- ถ่ายทอดสด ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 27 ต.ค.2567
- หมายกำหนดการ พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน
ริ้วขบวนพระราชพิธีเรืออันวิจิตรงดงามใน "ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค" ที่มีเพียงประเทศไทยประเทศเดียวในโลก กำลังกลับมาปรากฎสู่สายตาชาวไทยและชาวต่างชาติอีกครั้ง และจะเป็นอีกครั้งในหน้าประวัติศาสตร์ไทย ในการสืบสานประเพณีอันงดงาม และสุดยิ่งใหญ่กับ "ขบวนเรือพระราชพิธี" อีกหนึ่งความภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมของชาติไทย
วันที่ 15 ตุลาคม 2567 ซ้อมใหญ่ครั้งแรกของการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรวิหาร
อ่านข่าว : ความเป็นมา "เรือพระราชพิธี" ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
ในวันที่ 27 ตุลาคม 2567 งานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดย "ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค" เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคในครั้งนี้ ใช้เรือพระราชพิธีจำนวนทั้งสิ้น 52 ลำ ความยาว 1,280 เมตร กว้าง 90 เมตร ใช้กำลังพลประจำเรือรวม 2,399 นาย
การจัดรูปขบวนเรือพระราชพิธี จํานวน 52 ลํา แบ่งออกเป็น 5 ริ้ว 3 สาย ดังนี้
1. ริ้วสายกลาง ซึ่งเป็นเรือสายสำคัญ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง 4 ลำ ดังนี้
- เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
- เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช
- เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9
- เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์
นอกจากนี้มีเรืออีเหลืองเป็นเรือกลองนอก เรือแตงโมซึ่งเป็นเรือของผู้บัญชาการขบวนเรือเป็นเรือกลองใน พร้อมด้วยเรือตำรวจนอก และเรือตำรวจ รวมทั้งสิ้น 10 ลำ
2. ริ้วสายใน ขนาบข้างสายเรือพระที่นั่ง มีเรือทองขวานฟ้า และเรือทองบ้าบิ่น เป็นเรือประตูหน้าเรือเสือทยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์เป็นเรือพิฆาต เรือรูปสัตว์ 8 ลำ (เรืออสุรวายุภักษ์ เรืออสุรปักษี เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ เรือครุฑเหินเห็จ เรือครุฑเตร็จไตรจักร เรือพาลีรั้งทวีป และเรือสุครีพครองเมือง)
และปิดท้ายริ้วสายในด้วยเรือเอกไชยเหินหาว และเรือเอกไชยหลาวทอง ซึ่งเป็นเรือคู่ชัก รวมทั้งสิ้น 14 ลำ
3. ริ้วสายนอก ประกอบด้วยเรือดั้ง และเรือแซง สายละ 14 ลำ รวมทั้งสิ้น 28 ลำ
ภาพบรรยากาศการฝึกการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ซ้อมย่อยครั้งที่ 5) วันที่ 3 กันยายน 2567
เรือพระที่นั่ง 4 ลำ
- เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช : เป็นเรืออัญเชิญผ้าพระกฐินประดิษฐานเหนือบุษบก
- ลำที่ 2 เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ : เป็นเรือที่ประทับ
- เรือลำที่ 3 เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ : เป็นเรือที่ประทับของพระบรมวงศ์
- เรือลำที่ 4 เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 : เป็นเรือพระที่นั่งสำรอง
อ่านข่าว : ซ้อมใหญ่ครั้งแรก ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ งดงามตระการตา
วันที่ 15 ตุลาคม 2567 ซ้อมใหญ่ครั้งแรกของการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรวิหาร
ใน "ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค" ครั้งนี้ มีการจัดเตรียมเรือพระราชพิธี รวม 52 ลำ และหนึ่งในเรือพระราชพิธีที่สำคัญอย่างมาก คือ "เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์"
"เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์" เป็นเรือพระที่นั่งชั้นสูงสุด ซึ่งเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ และพระบรมราชินี โดยเมื่อปี 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ได้เสด็จโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพิธีพระบรมราชาภิเษก
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ ทราบได้จาก บทเห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ หรือ เจ้าฟ้ากุ้ง ที่ทรงประพันธ์ไว้ว่า
