส่วนรีบรุดเข้าไปค้นหาตามห้องขัง และตามส่วนต่าง ๆ ของเรือนจำ ขณะที่อีกหลายคนพยายามค้นหาชื่อของญาติพี่น้องและสมาชิกในครอบครัว จากบัญชีที่พบภายในเรือนจำ เพื่อตามหาบุคคลที่สูญหายหรือพลัดพรากกันไปเป็นเวลานาน บางส่วนรื้อค้นส่วนต่าง ๆ หรือกระทั่งทุบทำลายกำแพงเรือนจำ เพื่อพยายามหาห้องขังหรือส่วนลับที่อาจซ่อนเร้นอยู่
หลายคนมีโอกาสได้พบญาติที่คิดว่าถูกประหารชีวิตไปนานหลายปีแล้ว ขณะที่บางส่วนไม่พบวี่แววของผู้ต้องขังที่ตามหา โดยแม้ว่าผู้ต้องขังจำนวนมากจะออกจากเรือนจำไปแล้วหลังจากระบอบอัสซาดล่มสลายลง แต่หลายฝ่ายสงสัยว่าเรือนจำของรัฐบาลซีเรียอาจมีห้องขังใต้ดินที่ไม่ทราบพิกัดและยังไม่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งอยู่ระหว่างการพยายามค้นหา
อ่านข่าว : จากอำนาจสู่ล่มสลาย ปิดฉาก "อัล-อัสซาด" ครองซีเรียนาน 53 ปี
เรือนจำแห่งนี้ได้รับสมญานามว่าเป็นเสมือนโรงเชือดมนุษย์ (Human Slaughterhouse) หรือร้านขายเนื้อมนุษย์ (the human butcher's shop) เป็นสถานที่หนึ่งซึ่งรัฐบาลซีเรียภายใต้การนำของ "บาชาร์ อัล-อัสซาด" ใช้คุมขังผู้กระทำผิดและทรมานผู้ต้องขังอย่างไร้ซึ่งมนุษยธรรม รวมทั้งยังมีการประหารชีวิตคนอีกเป็นจำนวนมาก
กลุ่มสิทธิมนุษยชนเคยรายงานกรณีการประหารชีวิตคนจำนวนมากที่เรือนจำในซีเรีย และเมื่อปี 2560 สหรัฐฯ ระบุว่า พบฌาปนสถานแห่งใหม่ที่เรือนจำเซดนายาแห่งนี้ ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเผาร่างผู้ต้องขังที่ถูกแขวนคอ
อีกด้านหนึ่งในกรุงดามัสกัส ชาวซีเรียได้ใช้ชีวิตในเช้าวันใหม่ที่พ้นจากเงาครอบงำของระบอบอัสซาดเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 50 ปี หลังการปกครองด้วยกำปั้นเหล็กของตระกูลนี้ที่เรื่อยยาวมาตั้งแต่รุ่นพ่อ เมื่อปี 2514
หลายคนระบุว่ารอคอยวันที่มา 5 ทศวรรษ และที่ผ่านมาเสมือนว่าอาศัยอยู่ในเรือนจำขนาดใหญ่ที่ชื่อว่าซีเรีย เพราะไม่สามารถพูด แสดงออก หรือแสดงความกังวลอะไรใด ๆ ได้ทั้งสิ้น
ชาวซีเรียต่อแถวซื้อขนมปัง-แก๊สในเมืองหลวง
แต่ขณะเดียวกันชาวซีเรียยังเผชิญความยากลำบากและบางส่วนยังต้องเข้าแถวรอซื้อขนมปัง และรอรับแก๊สหุงต้มเพื่อไปใช้ในครัวเรือน ท่ามกลางสภาวะความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น
ความเคลื่อนไหวเหล่านี้เกิดขึ้นหลังกลุ่มกบฏซีเรีย ที่นำโดยกลุ่ม HTS หรือ "ฮายาต ตาห์รีร์ อาล-ชาม" เข้ายึดครองกรุงดามัสกัสได้สำเร็จอย่างรวดเร็วและโค่นล้มรัฐบาลซีเรีย หลังจากเริ่มเดินทัพออกจากเมืองอิดลิบ มุ่งหน้ายึดครองเมืองอเลปโป เมืองใหญ่อันดับ 2 ของซีเรียเมื่อไม่ถึง 2 สัปดาห์ก่อน และรุกคืบยึดครองเมืองต่าง ๆ กระทั่งเอาชนะรัฐบาลซีเรียได้ในที่สุด
แกนนำกบฏซีเรียหารือ นายกฯ เปลี่ยนผ่านการเมือง
ขณะที่เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา เกิดภาพการพบหารือกันเป็นครั้งแรกระหว่างกลุ่มต่อต้านในซีเรียกับนายกรัฐมนตรีโมฮัมหมัด จาลาลี โดยอาห์เหม็ด อัล-ชารา ผู้นำกลุ่ม HTS พูดคุยถึงการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในซีเรีย หลังการล่มสลายของระบอบอัสซาด
