วันนี้ ( 5 พ.ย.2567) นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวถึงสถานการณ์ส่งออกข้าวของไทยว่า ข้อมูลของกรมศุลกากรการส่งออกข้าวช่วง 9 เดือนของปี (ม.ค.-ก.ย.2567) มีปริมาณ 7,448,941 ตัน มูลค่า 172,019 ล้านบาท หรือ 4,833.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยปริมาณเพิ่มขึ้น 22% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 45.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2566 ที่ส่งออกปริมาณ 6,103,615 ตัน มูลค่า 117,939.4 ล้านบาท หรือ 3,453.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
ส่วนเดือนก.ย. พบว่ามี มีปริมาณ 878,711 ตัน มูลค่า 19,463 ล้านบาทซึ่งลดลงทั้งปริมาณและมูลค่า เมื่อเทียบกับเดือนส.ค.ที่ผ่านมาที่มีปริมาณ 885,387 ตัน มูลค่า 20,160 ล้านบาท เนื่องจากในเดือนก.ย. การส่งออกในกลุ่มของข้าวนึ่ง และปลายข้าว มีปริมาณลดลงจากเดือนก่อน
ขณะที่การส่งออกข้าวขาวและข้าวหอมมะลิยังคงไปได้ดี โดยส่งออกข้าวขาวมีปริมาณรวม 507,795 ตัน ใกล้เคียงกับเดือนก่อน ตลาดหลัก เช่น อิรัก ฟิลิปปินส์ โตโก แคเมอรูน เคนย่า โมซัมบิก เบนิน ญี่ปุ่น เป็นต้น
ขณะที่การส่งออกนึ่งมีปริมาณ 106,153 ตัน ลดลง 30% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ส่งไปยัง ตลาดหลัก เช่น แอฟริกาใต้ เบนิน เป็นต้น ส่วนการส่งออกข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) มีปริมาณ 122,465 ตัน เพิ่มขึ้น 10.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ฮ่องกง โกตดิวัวร์ สิงคโปร์ อิตาลี ออสเตรเลีย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 9 เดือนพบว่า ไทยส่งออกข้าวขาว เพิ่มขึ้น 42% หรือ 4,702,455 ตัน ข้าวนึ่ง ส่งออกลดลง 28.2% ปริมาณ 814,791 ตัน ข้าวหอมมะลิ ปริมาณ 1,233,108 ตัน เพิ่มขึ้น 9% ข้าวหอมไทย ปริมาณ 487,587 ตัน เพิ่มขึ้น 42.5% และข้าวเหนียว ปริมาณ 211,000 ตัน เพิ่มขึ้น 15%
นายกสมาคมกล่าวอีกว่า คาดว่าในเดือนต.ค. จะส่งออกได้ไม่ต่ำกว่า 700,000 ตัน เนื่องจากผู้นำเข้าข้าวโดยเฉพาะในแถบแอฟริกายังคงมีความต้องการนำเข้าข้าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมไว้ใช้ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ประกอบกับผู้ส่งออกยังมีสัญญาส่งมอบที่ค้างมาจากเดือนก่อน ทั้งจากตลาดหลักในเอเชีย เช่น ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น รวมทั้งตลาดหลักในภูมิภาคแอฟริกา เช่น โมซัมบิก แคเมอรูน เบนิน แองโกล่า และตลาดตะวันออกกลาง เช่น อิรัก เป็นต้น
ขณะที่ตลาดสำคัญของข้าวหอมมะลิยังคงนำเข้าอย่างต่อเนื่อง เช่น สหรัฐฯ แคนาดา ฮ่องกง สิงคโปร์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม คาดว่า หลังจากนี้ตลาดจะกลับเข้าสู่ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงอีกครั้ง เนื่องจากอินเดียได้ยกเลิกมาตรการจำกัดการส่งออก ทั้งการยกเลิกภาษีส่งออกและการกำหนดราคาส่งออกขั้นต่ำ ซึ่งทำให้ผู้ส่งออกของอินเดียสามารถส่งออกได้โดยไม่มีข้อจำกัด ประกอบกับอินเดียยังมีอุปทานข้าวปริมาณมากและราคาค่อนข้างต่ำ
คาดว่าอินเดียจะส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่ง ได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ไทยสูญเสียตลาดส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่งบางส่วนให้แก่อินเดีย
โดยอินเดียยังคงเป็นเบอร์ 1 ของผู้ส่งออกข้าวโลก 9เดือน อินเดียส่งออก 12.20 ล้านตัน ลดลง 19.6% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ที่มีปริมาณ 15.17 ล้านตัน รองลงมาเป็นไทยส่งออก 7.45 ล้านตน เพิ่มขึ้น 22% และเบอร์สามยังคงเป็น เวียดนามที่ส่งออก 6.96 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 8.4%ปากีสถาน ส่งออก 4.45 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 74.4% และสหรัฐฯ ส่งออก2.50ล้านตัน เพิ่มขึ้น 56.3%
ขณะที่ประเทศผู้นำเข้าข้าวไทย พบว่า อินโดนีเซีย เป็นผู้นำเข้าเบอร์หนึ่งของไทย มีปริมาณ 1,092,128 ตัน รองลงมา เป็น อิรัก ปริมาณ 907,715 ตัน สหรัฐฯ ปริมาณ 609,430 ตัน ขณะที่แอฟริกาใต้มีปริมาณนำเข้าลดลง 20.6% หรือปริมาณ 580,288 ตัน และฟิลิปปินส์ ปริมาณ 399,493 ตัน
ทั้งนี้ราคาข้าวขาว 5% ของไทย (วันที่ 30 ต.ค. 2567 ) 507 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ,เวียดนาม 524-528เหรียญสหรัฐฯต่อตัน, อินเดีย 444-448 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน และปากีสถาน461-465 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน
ส่วนราคาข้าวนึ่งไทยอยู่ที่ 522 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ,อินเดีย 439-443 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน และปากีสถาน 493-497 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ส่วนสถาน การณ์ราคาข้าวไทยในช่วงปลายเดือนต.ค. 2567 มีแนวโน้มปรับตัวลดลง ท่ามกลางภาวะการแข่งขันด้านราคาในตลาดส่งออกที่รุนแรงขึ้นหลังจากที่อินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่งได้โดยไม่มีข้อจำกัดในการส่งออก
อ่านข่าว:
ทุกข์ของชาวนา กับปัจจัยลบรุมเร้าราคา "ข้าวไทย"
ส่องมรสุม "ส่งออกไทย" สรท.มั่นใจ ทั้งปีโตกว่า 2%
ศูนย์วิจัยกรุงศรีฯ ชี้บาทผันผวน ตลาดลุ้นผลเลือกตั้ง ปธน.สหรัฐฯ