สุพรรณหงส์ทรงพู่ห้อย งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์ เพียงหงส์ทรงพรหมมินทร์ ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นหนึ่งในเรือพระราชพิธีที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย โดดเด่นด้วยความสง่างามและมีประวัติศาสตร์ยาวนาน เป็นเรือในขบวนพยุหยาตราชลมารค ซึ่งจัดขึ้นในโอกาสพิเศษต่าง ๆ เช่น พิธีบรมราชาภิเษก และการถวายผ้าพระกฐินหลวง
"เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์" ลำปัจจุบันนี้ เป็นเรือสร้างใหม่สมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) แล้วเสร็จในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) โดยมี พล.ร.ต.พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) เป็นนาวาสถาปนิกผู้ต่อเรือสุพรรณหงส์ โดยจัดให้มีการประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2454
โขนเรือเป็นรูปหงส์ เป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง หมายถึง เรือที่เป็นเครื่องประดับยศ เป็นเรือพระที่นั่งชั้นสูง มีโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นใดประทับเป็นแต่บางครั้ง โปรดฯ ให้เป็นเรือทรงผ้าไตรหรือผ้าทรงสะพักพระพุทธรูป หรือพานพุ่มดอกไม้ เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์
หัวเรือพระที่นั่งนี้มี "โขนเรือ" เป็นรูปหัวของ "หงส์" ลำตัวเรือทอดยาวคือส่วนตัวหงส์ จำหลักไม้ ลงรักปิดทองประดับกระจก มีพู่จามรีห้อย ปลายพู่เป็นแก้วผลึก ภายนอกทาสีดำ ท้องเรือภายในทาสีแดง ตอนกลางลำเรือทอดบัลลังก์กัญญา หรือ บุษบกไว้สำหรับเป็นที่ประทับ
เรือมีความยาว 46.15 เมตร กว้าง 3.17 เมตร ลึกจนถึงท้องเรือ 94 เซนติเมตร กินน้ำลึก 41 เซนติเมตร น้ำหนัก 15 ตัน ใช้กำลังพลประกอบด้วย ฝีพาย 50 คน นายเรือ 2 คน นายท้าย 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนถือฉัตร 7 คน คนขานยาว 1 คน คนขานยาวทำหน้าที่ในการร้องขานเพลงเรือโดยฝีพายจะร้องเห่เรือพร้อมกันไปตามจังหวะร่วมกับเรือลำอื่น ๆ
"เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์" ถูกยกย่องให้เป็นเรือมรดกโลก
ในปี 2535 องค์การเรือโลกแห่งสหราชอาณาจักร ได้พิจารณามอบรางวัลเรือโลก แก่เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ โดยคณะกรรมการองค์การ World Ship Trust เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญรางวัลเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เหรียญรางวัลมรดกทางทะเล ขององค์การเรือโลกประจำปี พ.ศ.2535 (The World Ship Trust Heritage Award "Suphannahong Royal Barge")
จากนั้นพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานเหรียญรางวัลดังกล่าวแก่ อธิบดีกรมศิลปากร
วันที่ 15 ตุลาคม 2567 ซ้อมใหญ่ครั้งแรกของการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรวิหาร
ปัจจุบัน เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์จัดแสดงอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์เรือพระราชพิธี ในกรุงเทพฯ เมื่อไม่มีการใช้งานในพระราชพิธี ผู้สนใจสามารถเข้าชมเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์และเรือพระราชพิธีอื่น ๆ ได้ที่นี่
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ไม่เพียงเป็นพาหนะในพระราชพิธีเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของพระราชอำนาจ ความเป็นสิริมงคล และศิลปวัฒนธรรมอันงดงามของชาติไทยที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน
อ้างอิงข้อมูล : กองทัพเรือ, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี, กรมศิลปากร, พระลาน
อ่านข่าว : พม.ตั้งงบฯ ปี 68 ให้ พอช.สร้างบ้านราคาถูก ซ่อมบ้านคนพิการ-สูงอายุ
เช็กเงื่อนไข! ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ มี.ค.2568
แท็กที่เกี่ยวข้อง:
- ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
- เรือพระที่นั่ง
- พระราชพิธี
- กองทัพเรือ
- ในหลวง ร.10
- ประวัติเรือพระราชพิธี
- เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
- พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี
- ความเป็นมา เรือพระราชพิธี
- รู้จัก เรือสุพรรณหงส์
- ถวายผ้าพระกฐินหลวง
- ความสำคัญ เรือพระราชพิธี
- ตุลาคม 2567
- ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 2567
- ขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค 2567
- ซ้อมขบวนเรือ
- ขบวนแห่เรือพระที่นั่ง
- พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน
- พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