ก่อนหน้านี้ จาลาลี นายกฯ ซีเรีย เปิดเผยว่า รัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ ส่วนใหญ่ที่ยังอยู่ในดามัสกัสยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ เพื่อให้ประเทศมีเสถียรภาพและดำเนินกิจการต่าง ๆ ต่อไปได้
อ่านข่าว : สหรัฐฯ ตรึงค่าหัวผู้นำกลุ่มกบฏซีเรีย 10 ล้านดอลลาร์
อีกด้านหนึ่ง หลังการล่มสลายของระบอบอัสซาด ซีเรียเผชิญการโจมตีทางอากาศหลายจุด รวมถึงที่ใกล้กับชานเมืองฮอมส์ ซึ่งเกิดแสงไฟและกลุ่มควันขนาดใหญ่หลังการระเบิด เช่นเดียวกับที่เมืองกามิชลี ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ที่เกิดการระเบิดอย่างรุนแรงขึ้นหลายครั้ง ไม่ไกลจากสนามบิน เมื่อช่วงดึกของคืนวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่น (9 ธ.ค.)
มีรายงานว่าการระเบิดดังกล่าวเกิดจากการระเบิดของเครื่องกระสุน ซึ่งเกิดจากการโจมตีทางอากาศที่พุ่งเป้าไปยังฐานทัพอากาศของกองทัพซีเรีย ใกล้กับสนามบินที่อยู่ใกล้พรมแดนตุรกี ฐานทัพดังกล่าวคาดว่าเป็นฐานทัพที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของกองทัพซีเรีย ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายคาดว่าอิสราเอลอาจเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีทางอากาศนับครั้งไม่ถ้วนในซีเรีย ที่เกิดขึ้นตามหลังการล่มสลายของรัฐบาลอัสซาด
โดยองค์กรสังเกตการณ์เพื่อสิทธิมนุษยชนซีเรีย (Syrian Observatory for Human Rights, SOHR) ระบุว่า อิสราเอลโจมตีทางอากาศกว่า 100 ครั้ง พุ่งเป้าเป้าหมายทางทหารในซีเรีย รวมถึงศูนย์วิจัยในดามัสกัสที่ชาติตะวันตกสงสัยว่ามีความเชื่อมโยงกับการผลิตอาวุธเคมี ถือเป็นการยกระดับการโจมตีของอิสราเอลเพื่อทำลายขีดความสามารถทางทหารของรัฐบาลซีเรียเดิม
นอกจากนี้ เป้าหมายการโจมตียังรวมถึงคลังแสงใน จ.เดอร์ เอซ โซร์ ทางตะวันออก และบริเวณใกล้สนามบินทหารกามิชลี
อ่านข่าว : "บาชาร์ อัล-อัสซาด" ลาออก ปธน.ซีเรีย ลี้ภัยในรัสเซีย
ชาวซีเรียในตุรกีมุ่งหน้ากลับบ้าน
ส่วนอีกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามมา พบว่าผู้อพยพชาวซีเรียเข้าแถวที่ด่านชายแดนตุรกีเ เพื่อเดินทางกลับบ้านในซีเรีย หลังจากหนีสงครามกลางเมืองและรัฐบาลของอัสซาดสงครามกลางเมืองที่ยาวนาน 13 ปี และการปกครองอย่างโหดร้ายของตระกูลอัสซาดที่ยาวนานกว่า 50 ปี โดยหลายคนระบุว่า นี่คือความฝันตลอด 50-60 ปีที่ผ่านมา
ขณะที่เรเซป ไทยิป เออร์ดวน ปธน.ตุรกี ระบุว่า ตุรกีจะเปิดด่านพรมแดนยายลาดากี (Yayladagi) ที่ติดกับกับซีเรีย เพื่อเปิดให้ผู้อพยพชาวซีเรียนับล้านที่อาศัยอยู่ในประเทศตุรกีเดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย
ตุรกีเป็นที่พักพิงของผู้อพยพชาวซีเรียราว 3,000,000 คน ทำให้เป็นประเทศที่รับผู้ลี้ภัยชาวซีเรียที่หนีสงครามกลางเมืองมากที่สุด
อ่านข่าว : เกมโค่นตระกูล "อัล-อัสซาด" มหาอำนาจ เบื้องหลัง "กบฏซีเรีย"